Skip to main content
sharethis

ครป. ยกกรณีหยกเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษา เรียกร้องรัฐบาลใหม่ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ ยกเลิกระบอบอำนาจนิยมในโรงเรียน

25 มิ.ย. 2566 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา นายเมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวเปิดงานเสวนาสภาที่ 3 "ถอดบทเรียนอำนาจนิยม #กรณีหยก #ขบถโรงเรียน กับทิศทางการปฏิรูปการศึกษาไทย" ว่า กรณีหยกเป็นขบถโรงเรียนนั้น ขอถอดบทเรียนดังนี้

1. กรณีหยกเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในสังคมไทย ที่เกิดขึ้นจากความต้องการของเด็กในการเรียนหนังสือ เนื้อหาวิชาที่ตนเองชอบ และระบบโรงเรียนที่ไม่ตอบสนองภายใต้กรอบของระบบอำนาจนิยมระเบียบ กฎหมาย กฎกระทรวง ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงศึกษาธิการ 

ในอดีตและปัจจุบันคนที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษาขั้นพื้นฐานนั้น 1) คือคนยากจนที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา และ 2) คนที่เป็นขบถต่อระบบการศึกษา เนื่องจากระบบการศึกษาไม่ตอบสนองต่อการเรียนรู้จึงเลือกที่จะไม่เข้าระบบและไปเรียนรู้ในระบบการศึกษาทางเลือกแทน

2. แม้การกระทำของหยกจะไม่ถูกใจใคร หรือถูกใจใครก็ตาม แต่ต้องถือว่านี่เป็นกรณีศึกษา ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง ไหนว่าจะเอาเด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ไหนว่าจะปฏิรูปการศึกษาใหม่ให้มีคุณภาพมากขึ้น  ไหนว่าจะทำให้สถาบันการเรียน มีคุณภาพเท่าเทียมกัน ทั้งในเมืองและในชนบทเพื่อพัฒนาการศึกษาไทย ที่ติดอันดับท้ายในอาเซียน ให้เติบโตขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ของโลก 

ครป. จึงขอเรียกร้องผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ตั้งคณะกรรมการ ชุดใหญ่ ที่ประชาชน ครูบาอาจารย์และนักเรียนมีส่วนร่วม เพื่อปฎิรูปการศึกษาทั้งระบบ ปรับเปลี่ยนนโยบายในการเรียนรู้ การเอาเด็กเป็นศูนย์กลางการศึกษา และการพัฒนา Civic Education และสร้าฝพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ให้มากขึ้น

3. ครป.ขอให้กำลังใจหยก ซึ่งเป็นตัวแทนของนักเรียนคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิทางการศึกษา และเป็นขบถในระบบอำนาจนิยมในโรงเรียนที่ไม่มีคำตอบ เพื่อที่จะบอกสังคมว่า การเรียนรู้ของเด็กนั้นสำคัญแค่ไหน ในการเรียนรู้ตามความต้องการที่มีเด็กและเยาวชนเป็นศูนย์กลาง ในการพัฒนาศักยภาพของตนเองไม่ใช่การเรียนรู้แบบเครื่องจักรกลอัติโนมัติในระบบโรงเรียนที่เป็นเหมือนโรงงานเพื่อผลิตชิ้นส่วนจักรกลไปใช้โรงงานอุตสาหกรรม หรือตลาดแรงงาน ในกลไกตลาดเท่านั้น

ระบบการศึกษาไทย ต้องมีคำตอบ กับการเปลี่ยนแปลงและการแก้ไขปัญหาสังคมที่รุมเร้า ต้องสอดรับกับการพัฒนาสังคม ในศตวรรษที่ 21 ที่สร้างคุณค่าเพื่อการเปลี่ยนแปลง และแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน สร้างคุณภาพทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่เรียนไปเพื่อชิงดีชิงเด่นเป็นอันดับหนึ่ง หรือสร้างระบบการแข่งขันที่ทอดทิ้งเด็กจำนวนมากไว้เบื้องหลังอีกต่อไป 

