Skip to main content
sharethis

หลังจากที่มีคู่รักเพศเดียวกันฟ้องร้องให้ศาลอนุญาตให้พวกเขาเข้าถึงกฎหมายจัดการมรดกของฮ่องกงได้แบบคู่รักต่างเพศ ฝ่ายรัฐบาลฮ่องกงก็พยายามขัดขวางโดยยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะอนุญาตแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยืนคำตัดสินเดิมของศาลชั้นต้นให้คู่รักเพศเดียวกันเข้าถึงสิทธิในการจัดการมรดกได้ โดยระบุว่ารัฐบาล "ไม่มีมูลเหตุใดๆ ให้อุทธรณ์"

ศาลอุทธรณ์ฮ่องกงตัดสินเมื่อวันที่ 24 ต.ค. ที่ผ่านมา ให้ คู่รักเพศเดียวกันสามารถรับสิทธิอย่างเสมอภาคกันตามที่ระบุไว้ในกฎหมายมรดก 2 ฉบับ คือ พรบ.สิทธิการรับมรดก (ส่วนแบ่งแก่ครอบครัวและบริวาร) หรือ IEO และ พรบ. การสืบทอดทรัพย์สินที่ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หรือ IPO

โดยที่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว Edgar Ng ผู้ที่เป็นคู่รักของ Henry Li ได้ยื่นฟ้องต่อศาลในเรื่องกฎหมายมรดกของฮ่องกงที่ไม่ครอบคลุมถึงคู่รักเพศเดียวกัน Ng เสียชีวิตก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะตัดสินในเรื่องนี้

ถึงแม้ศาลชั้นต้นจะเคยตัดสินไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่กระทรวงยุติธรรมของฮ่องกงก็ได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คัดค้านไม่ให้ทำตามข้อเรียกร้องของโจทก์ในเรื่องความเสมอภาคในการใช้กฎหมายมรดกต่อคู่รักเพศเดียวกันและคู่รักต่างเพศ โดยที่ Abraham Chan ทนายความฝ่ายรัฐอ้างว่าการเลือกปฏิบัติแบ่งแยกกันในการบังคับใช้กฎหมายมรดกต่อคู้รักเพศเดียวกันกับคู่รักต่างเพศนั้นเป็นเรื่องที่ชอบธรรมเพราะคนทั้งสองกลุ่มนี้ "มีความแตกต่างกันทางกายภาพอย่างชัดเจน"

แต่ศาลอุทธรณ์ก็ตัดสินว่าคำร้องของกระทรวงยุติธรรมฮ่องกงนั้น "ไม่มีมูลเหตุใดๆ ให้อุทธรณ์ได้"

Henry Li กล่าวว่า "ผมหวังว่ารัฐบาลฮ่องกงจะเคารพต่อคำตัดสินในวันนี้ ซึ่งจะเป็นการเคารพศักดิ์ศรีและให้เกียรติ์แก่ Edgar แบบที่เขาสมควรจะได้รับมาโดยตลอด"

ในแถลงการณ์ของกลุ่มเอ็นจีโอ "สมรสเท่าเทียมฮ่องกง" ระบุว่า การกีดกันคนรักเพศเดียวกันจากระบบการแต่งงาน ไม่ได้นับเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังนับเป็นการเหยียดหยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และทำลายชีวิตความเป็นอยู่ของคนรักเพศเดียวกันด้วย

เอ็นจีโอสมรสเท่าเทียมฮ่องกงระบุว่า "คู่รักเพศเดียวกันแค่ต้องการเข้าถึงสถาบันที่เกี่ยวกับการแต่งงานในแบบเดียวกับที่จัดไว้ให้คู่รักเพศตรงข้าม ด้วยเหตุผลแบบเดียวกับคู่รักเพศตรงข้ามหลายๆ เหตุผลรวมกัน นั่นคือการรับรองถึงความรักและพันธสัญญาระหว่างพวกเขา ไปจนถึงการให้สวัสดิการและการคุ้มครองในฐานะครอบครัว" ทางเอ็นจีโอยังเรียกร้องขอให้รัฐบาลอย่าอุทธรณ์ต่อในเรื่องนี้ด้วย

Ng เคยฟ้องร้องตั้งแต่ปี 2562 ขอให้มีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับมรดก เพราะ Ng กลัวว่าเขาอาจจะเสียชีวิตโดยไม่ได้มีการดำเนินการทางพินัยกรรม Ng กลัวว่าทรัพย์สินต่างๆ ของเขาจะไม่ได้มีการส่งมอบต่อไปสู่คู่รักเพศเดียวกันของตัวเอง

ข้อร้องเรียนนี้เคยได้รับการพิจารณาในศาลชั้นต้นมาก่อน และมีการพิจารณาในระดับกระบวนการตัดสินใจโดยภาคส่วนบริหารของรัฐบาล ซึ่งการพิจารณาประเด็นต่างๆ ต้องมีการแสดงให้เห็นว่ามันจะส่งผลต่อผลประโยชน์ส่วนรวมในวงกว้างอย่างไรบ้าง

ศาลชั้นต้นระบุอนุญาตให้มีการพิจารณาในเรื่องนี้และตัดสินสนับสนุนคำร้องของ Ng เมื่อปี 2563 โดยให้เหตุผลว่า การกีดกันคู่รักเพศเดียวกันจากการใช้ประโยชน์จากกฎหมายมรดก 2 ฉบับที่คนรักต่างเพศสามารถใช้ได้นั้น นับเป็นการกีดกันเลือกปฏิบัติที่ผิดกฎหมาย

