Skip to main content
sharethis

ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบญัตติตั้ง กก.วิสามัญศึกษาแนวทางยุติตั้งครรภ์ปลอดภัยในสถานพยาบาล กทม. และเสนอให้มีกรรมการวิสามัญทั้งสิ้น 17 คน หลัง ส.ก.ก้าวไกล เสนอให้ รพ. สังกัด กทม. ให้บริการยุติการตั้งครรภ์แทนการส่งตัวไปเอกชน ย้ำการยุติตั้งครรภ์เป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพ ไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ป้องกันการเสียชีวิตได้ หากรัฐไม่เมินเฉยต่อปัญหา 

17 ม.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (17 ม.ค.67) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย ส.ก.เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติขอให้สภา กทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในสถานพยาบาลสังกัด กทม. โดยกล่าวว่า ขอให้ทุกคนเปิดใจรับข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่เพียงมายาคติของสังคมที่รับฟังต่อกันมา ในการเสนอตั้งกรรมการเรื่องนี้ ตนได้ศึกษาพูดคุยกับผู้เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ที่ผ่านการยุติการตั้งครรภ์ ภาคเอกชนที่ต่อสู้ด้านนี้มาเป็น 10 ปี และความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย 

ภัทราภรณ์ กล่าวว่า การยุติการตั้งครรภ์นั้นเป็นทางเลือกทางสุขภาพ และไม่มีใครตั้งใจท้องเพื่อทำแท้ง จากสถิติของผู้เข้ารับคำปรึกษาเพื่อยุติการตั้งครรภ์ปี 2561-2565 พบว่าคนที่ยุติการตั้งครรภ์กว่า 80% มีอายุ 20 ปีขึ้นไป โดยผู้มีอายุ 25 ปีหรือวัยทำงาน มีจำนวนมากกว่า 60% รวมถึงผู้มีอายุ 35-44 ปีมีแนวโน้มยุติการตั้งครรภ์สูงขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ผู้ตั้งครรภ์กว่า 56.9% ที่เลือกยุติการตั้งครรภ์ เป็นคนที่มีบุตรมาแล้วอย่างต่ำ 1 คนหรือเคยผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว ที่สังคมเข้าใจกันว่าคนที่ยุติการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นท้องไม่พร้อม จึงไม่เป็นความจริง

ภัทราภรณ์ ชี้ว่าผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์เพราะเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ แบ่งเป็นผู้ไม่มีรายได้ 32.9% ผู้มีรายได้ไม่แน่นอน 20.5% และส่วนใหญ่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือนถึง 75.4% ส่วนผู้ที่ยุติการตั้งครรภ์เพราะเหตุผลทางด้านสุขภาพ 72.9% ก็มีรายได้ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และ 60% ของคนที่ยุติการตั้งครรภ์ก็มีการใช้การคุมกำเนิดอีกด้วย ซึ่งแบบเรียนสุขศึกษาระดับประถมก็สอนเราอยู่แล้วว่าไม่มีการคุมกำเนิดใดที่ได้ผล 100% ส่วนที่ไม่มีการคุมกำเนิดก็อาจเป็นเพราะไม่มีความรู้มากเพียงพอ กลัวอันตรายหรือถูกล่วงละเมิด อายุมากและประจำเดือนหมดแล้ว ไม่มีทุนทรัพย์พอในการเข้าถึงการคุมกำเนิด เพิ่งคลอดบุตรหรือแท้งบุตร เป็นต้น 

นอกจากนี้ 85.6% ของผู้ขอใช้บริการมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ตามกฏหมายกำหนด และหากอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์แต่เข้าเงื่อนไขกระทบต่อสุขภาพ หรือเกิดจากการกระทำความผิดทางเพศ รัฐก็สามารถให้บริการยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่รัฐจะไม่ให้บริการแก่ประชาชนกลุ่มนี้ 

