Skip to main content
sharethis

‘19 พฤษภาคม 53 13 ปี คดีเผาศาลากลางจ.อุบลราชธานี’ วัตนา จันทศิลป์ หนึ่งในทนายความที่เข้ามาว่าความให้คนเสื้อแดง ไล่เรียงเหตุการณ์พร้อมทั้งเล่าถึงชีวิตของผู้ที่ถูกดำเนินคดีว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร ความยากลำบากเมื่อทรัพย์สินโดนยึดไป ความยุติธรรมที่พวกเขาต้องการยุติธรรมจริงหรือไม่ และชวนวิเคราะห์มุมมองการเมืองกับคดีการเมืองของไทย

ปี 53 เกิดเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง มีผู้เสียชีวิตนับร้อย บาดเจ็บอีกนับพัน เหตุการณ์การชุมนุมในตอนนั้นไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ จังหวัดอื่นๆ ก็มีการชุมนุมด้วยเช่นกัน อย่าง จ.อุบลราชธานี กลุ่มคนเสื้อแดงที่อุบลฯ หลายร้อยคนมารวมตัวกันชุมนุมหน้าศาลากลางจังหวัดเพื่อแสดงออกถึงอุดมการณ์และไม่เห็นด้วยที่มีการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในกรุงเทพฯ จึงนำไปสู่เหตุการณ์เพลิงไหม้ศาลากลางจ.อุบลราชธานี ที่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนเผาที่แท้จริง มีหมายจับทั้งสิ้น 21 คน คาดว่าเป็นคนบงการ ปัจจุบันคดีนี้สิ้นสุดลงแล้ว ทุกคนที่ถูกดำเนินคดีถูกปล่อยตัวออกมา เหตุการณ์ในครั้งนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรมในบ้านเมืองของเรา

วัตนา จันทศิลป์

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : คดีเผาศาลากลางในปี 2553 

การเมืองที่น่าเชื่อถือ คือการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วม

วัฒนากล่าวว่าตนมาเป็นทนายความให้คนเสื้อแดงเพราะสนใจเรื่องการเมือง การเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมคือการเมืองที่เขาเชื่อถือ และชื่นชอบ และเขามองว่ากระบวนการของคนเสื้อแดงในวันนั้นไม่ว่าจะผิดหรือถูกอย่างไรแต่อย่างน้อยในเวลานั้นประชาชนก็เข้ามามีส่วนร่วมในบ้านเมือง ไม่ได้ปิดหูปิดตาหรือมองเป็นเรื่องของคนอื่น

ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีในตอนนั้นเป็นคนธรรมดาทั้งหมด และชาวบ้านมีความตื่นตัวทางด้านการเมืองเป็นอย่างมาก มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มและเคลื่อนไหวทางการเมืองในนามของคนเสื้อแดงที่เป็นภาพใหญ่แต่ในความเป็นเสื้อแดงก็จะมีกลุ่มเล็กๆ แยกย่อยออกมา แล้วแต่ว่าใครจะมีความสนิทชิดเชื้อ ความคิด ความเห็นต้องตรงกัน ก็ตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมา เท่าที่จำได้ก็มีกลุ่มชักธงรบ กลุ่มอาจารย์ต้อย กลุ่มนายป๊อก กลุ่มสาวฝั่งโขง ในช่วงนั้นจะมีวิทยุชุมชน เป็นพื้นที่ให้คนมาแสดงความเห็นคิดและกล้าที่จะแสดงออกแสดงความเห็นเรื่องของการเมือง สุดท้ายการเมืองก็ไปเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ

วัฒนา(ข้างหน้าซ้ายเชิ๊ตขาว) ขณะร่วมกิจกรรมกับกลุ่มประชาชนที่มาร่วมเรียกร้องให้กับผู้ต้องขังคดีเผาศาลากลางอุบลฯ

