Skip to main content
sharethis

ช่วงรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการใช้กฎหมายจำกัดเสรีภาพการชุมนุมมากมายทั้ง พ.ร.บ.ห้ามชุมนุมสาธารณะ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ช่วงโควิด-19 อันนำมาสู่การสลายการชุมนุมช่วงปี 2563-2565 แต่เมื่อรัฐบาลยึดโยงกับประชาชนน้อยเท่าไร จึงทำให้การใช้กำลังสลายการชุมนุม ถูกใช้อย่างเข้มข้นมากขึ้น 

รายงานจาก MOB DATA ซึ่งเป็นการทำงานของภาคประชาสังคม เพื่อคอยสังเกตการณ์และเก็บข้อมูลการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน เปิดเผยว่า ระหว่างปี 2563-2566 มีการชุมนุมทั้งน้อยและใหญ่เกิดขึ้นทั่วประเทศทั้งหมด 3,582 ครั้ง ในจำนวนนี้มีการสลายการชุมนุมอย่างน้อย 74 ครั้ง มีการสลายการชุมนุมโดยใช้กระสุนยางอย่างน้อย 29 ครั้ง แก๊สน้ำตาไม่ต่ำกว่า 13 ครั้ง และรถฉีดน้ำแรงดันสูง ไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง

แต่อย่างไรก็ตาม รายงานของภาคประชาสังคม และสื่อต่างๆ พบว่า การสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักการสากล ส่งผลให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก โดยมีอย่างน้อย 3 รายต้องกลายเป็นผู้พิการสูญเสียการมองเห็น และมีผู้เสียชีวิตมีอย่างน้อย 1 ราย 

แม้ว่าหลังการเลือกตั้งปี 2566 มีการเปลี่ยนรัฐบาลนำโดย เศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย แต่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม หรือตามหาความยุติธรรม ยังคงมีเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร

รายงานเชิงลึกชิ้นนี้พยายามสำรวจผลกระทบจากการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่ไม่เป็นไปตามหลักการทางกฎหมายไทยและหลักสากลช่วง 2563-2565 พร้อมสัมภาษณ์ผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมที่บางคนต้องกลายเป็นผู้พิการ และพูดคุยกับนักการเมืองต่อการควานหาผู้กระทำผิดและรับผิดชอบ ไปจนถึงมาตรการผลักดันการเยียวยาให้พวกเขาเหล่านี้

ย้อนความการสลายการชุมนุม ม็อบ APEC 2022 การสูญเสียการมองเห็นของ 'พายุ'

ย้อนไปเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 พายุ บุญโสภณ นักกิจกรรมจากอีสาน อาสาทำหน้าที่เป็นการ์ดดูแลความปลอดภัยการชุมนุมม็อบ "ราษฎรหยุด APEC 2022" เดินนำหน้าขบวนประชาชนออกเดินทางจากลานคนเมือง เขตพระนคร กรุงเทพฯ เพื่อไปให้ใกล้ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งเป็นสถานที่จัดประชุมนานาชาติ APEC 2022 ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยมีเป้าหมายหลักคือการสื่อสารปัญหานโยบายที่ชื่อว่า 'เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว' (BCG) ซึ่งเป็นหนึ่งในวาระที่นำขึ้นโต๊ะหารือในวงประชุมดังกล่าว (1)

พายุ นักกิจกรรมกลุ่ม 'ดาวดิน' เล่าย้อนความให้ฟังว่า วันนั้นตอนเวลาราว 7.00-8.00 น. ประชาชนเดินออกมาจากลานคนเมือง มุ่งเข้าสู่ถนนดินสอ และเดินเท้าต่อไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับด่านสกัดของตำรวจ จนไม่สามารถเดินต่อไปได้ 

ผู้จัดจึงมีการประสานให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมพักทานข้าวกลางวันระหว่างเจรจาให้ตำรวจเปิดทาง โดยด้านหลังขบวนรณรงค์เป็นชาวบ้านและผู้สูงอายุกำลังนั่งทานข้าว ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมและคนรุ่นใหม่ก็มีการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่แนวหน้าขบวน อย่างน้อยเพื่อสื่อสารให้กับผู้สื่อข่าวได้ทราบว่านโยบาย BCG สร้างผลกระทบต่อประชาชนอย่างไร และเพื่อไม่ให้กิจกรรมเว้นว่าง 

ต่อมา ได้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ คฝ.เข้ามาสลายการชุมนุมโดยไม่แจ้งเตือนการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน 

ไม่มีสัญญาณเตือนใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน 

พายุ ยืนยันว่าไม่มีการแจ้งเตือนว่าจะมีการสลายการชุมนุมโดยใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนและไม่มีการไล่ระดับการใช้อุปกรณ์อีกด้วย 

"ช่วงที่ระหว่างพักกินข้าว เขามีการประกาศว่าการชุมนุมของเราเป็นการชุมนุมผิดกฎหมาย แต่ไม่มีการบอกเหนือจากนั้นเลยว่าจะมีการสลายการชุมนุม 

"ไม่มีการบอกว่าถ้าไม่เลิกตอนนี้จะมีการยกระดับ จะมีการสลายจะมีการความรุนแรง ใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชน หรือตามสากล จะมีการไล่ขั้นตอน (step) ทำอะไรบ้างในเบื้องต้น ถ้าทางฝ่ายผู้ชุมนุมไม่ยอม ก็จะมีการยกระดับอะไร" พายุ กล่าว

พายุ ไม่ทราบว่าตำรวจอ้างกฎหมายข้อไหนในการสลายการชุมนม เพราะก่อนหน้านี้ผู้จัดได้มีการจดแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เรียบร้อยแล้ว และวันที่ 17 พ.ย. ก่อนวันเริ่มเดินขบวน ตำรวจยังมาถามผู้จัดอยู่เลยว่าจะใช้เส้นทางเดินขบวนนี้จริงหรือไม่ ทำให้เขามองว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทราบล่วงหน้าอยู่แล้ว

พายุ ยืนยันว่า นอกเหนือจากการใช้กระบองตีทำร้ายผู้ชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บแล้ว คฝ.มีการใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมาก และกระสุนยางยิงเข้าใส่ผู้ชุมนุมหลายนัด ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการใช้อย่างปนเป และไม่มีการไล่ระดับ

