Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความฯ เสนอยุติคดีทางการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 57 จนปัจจุบัน "เพื่อไทย-ก้าวไกล-สามัญชน" เห็นด้วยกับข้อเสนอนิรโทษกรรมอย่างน้อยต้องย้อนถึง 2549 ทุกสีเสื้อยกเว้นคดีความผิดต่อชีวิต "ตะวัน" ย้ำเป็นเรื่องเร่งด่วนยังมีคนที่ใช้สิทธิเสรีภาพแต่ยังต้องอยู่ในคุก

26 เม.ย.2566 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจัดเวทีให้พรรคการเมืองที่ร่วมลงรับเลือกตั้ง 2566 ได้นำเสนอนโยบายในประเด็น “คดีการเมืองจัดการอย่างไร : เวทีเสนอนโยบายยุติการดำเนินคดีทางการเมือง” โดยมีทั้งนักกิจกรรมและตัวแทนพรรคการเมืองจากพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคสามัญชนและพรรคชาติพัฒนากล้ามาร่วมงาน

พูนสุข พูนสุขเจริญ นักวิจัยและทนายความของศูนย์ทนายความฯ ให้ข้อมูลสถิติของผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการติดตามคุกคาม การเรียกรายงานตัว ควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การห้ามทำกิจกรรมเสวนาและการชุมนุม รวมถึงการดำเนินคดีข้อหาตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ คสช.ครองอำนาจโดยใช้ศาลทหารมาพิจารณาคดีและยังมีบางคดีที่ปัจจุบันยังไม่ถึงที่สุด โดยข้อมูลการละเมิดสิทธิที่ปรากฏในรายงานมีดังนี้

(1) การเรียกรายงานตัว การคุมตัวในค่ายทหารและการติดตามตัวประชาชนที่บ้าน อย่างน้อย 1,501 คน

(2) การปิดกั้นและแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 353 กิจกรรม

(3) การปิดกั้นสื่อและการควบคุมการนําเสนอข้อมูลข่าวสาร โดย กสทช. ลงโทษสื่อมวลชนจากการ นําเสนอเนื้อหาในประเด็นทางการเมือง อาศัยหลักเกณฑ์ตามประกาศ/คําสั่ง คสช. และมาตรา 37 ของ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 อย่างน้อย 55 ครั้ง

(4) การปิดกั้นการใช้สิทธิชุมชน และการแสดงออกของชุมชนท้องถิ่น ของกลุ่มองค์กรชาวบ้าน/ ชุมชน หรือประชาสังคม อย่างน้อย 155 กลุ่ม/องค์กร โดยประเด็นที่ถูกปิดกั้น เช่น สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ที่ดิน แม่นํ้า เหมืองแร่ โรงไฟฟ้า สุขภาพ แรงงาน หรือนโยบายสาธารณะอื่นๆ

(5) การซ้อมทรมาน ระหว่างถูกควบคุมตัวโดยทหาร ตามกฎอัยการศึก คําสั่ง คสช. หรือคําสั่งหัวหน้า คสช. อย่างน้อย 18 กรณี

(6) การคุมขังพลเรือนในเรือนจําทหาร อย่างน้อย 33 กรณี

นอกจากนี้การใช้มาตรการทั้งทางกฎหมายและนอกกฎหมาย ยังนำไปสู่การลี้ภัยทางการเมืองของประชาชนชาวไทยไปยังประเทศที่สามไม่น้อยกว่า 100 ราย

พูนสุขระบุว่า การละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นอย่างเช่นการเรียกรายงานตัวไปคุมไว้ในค่ายทหารยังมีการให้คนที่ถูกควบคุมตัวลงชื่อในเอกสารที่ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมายรับรองใดๆ และรูปแบบของการละเมิดสิทธิอย่างเช่น การมีตำรวจไปติดตามคุกคามประชาชนที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนรัฐประหาร 2557 และถูกนำมาใช้ในช่วง คสช.ยังมีอำนาจ แต่การติดตามคุกคามกลับก็ยังเกิดขึ้นถึงทุกวันนี้จนกลายเป็นความเคยชินของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้มาอย่างต่อเนื่อง

“คุณประยุทธ์จะอ้างตลอดว่าก็ดำเนินการไปตามกฎหมาย ทุกอย่างเป็นเรื่องของกฎหมาย เพราะว่าเขาพยายามไม่ใช้อำนาจที่ดิบเถื่อนและพยายามพรางอำนาจที่ดิบเถื่อนภายใต้รูปแบบของคดี ภายใต้ของกฎหมาย”

พูนสุขยังให้ข้อมูลอีกว่าในช่วงรัฐบาลทหาร คสช. มีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร 2,400 คน เพราะ คสช.ออกประกาศมากำหนดให้คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ 116 คดีที่เป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของ คสช. และข้อหาครอบครองอาวุธที่รัฐไม่อนุญาตให้มี

อย่างไรก็ตาม ข้อหาที่ถูกพิจารณาในศาลทหารมากที่สุดกลับไม่ใช่คดีการเมือง แต่เป็นคดีความผิดเกี่ยวกับอาวุธที่มีมากถึง 80-90% ของคดีทั้งหมดและไม่เกี่ยวกับเรื่องทางการเมืองเลย เช่น คดีฆ่ากันตาย คดียาเสพติด ที่มีการใช้หรือมีอาวุธอยู่ในครอบครอง นอกจากนั้นคดีเหล่านี้บางคดีเป็นคดีข้อหาที่รุนแรงแต่ไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้เช่นเดียวกับการพิจารณาในศาลยุติธรรมเนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในช่วงกฎอัยการศึก

พูนสุขยังชี้ปัญหาของการใช้ศาลทหารอีกว่าศาลทหารไม่ได้มีความเป็นอิสระเพราะอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงกลาโหม อีกทั้งองค์คณะตุลาการที่พิจารณาคดีแต่ละคดีที่มีอยู่ 3 คน ก็มีเพียงคนเดียวที่จบกฎหมายมาส่วนตุลาการอีก 2 คนเป็นเพียงทหารอาชีพเท่านั้นทำให้เกิดข้อกังขาถึงความเชี่ยวชาญและความเป็นธรรม