“ความจริง” เรื่องการเผาศาลากลางอุบลฯ “ความจริง” ของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม วัฒนาก็เล่าด้วยว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเกิดขึ้นแล้ว สส.ที่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เคยพูดคุยกัน ก็ไม่มีใครอยากอยากเข้ามาช่วยเหลือคนเสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดีหรือไม่มีทนายความที่จะเข้ามาช่วย ตนเลยอาสาเข้าไปช่วยในตอนนั้น เป็นความต้องการส่วนตัว เพราะความเชื่อในเรื่องการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมและสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรมของพวกเขาที่มีความชอบธรรม ถึงแม้คนอื่นจะมองว่าเป็นเรื่องอำนาจ

“ทุกคนล้วนมีสิทธิ์ในกระบวนการยุติธรรม การมีส่วนร่วมในบ้านเมืองถือเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนคนธรรมดาอย่างเรามีสิทธิ์ที่จะทำ การเข้ามาทำคดีนี้เป็นเรื่องที่ผมสมัครใจเข้ามาช่วยคนเสื้อแดงเอง”

การใช้กฎหมายในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์

“เป็นเรื่องที่ไม่ปกติอย่างมากสำหรับผม รัฐบาลไม่มีสิทธิ์ ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะใช้ความรุนแรงกับประชาชนไม่ว่าจะแง่มุมใด จะพิจารณาด้วยเหตุไหนก็ตาม เราเห็นว่าเขาใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธ ใช้กองกำลังทหาร ซึ่งทหารไม่มีภารกิจอะไรแบบนี้ ภารกิจทหารคือป้องกันประเทศ ทหารถูกฝึกมาให้ฆ่าศัตรู มันไม่ควรที่จะเอาเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ควรเป็นเรื่องของภายในที่ไม่ต้องมีทหารเกี่ยวข้อง พอเอาทหารเข้ามาก็บานปลาย ถ้าคุณมีวิธีคิดแบบทหารเท่ากับคุณมองเห็นประชาชนเป็นศัตรูที่ต้องฆ่า อภิสิทธิ์จึงทำไม่ถูก” ทนายวัฒนากล่าว

ที่มา ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับกระทบจากการสลายการชุมนุม เม.ย.-พ.ค.53

สถานการณ์คดีของคนเสื้อแดงในเวลานั้นตามที่ทนายวัฒนาให้ข้อมูลไว้ มี คดีเผาศาลากลางจำเลย 21 คน แต่ยังมีคนที่ติดตามจับกุมไม่ได้ก็มีและถ้าดูจากหมายจับมีอยู่ประมาณ 500 หมายจับ ทั้งชาย-หญิง ทราบชื่อ ไม่ทราบชื่อ แต่ปัญหามีอยู่ว่ามีการออกหมายจับที่มีเพียงแค่ภาพถ่ายไม่มีการระบุชื่อศาลก็ออกหมายจับได้ เช่นระบุว่าชาย หญิง ไม่ทราบชื่อ แล้วก็ปรากฏว่ามีคนไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมแต่ถูกดำเนินคดีไปด้วยอย่าง ธนูศิลป์ ธนูทอง เพราะหน้าตาไปคล้ายกับคนในภาพถ่าย ตัวของธนูศิลป์อยู่ในป่าสวนยาง ตำรวจตามไปจับ เพียงแค่ดูจากภาพ กรณีแบบนี้อันตรายมาก

“คนที่เผาจริงๆ วันนี้ก็ยังไม่รู้หรอกว่าเป็นใคร เพราะว่าหลักฐานที่มีคือรูปถ่ายที่ไม่ชัดเจนและอาจมีการผสมโรง ไม่รู้ว่าคนที่เผามีแค่นี้หรือไม่ มีบางส่วนที่ไม่ได้เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่ได้ตกมาเป็นจำเลยและผู้ต้องหา มีคนตั้งคำถามว่ามีเจ้าหน้าที่ด้วยไหม เพราะวันนั้นมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้น มีกลุ่มการเมืองอื่นนอกเหนือจากที่ชาวบ้านรู้ เราก็มีสิทธิ์ตั้งคำถาม คนเผาจริงๆ เป็นใคร คนที่ 1 ลงมือ คนที่ 2 เข้าผสมโรง คนที่ 3 ไม่รู้เรื่องก็เข้าไปยุ่งกับเขา ไม่ใช่ว่ามีแค่คนเดียวแล้วไม่มีใครไปยุ่งเลย คาดว่าอาจไม่ใช่ ต้องมีคนผสมโรง ซึ่งอาจจะเป็นคนละกลุ่มที่ถูกดำเนินคดีแต่คำพิพากษาตัดสินไปแล้วว่าเป็นกลุ่มคนเหล่านี้”