"เพื่อนที่มาด้วยกันถูกกระสุนยางที่เด้งจากพื้นขึ้นมาโดนคิ้ว และมีอาการบาดเจ็บหัวโน นั่นทำให้เราเห็นว่าตำรวจมีการยิงกระสุนยาง และอีกเหตุการณ์คือรถเครื่องเสียงที่มาด้วย เขาบอกว่าเขาเห็นกระสุนยางยิงใส่กระจกหน้ารถ 2-3 นัด" นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน เล่าให้ฟัง 

ช่วงก่อนที่เขาจะโดนกระสุนยาง พายุ เผยว่า เขากำลังวิ่งไปคุยกับรถเครื่องเสียงที่จ้างมา เพราะคนขับตกใจมาก เพราะมีกระสุนยางยิงโดนกระจกหน้ารถเครื่องเสียง คนขับจึงพยายามขับรถถอยหลังด้วยความตกใจ แต่ว่าด้านหลังชาวบ้านกำลังทานข้าวอยู่ และอาจถูกรถถอยทับได้ ทำให้เขาต้องรุดไปห้ามรถ แต่พอหันกลับมาก็โดนกระสุนยางเข้าที่เบ้าตาขวา

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ให้สัมภาษณ์สื่อโชว์ภาพปลอกกระสุนยางให้ผู้สื่อข่าว (เมื่อ 18 พ.ย. 2565)

"พอโดนมันรู้สึกตัวอยู่ มันวิ๊งๆ เซไปอยู่บนฟุตบาธเพื่อเช็กว่าตัวเองโดนอะไร พอเลือดมันไหลเยอะผิดปกติเกินไป จับที่ตาแล้วหนักแน่ เราก็เลยเดินไปหาเจ้าหน้าที่ คฝ. เปิดให้เขาดูเลยว่าโดนยิง เจ้าหน้าที่ คฝ. เขากำลังเดินง้างกระบองมา 2 คนเลย เขาตกใจสะดุ้ง และก็วิ่งไปข้างหลังผมต่อ" พายุ กล่าว

หลังจากนั้น พายุจำได้ว่ามีคนมาสะกิดบอกว่าจะพาไปส่งโรงพยาบาล หลังจากนั้น จำเหตุการณ์ไม่ได้เลย แต่ตัวเองยังมีสติอยู่ 

ภายหลังจากได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล แพทย์วินิจฉัยว่า อาการของพายุได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากการถูกกระสุนยางยิงเข้าที่บริเวณหางคิ้วด้านขวา และมีโอกาสกลับมามองเห็นปกติแค่ 10 เปอร์เซ็นต์

พายุ บุญโสภณ หลังถูกกระสุนยางเข้าที่ดวงตาขวา

พายุเป็นหนึ่งในผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมโดย คฝ. ในวันนั้น รายงานของ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ระบุว่า คฝ.มีการใช้มาตรการที่เกินกว่าเหตุ เช่น การผลักจนล้มหรือการรุมเตะและชก ทั้งที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้ถูกจับกุมบางรายมีท่าทีที่ยอมจำนนและไม่ขัดขืน และบางส่วนที่ขัดขืนบ้าง แต่ไม่มีอาวุธที่จะใช้ต่อต้านจนถึงขนาดที่ตำรวจต้องทำร้ายร่างกาย

รายงานของโครงการอินเทอร์เน็ตกฎหมายเพื่อประชาชน (iLaw) ระบุว่า วันนั้นมีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บจำนวนอย่างน้อย 31 ราย หนึ่งรายต้องพบนักจิตบำบัด เนื่องจากได้รับการกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจอย่างรุนแรง ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้รับบาดเจ็บ 14 นาย และอีก 1 นายได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาถูกน้ำมันก๊าดจากผู้ชุมนุมสาดใส่ และข้อมูลจาก The Matter เผยว่ามีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ อย่างน้อย 4 ราย

ปัจจุบัน พายุก็สูญเสียการมองเห็นที่ดวงตาด้านขวา มองเห็นแสงเพียงเลือนลางเท่านั้น และเขากำลังปรับตัวในการใช้ชีวิตหลังจากนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่เป็นไปตามสากล และแผนปฏิบัติในประเทศ

รายงานจาก iLaw และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทำให้เห็นว่า แม้ว่าในประเทศไทย จะมีแผนการดูแลชุมนุมสาธารณะปี 2565 และแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย แต่ตลอดปี 2564-2565 กลับมีการสลายการชุมนุมโดยไม่ได้เป็นไปตามหลักการอย่างต่อเนื่อง 

ตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ เมื่อปี 2565 อ้างอิงจากบทที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง "การใช้กำลัง เครื่องมือ อุปกรณ์และอาวุธ" ระบุว่า ต้องมีการเจรจาเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ก่อน หากยังไม่มีการยุติให้แสดงท่าเตรียมพร้อมใช้กำกลัง มาตรการ และอุปกรณ์หรือเครื่องมือ และหากยังไม่หยุดอีก จึงได้ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม

การสลายการชุมนุมต้องเหมาะสมแก่สถานการณ์ การควบคุมฝูงชนต้องมีการไล่มาตรการจากเบาไปหาหนัก โดยเริ่มจากการเจรจา ใช้โล่และกระบองผลักดัน การใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง และถึงใช้กระสุนยาง 

โดยเหตุการณ์เมื่อ 18 พ.ย. 2567 ตามคำสัมภาษณ์ของพายุ จะพบว่าตำรวจไม่ได้มีการแจ้งเตือนก่อนใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน และไม่ได้มีการไล่ระดับมาตรการการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน

ในเหตุการณ์เดียวกัน ตำรวจยังมีการยิงกระสุนยางในระดับเดียวกับ ‘ศีรษะ’ ซึ่งขัดต่อแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งระบุว่า ให้ "ยิงส่วนล่างของร่างกาย" และใช้กับเป้าหมายที่กระทำการหรือมีท่าทีคุกคามต่อชีวิตของผู้อื่น ต้องกำหนดเป้าหมายโดยชัดเจน ไม่สามารถยิงโดยไม่เลือกเป้าหมายได้ 

ตามแผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะ เมื่อปี 2565 บทที่ 6 "การใช้กำลัง เครื่องมือ อุปกรณ์และอาวุธ" หน้าที่ 25

แนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ของข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าควรยิงกระสุนยางที่ "ท้องส่วนล่าง และขา" ห้ามยิงระนาบเดียวกับศีรษะ หรือร่างกายส่วนบน เพราะอาจเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือทำให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส

ระหว่างการจับกุมหลายสถานการณ์ เจ้าหน้าที่มีการทำร้ายร่างกายประชาชนระหว่างการจับกุมอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่สมควรแก่เหตุ เช่น การผลักจนล้มแล้วรุมเตะและชกทั้งที่ผู้ถูกจับกุมทั้งที่บางรายมีท่าทีที่ยอมจำนนและไม่ขัดขืน หรือบางรายจะแสดงอาการขัดขืน แต่ไม่ได้มีอาวุธจนถึงขนาดที่ตำรวจจะต้องทำร้ายร่างกาย ซึ่งกรณีนี้ขัดกฎหมายและแนวปฏิบัติสากลอย่างชัดเจน

ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ระหว่างปลายปี 2563-2565 มีการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักการสากลหลายครั้ง รายงาน MOB DATA ระบุว่า เฉพาะในปี 2564 ซึ่งมีการใช้กำลังสลายการชุมนุมมากที่สุดเมื่อเทียบกับปีอื่นๆ ราว 60 ครั้งจาก 74 ครั้ง

รายงานของ iLaw ที่ได้บันทึกการสลายการชุมนุมที่แยกดินแดงเมื่อ ส.ค. 2564 พบว่าเจ้าหน้าที่มีการสลายการชุมนุมโดยไม่เป็นไปตามหลักการสากล และแผนปฏิบัติการควบคุมการชุมนุม ยกตัวอย่าง แม้ว่ามีหลักกำหนดให้ตำรวจต้องเจรจาก่อนใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีการเจรจาหรือไม่เคยขอเจรจากับผู้ชุมนุม แม้ว่าจะมีผู้แสดงตัวเป็นผู้จัดชัดเจน หรือไม่มีผู้จัด

บางกรณีแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะทำตามหลักปฏิบัติสากลมีการประกาศก่อนใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอย่างการฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตา แต่ตำรวจไม่มีการกำหนดเวลา หรือให้เวลาสั้นมากในการยุติการชุมนุม บางกรณีให้เวลาเพียงไม่กี่นาที ก็ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนทันที 

นอกจากนี้ การสลายการชุมนุมโดยใช้กระสุนยางของ คฝ.ช่วงม็อบดินแดง มีการยิงในระนาบเดียวกับศีรษะ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก และมีการยิงในระยะใกล้ผู้ชุมนุม นอกจากในการชุมนุมแยกดินแดงแล้ว ในการชุมนุมเมื่อ 14 พ.ย. 2564 ก็มีการกระทำในลักษณะเดียวกัน

ภาพการชุมนุมดินแดง เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 (ภาพโดย สันติธรรม บุญราศร)

"มีภาพถ่ายและคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานยืนยันมากมายว่าตำรวจใช้ปืนยิงกระสุนยางในระดับสายตา ไม่ใช่การยิงกดลงเพื่อให้โดนส่วนล่างของร่างกาย มีภาพการใช้อาวุธจ่อยิงในระยะประชิด หรือยิงใส่บุคคลและกลุ่มบุคคลที่กำลังหลบหนีหรือล่าถอย

"การใช้อาวุธแต่ละชนิดก็ไม่ได้ไล่ลำดับจากเบาไปหาหนัก แต่ใช้ทุกประเภทไปพร้อมกัน หรืออาจจะใช้กระสุนยางก่อน และใช้การฉีดน้ำทีหลัง ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของตำรวจ" iLaw ระบุ 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เฉพาะ 3 เดือนของการชุมนุมทะลุแก๊ส (ระหว่าง ส.ค.-ต.ค. 2564)  เท่าที่ทราบข้อมูล มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 229 ราย และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยมีผู้ได้รับผลกระทบที่อายุน้อยที่สุดเป็นเด็กอายุ 4 ขวบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เสียชีวิต 1 ราย พิการอย่างน้อย 3 ราย

ระหว่างปี 2564-2565 มีผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมอย่างน้อย 1 ราย คือ มานะ หงษ์ทอง เสียชีวิตขณะอายุ 64 ปี ซึ่งเขาไม่ได้เป็นผู้ชุมนุม และมีประชาชนต้องกลายเป็นผู้พิการสูญเสียการมองเห็น จากสลายการชุมนุมผิดหลักอย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ ฐนกร ผ่านพินิจ, ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย, และพายุ บุญโสภณ

ฐนกร ผ่านพินิจ อายุราว 48 ปี เคยให้สัมภาษณ์กับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เมื่อปี 2566 เล่าว่า เขาสูญเสียการมองเห็นจากการสลายการชุมนุมเมื่อ เมื่อ 13 ส.ค. 2564 ตอนนั้นเขาและลูกชายกำลังขับมอเตอร์ไซค์ เพื่อไปซื้อต้นไม้ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร แต่ก็ต้องเปลี่ยนใจเดินทางกลับ เพราะว่ามีตู้คอนเทนเนอร์ตั้งขวางถนนวิภาวดี-รังสิต (ขาออกนอกเมือง) แต่ระหว่างเขาเดินทางกลับที่พัก เขาพบการชุมนุมที่แยกดินแดง จึงจอดรถสังเกตการณ์ 

ตอนที่ดูเหตุการณ์ ฐนกร ระบุว่า เขาเห็นผู้ชุมนุมโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม เขายืนยันว่าไม่มีแจ้งเตือนก่อนใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน เป็นสาเหตุที่ทำให้เขาไม่ได้เตรียมตัวและหลบไม่ทัน

"มีการยั่วยุกันเกิดขึ้น ทันใดนั้นทาง คฝ. ก็ใช้ปืนยิงใส่มาเลย

"ผมวิ่งหนีไม่ทัน กระสุนยางยิงมาทะลุหน้ากากหมวกกันน็อคเต็มใบ เศษหน้ากากบาดตาขวาบอด ส่วนลูกกระสุนถางตาซ้าย ตอนนี้มองเห็นแค่แสงเลือนราง" ฐนกร กล่าว

ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย อีกหนึ่งผู้ชุมนุมที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมที่แยกดินแดง เมื่อ 13 ส.ค. 2564 โดยเขาถูกกระป๋องแก๊สน้ำตาปะทะที่ดวงตาขวา ซึ่งเป็นการยิงแก๊สน้ำตาอย่างผิดหลักการสากล โดยยิงลงมาจากทางยกระดับดินแดงเป็นการยิงลงมาจากที่สูงลงมาที่ต่ำ

ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย ถูกกระป๋องแก๊สน้ำตาที่แยกดินแดง เมื่อ 13 ส.ค. 2564 (ที่มา: iLaw)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พายุ: ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม

หลังจากพายุ ถูกกระสุนยางเข้าที่เบ้าตาขวา และมองเห็นแสงเพียงเลือนราง พายุก็อยู่ในช่วงระหว่างการปรับตัวเพื่อให้ชิน เพราะว่าพอเสียการมองเห็นด้านขวาแล้วทำให้การกะระยะสิ่งของเพี้ยน หรือเวลากะน้ำหนักลงเท้าขึ้น-ลงบันได ก็ลงน้ำหนักผิด และช่วง 3-4 เดือนแรกหลังเสียการมองเห็น พายุ เล่าว่าเขาไม่กล้าขับรถยนต์เลย เพราะกลัวไปเบียดไปชนคนอื่นๆ 

นอกจากนี้ พายุ ได้รับผลกระทบที่ท่อน้ำตาตาขวาด้วย ทำให้ไม่สามารถไม่ควบคุมการไหลของน้ำตาได้ บางวันอากาศร้อนน้ำตาไหล หาวอยู่ดีๆ น้ำตาก็ไหล ก็ต้องพกผ้าเช็ดหน้า หรือทิชชู่คอยซับน้ำตาที่ไหลเป็นประจำ แต่พายุ มองว่าเป็นเรื่องรำคาญใจมากกว่า แต่ไม่เป็นปัญหาการใช้ชีวิตประจำวัน

ปัจจุบัน นักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ต้องตรวจเช็กสุขภาพตาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ อย่างน้อย 2 แห่ง แห่งหนึ่งเพื่อเช็กอาการด้านซ้าย และสอง เพื่อทำความสะอาดตาเทียม พายุเล่าว่าตอนนี้เช็กอาการว่าตาเทียมที่ใส่มีผลกระทบด้านสุขภาพหรือไม่ เพราะแพทย์เคยแจ้งไว้ว่า ถ้าตาข้างหนึ่งมันเสีย มันอาจจะเกิดผลกระทบต่อตาอีกข้างที่ยังใช้งานได้ปกติ เช่น ตาแดงกว่าปกติ ตาติดเชื้อ เป็นต้อกระจกโดยไม่มีสาเหตุ หรืออยู่ดีๆ ตาบอดไปเลย โดยอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน แต่มันจะเกิดขึ้นน้อยมาก 1 ใน 5 แสน เลยต้องติดตามอาการ (Follow-up) เรื่องนี้บ่อย

ส่วนเรื่องค่ารักษานั้น พายุ ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ใช้จ่ายจนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นบาท ทว่าพายุมองว่ากรณีของเขามีคนช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่าย และแน่นอนว่า "ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐ"

แผนการรักษาในอนาคต พายุเล่าให้ฟังว่า เขามีแผนจะย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลที่จังหวัดขอนแก่นใกล้บ้าน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทาง แต่อยากเช็กอาการให้แน่ใจว่าเขาไม่มีอาการจากผลค้างเคียงจากการสูญเสียการมองเห็นตาขวา

พายุ กล่าวด้วยว่า เมื่อปีที่แล้ว (2566) เหมือนได้พักผ่อนตลอดทั้งปี ได้ฝึกซ้อมเรื่องการใช้ชีวิตตัวเอง ส่วนที่ทำงานเขาก็เข้าใจ และช่วยสนับสนุนเรื่องเงินเดือน 

เสียงจากญาติผู้เสียชีวิตจากการถูกลูกหลงสลายการชุมนุม 

วันที่ 15 ส.ค. 2564 เมื่อเวลา 21.00 น. มานะ หงษ์ทอง อายุ 64 ปี นอนหมดสติอยู่บนฟุตบาธละแวกดินแดง มานะถูกวัตถุบางอย่างคาดว่าเป็นกระสุนยางยิงเข้าที่บริเวณหน้าผาก ทำให้เขาล้มทั้งยืน หงายหลังหัวฟาดพื้นส่งผลให้มีแผลเลือดคั่งในสมอง ชายวัย 64 ปีต้องเข้ารักษาในห้องฉุกเฉิน (ICU) นานถึง 3 เดือน พอออกจากโรงพยาบาลก็กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงทุพพลภาพ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ก่อนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 โดยแพทย์ชันสูตรว่าเสียชีวิตจากโควิด-19 

เหตุการณ์ขณะที่มานะ หงษ์ทอง ชายวัย 64 ปี ถูกลูกหลง บาดเจ็บสาหัสบริเวณศีรษะ เมื่อ 15 ส.ค. 2564

เอกรินทร์ หงษ์ทอง หลานชายของมานะ อายุ 44 ปี บอกว่าตอนนั้นทุกคนช็อกกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับน้ามานะ เพราะน้าเป็นคนเฮฮาสนุกสนาน และอยู่ดีๆ เขากลับมาป่วยซึ่งไม่ได้มาจากโรคประจำตัว แม่ของเอกรินทร์ ซึ่งเป็นน้องสาวของมานะ ก็ชราแล้วต้องลำบากมาดูแล และเดิมทีแม่เขาป่วยเป็นโรคซึมเศร้าอยู่แล้ว ก็ต้องแบกรับความเครียดที่หนักพอสมควรสำหรับแม่เขา แม่เขาสะเทือนใจอยู่แล้วน้องเขาทั้งคนต้องจากไป เพราะอยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิต

