Skip to main content
sharethis

รังสิมันต์ โรม พรรคก้าวไกล เปิดข้อมูล ศาลรัฐธรรมนูญใช้งบประมาณกว่า 361 ล้านบาทในปี 2565 วินิจฉัยคดีไป 104 คดี โรม ระบุ ราคาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตก 3.4 ล้านบาทต่อคดี และยังมีการใช้งบจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 รวมกันเกือบ 75 ล้านบาท ต่อบุคลากร 238 คน

 

24 ส.ค. 2566 รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ “Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม” ระบุ ปี 2565 ศาลรัฐธรรมนูญใช้งบประมาณกว่า 361 ล้านบาท ในการปฎิบัติงานวินิจฉัย 24 เรื่อง มีคำสั่ง 80 เรื่อง รวมแล้วทั้งสิ้น 104 เรื่อง รังสิมันต์ โรม ระบุ ราคาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตก 3.4 ล้านบาทต่อคดี นอกจากยังมีการเปิดเผยงบประมาณในส่วนอื่น อาทิ งบจัดซื้อครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์ในปีงบประมาณ 2564 และ 2565 รวมกันเกือบ 75 ล้านบาท ต่อบุคลากร 238 คน ฯลฯ

 

รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้แสดงผลงานในการยุบพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ถอดถอนนักการเมืองที่ได้รับความนิยมจากประชาชน ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย การกระทำดังกล่าวล้วนถูกตั้งคำถามในสังคมว่าเป็นการใช้อำนาจที่มีผลเป็นการสนองต่อวาระของผู้มีอำนาจที่อยู่ขั้วตรงข้ามของประชาชนและผู้แทนประชาชน ไม่ได้เป็นการใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยรัฐธรรมนูญที่ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ และอำนาจของประชาชน อย่างที่ควรจะเป็น

ตามที่ตนได้อ่านรายงานการประชุมประจำปี 2565 ของศาลรัฐธรรมนูญ พบว่าคำวินิจฉัยที่ตนได้อ่าน คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำลายล้างผู้เห็นต่างทางการเมืองอย่างชัดแจ้งคือ คำวินิจฉัยที่ 6/2565 ที่วินิจฉัยว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ให้อำนาจรัฐบาลออกข้อกำหนดห้ามการชุมนุม หรือสั่งห้ามกระทำการใดๆ เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั้นไม่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งที่ในช่วงเวลานั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ใช้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงขึ้นมาเอง เพื่อใช้ปราบปรามผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสันติโดยเฉพาะ และไม่มีใครตรวจสอบทัดทานได้เลยว่า มีสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงถึงขนาดต้องใช้อำนาจนี้แล้วจริงๆ หรือไม่ สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นคือการระดมสรรพกำลังอาวุธ แก๊สน้ำตา รถฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง กระหน่ำใส่ประชาชนผู้ชุมนุม ซึ่งทำให้ตนเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญต้องมีส่วนรับรองการกระทำนี้ของรัฐบาลด้วย และไม่ทราบว่าคำวินิจฉัยนี้สอดคล้องกับค่านิยมของศาลรัฐธรรมนูญที่ระบุเอาไว้ว่า จะยึดหลักนิติธรรม ค้ำจุนประชาธิปไตย และห่วงใยสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างไรกัน 

และคำวินิจฉัยที่ 19/2564 วินิจฉัยให้ การชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ธำรงอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ที่ยั่งยืนสถาพร กลับกลายเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญได้สถาปนาตัวเองเป็นผู้ผูกขาดทั้งประวัติศาสตร์และหลักการปกครอง ซึ่งสมควรที่จะถูกถกเถียงและทบทวนได้ แล้วนำสิ่งที่ตนผูกขาดนั้นมาใช้กดทับการแสดงเจตจำนงของประชาชนให้ต่ำลง ทำให้เรื่องทางการเมืองที่ควรเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและปรับปรุงให้เหมาะสมแก่กาลสมัยที่แปรเปลี่ยนไป กลับกลายเป็นแดนต้องห้ามที่ซุกซ่อนปัญหาสำคัญเอาไว้ใต้พรมและซ่องสุมพวกเหลือบไรที่จ้องจะสูบกินจากปัญหาเหล่านั้น และยินดีปรีดาที่ปัญหาจะยังคงอยู่ให้พวกตนได้สูบกินต่อไป คำวินิจฉัยเช่นว่านี้ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นสถาบันนำที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญในระดับสากลได้อย่างไร

