Skip to main content
sharethis

เสวนา 'คุยนอกเครื่องแบบตำรวจ : จาก #กราดยิงโคราช ถึง #ไซยาไนด์' ชี้ควรทบทวนเรื่องการเข้าถึงและพกอาวุธปืนของตำรวจ การฝึก-การตรวจสอบสภาวะทางจิตใจของตำรวจที่พกอาวุธปืนอย่างจริงจัง

7 พ.ค. 2566 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ครป. ได้จัดกิจกรรมการสนทนาบนแอปพลิเคชั่นคลับเฮาส์ ในหัวข้อ “คุยนอกเครื่องแบบตำรวจ : จาก #กราดยิงโคราช ถึง #ไซยาไนด์”  โดยมี ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) อดีตสารวัตรกองกำกับการตำรวจนครบาล 6 เป็นแขกรับเชิญ  ร่วมพูดคุยโดย สมศรี หาญอนันทสุข กรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)  ดำเนินการสนทนาโดย วรภัทร วีรพัฒนคุปต์  กรรมการ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) 
    
ซึ่งในรายการนี้ ผศ.ร.ต.อ.ดร.วิเชียร ตันศิริคงคล ประธานสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม (สป.ยธ.) ในฐานะอดีตสารวัตรกองกำกับการตำรวจนครบาล 6 ได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวงการตำรวจ ทหารมากมาย  เช่นการหาผลประโยชน์จากตำรวจ ทหารชั้นผู้น้อย ในเรื่องสวัสดิการบ้านพักข้าราชการตำรวจ ทหาร ซึ่งเป็นการที่ทางหน่วยงานต้นสังกัด ทำความตกลงกับธนาคาร เพื่อขอลดดอกเบี้ยให้เจ้าพนักงานในสังกัดได้ส่วนลด สิทธิการผ่อนปรนพิเศษในการกู้เงินซื้อ/สร้างบ้าน เพื่อที่จะได้มีบ้านเป็นของตนเอง  ซึ่งอย่างในกรณีของเหตุกราดยิงที่ จ.นครราชสีมา ปี2563  ที่ผู้ก่อเหตุเป็นทหารชั้นประทวน ก็มีสาเหตุมาจากการที่ผู้บังคับบัญชาสั่งให้ทหารผู้นี้ไปซื้อบ้านตามโครงการสวัสดิการของหน่วยงาน แต่ปรากฏว่าบ้านในโครงการที่ซื้อตามคำสั่งนาย ก็สร้างเสร็จล่าช้า ซ้ำคุณภาพยังไม่ดีอีกด้วย เมื่อมาทวงถามกับผู้บังคับบัญชา และแม่ยายของผู้บังคับบัญชาซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ จึงเกิดมีปากเสียง จนนำไปสู่การสังหารผู้บังคับบัญชาด้วยปืนส่วนตัว ก่อนที่ทหารผู้นี้จะทำการบุกปล้นอาวุธสงครามจากคลังแสงในค่ายทหารมาก่อโศกนาฏกรรมตามข่าว  ซึ่งเรื่องนี้ก็สะท้อนได้ถึงความบกพร่องของทางค่ายทหาร ที่ทำให้การปล้นอาวุธสงครามอันเป็นอันตรายต่อประชาชน เกิดขึ้นได้
    
ในกรณีของสารวัตรตำรวจสันติบาลที่ก่อเหตุกราดยิงในพื้นที่เขตสายไหมนั้น  วิเชียรเห็นว่า มีความเป็นไปได้ว่ามาจากการโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม  เพราะสารวัตรสันติบาลผู้นี้เริ่มต้นชีวิตตำรวจจากการเป็นตำรวจชั้นประทวนตำแหน่งพลขับ จนได้มาเป็นตำรวจปราบปรามยาเสพติด ก่อนที่จะถูกโยกย้ายสายงาน อันเชื่อได้ว่าเป็นการกำจัดออกไปให้พ้นทางของขบวนการผลประโยชน์ในธุรกิจยาเสพติด 
    
