Skip to main content
sharethis

ศาลแขวงในฮ่องกงตัดสินชายชาวฮ่องกงรายหนึ่งมีความผิดฐานนำเข้าเนื้อหาที่มีลักษณะ 'ปลุกระดม' หลังจากที่เขาลงนามรับหนังสือเด็กหลายเล่ม ซึ่งเป็นหนังสือเด็กที่ทางการฮ่องกงอ้างว่าปลุกปั่นให้เกิดความเกลียดและต่อต้านรัฐบาลจีน

 

14 ต.ค. 2566 สื่อต่างชาติรายงานเมื่อ 6 ต.ค. 2566 ระบุว่า เคิร์ต เหล่งกุ้ยหมิง (Kurt Leung Kui-ming) เสมียนชาวฮ่องกง อายุ 38 ปี ถูกตัดสินต้องโทษจำคุก 4 เดือน โดยอ้างกฎหมายต่อต้านการปลุกระดมหลังจากที่ให้การยอมรับว่าเขาได้นำเข้าหนังสือเด็ก 18 เล่ม ที่เป็นเรื่องเล่าพูดถึง "แกะและหมาป่า" ซึ่งทางการฮ่องกง อ้างว่าสำนักพิมพ์ที่ตีพิมพ์เผยแพร่หนังสือเด็กเหล่านี้เต็มไปด้วย "ความคิดที่บิดเบี้ยว" และอ้างว่ามีการจงใจยุยงปลุกปั่นให้เยาวชนเกิดความเกลียดชังต่อรัฐบาลฮ่องกง และรัฐบาลจีน

วิกเตอร์ โซ (Viktor So) หัวหน้าผู้พิพากษาศาลแขวงเกาลูนตะวันตก มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมาให้ เหล่ง มีความผิดฐานฝ่าฝืนกฎหมายอาญาที่มีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นอาณานิคมอังกฤษ คือกฎหมายห้ามนำเข้า "สิ่งตีพิมพ์ที่มีลักษณะปลุกระดม"

ชายวัย 38 ปี ถูกจับกุมตั้งแต่เดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และได้ลงชื่อรับพัสดุหนังสือภาพเหล่านี้ โดยในหีบห่อพัสดุมีหนังสือซึ่งศาลแขวงระบุว่ามีเจตนาปลุกระดม หนังสือเหล่านี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับแกะและหมาป่า ซึ่งเคยได้รับการเผยแพร่มาก่อนในปี 2565 ผ่านทางอินสตาแกรมที่ชื่อว่า "sheepvillage2.0" (แปลตรงตัวว่า "หมู่บ้านแกะ 2.0") ซึ่งกลุ่มผู้ผลิตผลงานระบุถึงตัวเองว่าเป็นกลุ่มนักการศึกษาชาวฮ่องกงที่ตอนนี้อาศัยนอกประเทศ

เรื่องราวในหนังสือพูดถึงหมู่บ้านที่มีแกะอาศัยอยู่ และถูกตีความว่าเป็นการเปรียบเปรยอุปมากับเหตุการณ์ต่างๆ ในฮ่องกง คือเหตุการณ์ประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในฮ่องกงเมื่อปี 2562, เหตุการณ์ที่ทางการจีนคุมขังผู้ลี้ภัยชาวฮ่องกง 12 ราย และเหตุการณ์หยุดงานประท้วงจากกลุ่มแพทย์ฮ่องกงในช่วงแรกๆ ที่เกิดการระบาดของ COVID-19

มีการตีความว่าในหนังสือภาพเหล่านี้มีการเปรียบเปรยให้ทางการจีนเป็นหมู่บ้านหมาป่า และให้ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงเป็นหมาป่า "ที่ปลอมตัวเป็นแกะ" ผู้ที่ได้รับคำสั่งจาก "ประธานหมาป่า"

นอกจากนี้ อัยการของคดียังตีความว่า ภาคต่อของหนังสือสื่อนัยยะถึงเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฮ่องกง เช่น การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติอ่องกงอย่างไม่เป็นทางการที่จัดขึ้นกันเองโดยกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตย, การถอดรูปปั้นอนุสรณ์ที่รำลึกถึงการปราบปรามผู้ชุมนุมจตุรัสเทียนอันเหมิน เมื่อปี 2532 และการสั่งปิดหนังสือพิมพ์สนับสนุนประชาธิปไตยแอปเปิลเดลี

กว็อก ไวกิน (Kwok Wai-kin) ผู้พิพากษาศาลแขวง กล่าวว่า หนังสือเหล่านี้บ่มเพาะความหวาดกลัว, ความเกลียดชัง, ความไม่พอใจ และความบาดหมาง ต่อรัฐบาลฮ่องกงกับรัฐบาลจีน ไว้ในจิตใจของเด็กๆ และจะส่งผลให้เกิด "การล้างสมอง" ผู้อ่านที่เป็นเยาวชน ซึ่งในคำร้องของอัยการก็กล่าวถึงหนังสือในทำนองเดียวกันกับคำพิพากษาของโดยระบุว่าในบทปิดท้ายของหนังสือทั้ง 6 เรื่อง มีการเปรียบเปรยฮ่องกงว่าเป็นหมู่บ้านแกะ และเปรียบเปรยจีนแผ่นดินใหญ่ว่าเป็นหมู่บ้านหมาป่า มีการแสดงให้เห็นว่า ฝ่ายหมาป่า "ชั่วร้าย" และฝ่ายแกะเป็น "ผู้ถูกกดขี่" จึงนับเป็นการยุยงให้ผู้อ่านเกลียดรัฐบาลฮ่องกง และจีน

