Skip to main content
sharethis

คุยกับ 'สายน้ำ' เมื่อการสวมเสื้อครอปท็อป เขียน 'พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์' ไว้บนหลัง ถูกศาลเยาวชนฯ ตีความว่ามีความผิดตาม ม.112 เสรีภาพในการแต่งกายถูกกำกับด้วยกฎหมายที่มีโทษทางอาญาร้ายแรง สายน้ำต้ังคำถาม 'ประเทศไทยเป็นบ้าไปแล้วเหรอ การใช้ ม.112 กับเด็กไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน' 

 

20 ก.ค. 2566 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาคดี ม.112 ของ “สายน้ำ” กรณีสวมเสื้อครอปท็อปเขียนข้อความ 'พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์' ไว้บนหลัง ร่วมกิจกรรม 'แคตวอล์กราษฎร' เมื่อ 29 ต.ค.63 ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม

ศาลพิพากษาว่า สายน้ำมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 และพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุการกระทำของจำเลยเป็นการล้อเลียน ดูหมิ่น เสียดสี ส่งผลต่อความรู้สึกของประชาชนทั่วไป ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาท เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกจึงให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงให้ลดโทษอีก 1 ใน 3 เหลือจำคุก 12 เดือน ปรับ 4,000 บาท และให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

คดีนี้วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีกับสายน้ำและนิว จตุพร แซ่อึง ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นิว จตุพรถูกดำเนินคดีจากการแต่งชุดไทยไปร่วมกิจกรรมเดียวกัน ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาให้นิว จตุพร มีความผิดตามม.112 จาการแต่งชุดไทย

ก่อนหน้าที่ศาลเยาวชนฯ จะนัดฟังคำพิพากษาสองวันสายน้ำได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ตนเองเตรียมใจพร้อมรับกับผลคำพิพากษาทุกอย่างที่จะออกมาตั้งแต่เดือนที่แล้วที่ได้โดนถอนประกันตัวในคดี ม.112 ทำให้ปล่อยวางมากขึ้น อะไรจะเกิดก็เกิด

“เราพร้อมจะต่อสู้ทั้งข้างในและข้างนอกเรือนจำ รวมไปถึงสถานพินิจด้วย ซึ่งถ้าคดีนี้โดนแล้วเราต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจก็พร้อมที่จะต่อสู้ข้างในเหมือนกัน” สายน้ำ กล่าว

สายน้ำกล่าวต่อว่า ในคดีของนิว จตุพร เมื่อถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดแล้ว เจ้าตัวต้องเข้าไปนอนในเรือนจำประมาณหนึ่งสัปดาห์ ถ้าหากสุดท้ายแล้วศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง “คุณจะรับผิดชอบต่อชีวิตเขาอย่างไร เพราะว่ามันไม่ได้เข้าเงื่อนไขของการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายเลย อยากให้ศาลนึกย้อนกลับไปถึงตอนที่ตัวเองเรียนวิชากฎหมายอยู่ด้วย”

“จริงๆ วันนั้นผมไม่ได้แต่งกายล้อเลียนกษัตริย์ ผมไม่ได้แต่งกายชุดนั้นไปด้วยซ้ำ ตอนแรกผมใส่เสื้อยืดธรรมดา พอเจอขายเสื้อในม็อบผมก็ซื้อมาใส่ แล้วเพื่อนก็เขียนให้ มันเท่านั้นเอง และมันก็ไม่ควรจะมีปัญหาอะไรด้วยกับการใส่เสื้อ การมีคำเขียนอยู่บนตัว ผมไม่ได้แต่งตามใครมันเป็นชุดแฟชั่นที่ใครก็ใส่ได้” สายน้ำ กล่าว

ในมุมมองของสายน้ำการแต่งกายเป็นเสรีภาพในร่างกายของคนแต่ละคน และการใช้กฎหมายที่มีโทษทางอาญาร้ายแรงอย่าง ม.112 กับเยาวชนไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย

“การแต่งกายเป็นเสรีภาพในร่างกายของคนเรา ใครจะแต่งตัวอย่างไงก็ได้ ม.112 กับเด็กเป็นเรื่องที่น่าเกียจมากๆ ไม่มีประเทศไหนเขาทำกัน จนมาถึงตอนนี้มีการแจ้งความเด็กอายุ 13 ปี อายุ 14 ปี ประเทศไทยบ้าไปแล้วเหรอ สุดท้ายแล้วโทษของเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี จะถือว่าเป็นเด็กที่ไม่ได้กระทำความผิด แล้วคุณจะรับผิดชอบกับเด็กคนนั้นอย่างไง ที่เด็กคนนั้นต้องมาเข้าสู่กระบวนการอันวุ่นวายของศาลเยาวชน” สายน้ำ กล่าว

สายน้ำมีมุมมองต่อการบังคับใช้กฎหมาย ม.112 ว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องตามหลักการ ส่วนตัวไม่ได้มองถึงการแก้ไข แต่มองว่า ม.112 ไม่ควรมีด้วยซ้ำ “ผมมองถึงการยกเลิก เพราะว่าถึงแก้ไขไปก็ยังอาจจะมีคนที่โดนอยู่ และเป็นการใช้ในการโจมตีคนที่เห็นต่าง สุดท้ายผมรู้สึกว่ากษัตริย์ก็คนเหมือนกัน ถ้าเกิดใครด่าใครเราก็ฟ้องแพ่งไปเอา เราไม่จำเป็นต้องให้ใครติดคุกเพราะการด่ากัน”

หลังจากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองชีวิตส่วนตัวของสายน้ำเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก เขาเคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐยิงด้วยกระสุนยางในม็อบ โดนทำร้ายร่างกาย และถูกฟ้องในคดี ม.112 รวม 3 คดีด้วยกัน จากกรณีใส่เสื้อครอปท็อปไปร่วมม็อบในคดีนี้ และถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษ “CANCEL LAW 112” และใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” บนรูปในหลวงรัชกาลที่ 10 และวางเพลิงเผารูปรัชกาลที่ 10 ซึ่งคดีนี้ศาลได้ยกฟ้องไปแล้ว ส่วนคดี ม.112 ล่าสุดโดนฟ้องตอนอายุ 19 ปี จากการกล่าวหาว่าไปยืนชูสามนิ้วหน้าลานพระรูปทรงม้า

“จริงๆ ชีวิตก็เปลี่ยนไปเยอะมาก ปกติเป็นคนชอบไปเที่ยวมากๆ ทุกวันนี้แทบไม่มีโอกาสได้ไปเที่ยวเลย รอบนี้ได้มาเชียงใหม่ก็เป็นน้อยครั้งมากที่กว่าจะเคลียร์คดีได้ ต้องจับคดีวันโน้นยัดไปใส่วันนี้ คดีวันนั้นยัดไปใส่วันนั้น เพื่อให้ได้เวลาสัปดาห์หนึ่งเพื่อมาเที่ยว แล้วก็รีบกลับไปฟังคำพิพากษา ชีวิตมันดูวุ่นวายไปหมด เด็กคนหนึ่งต้องไปขึ้นศาล 3-4 วันต่อสัปดาห์ แล้วต้องไปทุกสัปดาห์ มันไม่ใช่ชีวิตที่เด็กควรจะต้องเจอ”

สุดท้ายสายน้ำย้ำว่าตนเองไม่ได้กลัวต่อการใช้ ม.112 แม้จะถูกผลของคำพิพากษาทำให้สูญเสียอิสรภาพก็ตาม และย้ำอีกครั้งว่าพ่อของเขาชื่อ ‘มานะ’ จริงๆ

ทั้งนี้ ในเวลาต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานสรุปคำพิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางในคดีของสายน้ำอย่างละเอียดระบุว่า เวลา 09.43 น. ศาลออกนั่งพิจารณา ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และในหลวงรัชกาลที่ 10 อยู่ในสถานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 อีกทั้งมาตรา 50 แห่งรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดให้ชนชาวไทย มีหน้าที่พิทักษ์ดำรงรักษาไว้ทั้งเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รวมถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นผู้ใดจะแสดงกิริยาล้อเลียนเสียดสีหรือแสดงพฤติกรรมเลียนแบบว่าเป็นพระมหากษัตริย์ไม่ได้ 

ในข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ศาลพิเคราะห์จากบริบท พฤติการณ์ของจำเลย และอารมณ์ความรู้สึกของผู้ร่วมชุมนุมกับผู้ชมในขณะนั้น แสดงให้เห็นว่าแฟชั่นโชว์ดังกล่าวมีเจตนาสื่อถึงสถาบันกษัตริย์ การที่จำเลยแต่งกายสวมครอปท็อป แสดงกิริยาโบกไม้โบกมือ คล้ายจำลองเหตุการณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเยี่ยมราษฎร ถือเป็นการล้อเลียนเสียดสี ไม่ใช่การแสดงออกตามมุ่งหมายรัฐธรรมนูญหรือการแสดงออกโดยสุจริตแต่อย่างใด และเป็นการกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐ 

สำหรับข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากในวันเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และแม้จะไม่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลังจากการชุมนุมดังกล่าวอย่างมีนัยยะสำคัญ แต่รัฐบาลได้มีการออกข้อกำหนดและข้อบังคับใช้เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แล้ว ดังนั้นการชุมนุมดังกล่าวจึงไม่ได้เป็นไปตามข้อกำหนด จึงถือเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เนื่องจากฝั่งพยานโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมดังกล่าว และจำเลยไม่ได้ขึ้นปราศรัย โดยใช้เครื่องขยายเสียง จำเลยจึงไม่มีความผิดในสองข้อหานี้

ศาลพิพากษาลงโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำคุก 3 ปี เนื่องจากจำเลย ขณะเกิดเหตุยังเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี จึงลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และลงโทษปรับในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 6,000 บาท

เนื่องจากจำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง จึงลดโทษอีก 1 ใน 3 คงเหลือโทษจำคุก 12 เดือน ปรับ 4,000 บาท  คำนึงถึงจากการโดนดำเนินคดีเป็นครั้งแรก ประกอบกับพิเคราะห์จากนิสัย ความสามารถ และสติปัญญาของจำเลย เห็นว่าจำเลยสามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ จึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ มีกำหนด 2 ปี และให้รายงานตัวต่อคุมประพฤติทุกๆ 3 เดือน 

หลังอ่านคำพิพากษา สายน้ำได้กล่าวถึงคำพิพากษาวันนี้สั้นๆ ว่า "รู้สึกว่าคำพิพากษาไม่ได้ยุติธรรมขนาดนั้น แม้จะให้รอลงอาญาผมก็ตาม เพราะเหมือนศาลจะอ้างอิงตามคำพิพากษาในคดีของ "นิว-จตุพร" ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งมันเป็นคนละคดีกัน"

"การที่ผมใส่เสื้อครอปท็อป มันไม่ควรมองว่าเป็นการล้อเลียนในหลวงรัชกาลที่ 10 ผมแค่แต่งกายคล้ายจัสติน" สายน้ำ กล่าวทิ้งท้าย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net