Skip to main content
sharethis

'ชูศักดิ์ ศิรินิล' รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เตือน 'ก้าวไกล' ระวังขัดแย้ง ย้ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ต้องชัดเจนก่อน จะยื่นร่างคู่ขนานหรือไม่ต้องหารือภายในพรรคก่อน หากยุติความขัดแย้งได้เป็นเรื่องดี - 'ก้าวไกล' ระบุแม้ไม่ได้เป็น กก.ประชามติ แต่พร้อมหนุนออกเสียงประชามติ เลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้ง 200 คน ชี้ต้องแก้ รธน.ได้ทุกหมวด หวั่นโดนยื้อเวลา

6 ต.ค. 2566 นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะรักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล ยื่นเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวานนี้ (5 ต.ค.66) ว่า อย่าให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นตัวการสร้างความขัดแย้งในสังคม เพราะปัญหาการตีความคดีการเมือง หรือการแสดงออกทางการเมืองยังไม่ชัดเจน ดังนั้น จึงจะต้องมีความชัดเจนก่อน รวมถึงความครอบคลุมการนิรโทษกรรม เช่น คดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือคดีชุมนุมทางการเมืองอื่นๆ ที่ควรให้ตกผลึกร่วมกันก่อน

สำหรับการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของพรรคเพื่อไทย นายชูศักดิ์ ระบุว่า สมควรจะยื่นร่างกฎหมายคู่ขนานไปกับพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น ทางพรรคเพื่อไทยยังไม่มีการประชุมหารือเรื่องนี้ เนื่องจากความคิดเห็นภายในพรรคยังไม่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พรรคเพื่อไทยเคยตกเป็นจำเลยของสังคมในอดีต จึงต้องหารือกันในพรรคก่อนว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

ส่วนกรณีที่พรรคก้าวไกลเห็นว่าจะเป็นก้าวแรกของการหยุดนิติสงคราม นายชูศักดิ์ กล่าวว่า โดยหลักการแล้ว ความขัดแย้งหากยุติลงได้ ก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ปัญหาที่จะต้องตอบ คือ สามารถยุติลงได้จริงหรือไม่ หรือจะกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งเพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวต้องคิดให้รอบคอบ

'ก้าวไกล' ระบุแม้ไม่ได้เป็น กก.ประชามติ แต่พร้อมหนุนออกเสียงประชามติ เลือกตั้ง ส.ส.ร.ทั้ง 200 คน ชี้ต้องแก้ รธน.ได้ทุกหมวด หวั่นโดนยื้อเวลา

นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกล ไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมคณะกรรมการศึกษาการจัดการออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลพร้อมสนับสนุนให้จัดการออกเสียงประชามติ ใช้อำนาจประชาชนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางตรง แม้พรรคก้าวไกล จะไม่ได้เป็นกรรมการ แต่พร้อมเข้าร่วมให้ความเห็น แต่ขอให้รัฐบาลระมัดระวังสถานการณ์ทางการเมืองที่มีหลายขั้วการเมือง หากไม่สามารถจัดการได้ดี อาจจะเกิดความขัดแย้งใหม่ได้ ดังนั้น การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จึงควรเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่าย ทุกความขัดแย้งให้มีพื้นที่ปลอดภัยในการเสนอแนวคิด แม้จะไม่ได้มีผู้เห็นด้วยทั้งหมด แต่ทำให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม ไม่มีใครถูกกีดกัน

ขณะที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยืนยันว่า การตัดสินใจไม่ร่วมเป็นคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพรรคก้าวไกลกังวลว่าการตั้งคณะกรรมการศึกษามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งพรรคก้าวไกลต้องการให้มีส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง “แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทุกหมวด จึงเป็นข้อสรุปที่พูดคุยตั้งแต่ปี 2562 แต่กังวลว่า คณะกรรมการฯ ชุดใหม่ จะย้อนหลักการสิ่งที่เคยพูดคุยกันมาจนกลายเป็นความพยายามประวิงเวลา และย้อนหลักการข้อสรุปที่เคยมีร่วมกันมาแล้ว” นายพิธา กล่าว


ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net