Skip to main content
sharethis

'ชัชชาติ' ส่งข้อบัญญัติรถเมล์ EV คืนสภา เหตุกฤษฎีกาตีความ กทม. ไม่มีอำนาจ ส่งให้กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ให้พิจารณาแก้กฎหมาย หรือมอบอำนาจให้ กทม.ออกข้อบัญญัติ

 

31 ต.ค. 2566 เว็บไซต์ "มติชน ออนไลน์" รายงานวานนี้ (30 ต.ค.) ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง วิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 4 (ครั้งที่ 5) ประจำปีพุทธศักราช 2566 โดยมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ที่มา: เฟซบุ๊ก สภากรุงเทพมหานคร)

ในระเบียบวาระที่ 8 ชัชชาติ ได้ส่งคืนร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … สู่สภา กทม.

ชัชชาติ กล่าวว่า เมื่อทางฝ่ายบริหารได้รับข้อเสนอจากสภา กทม. ก็ได้มีการส่งหนังสือหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ซึ่งมีหนังสือตอบกลับโดยสรุปว่า กทม.ไม่มีอำนาจออกข้อบัญญัติดังกล่าว พร้อมกับแนะนำให้ไปหารือกับกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ถ้าผู้ว่าฯกทม.ไม่มีการลงนาม จะต้องส่งคืนร่างข้อบัญญัติคืนให้กับสภา กทม. ภายใน 30 วัน

"ในภาพรวมทุกคนคงอยากเห็นมลภาวะที่น้อยลง แต่ขณะเดียวกัน เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ทาง สคก.อยากให้เราไปหารือกับ ขบ. เพราะเป็นผู้ถืออำนาจโดยตรง ฝ่ายบริหารต้องทำตามความเห็นของ สคก. เพราะเป็นไปตามมติ ครม." ชัชชาติ กล่าว

พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ ส.ก. เขตยานนาวา ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ กล่าวว่า สคก. ตอบกลับได้ชัดเจน อ่านตอนแรกก็เสียใจ แต่เมื่ออ่านไปถึงตอนจบก็ดีใจ ซึ่งสามารถทำตามหรือไม่ทำตามที่ สคก.แจ้งมาก็ได้

พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ (ที่มา: สภากรุงเทพมหานคร)

กทม.สามารถทำได้ 2 ทาง คือ 1. ส่งหนังสือให้กับ ขบ.เพื่อให้แก้กฎหมาย หรือมอบอำนาจให้ กทม.สามารถออกข้อบัญญัตินี้ได้ เป็นสิทธิของคณะกรรมการขนส่งทางบก 2.เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 76

นภาพล จีระกุล ส.ก. เขตบางกอกน้อย กล่าวว่า ร่างข้อบัญญัตินี้ตนเป็นผู้แปรญัตติทุกข้อ ทาง ขบ.ยืนยันว่า อำนาจการเปลี่ยนรถโดยสารเป็นพลังงานไฟฟ้า เป็นของคณะกรรมการขนส่งทางบก ยืนยันหลายครั้งในสภา กทม.แล้วว่า เราไม่มีอำนาจ กทม.มีอำนาจควบคุมมลภาวะไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน ไม่ได้มีอำนาจในการเปลี่ยนรถ เป็นความไม่เหมาะสมที่สภา กทม.มีมติผ่านร่างข้อบัญญัตินี้

"เราเป็นสภานิติบัญญัติ หากเราออกกฎหมายไปโดยไม่มีอำนาจ ผมว่าเป็นความเสื่อมเสียของสภา ถ้าไม่มีการให้ สคก.ตีความ ออกกฎไปบังคับไม่ได้ เป็นหมัน ส่วนกฎอื่นๆ ที่ออกไปตอนนี้ไม่รู้กี่สิบกี่ร้อยฉบับ ชาวบ้านทั่วไปจะมั่นใจได้อย่างไรว่า กฎที่ออกไปทุกฉบับเรามีอำนาจออกไหม มันเป็นตราบาปของสภา กทม." นภาพล กล่าว

สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง กล่าวว่า เราออกข้อบัญญัติจะไปบังคับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) มันมีที่ไหน เชื่อว่าหน่วยงานภายนอกมองว่า สภา กทม.ชุดนี้เป็นอะไร ซึ่งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 (พ.ร.บ.กทม.) มาตรา 34 ระบุว่า ห้ามมิให้สภา กทม.ประชุมปรึกษาหารือในเรื่องนอกเหนืออำนาจหน้าที่