ประการถัดมา ศาลรัฐธรรมนูญใช้งบประมาณกว่า 361 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2565 และตลอดปีงบประมาณดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย 24 เรื่อง มีคำสั่ง 80 เรื่อง รวมแล้วทั้งสิ้น 104 เรื่องเท่านั้น หมายความว่าเราต้องใช้เงินงบประมาณกว่า 3.4 ล้านบาทเพื่อให้ศาลพิจารณาได้ 1 เรื่อง ดังนั้นทุกครั้งที่มีอะไรออกมาจากศาลสักเรื่องหนึ่ง เราต้องตระหนักว่า เงินภาษีของพี่น้องประชาชนได้ถูกใช้ไปแล้ว 3.4 ล้านบาท การวินิจฉัยเรื่อง พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่นำไปสู่การใช้อำนาจปราบปรามผู้ชุมนุม ราคาของคำวินิจฉัยนั้น 3.4 ล้านบาท การวินิจฉัยล้มล้างการปกครอง ราคาของคำวินิจฉัยนั้น 3.4 ล้านบาท

สำหรับงบประมาณในส่วนอื่น มีการใช้เงินงบประมาณ 5.7 ล้านไปกับโครงการจัดทำฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านรัฐธรรมนูญและกฎหมายมหาชน ใช้เงินงบประมาณ 6 ล้านไปกับโครงการจัดทำบรรทัดฐานคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และใช้งบประมาณเกือบ 75 ล้านบาทในปีงบประมาณ 64 และ 65 รวมกัน ไปกับครุภัณฑ์คอมพิวเตอร์

แม้ว่าทางเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะไม่สามารถชี้แจงก้าวล่วงไปยังคำพิพากษาของตุลาการได้ แต่การที่ชี้แจงต่อสภาว่า 3.4 ล้านบาทต่อหนึ่งคำวินิจฉัยนั้นคุ้มค่ากับเงินภาษีแล้ว ตนจึงขอให้เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้ทบทวนว่าจะทำให้ต้นทุนในการทำวินิจฉัยถูกลงได้หรือไม่ และสามารถใช้เงินงบประมาณต่อโครงการให้พอเพียงยิ่งขึ้นได้อย่างไรให้สมกับที่ประชาชนได้ส่งเสียเงินภาษีให้ท่านได้ไปโครงการสัมมนาพัฒนาบุคคลากรศาลรัฐธรรมนูญ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 ซึ่งในรายงานเล่มนี้บอกว่าเป็นการส่งเสริมให้บุคลากรศาลรัฐธรรมนูญมีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติราชการอย่างมีประสิทธิภาพ และน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้การดำรงชีวิตและสร้างความเป็นธรรมสู่ประชาชน

แต่ตามภาพกิจกรรมที่ปรากฏ กลายเป็นกิจกรรม ปลูกป่า ปล่อยพันธ์ปลา ดูงานทำเกษตร มีบุคคลากรเข้าร่วมรวมกว่า 222 คน จากเจ้าหน้าที่ศาลทั้งหมด 223 คน ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 วัน 2 คืน ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้งบประมาณเท่าไหร่ไม่อาจทราบได้ ตนเชื่อว่าน่าจะใช้เงินงบประมาณไปไม่น้อย เพราะโครงการดังกล่าวจัดขึ้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ทั้งที่ถ้าหากโครงการต้องการให้เกิดความพอเพียง ก็ควรจัดที่กรุงเทพฯ หรืออย่าจัดโครงการนี้เสียเลย จะเกิดความพอเพียงได้มากที่สุด

สุดท้ายนี้ สังคมไทยไม่ได้คาดหวังอะไร ไปมากกว่า การที่จะมีศาลดีๆ ที่ทำหน้าที่เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน เคารพการตัดสินใจของประชาชน ไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจที่ลุแก่อำนาจ หรือใช้อำนาจนั้นเพื่อทำลายตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่เขาไว้ใจ มิเช่นนั้น ประชาชนจะมีศาลรัฐธรรมนูญไปทำไม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net