Skip to main content
sharethis

ประชาไทช่วยสรุป พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากการเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. .... ฉบับก้าวไกล รวมทั้งหมด 14 มาตรา มีสาระสำคัญอย่างไร

หาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ใช้จริง จะมีผลอย่างไร

ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงความเห็นหรือเข้าร่วมชุมนุมที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองและถูกดำเนินคดี มีความผิดตั้งแต่ 11 ก.พ. 2549 หรือวันแรกของการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ จนถึงวันที่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ มีผลบังคับใช้ จะได้รับการพ้นผิด และไม่รับผิด เท่าที่ไม่ขัดกับกฎหมายระหว่างประเทศ    

ชี้ขาดผ่าน คกก.การนิรโทษกรรม

ชัยธวัช ให้คำตอบตอนแถลงข่าวว่าจะไม่มีการนิรโทษกรรมเป็นรายมาตรา เนื่องจากอาจจะมีปัญหาถ้าไประบุฐานความผิดเฉพาะรายมาตรา เช่น คดี พ.ร.บ.ความสะอาด หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากฐานความผิดนี้นิรโทษกรรมทั้งหมดอาจจะมีปัญหา เพราะว่าบางคดีเกี่ยวข้องกับการเมือง บางคดีไม่เกี่ยวข้อง จึงจะใช้การตัดสินชี้ขาดโดยคณะกรรมการ ซึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดเพื่อการนิรโทษกรรม" 

นอกจากนี้ ระหว่างการวินิจฉัยข้อสงสัยโดยคณะกรรมการฯ ว่าคดีหรือการกระทำความผิดเข้าข่ายการนิรโทษกรรมหรือไม่นั้น จะไม่สามารถดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้ถูกกล่าวหา ถ้าคดีอยู่ในระหว่างขั้นตอนของศาลจะต้องระงับกระบวนการพิจารณา และปล่อยตัวจำเลย กรณีที่คำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว และอยู่ในระหว่างพิจารณานิรโทษกรรม ให้คณะกรรมการฯ มีคำสั่งปล่อยผู้ถูกคุมขัง จนกว่าจะมีคำชี้ขาดจากคณะกรรมการฯ 

สัดส่วนคณะกรรมการฯ

คณะกรรมการชุดนี้ ก้าวไกล เสนอให้มี 9 คน โดยประธานรัฐสภา เป็นผู้แต่งตั้งภายใน 60 วันหลัง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ บังคับใช้

สัดส่วนคณะกรรมการฯ มีดังนี้

  • ประธานกรรมการ : ประธานสภาผู้แทนราษฎร 1 คน 
  • รองประธานคณะกรรมการ : ประธานผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 1 คน 
  • บุคคลผู้ได้รับเลือกจากคณะรัฐมนตรี 1 คน 
  • สส.ที่สมาชิกสภาฯ เลือก 2 คน แบ่งเป็นพรรคการเมืองที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจำนวน 1 คน และพรรคการเมืองที่มีสมาชิก สส.มากที่สุดที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี จำนวน 1 คน
  • เลขาธิการสภาฯ 1 คน 
  • ผู้พิพากษา/อดีตผู้พิพากษา ซึ่งได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 1 คน 
  • อดีตตุลาการ/ตุลาการในศาลปกครอง 1 คน มาจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด
  • พนักงานอัยการ/อดีตพนักงานอัยการ ซึ่งได้รับเลือกจากคณะกรรมการอัยการ 1 คน 

ความผิดไม่เข้าข่ายพิจารณา

  1. เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมหากเป็นการกระทำเกินสมควรกว่าเหตุ 
  2. ความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา ยกเว้นจะกระทำโดยประมาท
  3. การกระทำตามประมวลกฎหมาย มาตรา 113 

มาตรา 113 บัญญัติว่า ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ

  1. ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
  2. ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
  3. แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net