Skip to main content
sharethis

เทียบคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ของ 'ธนาธร' ปี 62 นอกจากอ้างรัฐธรรมนูญ ม.82 วรรคสอง แล้วยังระบุถึงข้อมูลจากเอกสารประกอบคำร้อง ขณะที่ของ 'พิธา' ไม่ปรากฏข้อมูลจากเอกสารประกอบคำร้องเหมือนกรณีของธนาธร

19 ก.ค.2566 จากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย คุณสมบัติ ส.ส. ของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส. หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ถือหุ้นในบริษัท ไอทีวี จํากัด (มหาชน) พร้อมสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส.ระหว่างรอศาลวินิจฉัยนั้น

โดยส่วนเอกสารจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุเหตุผลในการสั่งให้ พิธา หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. อ้างเพียงข้อกฎหมายมาตรา 82 วรรคสอง ว่า 

"สำหรับคำขอของผู้ร้องที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก (7 ต่อ 2) เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้องอาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมรัฐสภาและที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค. 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย"

เอกสารจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย คุณสมบัติ ของ พิธา 19 ก.ค.66

ขณะที่เมื่อย้อนดูเทียบกับกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย คุณสมบัติ ส.ส. 23 พ.ค.2562 ซึ่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ด้วยนั้นกลับมีการระบุ นอกจากข้อกฎหมาย มาตรา 82 วรรคสอง แล้วยังระบุถึงข้อมูลจากเอกสารประกอบคำร้องว่า 

"ปรากฎข้อมูลจากเอกสารประกอบคำร้องว่า ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นทุกครั้งจะส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นระบุวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น พร้อมมีหนังสือนำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครในเวลาใกล้ชิดกัน ซึ่งแตกต่างจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นในคดีนี้ ตามเอกสารประกอบคำร้องไม่ปรากฏว่ามีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น จึงปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้อง (ธนาธร) มีกรณีตามที่ถูกร้อง ประกอบกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกร้อง อาจก่อให้เกิดปัญหาข้อกฎหมายและการคัดค้านโต้แย้งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานสำคัญของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้และเมื่อศาลได้ จึงมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 ให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย"

เอกสารจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญกรณีรับคําร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย คุณสมบัติ ของ ธนาธร 23 พ.ค.62

 

อีกคดีเมื่อ 26 มิ.ย. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง 32 ส.ส. ฝั่งรัฐบาลขณะนั้น ถือหุ้นหุ้นในกิจการสือสารมวลชน ไว้พิจารณา ขณะที่การขอให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่นั้น ระบุว่า จะต้องมีเหตุอันควรสงสัย แต่กรณีนี้ผู้ร้องไม่ได้ตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง คงมีเพียงเอกสารประกอบแบบคำร้องเท่านั้น ซึ่งศาลจะต้องหาข้อยุติต่อไป ดังนั้นจึงไม่เข้าเงื่อนไนให้หยุดปฏิบัติหน้าที่  ซึ่งต่างจากธนาธรที่ผ่านการสอบสวนจาก กกต.

มติรับคำร้อง 32 ส.ส. ฝั่งรัฐบาลขณะนั้นไว้พิจารณาแต่ไม่ได้สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ 26 มิ.ย. 2562 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net