คำร้องของอัยการระบุว่า เหล่งได้บอกกับตำรวจถึงเรื่องที่เขาได้รับแจ้งจากอดีตเพื่อนร่วมงาน ฉ่อย วิงทัต (Choi Wing-tat) ว่าจะมีซองจ่าหน้าถึงเขาส่งมาหาและขอให้จำเลยเป็นผู้ลงชื่อรับแทน โดยที่เหล่ง บอกว่าเขาไม่รู้ว่าในหีบห่อพัสดุนั้นมีอะไรอยู่ อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนการสืบสวนเบื้องต้น ฝ่ายอัยการได้ค้นโทรศัพท์ของเหล่ง พบว่ามีการพูดคุยในแชตที่สื่อให้เห็นว่า ชายอายุ 38 ปี ทราบมาก่อนว่า พัสดุนั้นมีหนังสือเล่มดังกล่าวอยู่ข้างในโดยได้เห็นรูปของหนังสือด้วย

อันซอน หว่อง (Anson Wong) ทนายของจำเลยพยายามโต้แย้งว่า จำเลยมีบทบาทแบบ "ไม่ได้มีส่วนร่วมกระทำผิดด้วย" เพราะเขาแค่ลงชื่อรับของเท่านั้น และไม่ได้ทำการแจกจ่ายต่อแต่อย่างใด อีกทั้งถึงแม้ว่าเขาจะรู้ว่าเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาปลุกระดมแต่ก็ตัวเหล่ง เองก็ไม่ได้มีเจตนาปลุกระดมแต่อย่างใดรวมถึงมีการเขียนจดหมายขอบรรเทาโทษโดยระบุขอโทษอย่างจริงใจต่อ "พฤติกรรมที่โง่เขลา" ของเขา

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าผู้พิพากษาก็ระบุในคำตัดสินว่า การที่หนังสือเล่มดังกล่าวมีเป้าหมายเป็นเด็กและเยาวชนทำให้เหล่ง เข้าข่ายการเป็นผู้กระทำผิดมากขึ้น และจากที่คดีนี้มี "ปัจจัยของการข้ามพรมแดน" อยู่ด้วย การนำเข้าหนังสือนี้ก็เท่ากับเป็นการที่เหล่ง ส่งเสริมให้คนต่างประเทศผลิตหนังสือที่มีเนื้อหาแบบนี้ต่อไป ผู้พิพากษาอ้างว่าเขากลัวว่าถ้าหาก "แนวคิดปลุกระดม" เช่นนี้สามารถฝังรากและทำให้จิตใจของเด็กและเยาวชนซึมซับเข้าไปได้มันก็จะ "ส่งผลกระทบแบบข้ามรุ่น"

เหล่ง ได้รับโทษจำคุก 6 เดือน จากคดีนี้ อย่างไรก็ตามเขาได้รับการลดโทษเพราะให้การยอมรับสารภาพ รวมถึงการที่เหล่ง ถูกคุมขังมาแล้ว 1 เดือนช่วงรอการพิจารณาคดี ทำให้เขาจะต้องจำคุกหลังจากนี้เพียง 4 เดือนเท่านั้น

คดีนี้ไม่ได้ใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จากจีน ที่ตั้งเป้าหมายเอาผิดกับการยุยงปลุกปั่น, การล้มล้าง, การสมคบคิดกับต่างชาติ และการก่อการร้าย ซึ่งมีการระวางโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต แต่คดีนี้ใช้กฎหมายว่าด้วยการปลุกระดม ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดตั้งแต่เมื่อ 40-50 ปีที่แล้วที่ฮ่องกงยังคงเป็นอาณานิคมของอังกฤษ กฎหมายดังกล่าวนี้มีการระวางโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี

นอกจากนี้ ย้อนไปเมื่อปี 2565 มีนักบำบัดชาวฮ่องกง 5 ราย ได้แก่ ไล แมนคิง (Lai Man-king), เมโลดี หยาง (Melody Yeung), ซิดนีย์ อึ้ง (Sidney Ng), ซามูเอล เฉิน (Samuel Chan) และ ฟง ซือโฮว (Fong Tsz-ho) ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทุกคนอายุอยู่ในช่วงวัย 20 ปีทั้งหมด  ถูกศาลฮ่องกงสั่งจำคุก 5 ปี ฐานข้อหายุยงปลุกปั่น เนื่องจากจัดพิมพ์ ‘สิ่งพิมพ์ที่ปลุกระดม’ หนังสือสำหรับเด็กที่มีภาพประกอบของกลุ่มแกะที่ปกป้องหมู่บ้านตนเองจากหมาป่า 


เรียบเรียงจาก

Hong Kong man jailed for 4 months over importing ‘seditious’ children’s books, HKFP, 06-10-2023
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net