Skip to main content
sharethis
  • นักปกป้องสิทธิฯ กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส สกลนคร จัดงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทงครั้งที่ 6 พร้อมรวมพลเครือข่ายภาคประชาชนต้านเหมืองแร่โปแตชทั่วพื้นที่ภาคอีสาน จัดเสวนาถอดบทเรียน อดีต ปัจจุบัน อนาคต โปแตซอีสาน กับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและการพัฒนาอีสาน 
  • ขณะที่ 'เลิศศักดิ์' เผยรัฐบาลยุคประยุทธ์ ประทานบัตรทำเหมืองถึง 3 แห่ง ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติที่พิกลพิการ ไร้ซึ่งภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม
  • ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดโคราชเผยพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักจากเหมืองแร่โปแตชแต่บริษัทปัดความรับผิดชอบและขู่ฟ้องกลับ
  • นักวิชาการแนะรัฐปรับแนวคิดยัดเยียดการพัฒนาให้กับคนอีสาน เพราะคนอีสานคิดเองได้
  • ด้านตัวแทนกลุ่มรักษ์วานรเผยชัยชนะภาคประชาชน หลังถูกบริษัทสำรวจแร่ฟ้องแพ่งกว่า 3 ล้านบาท แต่ศาลระบุชาวบ้านมีสิทธิออกมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติบ้านเกิดเมืองนอน พร้อมเตรียมสู้ต่อหลังบริษัทเหมืองยื่นอาชญาบัตรเพื่อทำการสำรวจแร่รอบใหม่เรียบร้อยแล้ว

2 เม.ย. 2566 ที่อ่างเก็บน้ำห้วยโทง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร จัดงานบุญสืบชะตาอ่างเก็บน้ำห้วยโทงครั้งที่ 6 ขึ้นโดยมีเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองทั่วประเทศเข้าร่วมงานอาทิ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้านรอบเมืองแร่ทองคำ จังหวัดเลย กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา กลุ่มรักษ์ลำคอหงษ์ จังหวัดนครราชสีมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย จังหวัดมุกดาหาร กลุ่มฅนเหล่าไหงามไม่เอาเหมืองแร่ จังหวัดกาฬสินธุ์  จังหวัดกาฬสินธุ์ นอกจากนี้ยังมี มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน มูลนิธินิธรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวนมากด้วย

ทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต โปแตชอีสาน กับขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนและการพัฒนาอีสาน” โดยมีตัวแทนนักป้องป้องสิทธิในหลายจังหวัดในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช  นักวิชาการและทนายความเข้าร่วมเสวนาด้วย

'เลิศศักดิ์' เผยประทานบัตรเหมืองแร่คือผลไม้พิษรัฐประหารแนะหยุดพรรคการเมืองสานต่อ “เหมืองแร่โปแตช”

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า ก่อนที่มีการทำรัฐประหารปี 2557 รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถูกฉีกไปก็ดี รวมถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม แห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่มีมาก่อนหน้าก็ดี ล้วนแต่ดึงและเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม แต่เมื่อมีรัฐประหารกลับตัดภาคประชาชนออกไป ตรงกันข้ามกลับเอาผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ มาคิดแทนประชาชน

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่

“การผลักดันทำเหมืองแร่โปแตซ ต้องยอมรับว่ามีการผลักดันมาในหลายรัฐบาล แต่มาสุกงอมเต็มที่ ในสมัย คสช. ยุค พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น มีการออกประทานบัตรให้  รวม 3 แห่ง ทั้งที่ ชัยภูมิ นครราชสีมา และล่าสุดอุดรธานี  ขอย้ำว่า การประทานบัตรเหมืองแร่มาสุกงอมสมัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นความจงใจ เร่งรัดขั้นตอน ผ่านแผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปี ก็พิกลพิการ มีพ่อค้า ข้าราชการ อยู่ในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศเต็มไปหมด ขณะที่ภาคประชาชนแทบจะไม่มีเข้าไปมีส่วนร่วม”

และว่าเพื่อตบตาว่าเป็นแผนยุทธศาสตร์ชาติฯ เป็นไปตามหลักสากล  ก็มีการการแก้ไขคิดนโยบาย “เหมืองสีเขียว” มีการมอบประกาศนียบัตรให้เหมืองที่ดำเนินการ  รวมทั้ง มั่นใจเอาอยู่ กับมาตรการดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่มี จึงเป็นที่มาว่า ทำไม ถึงมาเหมาะเจาะ มีการประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชทั้ง 3 แห่งในสมัยรัฐบาลประยุทธ์