Anderson Chow ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นระบุว่า "การปฏิบัติแบบแบ่งแยกแตกต่างกันระหว่างคู่รักเพศเดียวกันกับคู่รักเพศตรงข้ามภายใต้กฎหมาย IEO และ IPO (กฎหมายมรดกสองฉบับในฮ่องกง) เป็นสิ่งที่ไม่สามารถให้ความชอบธรรมได้"

รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมฮ่องกง Abraham Chan ที่เป็นผู้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งศาลชั้นต้นว่ามันไม่มี "การเชื่อมโยงที่เป็นเหตุเป็นผล" ระหว่างการเลือกปฏิบัติที่แบ่งแยกกันและเป้าหมายที่ต้องการดำรงไว้ซึ่งบูรณภาพของการแต่งงานระหว่างคนรักต่างเพศ

Jin Pao ที่ปรึกษาอาวุโสของสมาคมทนายความฮ่องกงที่เป็นแทนคู่รักเพศเดียวกันในคดีนี้กล่าวว่าศาลควรจะดูที่นิยามของคำว่า "การสมรสที่ถูกต้อง" ซึ่งระบุในเงื่อนไขของกฎหมายมรดก ซึ่งนิยามของคำนี้ตามกฎหมายฮ่องกงคือ "การแต่งงานที่มีการเฉลิมฉลองหรือจดทะเบียนภายนอกฮ่องกงโดยเป็นไปตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในตอนนั้นและกฎหมายในสถานที่ๆ มีการแต่งงานนั้นๆ"

Ng กับ Li แต่งงานกันที่สหราชอาณาจักรเมื่อปี 2560

ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ฮ่องกงตัดสินด้วยมติเอกฉันท์ว่าคำร้องของกระทรวงยุติธรรมนั้นไม่มีมูลเหตุใดๆ ให้อุทธรณ์ได้ โดยระบุในคำตัดสินว่า "(Ng และ Li) ถูกกีดกันออกจากการได้รับประโยชน์จากกฎหมาย IEO และ IPO เพราะพวกเขาได้แต่งงานในฐานะคนรักเพศเดียวกัน และ ตามความเห็นของข้าพเจ้าพวกเขาได้รับการปฏิบัติต่างกันบนฐานของเพศวิถีที่พวกเขาเป็น"

นักกิจกรรมมักจะวิจารณ์เรื่องที่ฮ่องกงจำกัดสิทธิและการคุ้มครองชุมชน LGBTQ+ ทำให้เกิดการพึ่งพากระบวนการยุติธรรมเป็นความหวังเดียวในการปรับแก้กฎหมายที่พวกเขามองว่ามีรากฐานมาจากการกีดกันเลือกปฏิบัติ

Ng ฆ่าตัวตายเมื่อปี 2563 เคยฟ้องร้องให้มีการพิจารณาปรับปรุงกระบวนการกฎหมายในฮ่องกงเพื่อสิทธิความเสมอภาคสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน 2 คดี หนึ่งในนั้นคือคดีเรื่องมรดก อีกคดีหนึ่งคือเรื่องสิทธิในการเข้าถึงที่อยู่อาศัย มีการฟ้องร้องเรื่องนี้หลังจากที่หน่วยงานการเคหะของฮ่องกงปฏิเสธไม่ให้ Ng กับ Li แฟนของเขาซื้อบ้านในฐานะคู่รักเพศเดียวกัน รวมถึงไม่ยอมรับว่า Li เป็นครอบครัวเดียวกับ Ng

ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินเรื่องนี้เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้าการตัดสินคดีเรื่องมรดก โดยระบุยืนตามคำตัดสินเดิมของศาลชั้นต้นว่าการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อการเข้าถึงที่พักอาศัยของคู่รักเพศเดียวกันนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมายและผิดหลักรัฐธรรมนูญ

ในปี 2564 หลังจากที่ Ng เสียชีวิต Li ได้ยื่นขอให้มีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมรับว่า Ng เป็นคู่แต่งงานของ Li แต่ Li ก็ยกเลิกการฟ้องร้องในเวลาต่อมา หลังจากที่ทางการฮ่องกงยืนยันว่าบุคคลในสถานการณ์เช่นนี้จะได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันเมื่อมีการจัดการเรื่องต่างๆ ต่อผู้เสียชีวิตหลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว โดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นผู้มีเพศวิถีใด

ในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ศาลสูงสุดของฮ่องกงได้ตัดสินในสิ่งที่เป็นชัยชนะส่วนหนึ่งสำหรับ จิมมี แชม นักกิจกรรมด้าน LGBTQ+ คำตัดสินระบุว่ารัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องจัดหาแนวทางกฎหมายทางเลือกเพื่อให้มีการรับรองความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกัน แต่ศาลฮ่องกงก็ยังคงกั๊กไม่ถึงข้ั้นให้สิทธิรับรองการสมรสเท่าเทียมแก่คนรักเพศเดียวกัน

มีการให้เวลารัฐบาลฮ่องกง 2 ปี ในการพัฒนากลไกที่จะรับรองความสัมพันธ์ของคนรักเพศเดียวกันก่อนที่ศาลจะตัดสินว่ารัฐบาลฮ่องกงกำลังฝ่าฝืนกฎหมาย


เรียบเรียงจาก
Hong Kong court rules in favour of same-sex couples’ equal inheritance rights following gov’t appeal, Hong Kong Free Press, 24-10-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net