ทนายวัฒนากล่าวต่อว่า ในวันนั้นถ้าพูดถึงกฎหมายที่บัญญัติไว้เป็นตัวตั้ง ว่ามันมีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ก็เกิดคำถามตามมาว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์กรณีคนเสื้อแดงแล้วพวกเขาสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้มากน้อยแค่ไหน อย่างเช่นประเด็นการไม่ให้ประกันตัวคนที่เสื้อแดงที่ถูกดำเนินคดี

“ดุลยพินิจที่จะให้ประกันตัวถูกครอบงำ พูดให้ถึงที่สุดผู้พิพากษาเองก็คือคน มีความคิด ความคิดของคนเหล่านี้ถูกผูกติดกับผลประโยชน์ ตำแหน่ง อำนาจ เป็นโซ่ตรวนที่มองไม่เห็น ผลที่ออกมาเลยกลายเป็นว่าไม่ให้ประกันตัว เพราะคนที่ตัดสินถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจนำทางสังคม ฉะนั้นใครที่เข้ามาท้าทายอำนาจที่มีอยู่คนเหล่านี้ก็จะเสียเปรียบ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการต่างๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ตำรวจ ศาล และอื่นๆ เราก็จะเห็นว่ากระบวนการดำเนินคดียังคาใจชาวบ้านอยู่ เขาคือคิดไว้แล้วว่าจะไม่ให้ประกัน คนเสื้อแดงในวันนั้นเลยไม่ได้ประกัน แบบนั้นจึงไม่แปลกที่จะมีการตั้งคำถามกับคำตัดสินของศาล นอกจากการเมืองในวันนั้นที่ไม่ได้ประกัน ทำไม คดีม. 112 ถึงไม่ได้ประกันเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำถามที่ถามโยงกันมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน”

เหตุผลที่ศาลไม่ให้คนเสื้อแดงประกันในเวลานั้นตามที่ทนายวัฒนาเล่า หากเอามาเทียบกับคดี ม.112 ในเวลานี้ก็อาจจะเห็นได้ว่าไม่ต่างกันมากนัก เช่น เป็นคดีอัตราโทษสูง กลัวจำเลยหลบหนี กลัวไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน และเมื่อยื่นไปถึงศาลชั้นอุทธรณ์หรือฎีกาศาลก็อ้างว่าศาลชั้นก่อนหน้าเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้ว

ทนายวัฒนามองว่าประชาชนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเสียเปรียบทั้งสถานภาพทางเศรษฐกิจ และ ความรู้ และอีกหลายปัจจัย จะมองพวกเขาเป็นเหยื่อก็ได้ มองเป็นผู้กระทำก็ได้ แต่มองเห็นว่าความเป็นการเมืองอยู่ แม้ว่าในบางมุมจะมีอาชญากรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพราะการเผาเป็นอาชญกรรมส่วนคนเผาคืออาชญกร แต่สาเหตุของเรื่องนี้คืออะไร คนที่โดนคดีแทบทั้งหมด เป็นคนยากคนจน มีแค่ 2 - 3 คนที่มีทรัพย์สิน ฟ้องคดีแพ่งเสร็จ เรียกค่าเสียหายจากการเผาศาลากลางกว่า 200 ล้าน มีแค่คนเดียวที่ถูกยึดทรัพย์ สเพราะคนอื่นไม่มีทรัพย์สินให้ยึด ทั้งที่ความชัดเจนในคดีก็ยังไม่มีอย่างที่กล่าวถึงสถานการณ์คดีในเวลานั้นไปข้างต้น