“การอ้างเหมืองสีเขียว เพื่อทำเหมืองแร่โปแตช  นอกจากจะอ้างว่า มีการจัดการเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีแล้ว ยังอ้างว่า จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตแบตเตอรี่โซเดียมไอออน ที่ใช้ในรถพลังงานไฟฟ้าอีกด้วย ทั้งที่ไม่เกี่ยวกันเลย เพราะเหมืองแร่โปแตช เป็นเหมืองสกปรก ไม่ใช่เหมืองสะอาด” เลิศศักดิ์ กล่าว

เลิศศักดิ์ กล่าวถึงต่อข้อถามที่ว่า อีสานควรพัฒนาไปแนวทางไหนว่า อีสานควรพัฒนาไปในแนวทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม แม้กระทั่งตัว พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 ยังเขียนไว้ว่า แหล่งแร่ที่มีศักยภาพแหล่งแร่สูงมากๆ แต่เทคโนโลยีที่นำแร่ขึ้นมายังไม่พัฒนาให้เหมาะสมอย่านำขึ้นมา ขอให้เก็บเอาไว้ก่อน  ถ้าเทคโนโลยีในการนำแร่ชนิดนั้นๆขึ้นมายังไม่เหมาะสมยังไม่ทันสมัยพออย่าเพิ่งพัฒนามัน

“ถ้าตอบคำถามนี้ให้สู่กับสังคมและการเมืองปัจจุบันเพราะเรากำลังจะมีการเลือกตั้ง ต้องถามว่า อย่างที่วานรนิวาส รวมทั้งในหลายๆจังหวัดที่มีแหล่งแร่โปแตช พรรคการเมืองไหนบ้าง จะสานต่อนโยบาย ทำแล้ว ทำต่อ  ทำอีก ที่พรรคการเมืองบางพรรคชูสโลแกนนี้ขึ้นมา คือขณะนี้ถือเป็นการพัฒนาที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งเราสามารถเก็บมาคิดทบทวนได้ เพราะยังมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมเต็มไปหมดกลับไม่คิด เก็บมาพัฒนา”

ด่านขุนทดโคราชเผยพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักจากเหมืองแร่โปแตชแต่บริษัทปัดความรับผิดชอบและขู่ฟ้องกลับ

ธนาวรรณ ไกนอก ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด กล่าวว่า พื้นที่ด่านขุนทด นับเป็นพื้นที่1 ใน 3 ที่มีการออกเป็นประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชให้ ซึ่งหลังการทำเหมือง ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบมาก ทั้งปัญหาดินเค็มที่ไม่สามารถปลูกพืชได้ รวมถึง ปัญหาน้ำประปา ที่ตอนแรกมักใช้น้ำประปาหมู่บ้าน พอน้ำมีปัญหาเรื่องความเค็ม เหมืองกลับแก้ปัญหาให้ชาวบ้านใช้น้ำประปาแหล่งเดียวกันกับเหมืองซึ่งจากเดิมเราจ่ายค่าน้ำประปาเพียงหน่วยละ 5-7 บาท แต่กลับต้องเพิ่มเป็น หน่วยละ 25  บาท ถือเป็นการเพิ่มภาระรายจ่ายให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก  ไม่เท่านั้น ยังส่งผลให้ ตัวบ้านหลายหลัง รวมถึงวัดบางแห่ง มีการทรุดตัวจากปัญหาความเค็มกัดกร่อนด้วย

ธนาวรรณ ไกนอก ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด

“ปัญหาผลกระทบหลายอย่าง พวกเราไปทวงถามเหมืองแร่ก็ปัดความรับผิดชอบ หรือจ่ายค่าชดเชยบ้างเป็นบางหลัง หนำซ้ำยังถูกฟ้องกลับจนทุกวันนี้คนที่ร่วมกันต่อสู้ต่างรู้สึกหวาดกลัว ใครสู้ก็ถูกขู่ฟ้องจับติดคุก ชาวบ้านกลัวกันมาก เพราะพวกเขาเองก็ไม่รู้กฎหมาย ที่สำคัญชาวบ้านกลัวเสียเงินสู้คดี เพราะชาวบ้านเอง ก็ต่างยากจนหาเช้ากินค่ำ” และยืนยันว่า ชาวพี่น้องด่านขุนทด อยากให้พื้นที่สีเขียวดั่งเดิมกลับคืนมา เราไม่ต้องการเหมือง เราดูแลพัฒนาตนเองได้ ทุกวันนี้เราทำเกษตรอินทรีย์ มีข้าวหอมมะลิพันธุ์ดี ที่ปลูกได้เฉพาะดินกร่อยในพื้นที่ สร้างรายได้ โดยไม่ต้องง้อเหมืองแร่ ที่รัฐพยายามยัดเยียด อ้างว่า สร้างงาน ให้ปุ๋ยราคาถูกไว้ใช้

ตัวแทนกลุ่มรักษ์ลำคอหงส์ อ.โนนสูง โคราช ระบุชุมชนเข้มแข็งหยุดประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชได้

