Skip to main content
sharethis

เมื่อ 6 ก.ย. 66 สก.มีมติลดงบฯ โครงการห้องเรียนเด็กเล็กปลอดฝุ่น 219 ล้านบาท ซึ่งโครงการดังกล่าวจะติดตั้งแอร์ 2 ตัว รวม 6 หมื่น BTU และพัดลมระบายอากาศ ในห้องเรียน ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ให้ นร.วัย 3-6 ปี ด้าน สก.บางส่วนเห็นด้วยกับหลักการ แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ติงเงินค่าติดตั้งแอร์สูงเกินไป ไม่คุ้มค่า ‘ศานนท์’ รองผู้ว่าฯ กทม. น้อมรับความเห็น เผยจะไปทำการบ้านเพิ่ม แต่ยังยืนยันว่าควรติดแอร์ในห้องเรียน สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ นร.มากกว่า

 

6 ก.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "สภากรุงเทพมหานคร" (สภา กทม.) ถ่ายทอดสดออนไลน์การประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร พิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงินรวมทั้งสิ้น 90,570,138,630 บาท โดยที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร มติเห็นชอบกับผู้สงวนความเห็น ให้ตัดงบประมาณของสำนักการศึกษาโครงการห้องเรียนเด็กเล็กปลอดฝุ่นใน 6 กลุ่มเขต 429 โรงเรียน วงเงิน 219,339,000 บาท 

สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา สก.เขตลาดกระบัง ในฐานะผู้สงวนความเห็น กล่าวเสนอให้ตัดการปรับปรุงห้องเรียนเด็กเล็กปลอดฝุ่นชั้นอนุบาล 6 กลุ่มเขต 429 โรงเรียน หรือ 1,743 ห้อง 

สุรจิตต์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์โครงการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น สำหรับเด็กวัย 3-6 ปี จะมีการติดตั้งแอร์ 3 หมื่นบีทียู จำนวน 2 ตัว รวม 6 หมื่นบีทียู และติดพัดลมระบายอากาศ  สำหรับห้องเรียน 1 ห้องเรียน และติดตั้งประตู-หน้าต่างมิดชิด เพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 

สุรจิตต์ ระบุต่อว่า อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อมาดูโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นในต่างจังหวัด โดยหยิบยกโครงการห้องปลอดฝุ่นตัวอย่างของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลป่าตันนาครัว จ.ลำปาง มีการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ บอร์ดแสดงค่าฝุ่นโดยให้เด็กๆ มีส่วนร่วม มีแอปฯ แจ้งเตือนค่าฝุ่น และให้เด็กทำกิจกรรมปลูกต้นไม้ร่วมกันในโรงเรียน โดยเฉพาะต้นไม้ดักฝุ่น เช่น พลูด่าง ต้นกวักมรกต และอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเสริมนิสัย และสุขลักษณะการไม่เผา ซึ่งเป็นต้นตอของฝุ่น PM2.5 ซึ่งทั้งหมดนี้ สุรจิตต์ ระบุว่าใช้งบประมาณเพียง 1 หมื่นกว่าบาท

นอกจากนี้ สก.ลาดกระบัง หยิบยกเอากรณี กทม. มีโครงการนำร่องห้องเรียนสู้ฝุ่น 32 แห่ง โดยเริ่มดำเนินการเสร็จสิ้นตั้งแต่ มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้นักเรียนงดกิจกรรมการกลางแจ้ง ทำความสะอาดภายในห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอ ปิดประตู-หน้าต่างอย่างมิดชิด ติดตั้งเครื่องอ่านค่าฝุ่นเรียกว่า "เครื่องยักษ์ขาว" รณรงค์การไม่เผา และปลูกต้นไม้ดักฝุ่น ซึ่งใช้งบฯ เพียง 10,000 กว่าบาทเช่นกัน 

สุรจิตต์ ที่ขอสงวนความเห็น ยืนยันว่าเขาเห็นด้วยกับแนวคิดของโครงการ แต่ตั้งคำถามว่า ใช้งบประมาณอย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ โดย สก.ลาดกระบัง ชี้แจงการใช้งบฯ ของโครงการดังนี้ งบฯ ปรับปรุงห้องเรียน 231 ล้านบาท ค่าติดแอร์ 2 เครื่อง คิดเป็นเงิน 1 แสนบาท จำนวน 1,743 ห้องเรียน รวมเป็นเงิน 174,300,000 บาท 

เปรียบเทียบกับโครงการห้องเรียนปลอดฝุ่นที่จังหวัดลำปาง และโครงการนำร่อง 32 โรงเรียน กทม. ติดเครื่องฟอกอากาศ 2 เครื่อง ราคา 5,700 บาทเท่านั้น และถ้าประยุกต์โครงการดังกล่าวมาติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในห้องเรียน 1,743 ห้องเรียน รวมเป็นเงิน 9,935,100 บาท ประหงัดงบฯ ไป 164,364,900 บาท ขณะที่บางเขต บางโรงเรียนมีนักเรียนเพียง 1-2 คนเท่านั้น ดังนั้น ตนจึงมีคำถามว่า จะต้องติดแอร์ขนาด 6 หมื่นบีทียู เพื่ออะไร ยกตัวอย่าง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย มีเพียง 1-2 ห้องเรียน เท่านั้น 