การเข้ามาช่วยเหลือในคดี

ทั้งนี้ทนายวัฒนาเข้ามาทำคดีเหล่านี้ในเชิงอาสาโดยไม่ได้คิดถึงเรื่องค่าจ้างไว้ตั้งแต่แรกแต่เป็นแบบใครอยากสนับสนุนก็ช่วยเหลือกันไป บางครั้งเขาก็เป็นฝ่ายออกค่ารถให้กับจำเลยด้วยในบางครั้ง แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสนใจในเนื้อหาของคดีแต่ก็เป็นการช่วยกันทำคดีร่วมกันของทนายความ 5 คนรวมตัวเขาเองด้วยโดยแบ่งกันดูแลแบ่งกันว่า 21 คน ใครจะเป็นทนายใคร รูปคดีก็สู้ในแนวทางเดียวกันหมดว่าไม่ได้มีเจตนาและไม่ได้เป็นคนทำ เนื่องจากเป็นคดีที่มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง เล่าว่าตนมีหน้าที่วิ่งประสานเรื่องเป็นทนายตัวกลาง คดีก็สู้ไปตามกฎหมายที่บัญญัติเอาไว้ แต่แนวฎีกาก็ไม่ค่อยมี เพราะเป็นคดีเกิดใหม่ เผาศาลากลางจังหวัดน่าจะเป็นครั้งแรกในอุบลราชธานี ส่วนเรื่องค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีพูดจริงๆ เมื่อการอยากทำคดีไม่ได้เริ่มจากเงินจ้าง ไม่ได้คิดถึง ชาวบ้านไม่มีค่ารถกลับบ้าน ตนก็ออกเงินช่วยเหลือ และมีคนที่เอาเงินมาช่วยเหลือ ต้องไม่มีเงื่อนไขใดๆ กับทนายถึงจะรับไว้ได้ คดีเหล่านี้มีคนพร้อมที่จะเข้ามาช่วยเหลืออยู่แล้ว และตนเองก็มีคดีจ้างอื่นๆ ด้วย

ประชาชนและคนเสื้อแดงมาร่วมติดตามฟังการขึ้นเบิกความของณัฐวุฒิ ไสยเกื้อและเหวง โตจิราการ ในฐานะพยานในคดีเผาศาลากลางอุบลฯ เมื่อ 14 มี.ค.2554

13 ปี กับความมืดมนในชีวิตของผู้ต้องขัง

วัฒนาเล่าถึงชีวิตของจำเลยทุกคนที่ถูกปล่อยตัวออกพร้อมกับความทุกข์ยาก ยากไร้ ยากเข็ญ หลายคนจะมีชะตาชีวิตแบบนี้ คนที่มีทรัพย์ก็ถูกยึด ทรัพย์สินที่ถูกตีเป็นมูลค่าหลายสิบล้านก็ถูกยึดไปขายเพื่อชดใช้ค่าเสียหายของศาลากลาง คนที่ไม่มีทรัพย์สินก็ออกจากคุกแบบหมดเนื้อหมดตัว บ้านแตกสาแหรกขาด ล้มหาย เจ็บไข้ได้ป่วย อย่างเช่นอุบล แสนทวีสุข ที่มีปัญหาสุขภาพจิตจากการต้องโทษคดีนี้ แล้วยังมีโรคทางกายอย่างโรคเบาหวานจนต้องตัดนิ้วเท้า ความรู้สึกในการลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่มันลำบากมากสำหรับเขา น้อยคนที่กลับมาตั้งหลักได้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ

ทนายความมองว่าเรื่องนี้รัฐบาลควรจะเข้ามาเยียวยาดูแล ไม่ว่าจะแง่มุมที่เป็นมนุษย์เหมือนกันหรือในฐานะที่พวกเขาเข้าไปมีส่วนร่วมในการชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมแต่ถูกอำนาจบ้านเมืองเล่นงาน ไม่ได้ว่าคนเหล่านี้ดีร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มนุษย์ก็คือมนุษย์ ในความผิดพลาดของชีวิตก็ควรที่จะให้โอกาสและเยียวถึงจะถูกต้อง

คำพลอย นะมี หนึ่งในจำเลยในคดีวันที่ไปฟังคำพิพากษาในสภาพเดินไม่ได้และสายตามองไม่เห็น เมื่อ 24 ส.ค.2554

10 ปี พ.ค.53 : คำพลอย นะมี อิสรภาพพร้อมความทุพพลภาพ

อนาคตการทำคดีการเมืองและบทสรุปจากเหตุการณ์

ทนายวัฒนาบอกว่าตัวเองที่ตอนนี้อายุ 62 ปีเข้าไปแล้วแต่ก็จะทำคดีการเมืองจนกว่าจะเดินไม่ได้ เราเป็นมนุษย์เรามีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามกับสรรพสิ่งสิ่งแวดล้อม หากเห็นว่าบ้านเมืองไม่ได้รับความเป็นธรรมเราก็เข้ามา ต่อให้บ้านเมืองมีความเป็นธรรม มนุษย์ก็ไม่หยุดขัดแย้ง สำหรับเขาการทนายความถ้าช่วยอะไรได้ก็ช่วย ถือว่าเป็นอาชีพที่ดีอาชีพหนึ่ง และยังทำให้มีความเป็นอยู่ที่ดี เลี้ยงครอบครัวได้

“ผมไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง ไม่ว่าจะฝ่ายใด แต่ว่าความรุนแรงจริง ๆ คนที่ทำได้ต้องมีศักยภาพมาก ชาวบ้านจะไปก่อความรุนแรงได้มันเป็นเรื่องยากมาก มีแต่คนตัวโตเท่านั้นที่ไปรังแกคนตัวเล็กๆ มีแต่อำนาจรัฐที่ไปรังแกชาวบ้าน ชาวบ้านแสดงออกเท่ากับเป็นปฏิกิริยาที่ตอบโต้ ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจรัฐควรจะเป็นฝ่ายกำกับความรุนแรงไม่ให้มันเกิด” วัฒนาเอ่ย

แต่นอกจากเรื่องการเป็นทนายความแล้ว วัฒนามองเห็นบทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้คือ ควรหลีกเลี่ยงความรุนแรงทั้งหมด การใช้กำลังอาวุธ การแสดงออกด้วยความรุนแรงทั้งการเผา ทำลาย ทุบ ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยง ถ้าวันหนึ่งกฎหมายยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังบัญญัติว่าผิดอยู่ มีอายุความให้เอาผิด คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องก็จะพบเจอกับชะตากรรมของชีวิตที่ยากลำบาก ไม่อยากให้มีคดีในลักษณะนี้อีก แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้ประชาชนเข้ามาเกี่ยวข้องเรียกร้อง ถึงอย่างไรประชาชนก็ต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง บ้านเมืองนี้เป็นของประชาชน ทุกคนต้องมีส่วนร่วม

มองแนวโน้มคดีทางการเมืองกรณีคนเสื้อแดงอย่างไร

ทนายความคดีการเมืองบอกว่าหลังจากคดีคนเสื้อแดงแล้วเขานึกว่าคดีการเมืองจะหมดไป แต่พอเอาเข้าจริง ในห้วง 3 – 4 ปี ก็ยังมีคดีการเมืองเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแก้ปัญหาโครงสร้างการเมืองและเศษฐกิจไม่ได้ อีกทั้งยังไม่ตอบสนองต่อประชาชน ทำให้มีการรวมกลุ่มของคนที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงและกลุ่มอำนาจเดิมที่กลัวจะเสียผลประโยชน์ จึงกลายเป็นความขัดแย้งขึ้นมา คดีการเมืองเหล่านี้จึงไม่มีทางจะหยุด หรือหมดไป จะมีมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับบรรยายกาศของบ้านเมืองและกลุ่มผู้มีอำนาจทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง พร้อมจะผลักดันให้คนในประเทศดีขึ้นหรือไม่

”ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาพื้นฐานที่สุดของประเทศ คนมันไม่มีอนาคต หนี้สินพะรุงพะรัง ลูกเต้าไม่รู้จะเรียนหนังสือไหม ถ้าเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่รู้จะมีเงินรักษาไหม คุณภาพชีวิตถือเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าชีวิตยังต้องไปอยู่เมืองใหญ่ที่ค่าครองชีพก็สูง อยู่บ้านนอกก็ไม่มีอนาคต มันก็หยุดความขัดแย้งไม่ได้ ถ้าผู้มีอำนาจไม่ปรับเปลี่ยน ยังกดขี่อยู่ประชาชนอยู่ ผมแค่อยากจะบอกว่า คุณกดขี่เขาไว้ได้ไม่ได้นาน เขาก็ต้องสู้ เขาสู้ไม่ได้เขาก็ยังสู้อยู่เลย ติดคุกติดตารางด้วยความช้ำอกช้ำใจเขาก็ยังสู้ ติดคุกไปร้องไห้ไป มนุษย์มีมุมที่ไม่นึกถึงอะไร นึกถึงแต่ต้องสู้ แม้ว่าผลจะต้องพบเจอกับชะตากรรมแบบไหนก็ตาม” วัฒนากล่าว

วัฒนาให้ความเห็นว่า หากอำนาจเก่าไม่ยอมเปลี่ยนแปลง แต่อำนาจใหม่เขาจะเปลี่ยนแปลงให้ได้ เลือกตั้งรอบหน้าอำนาจใหม่จะชนะ แต่อาจจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น ท้ายที่สุดอำนาจเก่าจะพ่ายแพ้ ตนเชื่อเรื่องนี้ค่อยข้างมาก อำนาจเก่าจะดิ้นรนยังไงในที่สุดคุณต้องแพ้ ถ้าคุณไม่ปรับตัว มันไม่มีทางที่จะคุณจะห้ามการเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าคุณห้ามการเกิดได้ คุณถึงจะห้ามการเปลี่ยนแปลงได้ ตราบที่ใดมีคนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่เขาไม่เอากับคนรุ่นเก่าอยู่แล้ว คนรุ่นใหม่จะเปลี่ยนแปลง ไม่มีทางอื่นนอกจากต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลง

“อันไหนที่เขาควรปรับตัวก็ควรปรับ เพื่อให้เขาอยู่ได้ แม้กระทั่งว่าถ้าคุณไม่ปรับแก้กฎหมาย แล้วคุณจะมาให้กฎหมายคุณวิเศษกว่าคนอื่น แล้วมันวิเศษจริงหรือเปล่า คนตั้งคำถามเยอะแยะเลย ยิ่งเด็กรุ่นใหม่เขาไม่เอาเลย เขาไม่เอาคุณเลย แล้วไม่ปรับตัวจะอยู่ยังไง มันไม่มีทาง และแน่นอนคนเหล่านี้ก็ไม่มีทางยอมเพราะเรื่องของของผลประโยชน์ เรื่องเงิน เรื่องทอง เรื่องที่เขาได้เป็นเรื่องศักดิ์ศรี วงศ์ตระกูลเขา แต่ก็ไม่มีอะไรคงทนสักอย่าง มันมีความเปลี่ยนแปลง มีอนิจจัง มีความไม่เที่ยงแท้อยู่แล้ว คุณอยากอยู่นาน คุณก็ต้องปรับตัว ไดโนเสาร์มันปรับตัวไม่ได้มันก็สูญหายไปแต่กิ้งก่าตัวเล็กๆ มันก็อยู่ในโลกใบนี้ได้ คุณไม่ใช่เจ้าโลก แต่เป็นได้แค่กิ้งก่า”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net