เอกรินทร์ กล่าวว่า หลังจากมานะเสีย พวกเขาได้รับการเยียวยาเพียงครั้งเดียวจากกรมคุ้มครองสิทธิ โดยให้เงินช่วยเหลือเป็นจำนวน 177,193 บาท และยังไม่มีหน่วยงานรัฐออกมารับผิดชอบในกรณีนี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เริ่มจากตั้ง คกก.สืบข้อเท็จจริงที่ต้องเป็น 'อิสระ'  

เมื่อถามว่าจะเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมอย่างไร รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เห็นด้วยว่าต้องมีการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักการสากล และกลไกรัฐบาลสามารถทำให้เกิดการเยียวยาได้ 

รังสิมันต์ โรม

ย้อนไปก่อนหน้านี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยออกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ 10 ม.ค. 2555 นำมาสู่การจ่ายเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการความรุนแรงหรือเหตุขัดแย้งทางการเมืองระหว่างปี 2548-2553 โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับเงินเยียวยารวมกันสูงสุด 7.75 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินชดเชย 4.5 ล้านบาท เงินเยียวยาด้านจิตใจ 3 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือค่าปลงศพ 2.5 แสนบาท คราวนั้นมีผู้มายื่นขอเงินเยียวยามากกว่า 2,300 ราย แบ่งเป็นเสียชีวิต 102 ราย (เฉพาะปี 2553 มี 98 ราย) และบาดเจ็บอีกกว่า 2,200 ราย รวมวงเงินที่ใช้ไม่เกิน 2 พันล้านบาท ซึ่งตรงนี้สะท้อนว่ากลไกของรัฐบาลมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้ 

รังสิมันต์ กล่าวเพิ่มว่า เบื้องต้น รัฐบาลสามารถเริ่มจากการตั้งคณะกรรมการเพื่อสืบหาความจริง หรือจะต่อยอดจากข้อมูลของคณะกรรมาการนิรโทษกรรมคดีการเมือง เพื่อนำมาสู่การเยียวยาอย่างครอบคลุม รัฐบาลมีอำนาจที่จะคุยกับหน่วยงานต่างๆ หรือเข้าถึงข้อมูลในส่วนที่ประชาชนเข้าไม่ถึง เพื่อนำมาประมวลผล และทำเป็นวิธีการว่าควรเยียวยาใคร และเท่าไรบ้าง แต่สำคัญที่สุดคือต้องเป็น "อิสระ" 

หลักการเยียวยา ต้องคืนความเป็น "ปกติ" มากที่สุด

รังสิมันต์ โรม กล่าวว่า พื้นฐานหลักการเยียวยาควรครอบคลุมกลุ่มบุคคล หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงที่ได้รับผลกระทบจากการแสดงออกทางการเมือง ต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีความจากนิติวิธี เพราะว่าความเสียหายไม่ได้เกิดจากการแค่รถฉีดน้ำ หรือการทุบตี แต่มีการดำเนินคดี ทำให้ชีวิตของคนหนึ่งถูกทำลายในรูปแบบต่างๆ สูญเสียงาน ครอบครัวแตกแยก เกณฑ์ชี้วัดตรงนี้ต้องไปดูว่าเขาได้รับผลกระทบจากรัฐทางตรงหรือทางอ้อม

สส.พรรคก้าวไกล ระบุด้วยว่า การเยียวยาต้องครอบคลุมไปยังผู้ได้รับผลกระทบทางอ้อมจากข้อมูลของรัฐบาลที่ทำให้ผู้ชุมนุมหรือคนเห็นต่างทางการเมืองถูกมองในเชิงลบ เป็นคนไม่ดี และเกิดการทำร้ายร่างกายพวกเขาทั้งด้านจิตใจและร่างกาย ซึ่งกรณีนี้ต้องดูเป็นรายกรณีว่า แต่ละกรณีควรได้รับการเยียวยาเท่าไร แน่นอนว่าไม่เท่าทุกคน เพราะต้องดูตามความเสียหายที่เกิดขึ้น

สส.ก้าวไกล มองรูปแบบการเยียวยาสำคัญคือต้องทำให้ประชาชนกลับสู่ 'สภาวะปกติ' ให้ได้มากที่สุด ซึ่งการเยียวยาแค่เงินอย่างเดียวไม่ได้การันตีว่าเงินนั้นจะช่วยเยียวยาสภาพจิตใจอย่างเต็มที่ แต่เขาหวังให้กระบวนการเยียวยาไปสู่การเยียวยาจิตใจด้วย ยกตัวอย่าง หลังการสลายการชุมนุมบางคนป่วยเป็น PSTD เป็นต้น

ทั้งนี้ รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2555 ซึ่งพูดถึงการเยียวยาให้ประชาชนหลังสลายการชุมนุมของ นปช. ปี 2553 โดยมีการระบุข้อเสนอว่า รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้การเยียวยาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เหมาะสมกับความเสียหายและความสูญเสียลักษณะต่างๆ เช่น การเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจอย่างถูกวิธีโดยมีแนวทางในการ ติดตามเพื่อบำบัดฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง การฟื้นฟูเกียรติยศของเหยื่อ การให้คำปรึกษาและการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย และอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม โรม ยอมรับว่า อุปสรรคสำคัญคือการบริหารจัดการ เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายยิ่งถ้าจำนวนมันเยอะ ตอนนี้เรายังไม่รู้ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แล้วรูปแบบความเสียหายเป็นอย่างไรบ้าง มันไม่ใช่แค่เสียชีวิต หรือเสียอวัยวะ หรือการได้รับการบาดเจ็บจากถูกทำร้าย แต่ยังเป็นความบาดเจ็บทางด้านจิตใจด้วย ถ้ามีข้อมูลตรงนี้ รัฐก็อาจจะออกแบบการเยียวยาที่มากกว่าตัวเงินได้

เห็นตรงกัน การเยียวยาต้องครอบคลุมด้านจิตใจ

แม้ว่าเมื่อปลายปี 2563 สื่อ "เบนาร์นิวส์" รายงานว่า ศาลแพ่งมีคำสั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม 5 จาก 9 ราย เป็นจำนวนเงิน 3.07 แสนบาท และคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี นับจากวันฟ้อง จากกรณีที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 