นักวิจัยของศูนย์ทนายฯ กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ปี 2563 ที่คนเริ่มกลับมาชุมนุมอีกครั้งหลังการบุบพรรคอนาคตใหม่ และต่อมามีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มเยาวชนเมื่อ 18 ก.ค.2563 ในนาม “เยาวชนปลดแอก” ซึ่งมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อหลักๆ คือ 1.พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออก 2.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 3.ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และมีการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

สถิติคดีนับตั้งแต่ 18 ก.ค.2563 – 18 เม.ย.2566

ข้อหา

จำนวนคนที่ถูกดำเนินคดี

จำนวนคดี

ม.112

239

258

ม.116

130

41

ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

1,469

663

พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ

137

78

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

166

185

ละเมิดอำนาจศาล

36

20

ดูหมิ่นศาล

28

9

พูนสุขชี้ว่านอกจากประเด็นปัญหาที่มักถูกพูดถึงเช่นเป็นข้อหาที่มีโทษสูงหรือใครเป็นผู้แจ้งความดำเนินคดีก็ได้แล้ว การใช้ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ตามมาตรา 112 มีความผันผวนสูงมากโดยเปรียบเทียบระหว่างช่วง 2557-2563 มีคดี 169 คดีและยังมีการหยุดใช้ไปช่วงสั้นๆ ระหว่างปี 2561-2563 โดยมีการฟ้องด้วยข้อหาอื่นหรือคดีที่มีการฟ้องไปแล้วศาลก็พิพากษาด้วยข้อหาอื่นแทน และมีการนำกลับมาใช้ในปี 2563 เป็นต้นมาหลังจากพล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าให้มีการใช้กฎหมายทุกมาตรากับการชุมนุมทางการเมืองจากนั้นมาทำให้มีคดีมาตรา 112 มากกว่าสองร้อยกว่าคดี

“มองในแง่ของการใช้กฎหมายฉบับหนึ่งในรอบสิบปี มีความผันผวนสูงในระดับนี้เนี่ยไม่สามารถเรียกได้ว่าประเทศไทยเป็นนิติรัฐ อยู่ๆ เราจะใช้กฎหมายตามอำเภอใจ วันนึงฉันจะใช้อีกอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถอยู่อย่างนี้ได้ต่อให้คุณเห็นด้วยไม่เห็นด้วยเรื่อง 112 มองในแง่ประเทศนึงใช้กฎหมายแบบนี้ เราเห็นถึงความเป็นการเมืองของมาตรา 112”

พูนสุขกล่าวว่าสำหรับข้อเสนอที่ศูนย์ทนายความฯ มีถึงพรรคการเมืองมี 3 ประเด็นหลักคือ

  1. ตรากฎหมายเพื่อยุติการดำเนินคดีทางการเมืองนับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหาร 2557 ถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ข้อเสนอนี้หากต้องการขยายไปถึงช่วงเวลาอื่นๆ ก็สามารถทำได้ เนื่องจากกรอบเวลาของทางศูนย์ทนายความฯ อิงตามข้อมูลที่ทางศูนย์ทนายเริ่มเก็บภายหลัง 22 พ.ค.2557
    1. สำหรับการดำเนินการให้มีการตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาว่าคดีลักษณะใดเป็นคดีการเมืองและคดีใดมีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง มีรายละเอียดดังนี้
      1. คดีการเมือง คือ คดีสามารถระบุฐานความผิด หรือ เหตุการณ์ในวันเกิดเหตุได้ เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับประกาศและคำสั่งของ คสช. คดีที่พลเรือนถูกดำเนินคดีในศาลทหาร คดีมาตรา 112 เป็นต้น
      2. คดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คือ คดีที่อาจไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่ระบุว่าเป็นคดีการเมืองหรือเกิดเหตุการณ์ในวันที่ระบุไว้ แต่สามารถพิสูจน์แรงจูงใจในการดำเนินการได้ว่ามีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง
  2. ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อค้นหาความจริง ซึ่งจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลเหตุการณ์การละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นฐานในการเยียวยาให้แก่ผู้ที่ถูกละเมิดและดำเนินคดีตามกฎหมายกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อไป
  3. รัฐต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้น ทั้งการแถลงการณ์ขอโทษเพื่อสร้างการรับรู้และยอมรับข้อเท็จจริง รวมถึงการรับรองว่าจะว่าไม่ให้เกิดเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นซ้ำอีก

'ตะวัน' ย้ำเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องยุติคดีการเมือง

หลังการนำเสนอข้อมูลทางคดีและข้อเสนอของศูนย์ทนายความฯ เป็นเวทีที่นักกิจกรรมและนักวิชาการได้เสนอความเห็นต่อข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งผู้เข้าร่วมทั้งหมดเห็นด้วยกับข้อเสนอของศูนย์ทนายฯ โดยมีข้อสังเกตุเพิ่มเติมในรายละเอียดเช่นเรื่องกรอบเวลาที่จะให้ยกเลิกการดำเนินคดี

จตุภัทร บุญภัทรรักษา หรือไผ่ เริ่มด้วยการแสดงความเห็นด้วยต่อข้อเสนอดังกล่าว เพราะเห็นว่าการดำเนินการของศาลที่ผ่านมาในคดีการเมืองเป็นเรื่องตลกมาก โดยเฉพาะกระบวนการของศาลทหารที่ให้การชูสามนิ้วก็เป็นการกระทำความผิดแล้วหรือกระบวนการขอศาลฝากขังเกิดขึ้นได้ตอน 4 ทุ่มแต่พอจะขอประกันตัวศาลกลับมาปิดตามเวลาราชการได้ ซึ่งเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างบ้าคลั่งมากอยากใช้ก็ใช้อย่างไร้สาระ ทุกคนไม่ว่าตำรวจ อัยการ จำเลยต้องมาเสียเวลามากทั้งที่คดีในศาลก็มีเยอะอยู่แล้วยังเอาคดีการเมืองมาเพิ่มอีก

