Skip to main content
sharethis

อาจารย์มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (CUHK) ผู้เชี่ยวชาญเรื่อง "เหตุปราบปรามประชาชนที่จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 2532" ถูกปฏิเสธต่อวีซ่าโดยรัฐบาลฮ่องกง และทางมหาวิทยาลัยได้ไล่เธอออกทันทีหลังจากที่มีการปฏิเสธต่อวีซ่าให้

 

3 พ.ย. 2566 He Xiao-qing ผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ CUHK กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อท้องถิ่นของฮ่องกงว่า สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของฮ่องกงได้ขอให้เธอส่งเอกสารเพิ่มเติมให้หนึ่งเดือนหลังจากที่เธอยื่นขอขยายเวลาวีซ่า ในคำร้องขอเอกสารของ He นั้นระบุว่าต้องการข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับงานเก่าของเธอที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบันเพื่อการศึกษาขั้นสูง รวมถึงรายละเอียดเรื่องงบประมาณการวิจัยที่เธอได้รับ

He กำลังอยู่ที่สหรัฐฯ ในช่วงลาหยุดยาว เธอบอกว่าทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองฮ่องกงแจ้งปฏิเสธการยื่นขอต่ออายุวีซ่าของเธอ และเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา สัปดาห์เดียวกับที่ He ถูกปฏิเสธวีซ่า ทาง CUHK ก็ได้แจ้งเตือนว่าเธอ "ถูกให้ออกจากงานโดยมีผลทันที" อย่างไรก็ตามในเว็บไซต์ CUHK ยังคงมีหน้าประวัติของอาจารย์ He อยู่ จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ 29 ต.ค. ที่ผ่านมา และมีข้อความระบุว่าอาจารย์ท่านนี้ "กำลังอยู่ในช่วงลางาน"

He Xiao-qing

โฆษกของรัฐบาลฮ่องกงแถลงเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ทางการ "จะไม่แสดงความคิดเห็นเป็นรายกรณี" และจะจัดการกับทุกๆ กรณีตามนโยบายที่แตกต่างกันไป เช่นว่า ผู้ขอวีซ่า "มีประวัติอาชญากรรมใสสะอาดและไม่สร้างความน่าเป็นห่วงต่อฮ่องกงในด้านความมั่นคงหรือด้านอาชญากรรม" ผู้ขอวีซ่าจะต้อง "ไม่มีความเป็นไปได้ที่จะกลายเป็นภาระแก่ฮ่องกง"

CUHK กล่าวโต้ตอบในเรื่องนี้ว่า ผู้อาศัยในฮ่องกงที่ไม่ใช่ชาวฮ่องกงจะต้องมีวีซ่าทำงานที่ถูกต้องเพื่อที่จะทำงานในฮ่องกงได้ และ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบวีซ่า

He กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ InMedia ว่าเธอยื่นขอวีซ่าทำงานในฮ่องกงเมื่อปี 2562 และทำการต่ออายุวีซ่าเมื่อปี 2564 กระบวนการขอและต่อวีซ่าทั้งสองครั้งเป็นไปอย่างราบรื่นและสำเร็จไปได้ด้วยดี แต่ในครั้งนี้เธอรู้สึกว่าเธอไม่สามารถทำอะไรได้เลยกับการตัดสินใจเรื่องวีซ่า

ประวัติของ He ระบุว่าเธอเกิดในจีนแผ่นดินใหญ่และเติบโตในยุคที่มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินก่อนที่จะย้ายถิ่นฐานไปยังแคนาดาในปี 2541 เธอจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งโตรอนโตในระดับปริญญาเอกและได้ตีพิมพ์หนังสือเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่เทียนอันเหมินชื่อ "Tiananmen Exiles: Voices of the Struggle for Democracy in China" เมื่อปี 2557 และตอนทำงานที่มหาวิทยาลัย CUHK เธอเคยได้รับรางวัลการสอนดีเด่นคณะอักษรศาสตร์เมื่อปี 2563-2564

 

จีนเริ่มปราบปรามการรำลึกถึงเทียนอันเหมินแม้แต่ในฮ่องกง

เหตุการณ์เทียนอันเหมินเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2532 ที่กองทัพรัฐบาลจีนใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้นทางการจีนก็พยายามปิดกั้นการพูดถึงหรือการแสดงออกใดๆ ก็ตามที่จะสื่อถึงเหตุการณ์นี้

เว้นแต่ในฮ่องกงช่วง 30 ปีหลังจากเหตุการณ์เทียนอันเหมินยังคงเป็นพื้นที่เดียวในจีนที่สามารถแสดงการรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินได้ และมีการจัดพิธีรำลึกวันที่ 4 มิ.ย. ทุกปีที่วิกเตอเรียปาร์ค อย่างไรก็ตามหลังจากเกิดเหตุการณ์ประท้วงและความไม่สงบในปี 2562 รวมถึงการออกกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จากจีน ก็มีการปิดกั้นการรำลึกถึงเทียนอันเหมินนับตั้งแต่นั้นมา