วันทา หวังเลี้ยงกลาง ตัวแทนกลุ่มรักษ์ลำคอหงส์ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า แม้พื้นที่ยังอยู่ระหว่างการสำรวจ เพื่อเตรียมให้ประทานบัตรทำเหมือง ชาวบ้านของเรารับรู้มีการเชิญผู้มีส่วนได้เสียไปพูดคุยเพียง 3 เดือนก่อนการประทานบัตร  เราตกใจกันมาก ทำอะไรไม่ถูก จากโครงการพื้นที่จะทำเหมืองมีถึง 1 แสน 4 หมื่นไร่ ใน 6 อำเภอ แต่โชคดี ที่ชุมชนเราเข้มแข็ง โดยเฉพาะผู้นำชุมชน เนื่องจากเวลาจำกัดเพียง 3 เบื้องต้น ทางชุมชนมีความเห็นร่วมกัน จะไม่ส่งตัวแทนเข้าประชุม เมื่อไม่ครบองค์ประชุม การประทานบัตรทำเหมืองในพื้นที่จึงไม่เกิดขึ้น

“ทางภาครัฐและบริษัทเข้าสำรวจทำเหมืองมาตั้งแต่ปี 2552 ตอนที่เขามาสำรวจ ชาวบ้านโนนสูงไม่ทราบว่า เป็นการสำรวจ เขาอ้างว่าสำรวจความเค็มของดิน อ้างเพื่อมาช่วยเหลือชาวบ้าน มีการให้เงินทำการขุดสำรวจต่อหลุม 2 – 3 หมื่นบาทด้วย ชาวบ้านก็หลงกล จนมีการสำรวจทั้งหมด   แม้เราจะรู้ช้าเพียง 3 เดือน แต่ทุกเย็นทุกเช้า เราลงพื้นที่รวบรวมรายชื่อชาวบ้านคัดค้าน เมื่อมีการประชุมที่อำเภอ เราก็แจกใบปลิว พูดในที่ประชุมแจ้งให้เห็นถึงกระทบ เราทำสัตยาบรรณ ไม่เข้าประชุมผู้มีส่วนส่วนได้เสีย และทุกวันนี้เราก็ดำเนินการอยู่ ซึ่งก็เกิดผล จนขณะนี้ยังไม่มีการประทานบัตรเพื่อทำเหมืองในพื้นที่ของเรา  ”

กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสเผยชัยชนะของกลุ่มคือคำสั่งศาลที่ระบุว่าชาวบ้านมีสิทธิปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องพื้นที่ของตัวเอง

สุดตา คำน้อย  ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กล่าวว่า เราเป็นอีกพื้นที่นึงที่มีการสำรวจแร่ เพื่อเตรียมออกประทานบัตร แต่โชคดีที่ชาวบ้านเรารู้เร็ว ตั้งแต่ตอนเริ่มสำรวจ เมื่อรู้เร็วเราก็เริ่มรวมกลุ่มหาข้อมูลในการต่อสู้ว่าเราจะสู้อย่างไร หาข้อมูลว่าเหมืองโปแตชคืออะไร และชาวบ้านจะได้ประโยชน์อะไรกับการทำเหมืองนี้ และเราจะได้รับผลกระทบอะไร เราสู้ตั้งแต่ปี 2560 จนมาถึงการขุดหลุมที่ 4 จากเป้ากว่า 50 หลุม ซึ่งถือเป็นจุดพีค ที่เรายอมแลกกับคดีมา จนทำให้การสำรวจแร่ยุติในที่สุด

“เราหาความรู้จาก พ.ร.บ.แร่ปี 2560 เพื่อจะยันกับบริษัท ที่เตรียมอุปกรณ์มาพร้อมสำรวจแบบจัดเต็ม ตอนตี 1 ชาวบ้านพร้อมใจกันออกมาคัดค้าน บริษัทบอกว่า เป็นพื้นที่เขา เราบอกการสำรวจทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ขัดกับ พ.ร.บ.แร่ปี 2560 สุดท้ายเจรจาไม่ลงตัว เราร้องไปยังเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่ให้คำตอบ

สุดตา คำน้อย ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส

สุดท้ายแลกมาด้วยคดีความ คดีแรกผู้จัดตั้งการชุมนุม คดีสอง คดีอาญาข่มขืนจิตใจ และคดีแพ่ง ฟ้องชาวบ้าน กว่า 3 ล้านบาท สู้กันมา 5 ปีในศาล สุดท้าย ศาลฎีกาไม่รับคำร้องทั้ง2 ฝ่าย สุดท้ายยืนตามศาลอุทธรณ์ให้เราชำระบริษัท 4 หมื่นบาทโดยศาลให้เหตุผลว่า บริษัทยังเหลือเวลาสำรวจเป็นปีจะมาเหมารวมชาวบ้านสร้างความเดือดร้อนเรียกเงินหลักล้านไม่ได้ และศาลก็ระบุว่า ชาวบ้านมีสิทธิปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องพื้นที่ของตัวเอง ถือว่าเราได้รับชัยชนะแต่ไม่ถึงที่สุด เพราะตอนนี้ทางบริษัท มีการยื่นอาชญาบัตร เพื่อทำการสำรวจเรียบร้อยแล้วรอเพียงรัฐบาลใหม่จะอนุญาตหรือไม่เท่านั้น” ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส กล่าว