"ผมเลยอยากตั้งคำถามว่า สิ่งที่ท่านทำโครงการมา มันตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาไหม เพื่อนสมาชิกฟังดีๆ 231 ล้าน กับสิ่งที่ท่านนำร่องไปแล้ว 32 โรงเรียน และท่านก็บอกเองด้วยว่าท่านจะนำร่องให้ครบ …

"ท่านกลับไม่ใช้ที่สิ่งที่ท่านนำร่อง แต่ท่านจะมาติดแอร์ ผมไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงเรียนปลอดฝุ่น ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง… แต่ผมไม่เห็นด้วยกับวิธีการ มันคุ้มค่ากับงบประมาณรึเปล่าท่านประธาน" สุรจิตต์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นจากที่ประชุมว่า การนำเด็กไปไว้ในห้องปรับอากาศตลอดเวลานั้นเหมาะสม ปลอดภัยจริงหรือไม่ และยังมีค่าไฟที่เพิ่มขึ้นมา แนะให้ กทม. ถ้าจะทำโครงการนี้ควรติดตั้งโซลาร์เซลล์ควบคู่ไปด้วย และชี้แนวทางแก้ปัญหา คือ การปลูกฝังให้เด็กได้รู้จักปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่น ปลูกฝังให้เด็กรักและผูกพันกับต้นไม้ ตลอดจนงดกิจกรรมกลางแจ้ง และหมั่นทำความสะอาดห้องเรียน

ทางด้าน ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่า เด็กเล็กเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างดี เพราะเป็นช่วงชีวิตที่มีการพัฒนาสมองมากที่สุด หากเราละเลยเด็กเล็ก เราจะเสียโอกาสในการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า ในขณะที่ตนก็คิดว่าห้องของผู้ว่าฯ เองก็ยังมีเครื่องปรับอากาศ แล้วทำไมห้องเรียนเด็กถึงไม่มีเงินติดเครื่องปรับอากาศให้ ส่วนเรื่องค่าไฟก็เป็นโจทย์ที่จะต้องพิจารณาในอนาคต ควบคู่ไปกับการติดโซลาร์เซลล์ เพราะเด็กทุกคนควรได้เรียนในห้องเรียนที่มีคุณภาพและปลอดภัย ไม่ว่าจะรวยหรือจน

ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูแลด้านการศึกษา ได้ยอมรับต่อความคิดเห็นของที่ประชุมที่ยังเห็นว่าโครงการดังกล่าวยังไม่คุ้มค่า น้อบรับและจะกลับไปทำการบ้านมาเพิ่ม เพื่อให้พร้อมต่อการเสนองบประมาณรอบหน้า 

ทั้งนี้ ศานนท์ เห็นพ้องกับชัชชาติว่า เด็กปฐมวัยเป็นช่วงสำคัญมาก ถ้าพัฒนาการไม่ดีก็จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตระยะยาว โดยคณะผู้บริหารมีนโยบายรับเด็ก 3 ขวบเข้าโรงเรียน จะทำให้มีเด็กเพิ่ม 50,000 คน ห้องเรียนจึงต้องมีคุณภาพมากขึ้น แม้ว่าช่วงค่าฝุ่นสูง โรงเรียนประกาศหยุดได้ แต่แทนที่เด็กจะต้องอยู่ในบ้านสูดอากาศที่มีฝุ่น สู้สร้างห้องเรียนปลอดฝุ่น ลงทุนติดเครื่องปรับอากาศให้พร้อม ก็อาจจะปลอดภัยกว่า 

เว็บไซต์สื่อ "The Active" รายงานว่า ภายหลังการพิจารณางบประมาณ ศานนท์ ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว ใจความว่า ตนอยากขอโทษทุกคนที่ยังทำให้นักเรียน กทม. ไม่สามารถเรียนในห้องเรียนที่ปลอดภัย ปลอดฝุ่นได้ แม้ตนจะยอมรับความเห็นของสภา แต่ปฏิเสธความรู้สึกเสียดายไม่ได้ โดยเฉพาะความเห็นที่ว่า "โรงเรียน กทม. ที่ให้เรียนฟรี จะทำห้องติดแอร์เป็นมาตรฐานเทียบกับเอกชนที่เก็บตังแพงๆ ได้อย่างไร"

"ในวันที่การศึกษาควรเป็นสวัสดิการที่เท่าเทียมทั่วกัน เรายังต้องเดินทางอีกยาวไกลมากเลย ขออภัยทุกคนโดยเฉพาะเพื่อนผองในแวดวงการศึกษา เราคงต้องทำการบ้านกันหนักขึ้นครับ" ศานนท์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net