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตั้งแต่เหตุการณ์ตั้งแต่กรณีกราดยิงโคราช  มาจนถึงเหตุการณ์ล่าสุดที่ประธานนักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารก่อเหตุใช้อาวุธปืนของผู้เป็นพ่อก่อเหตุยิงแฟนสาวที่เป็นเน็ตไอดอลชื่อดัง (เหตุเกิดในวันเดียวกันกับที่ผู้เป็นพ่อเจ้าของอาวุธปืน อดีตนายทหารระดับสูง ถูกปลดพ้นจากการเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม เนื่องจากมีข้อร้องเรียนเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เรียกรับผลประโยชน์) วิเชียรสรุปได้ว่า ปัญหาหนึ่งคือ เรื่องการเข้าถึงอาวุธปืนของคนในเครื่องแบบ ซึ่งจุดนี้วิเชียรได้เล่าว่า โดยปกติแล้ว อย่างตนเองในสมัยที่ยังเป็นข้าราชการตำรวจ ก็เคยมีคิดเหมือนกับตำรวจส่วนมาก ที่รู้สึกว่าการใช้ปืนหลวง หรือปืนสำหรับใช้ในราชการ ซึ่งเป็นปืนที่มีการปั๊มตรารูปโล่เป็นสัญลักษณ์นั้น เป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เพราะต้องทำเรื่องขอเบิกใช้ในเวลาปฏิบัติราชการ เมื่อพ้นเวลาปฏิบัติราชการประจำวัน ก็ต้องทำเรื่องส่งคืนปืนวันต่อวัน  ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ตำรวจจำนวนมาก เลือกที่จะซื้อปืนเป็นของตัวเอง ซึ่งสามารถซื้อผ่านโครงการปืนสวัสดิการได้ ซื้อได้ในราคาที่ถูกกว่าราคาขายปกติของปืนแต่ละรุ่น สามารถซื้อผ่อนชำระได้  เมื่อซื้อแล้วถือว่าเป็นสมบัติส่วนตัว  ทั้งยังสามารถนำมาพกติดตัวได้ทั้งในและนอกเวลาปฏิบัติงาน  เพราะไม่ใช่ปืนหลวง 
    
วิเชียรกล่าวว่า คนในเครื่องแบบถือทั้งกฎหมาย ถือทั้งอาวุธอยู่ในมือ คนที่จะเข้ามาอยู่ตรงนี้ ควรเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะ มีวุฒิภาวะสูงกว่าคนทั่วไป การที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่พิทักษ์อุทยานควรต้องฝึกให้สำนึกว่า การใช้อาวุธปืน ควรเป็นปัจจัยสุดท้าย ในสถานการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ การยับยั้งชั่งใจ การใช้เหตุผลในการใช้อาวุธเป็นสิ่งที่ควรถูกฝึกมาก่อนที่จะได้รับการบรรจุเข้ามา ปัญหาคือ หลังจากที่เจ้าพนักงานเหล่านี้ได้รับการบรรจุ แต่งตั้งเข้ามาแล้ว สิ่งเหล่านี้ไม่ได้รับการฝึกทบทวนอย่างต่อเนื่อง อย่างตนเองสมัยที่เรียนจบปริญญาตรี แล้วสอบบรรจุเป็นตำรวจได้ ก็จะถูกนำไปอบรมที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจก่อน เป็นเวลา 5 เดือนโดยประมาณ  ก็ถูกฝึกให้ยับยั้งชั่งใจในการใช้ปืน  แต่หลังจากนั้นจนเมื่อตนได้เป็นสารวัตรหลังผ่านหลักสูตรสารวัตร เตรียมจะขึ้นชั้นเป็นผู้กำกับการ กลับกลายเป็นว่าการฝึกทบทวนความยับยั้งชั่งใจที่ว่ามานี้ กลับถูกละเลย  คิดว่าเป็นระดับสารวัตรแล้ว จะเป็นผู้กำกับการแล้ว ไม่ต้องฝึกเรื่องพวกนี้แล้ว ซึ่งคิดอย่างนี้มันไม่ถูกต้อง เพราะเจ้าพนักงานระดับสูง ก็มีแนวโน้มที่จะมีความเครียดสะสมจนอาจขาดสติได้สูงเช่นเดียวกัน  นอกจากนี้ ควรมีการให้เจ้าพนักงานเหล่านี้ได้รับการตรวจโดยนักจิตวิทยาบ่อยๆ แต่อย่างในหน่วยงานตำรวจ ก็ไม่เคยมีงบประมาณเพื่อการนี้เลย  ตนเองก็เคยมีลูกน้องที่มีความผิดปกติทางจิตขั้นรุนแรง โชคดีว่าไม่ได้อยู่ในตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องพกปืน (เป็นตำรวจหญิงที่ไม่ได้เป็นฝ่ายปฏิบัติการทางยุทธวิธี) ปัจจุบันก็ยังเป็นตำรวจอยู่ โดยที่ต้องรักษาบำบัดกับจิตแพทย์  
    