สุทธิชัย กล่าวว่า ตามข้อบังคับการประชุมสภากรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 ข้อ 28 วรรคสอง การประชุมปรึกษาหรือพิจารณาในสภา ต้องเป็นกิจการเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภา ห้ามมิให้ปรึกษาหรือพิจารณาในเรื่องนอกหน้าที่และอำนาจหรือเรื่องที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

ข้อ 86 สภามีอำนาจเลือกสมาชิก หรือบุคคลผู้มิได้เป็นสมาชิก ตั้งเป็นคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อกระทำกิจการหรือพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในหน้าที่และอำนาจของกรุงเทพมหานครแล้วรายงานต่อสภา

"กรรมการ 17 คน ประชุม 10 ครั้งในเรื่องที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ กทม. เบี้ยประชุมเท่าไหร่ ใครรับผิดชอบ ต้องคืนไหม ฝากท่านประธานเรียกเบี้ยประชุมคืนด้วย" สุทธิชัย กล่าว

วิรัตน์ กล่าวว่า การทำงานของสภา กทม.มีการลงมติด้วยกัน ถ้าจะโทษกันก็ต้องโทษในสภากันทั้งหมด ถือว่ารับผิดชอบร่วมกัน หลายกฎที่ออกไปก็ไม่ได้ถาม สกค.ก่อน เมื่อกลับไปดูอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ตามมาตรา 89 พ.ร.บ. กทม. ครอบคลุมเยอะมาก 27 ข้อ ที่ได้มีการอ้างถึงในการออกข้อบัญญัติ การที่สภา กทม.เป็นห่วงประชาชนในเรื่องของสุขภาพ จำได้ว่าไม่มีใครท้วงติงประเด็นเรื่องนี้

"ผู้ว่าฯ กทม. ตามมาตรา 101 สามารถท้วงติงในข้อบัญญัติที่สภา กทม.ได้ออกไปแล้ว ภายใน 30 วัน ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย" วิรัตน์ กล่าว

นภาพล กล่าวว่า การยื่นญัตติของสมาชิก สภาต้องรับพิจารณา ตอนนั้นยังไม่รู้ว่ามีหรือไม่มีอำนาจ แต่เมื่อตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษา แล้วพบว่าไม่มีอำนาจ ก็ต้องมีการยุติและรายงานต่อสภา กทม. แต่ไม่ใช่ดื้อดึงออกข้อบัญญัติ

นภาพล จีระกุล

"เราทุกคนเห็นด้วยว่า รถโดยสารประจำทางต้องเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า เท่าที่เห็นก็มีการเปลี่ยนรถโดยสารเป็นรถอีวีเยอะแล้ว ไล่เปลี่ยนเรื่อยๆ ทุกคนเห็นด้วยให้ไปศึกษา แต่เมื่อศึกษาแล้วไม่มีอำนาจ ก็ต้องหยุด ไม่ใช่ดื้อดึงในวาระ 2-3 จริงๆ แล้วสมาชิกมากกว่าครึ่งเห็นแล้วว่าไม่มีอำนาจ แต่มันมีพลังมืดให้ยกมือสนับสนุน" นภาพล กล่าว

จากนั้น พุทธิพัชร์ ได้ลุกขึ้นพูดให้มีการถอนคำพูดของนภาพล

พุทธิพัชร์ ระบุว่า "ผมขอประท้วงให้ถอนคำว่าพลังมืด"

นภาพล ระบุว่า "งั้นผมขออนุญาตเปลี่ยนจากพลังมืด เป็นมีคนสั่งการ"

วิรัตน์ กล่าวว่า คงไม่มีใครสั่งการสภา กทม.ได้

นภาพล กล่าวว่า แต่ผมรู้ว่ามี

ชัชชาติ กล่าวว่า จะมีการหารือกับ ขบ. กระทรวงคมนาคม เพราะเป็นความต้องการของประชาชนที่จะให้ใช้รถอีวี เพื่อให้อากาศสะอาดขึ้น รวมถึง ครม.ก็ได้มีมติให้ส่วนราชการใช้รถอีวีทั้งหมด

วิรัตน์ กล่าวปิดท่ายว่า ถ้าไม่มีความเห็นเป็นอื่น ขอให้สภา กทม.ถือปฏิบัติตามมติ ครม.ที่ให้อำนาจ สคก.ไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net