Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลง 4 ข้อเสนอพรรคการเมือง และ กกต. ต่อการเลือกตั้ง 66 ขอให้ทุกพรรคการเมืองยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และเคารพประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ โดยให้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล

9 เม.ย. 2566 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แจ้งข่าวว่าเมื่อเวลา 13.30 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ครป.จัดแถลงข่าวข้อเสนอต่อรัฐบาล พรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้วทั่วไป 2566 โดยมี นายบุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์  เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) กรรมการ ครป. และนายสมชาย หอมลออ ประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ที่ปรึกษา ครป. ร่วมแถลงข่าว โดยมีรายละเอียดแถลงการณ์ดังนี้

แถลงการณ์ ข้อเสนอ ครป. ต่อการเลือกตั้งทั่วไป 2566

ตามที่ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ในฐานะองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยทางการเมืองและความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างยาวนาน มีข้อเสนอต่อรัฐบาล พรรคการเมือง ประชาชน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดังนี้

1. ข้อเสนอต่อรัฐบาล คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะรัฐบาลรักษาการ หยุดการใช้งบประมาณและทรัพยากรของรัฐเพื่อเอื้อผลประโยชน์ทางการเมืองแก่ตนเองในการเลือกตั้ง และหยุดอนุมัติโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐโดยการลักหลับประชาชน รวมถึงการพิจารณาโครงการและงบประมาณที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเฉพาะการซื้อขายไฟฟ้าและพลังงานที่รัฐไปทำสัญญาผูกพันกับเอกชน ทั้งที่ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองล้นเกิน และการพิจารณาอนุมัติให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สนับสนุนเงินลงทุนแก่บริษัทขนาดใหญ่ทั้งในไทยและบริษัทต่างชาติ
 
รวมทั้งประกาศให้กลไกรัฐทุกกระทรวงทบวงกรม วางตัวเป็นกลางทางการเมืองอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้อำนาจที่มีตามกฎหมายไปเอื้อประโยชน์ให้ผู้สมัครรับการเลือกตั้งไม่ว่าพรรคการเมืองใด

2. ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้สมัครรับการเลือกตั้ง คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงอย่างสร้างสรรค์ ไม่สร้างความขัดแย้งเพื่อส่งเสริมความรุนแรงหรือสร้างความเกลียดชัง และควรมีนโยบายการแก้ไขปัญหาทางโครงสร้างที่สั่งสมมาอย่างยาวนานมากกว่านโยบายประชานิยมเฉพาะหน้า โดยเฉพาะ ปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจ ทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน การกระจายอำนาจทางการเมืองและงบประมาณเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นภายใต้ระบบราชการส่วนภูมิภาคที่ทับซ้อน การเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า รัฐสวัสดิการ และการปฏิรูปที่ดินเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย รวมถึงนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ เช่น ปัญหา PM 2.5 เป็นต้น

ขอให้ทุกพรรคการเมืองยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย และเคารพประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ โดยให้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล โดยไม่ให้เสียงสมาชิกวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาเป็นฐานอำนาจต่อรอง เพื่อให้สังคมเชื่อมั่นในระบบรัฐสภาไทยสามารถเป็นทางออกจากความขัดแย้งได้

3. ข้อเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอให้ กกต. จัดการเลือกตั้งด้วยความโปร่งใส บริสุทธิ์ ยุติธรรม และตรวจสอบได้ โดยสนับสนุนให้ทุกภาค      ส่วนของสังคมมีส่วนร่วมสังเกตการณ์เลือกตั้งและตรวจสอบการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ โดยการเปิดโอกาสและสนับสนุนให้มีอาสาสมัครภาคประชาชนรายงานผลการลงคะแนนแต่ละคูหาคู่ขนานไปกับการรายงานผลของ กกต. ที่ตรงไปตรงมาและตรงกัน

ทั้งนี้ กกต. ต้องรีบรับรองผลคะแนนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วหลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้น เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลพลเรือนโดยเร็วที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชน เพราะการชะลอเวลาออกไปจนนานมากไปอาจจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองเสียงข้างน้อยแต่มีอำนาจในรัฐบาลรักษาการใช้อำนาจต่อรองพรรคการเมืองต่างๆ ให้มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลโดยใช้ ส.ว.เป็นฐานต่อรองอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี เหมือนการเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2562 ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

4. ข้อเสนอต่อประชาชน คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ขอเชิญชวนประชาชนไทยร่วมใจกันไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมด้วยเจตจำนงค์ของตนเองตามหลักประชาธิปไตย และร่วมใจกันเป็นพลเมืองอาสาสังเกตการณ์เลือกตั้งในแต่ละคูหาใกล้บ้าน เพื่อตรวจสอบผลการเลือกตั้งในแต่ละหน่วยคู่ขนานไปกับการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต. เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้ โปร่งใส บริสุทธ์ ยุติธรรม และตรวจสอบได้อย่างแท้จริง

