Skip to main content
sharethis

ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เดินหน้าพบประชาชน ตอกย้ำประเทศไทยแบ่งแยกไม่ได้ ซัดขบวนนักศึกษามีเบื้องหลัง นักการเมืองปัดความรับผิดชอบ รองแม่ทัพเผยเตรียมขยายผลดำเนินคดีทันที เช็คพฤติกรรมอดีตโยงเป้าหมายแบ่งแยกดินแดนหรือไม่ บอกให้โอกาสมาเยอะแล้ว ชี้กลไกขบวนการ BRN ใช้ทั้งอาวุธและการเคลื่อนไหวทางการเมืองเชื่อมโยงกัน

พล.ต.วรเดช เดชรักษา ผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธี กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เปิดเผยทางเพจ ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ว่า จากกรณีกลุ่มขบวนนักศึกษาแห่งชาติจัดทำประชามติที่เกี่ยวข้องกับเอกราชปาตานี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์สันติวิธีได้จัดกำลังพลลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สร้างความเข้าใจกับมวลชนทุกกลุ่มผ่านกิจกรรมและการพบปะพูดคุยใน 4 ประเด็น คือ

1. ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของรัฐธรรมนูญมาตรา 1 ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้ และการจัดกิจกรรมดังกล่าวผิดต่อหลักกฎหมาย 2. เสียงของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ไม่ได้ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช 3. มีขบวนการสนับสนุนการจัดกิจกรรมอยู่เบื้องหลังนำโดยกลุ่มนักการเมืองบางพรรคซึ่งใช้นักศึกษาออกหน้าและปัดความรับผิดชอบ 4. กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ผิดหลักวิชาการคณะครูอาจารย์ที่เข้าร่วมต้องมีส่วนรับผิดชอบ

โดยตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาศูนย์สันติวิธีได้ดำเนินการสร้างความเข้าใจผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของสงขลา ประกอบด้วย กิจกรรมเครือข่ายผู้เห็นต่าง กิจกรรมในโครงการสานใจสู่สันติสัญจรในพื้นที่ 4 ตำบล การประชุมสภาประชาธิปไตยตำบล(วาระพิเศษ)ใน 3 ตำบล และกิจกรรมเวทีสาธารณะ 9 ตำบล

นอกจากนี้ยังมีกิจกรมของเครือข่ายกลุ่มสตรีใน ต.พ่อมิ่ง อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี และ ต.ท่าธง อ.รามัน จ.ยะลา พบปะผู้สอนศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ใน อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส กิจกรรมเครือข่ายนักเรียนผ่านกิจกรรมแนะแนว ที่โรงเรียนดารุลฮิกมะห์ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส กิจกรรมนักเรียนชั้น ม.1 - 3 จากโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาใน จ.ปัตตานี 226 คน ตลอดจนเครือข่ายผู้นำศาสนาที่มัสยิด ม.3 ต.บันนังสตา อ.บันนังสตา จ.ยะลา และเวทีสาธารณะกำปงตักวาฯ ที่ ต.ท่าน้ำ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี

นอกจากนี้ ศูนย์สันติวิธียังได้ทำสื่อออนไลน์เพื่อสร้างความเข้าใจใน 4 ประเด็นดังกล่าวรวม 25 บทความ มีการให้ความรู้เกี่ยวกับมาตรา 112, 113 และ 116 โดยเฉพาะประเด็นในมาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ “ประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้”

เตรียมขยายผล หากพบเชื่อมโยงบุคคลที่สามดำเนินคดีทันที

ด้าน พล.ต.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินคดีกับขบวนนักศึกษาแห่งชาติซึ่งดำเนินรายการโดยคุณเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ ว่า ที่ประชุมคณะทำงานและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อวางกรอบในการจัดทำสำนวนฟ้อง โดยได้แบ่งความรับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เพื่อนำมาประกอบในสำนวนคดี

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า ส่วนที่ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมานั้น เป้นการฟ้องร้องในเบื้องต้นตามประจักษ์พยานที่ค่อนข้างชัดว่า เป็นการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย โดยอาจจะขยายผลเชื่อมโยงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ หรือบุคคลที่ 3 ที่อาจจะไม่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ถ้าพบความเชื่อมโยงก็จะดำเนินคดีเพิ่มเติมโดยไม่ละเว้น

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า คดีนี้มีหลายส่วนที่เกี่ยวข้องซึ่งแบบสอบถามก็เป็นส่วนประกอบหลัก แต่หากย้อนไปดูเนื้อหาทั้งในแถลงการณ์ การอ่านบทกวีและการแสดงความคิดเห็นในเรื่องการกำหนดใจตนเอง (Right to Self Determination) ของหลายคน ล้วนมีประเด็นที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย

“แต่การที่จะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อนั้น จำเป็นต้องนำฐานข้อมูลเดิมมาประกอบการพิจารณาด้วยจึงจะสามารถเชื่อมโยงไปยังกลุ่มบุคคลอื่นๆได้อีกด้วย”