4. ในหลายประเทศทั่วโลก มีการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เด็กเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาสภาพของเด็กแต่ละคนอย่างแท้จริงตามความถนัด ซึ่งเด็กนักเรียนทุกคนมีความต้องการ มีความใฝ่ฝัน และความตระหนักไม่เหมือนกัน ระบบการศึกษาต้องรองรับการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนเหล่านั้น เพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศ เพื่อพัฒนาความคิดของเด็กให้เติบโตก้าวหน้า ไม่ใช่ฉุดดึงรั้งไว้ภายใต้โครงสร้างของระบอบอำนาจนิยมหรือโครงข่ายของวัฒนธรรมแบบอุปถัมภ์นิยม ที่ฉุดดึงสังคมไทยให้ล้าหลัง และรั้งท้ายคุณภาพการศึกษาในโลกปัจจุบัน 

ในเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีการส่งเสริม Civic Education มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ทางการเมืองจำนวนมากเพื่อให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการศึกษาที่ไม่มีเพดาน เพื่อสร้างพลเมืองที่มีศักยภาพทมีความคิด เพื่อไม่ให้ถูกโฆษณาชวนเชื่อหรือ propaganda เหมือนในสมัยฮิตเลอร์ ที่สร้างความขัดแย้งจากความเชื่อและสงครามตามมา และในประเทศอื่นอีกหลายประเทศทั่วโลกที่เน้นการศึกษามาพัฒนาพลเมือง ไม่ใช่จับเด็กนักเรียนมาเข้าระบบการศึกษาที่เหมือนค่ายกักกัน เรียนรู้ชุดความคิดหรือชุดความรู้แบบเดียวกัน เหมือนในระบอบฟาสซิสต์ในอดีต

5. ปัญหาระบบการศึกษาไทยเกิดขึ้นหนักมากในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งส่งเสริมระบอบอำนาจนิยมและควบคุมความคิดนักเรียน นิสิต นักศึกษา ไม่ต่างจากรัฐบาลทหารยุคก่อน 14 ตุลา 16 จนเกิดการชุมนุมประท้วงไปทั่ว โดยเฉพาะนโยบายการรวบอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง การสร้างอำนาจรัฐรวมศูนย์ การยุบกรรมการปฏิรูปกฎหมาย การยุบสภาพัฒนาพลเมือง และการออกกฎหมาย กอ.รมน. ติดหนวดอำนาจนิยมมอบอำนาจ รองผอ.กอ.รมน.ซึ่งเป็นทหารในแต่ละจังหวัดสร้างรัฐซ้อนรัฐขึ้น  ให้ทหารมีอำนาจด้านความมั่นคงเหนือผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ต้องยกเลิกในรัฐบาลใหม่

ในโอกาส 50 ปี 14 ตุลา ในปีนี้ ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ ได้ส่งเสริมการเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ การเรียนรู้ทางการเมืองและสังคม แก่เยาวชน นักเรียน นิสิตมนักศึกษา ให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้มีการแสดงความคิดความเห็นอย่างเสรี เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ทางสังคม ไปสู่จักรวาลการเรียนรู้อย่างกว้างขวางโดยไม่ปิดกั้น เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของพวกเขา และส่งเสริม กิจกรรมการเรียนรู้ ทางเลือกองค์ความรู้ใหม่ๆ ส่งเสริมกิจกรรมนักเรียนนิสิตนักศึกษา ในด้านสังคมและการพัฒนาประชาธิปไตยให้มากขึ้น เพื่อสร้างคุณค่าหลักให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป เพื่อไม้ให้การต่อสู้ของนักเรียนนิสิตนักศึกษา ในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่ผ่านมา 50 ปีสูญเปล่า จากการเมืองไทยที่ติดกับดักอำนาจนิยม การรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ และการล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตยในช่วงที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net