9 เม.ย. 2566
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) กล่าวว่า ขอเรียกร้องต่อ กกต. ให้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล โดยแก้ไขระเบียบที่เป็นข้อจำกัดในปัจจุบันที่ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ตามกฎหมายและมีงบประมาณจำนวนมาก โดยจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสโดยใช้กระบวนการที่โปร่งใสตรวจสอบได้ในงานการใช้งบประมาณกว่า 6,000 ล้าน รวมถึงระบบรับแจ้งเหตุต่างๆ โดยดึงสภาทนายความและภาคประชาสังคมเข้ามาร่วมมือกัน นอกจากฝ่ายราชการ เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรม

นางสาวลัดดาวัลย์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคการเมือง ตามที่ทุกพรรคการเมืองให้สัญญาไว้กับประชาชนซึ่งจัดโดยภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยไว้ครั้งก่อน 5 ข้อ โดยจะต้องดำเนินการตามนั้นอย่างเคร่งครัดและรณรงค์หาเสียงด้วยความสร้างสรรค์ ไม่สร้างความเกลียดชัง ใส่ร้ายความเท็จและข่มขู่่ซึ่งกันและกัน และคำนึงถึงความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงเข้าร่วมการจัดตั้งรัฐบาลจากเสียงที่มากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่เข้าร่วมกับเสียงข้างน้อยโดยใช้ ส.ว.ร่วม 

"สำหรับข้อเรียกร้องต่อภาคประชาชน ให้ประชาชนรวมกลุ่มกันเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเรียกร้องกับพรรคการเมือง โดยพิจารณาการทำงานได้ตามข้อเสนอหรือไม่จากผู้สมัคร ไม่ใช่จากการซื้อสิทธิ์ขายเสียงหรืออามิสสินจ้าง และนำข้อมูลข่าวสารและการรายงานของสื่อมวลชนเพื่อประมวลผลงานการทำงานของแต่ละพรรคการเมืองก่อนตัดสินใจเลือกผู้แทนราษฎรของตน" นางสาวลัดดาวัลย์กล่าว

นายสมชาย หอมลออ ที่ปรึกษา ครป. และประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า ประชาชนมีความหวังต่อการเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อการเปลี่ยนแปลงหลังจากรอคอยมานาน ขณะเดียวกันก็มีความวิตกกังวลว่าจะมีความขัดแย้งและมีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ในระหว่างการเลือกตั้ง และหลังจากการจัดตั้งรัฐบาล 

"เพราะประเทศไทยติดกับดักความขัดแย้งและความรุนแรงมาอย่างยาวนาน ทำอย่างไรจะให้การเลือกตั้งครั้งนี้หลุดพ้นจากวังวนความรุนแรงได้ และนำพาประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนได้ แต่น่ายินดีที่หลายพรรคการเมืองนำเสนอนโยบายที่ก้าวข้ามความขัดแย้ง และนิรโทษกรรมผู้ที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในอดีต ทำอย่างไรจะทำให้ทุกฝ่ายที่ขัดแย้งยอมรับและมีเจตจำนงค์ร่วมกันที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาธิปไตย เป็นประชาธิปไตยที่เคารพสิทธิมนุษยชนและความเห็นต่างกัน และประชาธิปไตยที่แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และตั้งอยู่บนหลักนิติธรรม ทุกพรรคและกลุ่มการเมืองควรทำความเข้าใจร่วมกัน" นายสมชายกล่าว

นายสมชายกล่าวว่า ที่ผ่านมามีประชาชนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการใช้อำนาจโดยมิชอบทางการเมืองจำนวนมากนับพันคดี รวมถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ทั้งที่คนส่วนใหญ่อยู่มาก่อนประกาศอุทยานทับที่ทำกิน โดยเฉพาะกรณีบางกลอย ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขเชิงนโยบาย และมีการเยียวยาครอบครัวเหยื่อทางการเมืองต่างๆ เหล่านี้ก่อน ทั้งครอบครัวของเหยื่อผู้สูญหาย ผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง

"รวมถึงอาจต้องมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองแก่เหยื่อเหล่านี้ในอดีต และคำขอโทษทางการเมือง โดยเน้นคดีที่มีการใช้อำนาจมิชอบโดยรัฐบาล คสช. และคดีที่ประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองแล้วถูกจับกุมดำเนินคดี ขณะที่ผู้ที่ใช้อำนาจกองทัพรัฐประหารกลับมีการนิรโทษกรรมตนเอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องมีการชดใช้เยียวยาเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองทุกพรรคที่จะผลักดันการปรองดองจะต้องดำเนินการเรื่องเหล่านี้เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมตามหลักสิทธิมนุษยชน และสร้างกระบวนการยอมรับความจริงในอดีตเพื่อสรุปบทเรียนของปัญหาและความผิดพลาดที่ผ่านมาร่วมกันของสังคมไทย" นายสมชายกล่าว

สุดท้าย ขอเรียกร้องให้พรรคการเมืองนำความยุติธรรมกลับคืนมาให้สังคมไทย และผลักดันการปฏิรูปกองทัพให้เป็นทหารอาชีพเพื่อปกป้องประชาชน และหยุดยั้งการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ที่กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการปิดปากฝ่ายตรงข้ามของผู้มีอำนาจ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นความขัดแย้งและความรุนแรงไปได้ และส่งผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยื่นของเศรษฐกิจและสังคมไทยต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net