อีก 4 ราย ศาลยกฟ้องเนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานว่าอยู่ในที่ชุมนุม หรือได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม ทั้งนี้ จากการชุมนุมดังกล่าว ศูนย์แพทย์ฉุกเฉินเอราวัณ รายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บราว 41 ราย

กลับกัน พายุ มองว่า การเยียวยาค่าตอบแทนอาจไม่พอ และอาจจะต้องมีการเยียวยาด้านจิตใจด้วย เขาบอกว่า การชดเชยเฉพาะเงินไม่แน่ใจว่ามันจะชดเชยความสูญเสียทั้งหมดได้ไหม เพราะว่าชาวบ้านที่มาร่วมชุมนุมบางคนกำลังต่อสู้กับปัญหาในพื้นที่ของเขา แต่พอเข้ามาใน กทม.และต้องมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ กลายเป็นชาวบ้านไม่กล้าสู้เพื่อความถูกต้องหรือสู้กับกฎหมายที่กดขี่พวกเขา

"ผมก็ตอบแทนพี่น้องที่โดนไม่ได้ว่ามันจะต้องเป็นจำนวนเงินเท่าไรที่จะครอบคลุมสภาพจิตใจ หรือครอบคลุมความสูญเสียทั้งหมดได้ ผมเลยคิดว่าเป็นรายละเอียด และเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนเหมือนกัน การเยียวยาในลักษณะของตัวเงินอาจจะไม่ได้เพียงพอ ถ้าเกิดเราพูดในลักษณะนี้" นักกิจกรรมด้านปฏิรูปที่ดินอีสาน ระบุ

ไร้คำขอโทษ หรือการรับผิดชอบจากภาครัฐ

อลงกต สงพัฒน์แก้ว ประชาชนทั่วไป อายุ 35 ปี เขาถูกกระสุนยางยิงในระยะประชิดจนได้รับบาดเจ็บระหว่างเข้าร่วมเดินขบวนจากแยกปทุมวัน เพื่อไปยื่นหนังสือที่สถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ถ.สาทร กรุงเทพฯ ม็อบ "ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" เมื่อ 14 พ.ย. 2564 

บาดแผลที่แห้งแล้วของอลงกต สงพัฒน์แก้ว (แฟ้มภาพเมื่อปี 2565)

เหตุการณ์เกิดขึ้นขณะที่ผู้ชุมนุมกำลังเดินโดนใช้เส้นทางถนนพระราม 1 และเลี้ยวขวาที่แยกเฉลิมเผ่า เพื่อเข้าถนนอังรีดูนังต์ อลงกตซึ่งอยู่แนวหน้าของขบวนได้ถูก คฝ.ใช้กระสุนยางยิงระยะใกล้ราว 3-4 เมตร กระสุนถูกเข้าที่บริเวณไหล่และข้างลำตัวของเขาจนได้รับบาดเจ็บและต้องพักรักษาตัวนาน 3-4 เดือน 

รายงานของ iLaw ระบุว่า เมื่อ 14 พ.ย. 2564 มีผู้ชุมนุมถูกยิงในระยะประชิด 3 คน ประกอบด้วย อลงกต, อนันต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 19 ปี ถูกกระสุนยางที่บริเวณหัวไหล่ และ 'ภิญโญ' (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิดบริเวณกลางหน้าอก ซึ่งจากรายงานการตรวจสอบของกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ สภาผู้แทนราษฎร เผยว่าจนถึงปัจจุบัน ตำรวจไม่เคยแสดงหลักฐานที่ได้จากแพทย์ว่ากระสุนที่ยิงออกมานั้นเป็นชนิดใด

ภาพเหตุการณ์ผู้ชุมนุมถูกกระสุนไม่ทราบชนิดยิงเข้าที่บริเวณลิ้นปี่ เมื่อ 14 พ.ย. 64

ในวันเดียวกับที่เขาถูกยิงด้วยกระสุนยาง อลงกต ได้ไปแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน เพื่อเอาเรื่องเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน แต่เมื่อเวลาผ่านไป นอกจากไม่มีความคืบหน้าเรื่องคดี เขากลับถูกแจ้งความกลับเมื่อช่วง ก.ย. 2565 ข้อหา พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และทำร้ายเจ้าหน้าที่ 

หลังจากนั้น อลงกต ยังคงทวงความยุติธรรมให้ตัวเองเรื่อยมา โดยเมื่อ 8 พ.ย. 2565 เขาเคยร้องเรียนที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้มีการเร่งรัดคดีความของเขา และขอความเป็นธรรมเรื่องการถูกดำเนินคดี เคยร้องเรียนไปยังกรรมาธิการการกฎหมายฯ ของสภาผู้แทนราษฎร ล่าสุด เมื่อช่วง 14 พ.ย. 2566 หรือครบรอบ 2 ปีที่เขาถูกยิงด้วยกระสุนยาง อลงกตได้ไปร้องเรียนที่ สตช.ด้วย เพื่อให้มีการติดตามเรื่องการดำเนินคดีที่เขาเคยแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน แต่จนปัจจุบัน ไม่มีความคืบหน้าอะไรเรื่องคดีความของเขาเลย

สำหรับอลงกต เขามองว่าการเยียวยาต้องเป็นไปตามกฎหมาย แต่สิ่งสำคัญคือเจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งเขามองว่าการยิงกระสุนยางวันนั้น เป็นความผิดพลาดของ คฝ.ที่ปฏิบัติงานอย่างแน่นอน เพราะ คฝ.ตกใจจึงใช้กระสุนยางยิงเข้าใส่ฝูงชนในระยะใกล้ ซึ่งเป็นการทำโดยไม่มีคำสั่งจากผู้บัญชาการเหตุการณ์ และไม่มีการประกาศไล่ระดับใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนัก

"มันต้องเอาคนผิดมาลงโทษก่อน เพราะว่าคุณเป็นคนของรัฐ คุณได้ภาษีของประชาชนเป็นเงินเดือน ความรับผิดชอบต้องมีมากกว่า ไม่ใช่ว่าคุณทำงานโดยอ้างว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่อยู่ แต่นี่คุณถือปืนอยู่แล้วจะไปยิงใครก็ได้"