จตุภัทรบอกว่าตัวเขาเองก็ถูกดำเนินคดีหลายคดีในเวลานั้นจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวของ คสช. ซึ่งในเวลานั้นมีการออกกฎหมายที่ผิดเพี้ยนมากและส่งผลกระทบต่อคนจำนวนมาก เช่น คดีขอนแก่นโมเดลที่บางคนต้องเสียครอบครัวไป การใช้คดีม.112 ก็ไม่ได้มีมาตรฐานทำให้กระบวนการยุติธรรมพังหมด และหลังจากเลือกตั้งปี 2562 รัฐบาลประยุทธ์ก็ยังใช้กฎหมายในการจำกัดเสรีภาพประชาชนและทำให้ทุกเรื่องกลายเป็นเรื่องความมั่นคง

นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ตั้งขึ้นในช่วง คสช.ก็ยังนิยามศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 มีการลดสิทธิของประชาชนอีก

สมัยก่อน หกสอง ยาแรงคือพวก 116-112 ดังนั้นแล้วคดีทั้งหมดที่เกิดจากการชุมนุมเคลื่อนไหวต้องยืนยัน การเป็นคดีความที่เกิดขึ้นในช่วงที่รัฐเผด็จการปิดปากคน เขาคิดเหมือนทุกคนเป็นทหาร ขเม่เข้าใจความหลากหลาย เรื่องที่ควรเป็นปกติมันไม่เป็นปกติ หากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ อยากให้ทุกพรรคทุกฝ่ายมีจุดเริ่มต้นด้วยการนิรโทษกรม ส่วนเรื่องเวลาจะนับจากไหนก็ไปถกกันแต่สิ่งสำคัญคือต้องรวมไปถึง 112 ด้วย

จตุภัทรกล่าวว่าการที่จะยกเลิกคดีเหล่านี้เพื่อให้สังคมกลับไปสู่ปกติ สังคมที่คนมีความคิดความเชื่ออย่างไรก็สามารถออกมาแสดงความคิดเห็นได้คือสังคมปกติ แต่การใช้กฎหมายมาจับกุมคุมขังประชาชนเยาวชนหรือใครก็แล้วแต่หรือการรัฐประหารไม่ใช่สังคมปกติ แม้แต่การเลือกตั้งที่ประเทศอื่นทำกันเป็นปกติไทยก็ยังทำไม่ได้ การกำหนดสูตรเลือกตั้งยังกำหนดโดยที่ฝ่ายเขาได้ประโยชน์หรือการเปิดให้ลงทะเบียนยังเกิดปัญหา เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องปกติ

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์

ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กล่าวว่าเธอเห็นด้วยกับข้อเสนอให้ยุติคดีทางการเมืองเพราะคนที่ถูกดำเนินคดีเหล่านี้ไม่ควรถูกดำเนินคดีด้วยซ้ำไม่ว่าจะเป็นคดี ม.112 คดีชุมนุม เช่นกรณีอัญชันที่ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112ที่และคดีสิ้นสุดแล้วหรือกรณีของวรรณภา แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ถูกดำเนินคดีเพราะแจกเสื้อยืดสหพันธรัฐไทและยังอยู่ในเรือนจำ ซึ่งหากไม่มีการยุติการดำเนินคดีอันชัญก็อาจจะต้องอยู่ในเรือนจำตลอดไปเพราะมีโทษสูงมากหรือกรณวรรณภาก็จะไม่ได้ออกมาเจอลูกของเธอทั้งสามคนไปอีกสามปี

นอกจากนั้นเธอยังอยากให้รวมไปถึงคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองด้วยเพราะแม้กระทั่งคดีของทะลุแก๊สที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาครอบครองวัตถุระเบิด ที่พวกเขาต้องใช้สิ่งเหล่านี้มาตอบโต้กับตำรวจก็เป็นเรื่องปกติเพราะเมื่อพวกเขาออกมาชุมนุมมือเปล่าก็ถูกสลายชุมนุมด้วยความรุนแรงก็เป็นเรื่องปกติที่คนจะโกรธแล้วก็หาหยิบอะไรสักอย่างที่จะสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่มีทั้งรถน้ำแรงดันสูงมีปืนกระสุนยางมีโล่มีอาวุธทุกอย่างในมือแต่เราไม่มีอะไรเลย

ทานตะวันยังเห็นด้วยกับข้อเสนอเรื่องการสืบหาความจริงและดำเนินคดีกับผู้ละเมิดสิทธิสิทธิมนุษยชนด้วย เพราะเธอเองก็ถูกดำเนินคดีถูกคุกคามและก็ยังถูกตั้งเงื่อนไขที่แค่การจะออกจากบ้านมาไปเซเว่นหรือร้านอาหารก็ยังออกไม่ได้เพราะอยู่นอกระยะที่ศาลกำหนด แต่ทานตะวันก็เห็นว่าการยกเลิกการดำเนิตดีนี้จะต้องครอบคลุมไปถึงคดีปี 2553

พวงทอง ภวัครพันธุ์ แม้ว่าจะเห็นด้วยในข้อเสนอภาพรวมแต่ก็ตั้งข้อสังเกตในประเด็นที่เห็นว่ายังไม่ชัดเจนคือการการยุติการดำเนินคดีนี้จะจำกัดเฉพาะคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการหรือรวมไปถึงคดีที่สิ้นสุดแล้วหรือไม่ เพราะเธอเห็นว่าคดีจำนวนมากที่สิ้นสุดไปแล้วทั้งที่จำเลยยังอยู่ระหว่างคุมขังหรือพ้นโทษมาแล้วเช่นคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีโทษจำคุกไม่ยาวนัก เพราะส่วนตัวแล้วเห็นด้วยว่าจะต้องล้างความผิดให้คนเหล่านี้ทั้งหมดเพราะเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อพวกเขาในปัจจุบันและอนาคตเพราะพวกเขายังมีประวัติอาชญากรรมอยู่ ทำให้พวกเขาไม่สามารถเลือกอาชีพที่จะทำได้เช่น รับราชการ หรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชน ซึ่งก็ควรจะย้อนไปถึงคดีหลังปี 2553 ด้วย

