Skip to main content
sharethis

สมัชชาประชาสังคมฯ ออกแถลงการณ์วันสันติภาพสากล 2566 ชี้รัฐไม่มีความชัดเจนต่อการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในชายแดนใต้/ปาตานี การละเมิดสิทธิยังมี การเลือกปฏิบัติยังคงอยู่ รัฐยังมองผิดแค่คิดว่าแก้จนได้ก็สงบแล้ว แต่ยังคงใช้การทหารนำการเมือง ความหวังสันติภาพยังเลือนราง เพราะรัฐไม่ตระหนักถึงเจตนารมณ์ของประชาชน จึงขอเรียกร้อง 4 ข้อ ขอความชัดเจนต่อการเจรจาสันติภาพ ขอรัฐสภามีบทบาทร่วม ขอฝ่าย BRN แสดงเจตจำนงถึงสันติภาพเชิงบวก และขอทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบจากกระบวนการสันติภาพที่ไม่ต่อเนื่อง

21 ก.ย. 2566 สมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ (Civil Society Assembly For Peace – CAP) ออกแถลงการณ์วันสันติภาพสากล 2566 เรื่อง สองทศวรรษกับความว่างเปล่าต่อการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และความไม่ชัดเจนชัดแจ้งต่อการแสวงหาทางออกของรัฐบาล

 

แถลงการณ์ระบุว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ความสูญเสียในหลายๆมิติ อาทิเช่น การเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ เสียโอกาส ก็ยังคงมีอยู่ในพื้นที่แห่งนี้มาโดยต่อตลอด แม้ว่าสถานการณ์เหตุการณ์รายวันอาจจะลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ปัญหาเหล่านี้จะเบาบางลงและยุติไป

ในทางกลับกันการละเมิดสิทธิในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี ก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บดีเอ็นเอในเด็ก สตรี และบุคคลทั่วไป การควบคุมตัวที่มีอัตราที่สูง การปิดปาก SLAPP (ฟ้องปิดปาก) นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวไม่ให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้

รวมทั้งการเลือกปฏิบัติในการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมาของคนในพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ อันสืบเนื่องจากการมีอยู่ของกฎหมายที่บังคับใช้ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้/ปาตานี ประกอบด้วย กฎอัยการศึก, พ.ร.ก.ฉุกฉิน, พ.ร.บ.ความมั่นคง ซึ่งเป็นอำนาจที่ให้ไว้สำหรับเจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่จำกัด

ในหลาย ๆ ครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะอ้างว่าชอบธรรมด้วยตัวบทกฎหมาย แต่ในทางกลับกันทำให้เกิดการละเมิดสิทธิอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การไม่ปรากฏอยู่ ว่าด้วยวาระการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีในคำแถลงของรัฐบาลปัจจุบัน ปี พ.ศ.2566 และปีที่ผ่าน ๆ มา ทำให้เป็นที่รับรู้และเข้าใจว่า การสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวน 7,000 กว่าคน บาดเจ็บ 13,000 กว่าคน งบประมาณมหาศาลในแต่ละปี กลับไม่ส่งผลอะไรเลยต่อภาครัฐในการแสวงหาทางออกโดยยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ

การมองปัญหาจากศูนย์กลางมายังพื้นที่ก็ยังคงเป็นการส่งต่อแนวคิดกรอบคิด และความรู้ความเข้าใจว่า พื้นที่แห่งนี้มีปัญหาเรื่องปากท้อง เศรษฐกิจ เมื่อสามารถสร้างหรือยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ก็จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด

แต่ในขณะเดียวกันการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทุกๆ สามเดือนก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และมองว่ากฎหมายเหล่านั้นคือเกราะป้องกันให้สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เห็นได้ว่าแนวทางการแก้ปัญหาการเมืองนำการทหารเป็นเพียงแค่วาทกรรมที่สวยหรู ไม่สามารถจับต้องได้

ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา ยังคงใช้แนวทางการทหารนำการเมืองในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่นี้ ซึ่งแน่นอน แนวทางนี้ไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาความขัดแย้งได้อย่างยั่งยืน

ดังนั้นการแสวงหาสันติภาพอย่างสันติวิธีจะเป็นแนวทางที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วมและสามารถกำหนดชะตากรรมตนเองที่ประสบพบเจอในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่าความหวังและความคาดหวังที่จะให้เกิดสันติภาพที่ยั่งยืนได้นั้นจะเลือนลาง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลสมัยไหนก็ตาม ก็ไม่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญถึงเจตนารมณ์ความต้องของประชาชนอย่างแท้จริง

ดังนั้น การให้คุณค่าต่อปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานีให้เป็นของทุกคนที่ต้องร่วมกันผลักดันอย่างมีประสิทธิภาพ เราก็ยังคงเชื่อมั่นว่า (สันติภาพ) คือทางออกของปัญหาอย่างแท้จริง

ทางสมัชชาประชาสังคมเพื่อสันติภาพ ขอเรียกร้องดังนี้

1. รัฐต้องแสดงจุดยืน เจตนารมณ์และความชัดเจนต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้และมีส่วนร่วม

2. รัฐสภาต้องมีบทบาทการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพในพื้นที่ชายแดนใต้/ปาตานี เพื่อผลักดันให้วาระและนโยบายการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้อย่างเป็นรูปธรรม

3. ฝ่ายขบวนการ BRN ต้องแสดงเจตจำนงต่อกระบวนการสันติภาพให้เป็นสันติภาพเชิงบวกที่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องอย่างเป็นรูปธรรม

4. ขอให้ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงผลกระทบจากผลพวงของกระบวนการสันติภาพที่ไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างต่อเนื่อง สันติภาพไม่ได้แค่มีอยู่เพื่อสร้างความชอบธรรมของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่สันติภาพต้องสร้างความชอบธรรมและการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่

ด้วยจิตศรัทธา เอกภาพ ภารดรภาพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net