"ถ้าเกิดว่าเป็นคนธรรมดา เรื่องก็คงจบไปแล้ว แต่นี่เรื่องตั้งแต่เมื่อปี 2564 ตอนนี้ปี 2567 แล้ว อีกครึ่งปี ก็จะเข้า 3 ปี" อลงกต กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ส่วนคดีความของมานะ หงษ์ทอง เมื่อ 31 มี.ค. 2565 พรรณี ศุขสมาน น้องสาวของ 'มานะ หงษ์ทอง' เคยร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สน.ดินแดง เพื่อให้ดำเนินคดีอาญากับเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงให้เร่งรวบรวมพยานหลักฐาน โดยญาติได้ขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 157 (ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ) และมาตรา 297 (ทำร้ายร่างกายสาหัส) รวมถึงความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม เอกรินทร์ ระบุว่า จนถึงปัจจุบัน คดีความก็ยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"คดีเหมือนไปชี้จุดเกิดเหตุแค่ครั้งเดียว เหมือนเราจะให้เราไปตามหาพยานเอง ผมไม่รู้ว่าจะตามตรงไหน พยาน เพราะว่าจะมีแค่กู้ภัย และนักข่าว" เอกรินทร์ กล่าว และระบุว่า คฝ.เคยเรียกเขาไปคุยที่บางเขน แต่สุดท้าย ทำแค่ส่งจดหมายมาให้ว่าไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของ คฝ.เท่านั้น

เอกรินทร์ มองเช่นกันว่า เงินเยียวยามันควรเยียวยาตามสิทธิที่ควรจะได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความชัดเจนเรื่องคดีความ สำหรับคดีของมานะ หงษ์ทอง มันเหมือนถูกทางการเพิกเฉย ไม่ได้รวดเร็วเหมือนคดีอื่นๆ มันทำให้เราเสียความเชื่อมั่นจากภาครัฐ แม้ว่าเราจะไม่เคยเชื่อมั่นอยู่แล้ว ซึ่งครอบครัวไม่อยากปล่อยไป แต่ตอนนี้พวกเขาก็ต้องดำเนินชีวิตต่อไป

"อันดับแรกความเป็นลูกผู้ชาย คุณแสดงออกมาคุณไม่ได้ผิด คุณกระตือรือร้นสักนิด แสดงหลักฐานให้ดูว่าเราไม่ได้ผิด เพราะมีหลักฐานจากกลุ่มนู้นอย่างนี้ๆ คุณแสดงให้ดูก็ได้ ผมจะได้แบบจบๆ กันไป พวกคุณไม่ผิด หรือถ้าเกิดผิดพลาดจากพวกคุณ พวกคุณขอโทษเท่านั้นเอง คุณก็เยียวยาเท่าไร ก็ไปว่ากันตามกฎหมายหรือสิทธิ แต่ไม่มีการขอโทษ หรือการเข้ามาดูแลเรื่องจิตใจของญาติ ที่เขายังอยู่เลย" เอกรินทร์ กล่าว 

โมเดลการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้กำลังสลายการชุมนุม 

สส.ก้าวไกล มองว่า เรื่องการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐ อาจมีโมเดลคร่าวๆ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ระดับสั่งการ ระดับปฏิบัติการแต่มีพฤติกรรมเกินกว่าเหตุในระดับที่รุนแรง และกลุ่มปฏิบัติตามคำสั่ง ระดับสั่งการ ทำหรือกระทำเกินกว่าเหตุ อย่างกลุ่มที่นายสั่งให้ไปจับกุม แต่กลับไปทำร้ายร่างกาย กลุ่มนี้ต้องเอามาดำเนินคดีตามกฎหมาย

เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ที่ทำตามคำสั่ง ไม่ได้กระทำเกินกว่าเหตุและได้รับความเสียหายไม่ว่าทางด้านร่างกายและจิตใจ เราก็อาจจะพิจารณาได้ครับว่าสุดท้ายเขาควรได้รับการเยียวยา ก็ต้องมาดูว่ามีความเสียหายด้านจิตใจ และร่างกายแค่ไหน เรื่องนี้ต้องยอมรับว่ายากที่จะเก็บข้อมูล แต่เราต้องมีข้อมูลนี้เพื่อให้การเยียวยาสมเหตุผล และสังคมกลับมาคืนดีกันได้มากที่สุด

พายุ กล่าวว่าเขาไม่เห็นด้วยกับ 'วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดแน่นอน' แต่เขามีข้อกังวลว่าคนสั่งการคนที่กระทำผิดจะไม่ได้รับโทษ ส่วนคนที่ออกมารับโทษก็อาจไม่ใช่คนที่คนบงการหรือสั่งการจริงๆ ถ้าทำให้เกิดกระบวนการที่เอาคนที่ทำผิดมาลงโทษได้ มันก็อาจจะมีการเกิดบรรทัดฐานใหม่ของสังคมได้เหมือนกัน คิดว่าควรจะมี แต่คำถามคือ "ไม่รู้ว่าเขาจะลงโทษจริงๆ อย่างที่ว่าเหรอ"

เจตจำนงทางการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ

โรม กล่าวว่า การเยียวยาจะเกิดขึ้นได้นั้นต้องการเจตจำนงทางการเมือง (political will) ของผู้มีอำนาจ สิ่งที่ฝ่ายค้านทำได้คือการกระตุ้นผ่านช่องทางต่างๆ การเสนอกฎหมายของฝ่ายค้านเอง การพูดคุยในสภา การประสานงานของวิป การพูดคุยของกรรมาธิการ ทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายสร้างเจตจำนงทางการเมือง ให้รัฐบาลเห็นว่ามันมีความสำคัญที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ถ้าจะทำให้เกิดการเยียวยาจริงๆ เราก็ต้องกลับไปที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างการเยียวยาโดยไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล การสร้างเจตจำนงทางการเมืองโดยฝ่ายค้าน ร้อยสัมพันธ์กับประชาชนที่จะสร้างข้อเรียกร้องที่มันมีพลังร่วมกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวเคยติดต่อไปยัง สส.พรรคเพื่อไทย เพื่อขอสัมภาษณ์ถึงความเป็นได้ในการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมระหว่างปี 2563-2565 แต่ทาง สส.พรรคเพื่อไทย ขอยังไม่ให้สัมภาษณ์ เนื่องจากอยากให้มีประชุมในรัฐบาลถึงเรื่องนี้ก่อน จะได้ให้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง

สิ่งที่อยากได้ที่สุดคือความจริงใจของเจ้าหน้าที่รัฐ

สำหรับกระบวนการเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อ 18 พ.ย. 2565 นั้น นักกิจกรรมดาวดิน ระบุว่า หลังออกจากโรงพยาบาลช่วงแรกๆ เขาได้รับจดหมายว่ามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่พายุตรวจสอบรายชื่อสมาชิกของคณะกรรมการพบว่ามีแต่ตำรวจ และเขาเป็นประชาชนเพียงคนเดียว ด้วยความกังวลเรื่องความโปร่งใสของกระบวนการ จึงปฏิเสธการเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการการกฎหมายฯ สภาผู้แทนราษฎร เคยเรียกให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาชี้แจงในที่ประชุมของ กมธ. แต่ สตช.กลับมีการส่งคนที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในวันนั้นมาให้ข้อมูล ทำให้ไม่ได้คำตอบอะไรที่เป็นประโยชน์ แต่ที่ประชุมกดดันจนเขายอมบอกชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรของคนสั่งสลายการชุมนุม

เรื่องนี้ทำให้พายุ มองว่า ตำรวจไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาหรือรับผิดชอบอะไรเลย แถมถูกดำเนินคดีกลับ

"ผมเลยมองว่า ตำรวจไม่มีการรับผิดชอบอะไรเลย ขนาด กมธ.เรียกให้มาชี้แจงยังเอาตัวใครมาก็ไม่ได้ และถ้าเราไปยอมรับกระบวนการที่เราเข้าไปของตำรวจ สอบข้อเท็จจริงของตำรวจ และเขาบอกว่าเขาไม่ได้ผิด แบบนี้ผมก็จบเลยดิ เขาไม่ได้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กลับมาฟ้องร้องคดีความซ้ำด้วย" พายุ กล่าว

ตอนนี้ พายุ ถูกดำเนินคดี 3 ข้อหาจากการเข้าร่วมม็อบราษฎรหยุด APEC 2022 เมื่อ 18 พ.ย. 2565 ได้แก่ มาตรา 215 (มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป) มาตรา 216 (ไม่เลิกมั่วสุมตามที่เจ้าพนักงานสั่ง) และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ

อลงกต เผยว่าเขาจะตามเรื่องที่เคยไปร้องเรียนกับหน่วยงานรัฐต่อไป เพื่อตามหาความยุติธรรม และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ในวันนั้น ขณะที่เอกรินทร์ อยากฝากถึงเจ้าหน้าที่รัฐว่าพวกเขาต้องจริงใจในการดูแลและเยียวยาต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบมากกว่านี้ ไม่ใช่เพิกเฉยไม่ทำอะไรเลย  

"ฝากเลยไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐ หน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใหม่ หรือรัฐบาลเก่า สิ่งสำคัญที่สุดมันคือความจริงใจต่อคนที่ได้รับผลกระทบ ต่อทุกคน ขอความจริงใจดีกว่า คุณไม่จริงใจไม่แสดงอะไรถึงความเป็นลูกผู้ชายสักอย่างเลย โดยเฉพาะน้าผมไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจกรรม กับม็อบ กับอะไรทั้งสิ้น มันน่าจะมีอะไรที่มันดูแลกันดีกว่านี้ ไม่ว่าจะเรื่องจิตใจ สิ่งที่ตอบแทนชดเชย เราอยากขอความจริงใจ" ญาติของมานะ กล่าว

พายุ นักกิจกรรมจากดาวดิน ฝากทิ้งท้ายว่า เขาไม่เคยโกรธเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับปฏิบัติงาน หากได้เจอกันข้างนอกก็ยังเป็นเพื่อนได้ปกติ มันเป็นบทบาทหน้าที่ของแต่ละคน เขามีหน้าที่ของเขา ไม่ทำก็ไม่ได้ เราก็มีหน้าที่ของเรา ไม่รู้เหมือนกันอยากฝากอะไรถึงตำรวจ แต่ให้เอาให้เท่ก็บอกว่า "ตำรวจที่ยืนข้างประชาชนมันเท่กว่าตำรวจที่รับใช้อำนาจที่มันเป็นเผด็จการ ไม่มีเหตุไม่มีผลที่ให้หันปากกระบอกปืนเข้าหาประชาชน"

(1) กลุ่ม "ราษฎรหยุด APEC 2022" เป็นการรวมตัวเฉพาะกิจของภาคประชาสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาล คือนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยจะมีการนำนโยบายนี้ขึ้นบนโต๊ะการประชุมเอเปคปี 2565 เพื่อหารือกับนานาชาติอีกด้วย พวกเขาจึงจัดประชุมที่กรุงเทพฯระหว่าง 16-18 พ.ย. 2565 และวันที่ 18 พ.ย. 2565 จะเป็นการเดินขบวนรณรงค์จากลานคนเมือง เขตพระนคร กรุงเทพฯ ไปที่สถานที่จัดการประชุมเอเปค ข้อเรียกร้องของพวกเขาคือต้องการให้มีการทบทวนนโยบาย BCG

ในมุมมองของภาคประชาสังคม มองว่านโยบาย BCG มีปัญหาหลายประการ อาทิ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เต็มไปด้วยแหล่งทุนผูกขาดที่สร้างปัญหาให้ประชาชนมากมาย อาจทำให้ปัญหาการแย่งยึดที่ดินของประชาชนที่อาศัยในเขตป่า (ปัจจุบันมีประชาชนมากกว่า 1 ล้านคนที่มีข้อพิพาทด้านที่ดินกับเจ้าหน้าที่รัฐ) เพื่อนำมาขายคาร์บอนเครดิตให้นายทุน และอื่นๆ ซึ่งกลุ่มนักกิจกรรมประเมินแล้วว่า ถ้าปล่อยให้รัฐบาลดำเนินนโยบายนี้ต่อไป อาจทำให้ปัญหาด้านสิทธิที่ดินทำกิน และสิทธิอื่นๆ ของประชาชนอาจทวีความรุนแรงมากขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net