ด้านสมศรี หาญอนันทสุข ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ผู้ที่กำลังจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) ชุดแรกของไทย ตาม พรบ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565  (ในสัดส่วนผู้ได้รับการคัดเลือกจากผู้ตรวจการแผ่นดินร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) ก็ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรต้องมีการทบทวนเรื่องการเข้าถึงและพกอาวุธปืนของตำรวจ รวมถึงการฝึก การตรวจสอบสภาวะทางจิตใจของตำรวจที่พกอาวุธปืนอย่างจริงจัง รวมถึงการมีบทลงโทษที่หนักของผู้ที่มีอาวุธปืนในครอบครองแล้วพกพา ใช้อย่างไม่ถูกต้อง   นอกจากนี้ หลังเหตุสะเทือนขวัญดังที่ได้กล่าวมาในช่วงต้นรายการนี้ ก็มีการถอดบทเรียนกัน แต่การถอดบทเรียนก็ไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดผลในการแก้ปัญหาเรื่องตำรวจกับอาวุธปืนเลย  ตนเองในฐานะก.ร.ตร. ก็จะหาโอกาสนำเสนอเรื่องระดับ สถานการณ์พกอาวุธปืนอย่างเหมาะสมของตำรวจด้วย  ทั้งนี้ส่วนตัวตนเห็นว่า ระบบการเบิกปืนหลวงมาพกอย่างที่อาจารย์วิเชียรได้เล่าให้ฟังไว้ ไม่ควรถูกมองเป็นเรื่องน่ารำคาญ แต่ควรฝึกให้ตำรวจปฏิบัติจนเป็นนิสัย ในเวลาเข้างานก็ไปลงชื่อเบิกตามระบบ เวลาเลิกปฏิบัติงานก็ไปลงชื่อส่งคืนปืนหลวงตามระเบียบเสีย   
    
ในส่วนที่วรภัทร (ผู้ดำเนินการสนทนา) ตั้งคำถามถึงว่า การที่ตำรวจต้องพกปืนตลอดเวลา อาจเป็นเรื่องความคาดหวังของประชาชนด้วยหรือไม่? ว่าตำรวจต้องพร้อมปฏิบัติการตลอดเวลา ระงับเหตุด้วยอาวุธปืนได้ทันทีเหมือนในละคร  สมศรีกล่าวว่า เราควรศึกษาต้นแบบจากต่างประเทศ ที่การควบคุมอาวุธปืนของตำรวจมีประสิทธิภาพ ตำรวจถูกฝึกมาให้มีความสังเกตระแวดระวังก่อนที่เหตุร้ายซึ่งหน้าจะเกิดขึ้นได้ แทนที่จะต้องรอให้เกิดเหตุแล้วต้องใช้อาวุธปืนมาควบคุมสถานการณ์ตลอด รวมถึงการมีระบบปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจในเวลาราชการมีความสามารถเข้าถึง มาระงับเหตุร้ายได้ทันท่วงที โดยไม่ไปคิดคาดหวังว่าจะให้ตำรวจนอกเวลาปฏิบัติงานต้องมาพร้อมทำเรื่องเหล่านี้  นี่คือสิ่งที่ต้องคิดอย่างเป็นระบบ ปฏิรูปทั้งองคาพยพ เพื่อไม่ให้การเข้าถึง สิทธิอำนาจการพกพาปืนของตำรวจกลายเป็นดาบ 2 คม 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net