ในปี 2563 ตำรวจฮ่องกงสั่งแบนการรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี โดยอ้างเรื่องการระบาดของ COVID-19 ในการจำกัดการรวมกลุ่มกันในที่สาธารณะ นอกจากนี้แล้วยังมีการดำเนินคดีต่อผู้จัดงานรำลึกอย่าง "พันธมิตรฮ่องกงเพื่อสนับสนุนขบวนการประชาธิปไตยของชาวจีนผู้รักชาติ" โดยอ้างใช้กฎหมายความมั่นคงด้วย

ในปี 2566 หลังจากที่มีการยกเลิกข้อจำกัด COVID-19 แล้ว เจ้าหน้าที่ระดับสูงของฮ่องกงบ่ายเบี่ยงซ้ำๆ ไม่ยอมให้คำตอบที่ชัดเจนว่าการรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินยังนับเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือไม่ แต่ก็มีการปราบปรามผู้จัดรำลึกเหตุการณ์เทียนอันเหมินในปีนี้ โดยมีการวางกำลังตำรวจอย่างหนาแน่นบริเวณใกล้เคียงที่จัดงานและมีการจับกุมผู้คนหลายคนในงาน ทั้งนี้ยังมีกลุ่มชาตินิยมสนับสนุนจีนแผ่นดินใหญ่ยึดกุมพื้นที่สนามฟุตบอล 6 แห่งโดยรอบบริเวณวิกเตอเรียปาร์คเอาไว้ด้วย

ศาสตราจารย์ He กล่าวว่าเธอเคยชื่นชมเสรีภาพที่ฮ่องกงมีมาโดยตลอดและบอกว่าเธอไม่เคยถูกเซนเซอร์ในตอนที่ทำการสอนอยู่ที่ CUHK เลย He บอกว่างานวิจัยของเธอนั้น "ซื่อตรงต่อประวัติศาสตร์"

He ไม่ใช่คนเดียวที่ถูกเล่นงานด้วยวิธีการปฏิเสธวีซ่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทางการฮ่องกงเคยใช้วิธีการปฏิเสธวีซ่า นักวิชาการและนักข่าวรายอื่นๆ รวมถึงใช้วิธีการปฏิเสธไม่ให้ข้ามพรมแดนเข้ามาในฮ่องกงด้วย

ไรอัน ทอร์สัน นักวิชาการด้านกฎหมายชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิทธิ LGBTQ+ เคยกล่าวไว้เมื่อเดือน ก.พ. 2565 ว่าเขาถูกปฏิเสธวีซ่าที่จะอนุญาตให้เขาทำงานที่มหาวิทยาลัยแห่งฮ่องกงได้ ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีความน่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องเสรีภาพทางวิชาการของฮ่องกง

ในปี 2564 Wong Sue-Lin นักข่าวดิอิโคโนมิสต์ถูกปฏิเสธไม่ต่อวีซ่าให้ แครี่ แลม กล่าวอ้างว่าการให้วีซ่าแก่นักข่าวต่างประเทศนั้น "เป็นไปตามกฎหมายพื้นฐาน" ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญของฮ่องกง แลมบอกว่าเธอเองก็เคยถูกปฏิเสธวีซ่าสหรัฐฯ เช่นกัน

ในปี 2563 มีกรณีนักข่าวนิวยอร์กไทม์ คริส บัคลีย์ ถูกบังคับให้ออกจากฮ่องกงหลังจากที่เขาถูกปฏิเสธวีซ่าโดยไม่มีเหตุผลใดๆ เรื่องนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สหรัฐฯ กับจีนกำลังขัดแย้งกัน

แม้แต่คนทำงานสื่อที่รายงานข่าวเรื่อง He เองอย่าง ฮ่องกงฟรีเพรส ก็มีคนถูกปฏิเสธวีซ่าเช่นกันหลังจากรอมาเป็นเวลา 6 เดือน โดยที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองฮ่องกงปฏิเสธให้วีซ่าทำงานแก่ อารอน แมคนิโคลัส ผู้ที่จะไปทำงานเป็นบรรณาธิการของฮ่องกงฟรีเพรส โดยที่ไม่ได้ให้เหตุผลใดๆ ในการปฏิเสธวีซ่า

 

 

เรียบเรียงจาก

Chinese University fires Tiananmen crackdown scholar after Hong Kong gov’t rejects visa extension, Hong Kong Free Press, 30-10-2023

https://hongkongfp.com/2023/10/30/chinese-university-fires-tiananmen-crackdown-scholar-after-hong-kong-govt-rejects-visa-extension

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net