Skip to main content
sharethis

'สำนักข่าวชาวขอบ' รายงานชาวบ้านป่าหมาก อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โวยถูกปักเขตป่าอนุรักษ์ทับชุมชน หวั่นเสียที่ทำกินยกหมู่บ้าน หัวหน้าอุทยานฯ กุยบุรีแจงสำรวจถูกต้อง เตรียมกันเขต-ออกหนังสืออนุญาตให้ชาวบ้าน


ที่มาภาพ: สำนักข่าวชายขอบ

สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 นายเยบุ จอเด๊ะโก อายุ 66 ปี ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงบ้านป่าหมาก อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี ได้เข้ามาปักหลักเขตอุทยานฯ เพื่อเตรียมยึดคืนที่ทำกินจากชาวบ้านหลายแปลง โดยที่ทำกินของตนถูกปักเขตทับมากกว่าครึ่งแปลง ซึ่งเป็นที่ทำกินที่ได้รับการจัดสรรจากหน่วยทหารเมื่อครั้งผลักดันชาวบ้านกะเหรี่ยงออกจากป่ามาอยู่รวมกันที่บ้านป่าหมากหลังปี 2538

นายเยบุ กล่าวต่อว่า ครอบครัวของตนได้รับจัดสรรทั้งหมดประมาณ 5 ไร่ ปลูกยางพารา กล้วย และกาแฟ เป็นลักษณะสวนผสม ส่วนที่ถูกปักเขตเพื่อยึดคืนนั้น ตนได้ถางปรับพื้นที่เตรียมเพาะปลูกไว้ แต่เจ้าหน้าที่ห้ามไม่ให้เข้าไปปลูกพืช จึงเกรงว่าจะต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งจะกระทบกับความเป็นอยู่ของครอบครัวตน และอาจไม่มีที่ทำกินสืบต่อให้ลูก ๆ ได้ทำกินในอนาคตด้วย

นายชัย ใจเย็น อายุ 70 ปี ชาวบ้านป่าหมาก กล่าวว่า ตนเป็นคนกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านป่าหมากหรือแพรกตะลุย สมัยปู่ย่าตายายทำไร่หมุนเวียน จนช่วงสมัยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ขยายฐานที่มั่นในผืนป่าแถบนี้ ตนได้เข้าเป็นแนวร่วม พคท. จนกระทั่งตัดสินใจวางอาวุธออกจากป่า และได้รับการจัดสรรที่ทำกินเช่นเดียวกับชาวบ้านจากชุมชนต่าง ๆ ที่ถูกทางการผลักดันออกป่ามาอยู่ที่บ้านป่าหมาก แต่ครอบครัวตนเป็นคนดั้งเดิมจึงมีที่ดินทำกินมากกว่าชาวบ้านที่ย้ายมาจากที่อื่น

นายชัย กล่าวต่อว่า ตนได้แบ่งที่ดินให้ลูก ๆ ที่แยกไปมีครอบครัวแล้ว คนละ 5-6 ไร่ และเหลือแปลงสุดท้ายไว้ทำกิน ช่วงที่เจ้าหน้าที่เข้ามาปักเขตไม่ได้เข้ามาสอบถามหรือให้ตนไปเดินดูแปลงพร้อมกัน และตนเองก็ป่วยไม่มีแรงไปเดินตามเจ้าหน้าที่ จึงยังไม่รู้ว่าถูกยึดที่คืนไปมากน้อนแค่ไหน

“ผมไม่สบาย จะไปเดินตามดูเจ้าหน้าที่มาปักเขตก็ไม่ไหว ได้แต่นั่งดูไกล ๆ เห็นมาปักเขตเต็มไปหมด ถ้าจะเอาที่ดินไปตนก็ไม่ยอม เพราะปู่ย่าตายายทำกินอยู่ที่นี่ ตนก็เกิดที่นี่ ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ต้องสู้ เพราะกว่าจะเป็นสวนขนาดนี้ ตนลงแรงหยาดเหงื่อมาทั้งชีวิต” นายชัย กล่าว

