Skip to main content
sharethis

กมธ.ที่ดิน แถลงกรณีการขนย้ายกากแคดเมียม-ไฟไหม้โรงเก็บกากอุตสาหกรรม ชี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องเร่งด่วน รัฐต้องมีการตรวจสอบการปนเปื้อน และเปิดเผยข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อเตรียมการระมัดระวัง หาตัวคนรับผิดชอบ

 

2 พ.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (2 พ.ค.) พูนศักดิ์ จันทร์จำปี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงผลการประชุม กมธ.ที่ดินฯ เมื่อวานนี้ (1 พ.ค.) กรณีการจัดการของภาครัฐต่อกระบวนการขนย้ายกลับกากแคดเมียมและเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานวินโพรเสส จ.ระยอง โดยมีตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าชี้แจงได้แก่ กรณีกากแคดเมียม ประกอบด้วย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนกรณีโรงงานวิน โพรเสส ประกอบด้วย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง นายก อบต.บางบุตร นายก อบต.หนองบัว และผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบ้านค่าย

สำหรับกรณีการขนย้ายกากแคดเมียม เริ่มเป็นประเด็นเมื่อประมาณปลายเดือน มี.ค. 2567 หลังเจ้าหน้าที่พบกากแคดเมียมกระจายหลายจังหวัดทั้งสมุทรสาคร ชลบุรี และกรุงเทพฯ จนสร้างความวิตกต่อประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงว่าจะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากกรณีนี้หรือไม่ เพราะประชาชนกังวลว่าอาจมีการเผากากแคดเมียมบางส่วน และทำให้เกิดการปนเปื้อนมลพิษในแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคและอากาศโดยรอบ ขณะที่ล่าสุด เมื่อ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่ามีการขนกากแคดเมียมบางส่วนกลับไปที่บ่อฝังกลบในพื้นที่จังหวัดตากแล้ว 

พูนศักดิ์ กล่าวว่า กรณีกากแคดเมียม มีข้อกังวลของประชาชนว่าการขนส่งกากแคดเมียมกลับไปยัง จ.ตาก ไม่ได้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การยกขนขึ้นจนกระทั่งถึงปลายทาง การยกลงต้องทำอย่างไร การจัดเก็บต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ทำให้เมื่อกากแคดเมียมไปถึง จ.ตาก ก็เกิดปัญหาอีกหลายประเด็น ซึ่ง กมธ.ที่ดินฯ มีความเห็นว่าในการดำเนินการ ภาครัฐควรประเมินความเสี่ยงทุกขั้นตอนเสียก่อนและนำผลการประเมินความเสี่ยงนั้นมาชี้แจงต่อประชาชน

อีกข้อกังวลคือเรื่องบ่อจัดเก็บ จากการตรวจสอบพบรอยรั่วที่บ่อที่ 5 ส่วนบ่อที่ 4 พบว่ามีการเปิดบ่อและนำกากออกไปประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การจะยืนยันว่าทั้งสองบ่อมีการรั่วซึมหรือไม่ ต้องมีการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญและรับรองโดยวิศวกรโยธาระดับสามัญขึ้นไป เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจาย จึงขอเรียกร้องให้ทำการปิดบ่อที่ 4 โดยเร็วหลังจากตรวจสอบแล้วว่าไม่มีการรั่วซึม ส่วนบ่อที่ 5 หากมีการรั่วจริง การตรวจสอบอาจใช้เวลานาน ดังนั้น การจัดเก็บในโรงพักคอยต้องดำเนินการภายใต้อาคารที่มีการป้องกันการแพร่กระจายของกากแคดเมียม เช่น เทพื้นด้วยซีเมนต์ และอื่นๆ

พูนศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีเพลิงไหม้ที่บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เขาพบว่า การบริหารจัดการเพื่อระงับเหตุเพลิงไหม้เกิดความล่าช้า การเยียวยาผู้ประสบภัยใช้เวลานาน รวมถึงปัจจุบันพบว่าของเสียไม่ว่าจะถูกเพลิงไหม้หรือไม่ มีจำนวนมากที่กองอยู่ในพื้นที่ ต้องรีบดำเนินการแก้ไขทันที

สำหรับกรณีเหตุเพลิงไหม้โรงเก็บกากอุตสาหกรรม บริษัท วิน โพรเสส จำกัด (ถูกศาลสั่งยุติกิจการเมื่อปี 2564) บ้านหนองพะวา ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง เริ่มตั้งแต่เมื่อ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา จนทำให้เกิดควัน กลิ่นเหม็นแสบจมูก และหายใจไม่ออก จนชาวบ้านหนองพะวาต้องอพยพออกจากพื้นที่ ไปยังพื้นที่ปลอดภัย 

ทั้งนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ เผยว่า ข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ ระบุว่าในโรงเก็บกากอุตสาหกรรมของบริษัทวิน โพรเสสฯ มีการเก็บกากอุตสาหกรรมหลายประเภท ทั้งขยะกระดาษ พลาสติก กรดด่างใช้แล้ว น้ำมันเครื่องใช้แล้ว ตระกันโลหะ สารตัวทำละลายใช้แล้ว ฯลฯ

มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า วานนี้ (1 พ.ค.) ยังมีความร้อนระอุ และไฟปะทุในพื้นที่ ขณะที่สภาพอากาศตอนนี้ดีขึ้น ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm1-10) อยู่ในระดับค่อนข้างดี แต่เครื่องยังแสดงว่าในอากาศยังมีการปนเปื้อนของสารอินทรีย์ระเหยง่ายรวม หรือ VOCs ที่ 182 ppb (ส่วนในพันล้านส่วน) หรือ 0.182 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งสูงกว่าเมื่อ 30 เม.ย. 2567 เล็กน้อย เช่นเดียวกับค่ากลิ่นที่เมื่อวานเป็น 0 แต่วันนี้ค่าเป็น 5 

พูนศักดิ์ กล่าวว่า ทั้ง 2 กรณีนี้สะท้อนว่าประเด็นสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ รัฐควรทำการตรวจสอบเพื่อยืนยันการปนเปื้อนในพื้นที่ทั้งหมด และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ ชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบเพื่อเตรียมการระมัดระวัง

ในส่วนคดีความ ต้องครอบคลุมตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง หาผู้ที่ต้องรับผิดชอบให้ได้ เอาคนผิดมาลงโทษ และภาครัฐควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอนเพื่อคลายความกังวล ที่สำคัญคือควรรื้อระบบในการบริหารจัดการของเสียและการจัดการภัยสาธารณะ เพื่อให้การจัดการภัยสาธารณะทำได้ดีกว่านี้

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net