ทนายความเผยอาวุธที่สำคัญที่สุดคือการรวมตัวกันต่อสู้ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่

วีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวว่า จากการทำคดีของชุมชนมามองว่า การฟ้องคดี เป็นแค่เครื่องมือในการต่อสู้ ชุมชนจะสำเร็จได้ ไม่ใช่การฟ้องคดี แต่คือการต่อสู้ของพี่น้องในชุมชนเอง กรณีการใช้กฎหมายปิดปาก เราใช้สิทธิชุมชนให้ศาลเห็น ว่าชาวบ้านออกมาคัดค้านปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมในพื้นที่  สิ่งนี้บ่งบอกมุมมองของศาล สิ่งที่ชาวบ้านทำบนพื้นฐานข้อเท็จจริง

วีรวัฒน์ อบโอ ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน

“ขอย้ำว่า การต่อสู้ของพี่น้องประชาชนในพื้นที่สำคัญที่สุดถือเป็นอาวุธสำคัญ ดังที่ชาวบ้าน ที่วานรนิวาส ประสบความสำเร็จมาแล้ว  เพราะกระบวนการกฎหมายเป็นเพียงส่วนเสริม ในส่วนของกฎหมาย ปัญหาอยู่ที่การบังคับใช้มากกว่า อย่าง พ.ร.บ.แร่ ปี 2560 มีการเปิดช่องให้ภาครัฐเข้ามาสอดแทรก ปรับเปลี่ยน ”

แนะรัฐเปลี่ยนมุมองและต้องฟังเสียงคนในพื้นที่ในฐานะเจ้าของทรัพยากร เพราะเขาคือผู้กำหนดว่าพื้นที่เขาควรเป็นอย่างไรอย่ายัดเยียดว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่อง

พสุธา โกมลมาลย์ อาจารย์ประจำสาขาพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลบังคับพัฒนาให้กับคนอีสานผ่าน ความคิดที่ว่า คนอีสานเป็นคนที่ไม่รู้  ขอย้ำว่าชาวบ้านเขารู้ แต่ภาครัฐก็ยัดเยียดว่าเขาไม่รู้ ทำตัวเหมือน คุณแม่รู้ดี เช่น แร่โปแตชทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น มีงานทำ ใช้ปุ๋ยถูกลง ซึ่งเหมือนนิทานหลอกเด็ก

“รัฐต้องฟังเสียงคนในพื้นที่ในฐานะเจ้าของทรัพยากร เขาคือผู้กำหนดว่าพื้นที่เขาควรเป็นอย่างไร รัฐบาลไม่เคยถอดบทเรียน ถ้าพื้นที่ไหน ไม่มีส่วนร่วมของประชาชน ล้มเหลวตลอด เมื่อไหร่รัฐใช้อำนาจบีบบังคับให้พัฒนา ทำให้คนไม่สามารถใช้ศักยภาพที่ดีของตัวเองได้ ทำให้เสียโอกาส เช่น เด็กตัวเล็กๆ  วิ่งแต่ในเหมือง เด็กที่เติบโตในม็อบ เป็นเด็กที่สูญเสียโอกาส ในการเพิ่มพูนความรู้ เพราะมัวมาปกป้องป้องทรัพยากรของตัวเอง จนไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้ รัฐบาลนี้ทำให้เราเจ็บปวด วันนี้มาบอก ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ จึงเป็นคำถามว่า เราจะทน กับคำว่า ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ แบบนี้อีกหรือไม่ ” พสุธา กล่าว

ทั้งนี้นอกจากเวทีเสวนาในครั้งนี้ภายในการจัดงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจเป็นจำนวนมากอาทิการจัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้คัดค้านการขุดเจาะสำรวจแร่โปแตชของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ที่บอกเล่าเส้นทางการต่อสู้ของชาวบ้านอำเภอวานรนิวาสตั้งแต่แรกเริ่มที่มีการทราบข่าวการเข้ามาของบริษัทเหมืองแร่โปแตชจนนำมาสู่การต่อสู้เรียกร้องเพื่อยุติการขุดเจาะสำรวจและการถูกข่มขู่คุกคามด้วยการฟ้องคดี รวมถึงชัยชนะในการต่อสู้ของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังมีเวทีแลกเปลี่ยนของเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช และการบายศรีสู่ขวัญผู้ที่มาเข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net