นอกจากนั้นพวงทองยังกล่าวว่าด้วยฐานะที่เคยเรียกร้องให้นิรโทษกรรมทั้งคนเสื้อเหลืองเสื้อแดงเฉพาะส่วนของประชาชนไม่รวมแกนนำ แต่ตอนนั้นก็เห็นข้อจำกัดหรือปัญหาของการนิรโทษกรรมโดยไม่แยกคดีเหมือนกันว่าประชาชนบางส่วนเองก็ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาร้ายแรงเช่นการใช้อาวุธร้ายแรงเช่นระเบิดหรือคดีเผาที่จำเป็นจะต้องอธิบายให้ชัดเจนว่าทำไมถึงต้องลบล้างคดีเพื่อแยกออกจากการปล่อยให้ผู้กระทำความผิดลอยนวลกับการยุติคดีหรือนิรโทษกรรมคดีการเมือง เพราะหากมองจากจุดยืนฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองก็อาจจะถูกเปรียบเทียบการยุติคดีคดีให้กับคนเหล่านี้จะต่างจากคณะรัฐประหารนิรโทษกรรมตัวเองอย่างไร

พวงทองอธิบายต่อว่าที่เคยเรียกร้องให้นิรโทษกรรมคนเสื้อแดงในคดีลักษณะนี้เพราะเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมมันไม่ได้ยุติธรรมจริงๆ อย่างเช่นคดีเผาสถานที่ราชการที่ศาลตัดสินให้คนเสื้อแดงมีความผิดทั้งที่มีเพียงภาพถ่ายของพวกเขาอยู่ในบริเวณเดียวกันโดยที่ภาพที่นำมาแสดงต่อศาลไม่ได้เป็นภาพที่พวกเขากำลังทำความผิด อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่รัฐมาเบิกความว่าจำเลยเหล่านี้เข้าไปช่วยกันดับไฟ แต่ศาลก็ไม่ฟังข้อเท็จจริงเหล่าและลงโทษตามอำเภอใจทั้งที่หลักฐานอ่อนมาก ซึ่งก็แตกต่างกับคดีเผาเซนทรัลเวิล์ดที่ศาลยกฟ้องเพราะทางเซนทรัลเองก็ยังให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอัคคีภัยของห้างมาเบิกความยืนยันให้กับคนเสื้อแดงจนศาลยกฟ้อง หรือแม้กระทั่งคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงเพราะออกมาเดินตอนกลางคืนหรือผ่านไปบริเวณที่ชุมนุมศาลก็พิจารณาตัดสินจำคุกพวกเขา 6 เดือนภายในวันเดียว และกลายเป็นประวัติติดตัวพวกเขาไป

พวงทองกล่าวต่อว่าดังนั้นด้วยความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมจึงเรียกร้องว่าในส่วนของประชาชนควรจะมีการนิรโทษกรรม ทั้งที่โดยส่วนตัวดิฉันเองไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคนที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธรุนแรงขนาดหนัก อาวุธปืนระเบิดที่สามารถสร้างความเสียหายต่อชีวิตและบุคคลได้และคดีเผา

แต่จากที่เคยทำรายงาน ศปช.มาและได้ระบุในงานชัดเจนว่าไม่เชื่อคนเสื้อแดงทำและยังมีหลักฐานอีกว่าด้วยว่าพบกลุ่มชายชุดพรางกายเกี่ยวข้องกับการเผาเซนทรัลเวิลด์ อีกทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็พิพากษาว่าคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมนั้นไม่เกี่ยวข้องกับการเผาเพราะฉะนั้นในเวลานั้นจึงเรียกร้องว่าคดีเผาทั้งหมดก็ควรจะได้นิรโทษกรรม

พวงทองกล่าวว่าอย่างไรก็ตาม สำหรับคนทำงานตรงนี้ในปัจจุบันก็ควรยึดหลักให้มั่นว่าการนิรโทษกรรมไม่ได้หมายความว่าถ้าเป็นคนของฝ่ายประชาชนแล้วทำอะไรก็ไม่ผิดแล้วพร้อมนิรโทษกรรมให้

พวงทองมองว่าข้อเสนอของศูนย์ทนายความฯ ยังจำกัดอยู่กับคดีความที่เห็นชัดเจนว่าเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายตามอำเถอใจมาก และการใช้กฎหมายอย่างมีจุดประสงค์ทางการเมืองแอบแฝงทำให้คดีเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา จึงพูดได้ว่าสนับสนุนข้อเสนอเหล่านี้

“เพราะกฎหมายที่เป็นอยู่นั้นละเมิดต่อหลักนิติรัฐไม่ใช่การกระทำตามกฎหมายด้วย แต่กฎหมายโดยตัวมันเองมันไม่ยุติธรรม ดังนั้นเราไมได้มีปัญหาแค่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายแต่มีปัญหากับตัวกฎหมายนั้นเอง ดังนั้นผู้ที่ถูกตัดสินด้วยการดำเนินคดีระดับนี้ก็ควรที่จะได้รับการลบล้างออกจากประวัติเขา”

พวงทองกล่าวอธิบายเพิ่มเติมของการต้องย้อนไปนิรโทษกรรมถึงคดีที่จบไปแล้วเช่นคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ว่าเพราะคดีเหล่านี้ยังเป็นประวัติของพวกเขาคนเหล่านี้จะไม่มีสิทธิรับราชการ หรือจะเป็นนักการเมืองก็ไม่ได้เพราะมีประวัติจากคดีเหล่านี้อยู่