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า การฟ้องร้องจำเป็นต้องรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ รวมทั้งพฤติกรรมที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ที่มีลักษณะเชื่อมโยงกัน เพื่อให้ศาลเชื่อว่าพฤติกรรมการจัดกิจกรรมนี้มีผลกระทบต่อความมั่นคงแห่งรัฐและบูรณภาพของดินแดนอย่างแท้จริง

เช็คพฤติกรรมในอดีต เชื่อมโยงเป้าหมายแบ่งแยกดินแดน

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างจากพื้นที่อื่น เพราะลักษณะการต่อสู้ทางความคิดและทางการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่คนในขบวนการ BRN วางแผนมาเป็นลำดับ โดยแบ่งการต่อสู้เป็น 2 ขา คือการใช้ความรุนแรง และการต่อสู้ทางความคิดหรือทางการเมือง ซึ่งมีพัฒนาการมาเป็นลำดับ

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญคือการวางเค้าโครงสำนวนคดี ซึ่งปัจจัยที่กลุ่มขบวนการใช้ในการต่อสู้โดยใช้ความแรงและการต่อสู้ทางความคิดมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งตลอด 19 ปีที่ผ่านมา กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้รวบรวมพฤติกรรมและฐานข้อมูลด้านการข่าวมาโดยลำดับ ทำให้ทราบพฤติกรรมของบุคคล กลุ่มบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ที่มีความคิดในการต่อสู้และหนุนเสริมการต่อสู้ของ BRN คือการแบ่งแยกดินแดน

ลักษณะพฤติกรรมและการเคลื่อนไหวที่ผ่านมาของกลไกกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ มีหลายมิติ ทั้งมิติการกำหนดใจตัวเอง มิติการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ มิติการต่อต้านการใช้กฎหมายเพื่อความมั่นคง

“หลายๆคนที่เคลื่อนไหวอยู่ในพื้นที่ล้วนมีรายชื่ออยู่ในแฟ้มประวัติของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าทั้งสิ้น เพียงแต่ในช่วงที่ผ่านมา เขาค่อนข้างที่จะใช้ความระมัดระวังในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะในประเด็นที่ล่อแหลมต่อการละเมิดกฎหมาย”

ขณะที่ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าก่อนหน้านี้ เน้นเรื่องการสร้างของเข้าใจและการปรับเปลี่ยนทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ส่วนการใช้มาตรการทางกฎหมายถือเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะใช้ดำเนินการ

“มีหลายองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมา แล้วแบ่งหน้าที่กันทำและมีการเคลื่อนไหวที่ประสานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ เพียงแต่ก่อนหน้านี้อาจจะเคลื่อนไหวด้วยความระมัดระวังและอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์”

ให้โอกาสปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างความเข้าใจมาเยอะแล้ว

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า หลังเหตุเกิดเหตุ มีนักวิชาการหรือหลายองค์กรพยายามเรียกร้องว่า ไม่ควรใช้วิธีการบังคับด้วยกฎหมาย แต่ควรใช้หลักรัฐศาสตร์ในเรื่องการให้โอกาส การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ทราบหรือไม่ว่า ตลอดเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่ได้ให้โอกาสในการปรับเปลี่ยนทัศนคติและสร้างความเข้าใจมาเยอะแล้ว แต่ผลลัพธ์ที่ได้ เช่น มีการปักธง BRN การพ่นสีสเปรย์ Patani Merdeka การแขวนป้ายผ้าเรียกร้องสิทธิในการกำหนดใจตัวเอง (Right to Self Determination) มีการแห่ศพเพื่อจะยกระดับผู้เสียชีวิตจากการถูกวิสามัญฆาตกรรมว่าเป็นวีรบุรุษ และอีกหลายๆเหตุการณ์

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ การจัดกิจกรรมเรื่องสิทธิในการกำหนดใจตนเองมีการระมัดระวังมาก โดยไม่เอ่ยถึงเรื่องเอกราช แต่การเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชก็ไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่ส่วนใหญ่เป็นการใช้สื่อโซเชียลแบบอวตาร มีการใช้สื่อโซเชียลปลุกระดมเรื่อง Patani Merdeka

พล.ต.ปราโมทย์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ก็มีมาแล้วหลายครั้ง ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ โดยเฉพาะการไปร่วมชุมนุมทางการเมืองที่ถนนราชดำเนิน อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกลุ่มน้องๆเยาวชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันหลายคนอยู่ในสถานะสมาชิกพรรคการเมืองที่ร่วมสนับสนุน

พาดพิง BRN แต่ไม่พูดถึงกระบวนการสันติภาพ

เป็นที่น่าสังเกต การให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ปราโมทย์ ได้พาดพิงถึงขบวนการ BRN หลายครั้งว่าใช้ความรุนแรงและแนวทางทางการเมืองในการต่อสู้กับรัฐ แต่ไม่ได้กล่าวถึงกระบวนการพูดคุยสันติสุขซึ่งขบวนการ BRN เป็นคู่พูดคุยกับตัวแทนฝ่ายไทยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งในทางการเมือง ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทย แต่กลับเน้นเรื่องการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในฐานะเป็นเครื่องมือจัดการการใช้ความรุนแรงและความมั่นคงของรัฐเท่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net