จากสถิติเหล่านี้ สรุปได้ว่าคนที่ยุติการตั้งครรภ์ส่วนใหญ่เป็นคนวัยทำงาน เคยมีบุตร เป็นประชากรที่พลาดตั้งครรภ์จากการคุมกำเนิด มีอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ตามกฎหมายกำหนด และอยู่ในฐานะที่ไม่พร้อมทางเศรษฐกิจ 

ภัทราภรณ์ กล่าวต่อว่า ภาพความเข้าใจเรื่องการทำแท้งในสังคมไทย มักออกมาในรูปแบบความน่ากลัว เลือดสาด เลวทราม และการลงโทษ รวมถึงผูกไว้กับศีลธรรมต่างๆ แต่ในความเป็นจริง การยุติการตั้งครรภ์ในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก และการยุติการตั้งครรภ์ในประเทศไทยปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธี คือ (1) การกินยา Mifepristone หรือ Misoprostol ให้เกิดการขับออกภายใน 8-13 วัน ซึ่งสามารถกินยาแล้วกลับบ้านได้ (2) การใช้กระบอกสุญญากาศขนาดเล็กสอดเข้าไปในช่องคลอด ใช้เวลาเพียง 15 นาที และสามารถกลับบ้านได้เลย

ส.ก.เขตบางซื่อ ยังกล่าวด้วยว่า ตนได้พูดคุยและหาความร่วมมือกับภาคประชาชนที่ต่อสู้เรื่องนี้มากว่า 13 ปี ทราบว่ากลุ่มคนเหล่านี้ได้พูดคุยอย่างเป็นทางการกับทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่า กทม. แล้วครั้งหนึ่ง รวมถึงพูดคุยกับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่า กทม. เรื่องการนัดหมายเพื่อผลักดันเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีความคืบหน้าใดเกิดขึ้น ตนจึงต้องใช้ช่องทางของสภากรุงเทพมหานครเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มคนที่ถูกรัฐมองข้าม โดยมีข้อเสนอต่อไปนี้ 

(1) ขอให้โรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานครให้บริการการยุติการตั้งครรภ์แทนการส่งตัวไปยังหน่วยงานเอกชน โดยใช้คณะกรรมการวิสามัญฯ นี้ พูดคุยถึงข้อจำกัดของทางโรงพยาบาลและหาทางออกร่วมกัน หากหมอปัจจุบันไม่ต้องการให้บริการก็อาจจ้างหมอภายนอกแทน 
(2) ขอให้ศูนย์บริการสาธารณสุขใน กทม. ให้บริการการยุติการตั้งครรภ์ด้วยวิธีการจ่ายยาได้ โดยอบรมหมอเดิมที่สมัครใจในการให้บริการ เนื่องจากการยุติการตั้งครรภ์ไม่จำเป็นต้องเป็นหมอสูตินารีแพทย์ สามารถเป็นหมออายุรกรรมได้เช่นกัน
(3) ขอให้ กทม. ประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงของการยุติการตั้งครรภ์ว่าเป็นทางเลือกด้านสุขภาพ วิธีการยุติการตั้งครรภ์ของประเทศไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง และไม่ได้น่ากลัวอย่างที่สังคมเข้าใจ

ภัทราภรณ์ กล่าวว่า วันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ เป็นวันยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยสากล จะเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับการพูดคุยหาทางออกอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาการที่เราไม่มีการให้บริการการยุติการตั้งครรภ์ที่เพียงพอ ไม่ได้ทำให้การทำแท้งลดลง แต่เป็นการผลักภาระของหน่วยงานรัฐให้ประชาชนไปหาทางเลือกเถื่อนหลังบ้านที่อันตรายต่อชีวิต ดังนั้นการเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ เพียงแต่ภาครัฐต้องไม่เมินเฉยต่อการมีอยู่ของพวกเขาเท่านั้น

ทั้งนี้ ที่ประชุมสภา กทม. มีมติเห็นชอบญัตติดังกล่าว และเสนอให้มีกรรมการวิสามัญทั้งสิ้น 17 คน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net