“มองไปข้างหน้าเราอาจจะไม่แคร์คนเหล่านี้ คิดว่าเส้นทางชวิตมีเยอะแยะแต่มันเป็นทางเลือกในชีวิตของเขา ทำไมเขาจะต้องถูกสิ่งเหล่านี้เป็นตราบาปที่ปิดกั้นหนทางชีวิตเค้า ดิฉันเชื่อว่า 10 ปี 20 ปีข้างหน้าประชาธิปไตยไทย สังคมไทยจะเปิดกว้างขึน คนจำนวนมากรุ่นนี้หลังจากนี้จะได้ประโยชน์จากการต่อสูของคนรุ่นนี้ แต่ทำไมถ้าคนในอนาคตคนอื่นๆ ได้ประโยชน์แต่คนเหล่านี้จะต้องถูกคดีเหล่านี้เป็นตราบาปที่จะขัดขวางการดำรงชีวิตเขา” พวงทองกล่าวทิ้งท้าย

ทานตะวันกล่าวต่อว่านโยบายเหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วนมากและสำคัญมากเพื่อให้คนเหล่านี้ได้ออกมาเจอหน้าหน้าลูกของพวกเขาได้ออกมาเรียนหรือถ้าไม่มีการนิรโทษกรรมอัญชัญก็ไม่รู้ว่าจะต้องมีชีวิตบั้นปลายอยู่ในคุกตลอดไปหรือไม่ ให้หยก เยาวชน 15 ปีที่ตอนนี้กำลังปฏิเสธอำนาจศาลอยู่ได้ออกมาใช้ชีวิตของเขา และเพื่อให้เพื่อนๆ คนอื่นๆ และประชาชนทุกคนที่ออกมาเรียกร้องแล้วถูกใช้กฎมหายรังแกจนต้องไปอยู่ในเรือนจำได้ออกมา เพราะเธอเชื่อว่าการต้องไปอยู่ในเรือนจำไม่ได้อยู่สบายและเป็นเรื่องเจ็บปวดที่ต้องนับวันรอที่จะออกมา จึงจำเป็นมากที่จะต้องช่วยเหลือคนเหล่านี้

“เรามาผลักดันการเลือกตั้ง เรามาพูดให้พรรคการเมืองมีนโยบายยุติการดำเนินคดี การนิรโทษกรรม หรือว่านโยบายต่างๆ ที่จะช่วยเหลือทุกคนที่ดำเนินคดีทางการเมืองหรือมูลเหตุจูงใจทางการเมืองแล้วก็มาพูดถึงเพื่อนในเรือนจำไปด้วยพร้อมๆ กัน” ทานตะวันกล่าว

จตุภัทรบอกว่าจะต้องทำให้เรื่องเหล่านี้ต้องกลับมาเป็นปกติ เช่น ถ้าเราอยากไปชุมนุมได้กลับบ้านคือเรื่องปกติ แต่การไปชุมนุมแล้วต้องถูกดำเนินคดีไม่ใช่เรื่องปกติ การมีข้อเสนอจากประชาชนเข้าสู่สภาเป็นเรื่องปกติ แต่สภาของไทยไม่ปกติเพราะคนก็รู้อยู่แล้วว่ากฎหมายเข้าไปแล้วจะมีการโหวตอย่างไร การเรียกร้องให้เลือกตั้งเป็นเรื่องปกติติแต่การรัฐประหารไม่ใช่เรื่องปกติ

"พท.-กก.-สามัญชน" รับข้อเสนอร่วมกันดันนิรโทษกรรม

(ซ้ายไปขวา) เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์, ขัตติยา สวัสดิผล, ชัยธวัช ตุลาธน และอรัญ พันธุมจินดา

ชัยธวัช ตุลาธน ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคก้าวไกล กล่าวว่าการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้เพราะการนิรโทษกรรมเกิดมาหลายครั้งแล้วในอดีต แต่การนิรโทษกรรมประชาชนหลังเหตุการณ์หกตุลาหรือหลังสิบสี่ตุลา แม้กระทั่งพฤษภาฯ 35 ลึกๆ แล้วเป็นการนิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการละเมิดสิทธิหรือเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจต้องได้รับความเสียหายไปมากกว่านี้ แต่เขาประเมินว่าจะเกิดการนิรโทษกรรมได้ภายในสภาสมัยหน้าเป็นไปได้สูง

สำหรับประเด็นการยุติคดีการเมืองทางพรรคมีนโยบายพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะคดีที่ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายไปฟ้องดำเนินคดีประชาชนเท่านั้นแต่รวมถึงกรณีที่ในสถานการณ์ปกติก็เป็นคดีที่เป็นความผิดได้แต่การการกระทำมีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองหรือมีเหตุจูงใจทางการเมืองเช่น การขวางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ มีระเบิดปิปอง คดีเผาป้ายเผารูป หรือแม้กระทั่งคดีที่การกระทำเข้าองค์ประกอบฐานหมิ่นประมาทแต่มีเหตุจูงใจทางการเมืองคือสิ่งที่ก้าวไกลจะผลักดันให้เกิดการนิรโทษกรรม

สำหรับสิ่งที่จะทำได้เลยคือพรรคมีนโยบายที่จะผลักดันให้มีการทบทวนการดำเนินคดีทางการเมืองในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งเพิ่ม แต่ไม่ได้หมายถึงห้ามเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่แต่ต้องได้สัดส่วนกัน อย่างการทำโพลแล้วโดนคดี ต้องทวน