นางพอตารี ใจเย็น อายุ 43 ปี กล่าวว่า หมู่บ้านป่าหมากจะอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี แต่ทุกครอบครัวได้รับจัดสรรที่ทำกินจากรัฐแล้ว แม้ยังไม่ได้เอกสารสิทธิ์ แต่ชาวบ้านทำกินปักหลักเป็นชุมชนมั่นคง ก็ควรกันเขตชุมชนและที่ทำกินให้ชาวบ้านอย่างชัดเจน ไม่ใช่มาตามยึดคืนที่ดินจากชาวบ้าน ที่ทำกินของตนโดนปักเขตทับครึ่งแปลง ส่วนของน้องชายโดยปักเขตทับทั้งหมด

“พวกเราอยู่ป่า ไม่เหมือนคนทำไร่ข้างนอกที่ทำภูเข้าโล้นเป็นลูก ๆ ถ้าจะมาจับเราก็ยอม ที่ดินตกลงจัดสรรให้ชาวบ้านทำกินแล้ว จะยึดไปไม่ได้ ถ้าอุทยานฯดูแล ค่าข้าว ค้านม ค่าเรียนหนังสือลูก ๆได้ ดูแลชาวบ้านทุกคนได้ เราอาจยอม แต่ถ้าทำไม่ได้ เราไม่ยอมเสียที่ทำกินที่มีเพียงน้อยนิดอย่างแน่นอน” นางพอตารี กล่าว

นายอรรถพงษ์ เภาอ่อน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติกุยบุรี กล่าวว่า การเข้าไปรังวัดและปักหมุดในพื้นที่ชุมชนบ้านป่าหมาก คือการปักหลักเขตพื้นที่บริหารเพื่อการอนุรักษ์ ไม่ใช่การกำหนดหรือขยายแนวเขตอุทยานฯ ทับที่ทำกินตามที่ชาวบ้านกังวล ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม ม.64 พรบ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 ให้สำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในอุทยานแห่งชาติ หลังจากนี้จะมีการปักหลักหมุดรายแปลงเพื่อป้องกันการรุกล้ำพื้นที่เพิ่ม และกรมอุทยานจะออกหนังสืออนุญาตการใช้ที่ดินทำกินให้แก่ชาวบ้าน

“การรังวัดที่เกิดขึ้นนั้น เราสำรวจตามข้อมูลเดิมที่ทำการสำรวจร่วมกับชาวบ้านในเบื้องต้น จึงไม่กระทบกับที่ทำกินของชาวบ้านได้จัดสรรเดิม” นายอรรถพงษ์ กล่าว

นายอรรถพงษ์ กล่าวอีกว่าประเด็นที่ชาวบ้านกังวลอาจเป็นพื้นที่หุบหน่อลู้ (หุบมอโร) พื้นที่ประมาณ 180 ไร่ เนื่องจากที่ดินบางแปลงถูกดำเนินคดี จึงไม่ถูกสำรวจตาม ม.64 เมื่อตนไปลงพื้นที่เห็นปัญหาจึงวิเคราะห์ข้อมูลสามารถแยกพื้นที่บางส่วนออกมาประมาณ 70 ไร่ และได้ดำเนินการรังวัดตาม ม.64 เพิ่มเป็นพื้นที่บริหารเพื่อการอนุรักษ์ให้แล้ว จึงเหลืออีกประมาณ 110 ไร่ ที่ยังเป็นปัญหา โดยอุทยานฯ กำลังหาทางออกที่เหมาะสม

“พื้นที่ใดอยู่ในเงื่อนไข 1.มีความเป็นมา 2.สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง 3.ไม่ขัดข้อกฎหมาย ยังสามารถรังวัดเพิ่มเป็นเขตบริหารเพื่อการอนุรักษ์เพิ่มเติมได้” นายอรรถพงษ์ กล่าว

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net