ชัยธวัชกล่าวว่าสำหรับเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เขาเห็นด้วยกับพวงทองที่ต้องแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือคดีที่ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาและคดีที่ศาลตัดสินแล้วยังจำคุกอยู่หรือพ้นโทษมาแล้วต้องนิรโทษกรรมให้ไม่มีความผิดหรือให้คดีสิ้นสุดไปถ้าคดียังไม่จบ เพราะมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจำนวนมากที่นับมาตั้งแต่ปี 2549 ที่พ้นโทษมาแล้วหรือถูกลงโทาปรับ หรือรอลงอาญายังมีความจำเป็นต้องล้างความผิดให้

ส.ส.ก้าวไกลเล่าว่ามีคนที่เคยถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 เพราะทำเพจล้อการเมืองโทรศัทพ์มาขอให้ช่วยเพราะว่าจะไปสมัครเป็นไรเดอร์แต่ก็ถูกปฏิเสธไม่ให้ทำงานเพราะมีประวัติอาชญากรรมอยู่ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าจะไปสอบเป็นผู้พิพากษาแค่เป็นไรเดอร์ก็ยังไม่ได้

ชัยธวัชกล่าวว่าจำเป็นที่จะต้องนิรโทษกรรมให้ทุกเฉดสีการเมือง แต่ยังไม่รวมข้อหาคดีทุจริตเพื่อป้องกันแรงเสียดทานทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นและคดีที่เป็นการกระทำต่อชีวิตและร่างกายซึ่งเขาคิดว่าควรให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไป และต้องให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองคดีขึ้นมาพิจารณาว่าจะให้นิรโทษกรรมคดีใดบ้างแล้วทยอยประกาศล้างความผิดไปซึ่งเขาคิดว่ากระบวนการนิรโทษกรรมน่าจะสำเร็จได้ภายในสองปี และถ้ามีผู้ที่ถูกดำเนินคดีคนใดไม่ประสงค์จะใช้สิทธิเช่นกรณีของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจที่มีคดีติดอยู่ ก็สามารถขอใช้สิทธิได้เพื่อไม่ให้มีการกล่าวหาโจมตีกันว่าทำเพื่อมาช่วยพวกพ้อง

เลขาฯ ก้าวไกลย้ำว่าสำหรับพรรคเองก็มีร่างกฎหมายรอไว้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้เป็นรัฐบาลหรือไม่หลังเลือกตั้งถ้าสภาเปิดมาก็สามารถเสนอร่างกฎหมายต่อสภาได้เลยเพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน และยังมีร่างกฎหมายอีก 40ฉบับ ที่หลังเลือกตั้งเสร็จก็จะทำให้ร่างสมบูรณ์พอแล้วยื่นเข้าสภาไปด้วยเช่นกัน

ชัยธวัชได้กล่าวเสริมถึงเรื่องการนิรโทษกรรมคดีป่าไม้ไว้ว่า เขาคิดว่าเรื่องนี้ใส่ในบทเฉพาะการในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้และเป็นเรื่องที่ต้องมีด้วย

ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลชี้ที่ต้องทบทวนคดีการเมืองในปัจจุบันก็คือเพื่อยุติความขัดแย้งเฉพาะหน้า แต่เขาก็เสริมว่าสำหรับเรื่องสลายชุมนุมปี 2553 คดีความของผู้เสียชีวิตก็ควรจะมีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่และผลักดันให้มีการไต่สวนการตายและคดีใดที่ไต่สวนการตายแล้วและยังอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษหรืออัยการก็ต้องทำให้เข้าสู่การพิจารณาคดี และการรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ(ICC) เป็นการเฉพาะเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้เขาก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ทำได้ถ้ากระบวนการยุติธรรมภายในประเทศไม่น่าจะให้ความยุติธรรมได้

นอกจากนั้นจะมีกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก แก้ไขกฎหมายในหมวดความมั่นคงอย่างการยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้วออกเป็นพ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉินแทน หรือกฎหมายที่ไม่ใช่เรื่องความมั่นคงแต่ถูกเอามาใช้ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งกฎหมายมาตรา 116 พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กฎหมายฐานหมิ่นประมาททั้งหมดรวมมาตรา 112 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ นอกจากนั้นคือการออกกฎหมายเพิ่มฐานความผิดบิดเบือนกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมเพื่อให้ประชาชนสามารถฟ้องดำเนินคดีกับตำรวจจนถึงศาลถ้ามีการบิดเบือนกฎหมายซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม

ชัยธวัชกล่าวว่าพรรคยังเสนอให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับเพื่อสร้างฉันทามติใหม่ในสังคม เพราะความขัดแย้งที่มีอยู่ตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดจากการออกแบบอำนาจของสถาบันทางการเมือง ซึ่งรัฐบาลใหม่น่าจะสามารถทำประชามติได้ตั้งแต่ภายใน 100 วันแรกและคิดว่าไม่เกินพ.ศ. 2570 น่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

พรรคก้าวไกลยังมีการปฏิรูปกองทัพ และจะมีการแก้ไขกฎอัยการศึกให้ผู้ที่มีอำนาจประกาศใช้มีเพียงรัฐบาลและต้องใช้ได้เฉพาะสถานการณ์สงครามระหว่างประเทศเท่านั้น

“ข้อสุดท้ายเราปฏิเสธไม่ได้ในประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาลใหม่ควรมีกุศโลบายเพื่อยุติในการนำสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมืองเพื่อยุติความขัดแย้งที่ร้าวลึกในสังคมปัจจุบัน”

ชัยธวัชกล่าวว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องพูดคุยกันและเขาอยากสื่อสารถึงคนจำนวนมากที่ไม่สบายใจหรือกังวลใจหรือโกรธเกลียดคนที่แสดงออกต่อสถาบันไม่เหมือนกับพวกเขา แต่เขาคิดว่าต้องทบทวนว่าสิ่งที่เกิดทุกวันนี้เป็นผลมาจากเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ที่บางฝ่ายที่เอาเรื่องสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองเช่นการชูคำขวัญ “เรารัก เราจะต้องสู้เพื่อในหลวง” มาขับไล่รัฐบาลหรือสนับสนุนการรัฐประหารและตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมาเรื่องนี้ก็ไม่เคยยุติ ดังนั้นถ้าจะยุติความขัดแย้งที่ร้าวลึกก็ต้องยุติกระบวนการตรงนี้ด้วยแล้วก็เอาสถาบันกษัตริย์ออกจากการเมือง แล้วใช้กระบวนการสร้างพื้นที่ปลอดภัยตามประชาธิปไตยมาหาฉันทามติที่พอจะร่วมกันได้ด้วยในสังคม เพราะเมื่อพูดเรื่องความขัดแย้งในสังคมไทยจะปิดตาไว้ข้างหนึ่งไม่ได้เพราะจะกลายเป็นระเบิดเวลา

ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทยกล่าวว่าจุดยืนของพรรคมองว่าที่ผ่านมามีการดำเนินคดีกับประชาชนหลังการรัฐประหารเยอะมากเช่นข้อหาขัดคำสั่ง คสช. ทำให้บางคนต้องลี้ภัยหรือการใช้มาตรา 44 กดขี่ประชาชนด้วยวิธีการต่างๆ การใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนซึ่งงขัดนิติรัฐและนิติธรรม อีกทั้งรัฐบาล คสช.ยังสืบทอดอำนาจตัวเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วบริหารอย่างไม่เป็นมือาชีพจนมีนักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองพร้อมกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ จนถูกดำเนินคดีทั้งที่พวกเขายังเป็นเยาวชน

ขัตติยากล่าวว่าทางพรรคเพื่อไทยเห็นด้วยกับข้อเสนอของศูนย์ทนายความฯ และหากก้าวไกลจะผลักดันเรื่องนี้ในสภาก็จะสนับสนุน อย่างไรก็ตามการจะออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมก็จะมีข้อโต้แย้งจากหลายฝ่ายแน่นอน แม้ว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการคลี่คลายความขัดแย้ง แต่หากมีการโต้แย้งก็ต้องตระหนักให้มากและนอกจากการนิรโทษกรรมแล้วยังมีเครื่องมืออื่นๆ เช่น การสานเสวนาหรือการแสวงหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วย

นอกจากนั้นเธอเห็นว่าการผลักดันการนิรโทษกรรมนี้ยังต้องมีกลไกนอกสภาด้วยคือการเปิดรับฟังเสียงจากทุกฝ่ายเพื่อให้เกิดความชอบธรรมมากขึ้นโดยทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะประวัติศาสตร์มาแล้วว่าถ้าไม่รับฟังเสียงจากทุกฝ่ายก็ทำให้เกิดสถานการณ์ความขัดแย้งที่ส่งผลให้พล.อ.ประยุทธ์เข้ามามีอำนาจอยู่ในทุกวันนี้ ดังนั้นถ้าร่างกฎหมายเข้าไปในสภาเพื่อไทยก็จะไม่เป็นศัตรูและเชื่อจะสามารถนำการมีส่วนร่วมของประชาชนมาผลักดันกฎหมายนี้ได้

ขัตติยากล่าวว่าพรรคเพื่ไทยเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมใน 5 กลุ่มคดีคือ

  1. คดีการเมือง
  2. คดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน
  3. คดีความมั่นคง
  4. คดีที่เกิดจากความแตกต่างทางความคิด
  5. คดีที่รัฐส้รางขึ้นมาเองโดยการใช้อำนาจจากการรัฐประหาร เช่น ข้อหาฝ่าฝืนเรียกรายงานตัว

นอกจากนั้นประเด็นแรกที่ควรจะต้องพิจารณายกเลิกก่อนคือการดำเนินคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับเยาวชนช่วงในที่ผ่านมา แต่เรื่องที่ยังมีความยากคือการจะกำหนดหรือจะนิยามคดีการเมือง คดีที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน คดีความมั่นคง คดีที่เกี่ยวกับความแตกต่างทางความคิดได้อย่างไรบ้าง คนที่ถูกใช้กระบวนการยุติธรรมที่ผิดเพี้ยนจะอยู่ในข่ายหรือไม่ จะนิรโทษกรรมคดีม.112 ด้วยหรือไม่ ซึ่งจะต้องหาคำนิยามของคดีเหล่านี้ จึงต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อที่จะไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งตามมาเพราะหากไม่ได้ข้อสรุปที่เห็นด้วยทุกฝ่ายก็จะมีการชุมนุมต่อต้านตามมาแล้วเหตุการณ์ก็จะวนกลับไปเหมือนเดิม แต่ก็ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดเพราะยังมีคนในเรือนจำที่เขาอยากออกมา และยังมีคนที่อยากเคลียร์ประวัติตัวเอง ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะต้องได้บทสรุปที่เร็วที่สุด

ประเด็นเรื่องกรอบเวลาของการนิรโทษกรรมขัตติยาเห็นว่าจะต้องย้อนกลับไปถึง 2549 เพื่อให้เกิดความเท่าทเยมและเสมอภาคของทุกคน เพื่อให้เกิดการยอมรับกันในสังคมไม่ให้เกิดข้อครหาว่าเอื้อให้กับแค่บางกลุ่ม แต่จะต้องไม่รวมคดีที่เป็นความผิดต่อชีวิตเช่นการฆ่าคนตายและกระบวนการยุติธรรมการค้นหาความจริงต้องดำเนินต่อไป

“ถ้าสังคมนำไปสู่การนิรโทษกรรมแล้วจริงๆ สังคมจะต้องยอมรับว่าการแสดงออกทางการเมือง การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง คดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองเป็นเกียรติยศและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย และนั่นไม่ใช่ความผิด”

ขัตติยากล่าวว่าจำเป็นต้องมีกระบวนการเยียวยาให้กับคนที่ถูกดำเนินคดีหรือแม้กระทั่งผู้ที่ต้องลี้ภัยออกไป ซึ่งจะต้องมีทั้งตัวเงินและโอกาส การได้แสดงออกของผู้บังคับใช้กฎหมายต่อสังคมด้วย

ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยกล่าวถึงส่วนกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับการสลายการชุมนุมปี 2553 ว่าจะต้องมีการนิรโทษกรรมไปถึงและในตอนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ยังได้เคยเยียวยาให้กับผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองย้อนไปถึง 2548 แล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมก็ถือว่าทำสำเร็จในแง่ที่ว่าทำให้เกิดการสืบสวนสอบสวนตั้งแต่ใน DSI ไปจนถึงศาลได้ แต่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและสุเทพ เทือกสุบรรณก็ได้ใช้เทคนิคกฎหมายทำให้ศาลอาญามีคำสั่งว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาและเมื่อคดีไปอยู่ใน ปปช.ก็ตีตกแล้วไปศาลทหารแทนซึ่งความมั่วของการใช้กฎหมายแบบนี้ทำให้ต้องไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นเพื่อจัดโครงสร้างอำนาจของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ รวมถึงองค์กรอิสระเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้งว่าเรื่องใดอยู่ในอำนาจของใครถ้าจัดการเรื่องนี้ได้ก็จะจัดการปัญหาความขัดแย้งในอนาคตได้

ทั้งนี้ขัตติยาตอบคำถามพิธีกรว่าทางพรรคมีแผนจะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรมเองหรือไม่ เธอตอบว่ามีทางพรรคเองก็มีข้อมูลคดีอยู่แล้วก็ยังคุยกันอยู่ว่าจะมีการเสนอร่างเองหรือไม่

ชัยธวัชเสริมว่าคือการใช้กลไกคณะกรรมการโดยให้รัฐสภาตั้งขึ้นมามีข้อข้อดีคือเป็นเวทีให้คนจากหลายฝ่ายได้มาถกเถียงกันได้ และยังจัดความสำคัญได้ด้วย เช่น ถ้าคณะกรรมการเห็นว่าคดีของเยาวชนจำคุกอยู่หรืออยู่ระหว่างพิจารณาคณะกรรมการก็ออกประกาศมายกเลิกไปทีละกลุ่มโดยไม่จำเป็นต้องรอจนถึง 2 ปีค่อยประกาศเลิกทีเดียวทั้งหมด และยังเป็นกลไกถกเถียงแลกเปลี่ยนได้ว่าพฤติการณ์คดีแบบใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งเขาเห็นว่าคดียึดสนามบินหรือยึดทำเนียบก็ควรจะได้นิรโทษกรรม

ชัยธวัชกล่าวต่อว่าจากที่เคยได้พูดคุยกับ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและส.ว.เองก็บางคนก็ยังเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแม้พวกเขาจะยังมองว่าไม่ควรนับรวมคดี ม.112 แต่ตัวเขาเองยังเห็นว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่ใช้กลไกคณะกรรมการมาคุยกันได้ นอกจากนั้นที่ผ่านมาการนิรโทษกรรมเคยมีฉันทามติร่วมกันมาแล้วว่าให้นิรโทษกรรมหมดทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่ตอนนั้นมีการใส่เนื้อหาที่ถูกตีความว่าเป็นการเหมาเข่งบ้าง แล้วเสื้อแดงเองก็ยังไม่เห็นด้วยที่จะไปนิรโทษกรรมให้ทหารที่ยิงประชาชน ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้ต้องกลับมาตั้งหลักคุยกันใหม่

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ตัวแทนจากพรรคสามัญชน กล่าวว่าเห็นด้วยกับเรื่องนิรโทษกรรมที่เสนอกันมาและมองว่าเป็นเรื่องที่รัฐควรจะเป็นคนเซ็ตซีโร่ไม่เช่นนั้นก็ไม่เกิดความปรองดองและควรจะย้อนไปถึงคดีที่เกิดหลัง 2549 เป็นอย่างน้อย และทางพรรคเองยังมีร่างกฎหมายที่จะนิรโทษกรรมคดีที่เกิดจากนโยบายทวงคืนผืนป่าด้วยเพราะที่ผ่านมามีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากเรื่องนี้ถึง 4หมื่นกว่าคดีมีคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วกว่าพันคน อีกทั้งประชาชนยังเดือดร้อนจากการโดนแย่งยึดที่ดินไปกว่าหนึ่งล้านไร่จากการใช้อำนาจของ คสช.

อย่างไรก็ตาม เขามีความเห็นเรื่องการใช้คำว่า “นิรโทษกรรม” ว่าระหว่างทางของการพิจารณาร่างกฎหมายอาจจะต้องหาคำอื่นมาใช้แทนเนื่องจากว่าสำหรับประชาชนที่ถูกกลั่นแกล้งจากรัฐเขาไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองได้กระทำความผิดแล้วเหตุใดจะต้องได้รับการนิรโทษกรรมในเรื่องที่ตัวเองไม่ได้กระทำความผิด

อรัญ พันธุมจินดา รองเลขาธิการพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่ายินดีที่ได้มารับฟังสภาพปัญหาของประชาชนเพราะที่ผ่านมาพรรคเองก็เน้นไปที่นโยบายเรื่องปากท้อง ซึ่งจะรับฟังปัญหาไปเพื่อขับเคลื่อนต่อไป

อรัญกล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องกฎหมายยังต้องดูว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่นี้เกิดจากตัวบทกฎหมายหรือการบังคับใช้ว่าเจ้าหน้าที่ได้ทำหน้าที่ไปตามตัวบทกฎหมายหรือไม่ แต่เขาก็เห็นว่ากฎอัยการศึกมีเรื่องที่ต้องแก้ไขหรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็จะต้องทำให้เกิดสมดุลกันระหว่างการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่และเสรีภาพของประชาชน และพรรคเชื่อว่าการแก้ความขัดแย้งในสังคมและคดีการเมืองสามารถแก้ไขได้ด้วยกลไกรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม อรัญไม่ได้กล่าวว่าทางพรรคมีความเห็นอย่างไรต่อการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net