Skip to main content
sharethis

ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย ยันพรรคเอาจริงเดินหน้าสร้างความเท่าเทียมทางเพศผ่านสวัสดิการรัฐ หวังยกระดับความหลากหลายตลาดแรงงานไทยเพื่อทุกคน หลีกเลี่ยงการเหมารวม

28 พ.ย.2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานต่อสื่อมวลชนว่า ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมงาน Thailand Pride Festival 2022 วันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ลานหน้าจามจุรี สแควร์ และเนื่องในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศ วันที่ 29 พ.ย.ของทุกปี เพื่อยกระดับสิทธิ สวัสดิการ และความอยู่ดีกินดีของทุกเพศสภาพ เพศวิถี 

ชานันท์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้ศึกษาวิจัยไว้แล้วเพื่อผลักดันสิทธิและสวัสดิการของประชาชนเป็นนโยบาย โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. นโยบายขยายสิทธิในสวัสดิการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ประสบความสำเร็จแล้วตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย เพื่อให้ครอบคลุมทุกอัตลักษณ์ทางเพศ ได้แก่ สวัสดิการผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ส่งเสริมการมีสุขภาวะทางเพศที่ดี และแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงผ้าอนามัย (period poverty) ซึ่งพรรคได้ศึกษาวิจัยสำเร็จแล้วพร้อมผลักดันเป็นนโยบาย

สวัสดิการวัคซีน HPV  เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีสวัสดิภาพที่ดี ปลอดจากมะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ มะเร็งอวัยวะเพศชาย โรคหูดหงอนไก่ ด้วยวัคซีนที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพราะโรคเหล่านี้เกิดจากไวรัส HPV สำหรับมะเร็งปากมดลูกประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตนี้ พบเป็นอันดับสามของมะเร็งในผู้ป่วยหญิง มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 5,513 คน/ปีหรือเฉลี่ยวันละ 15 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกสูงถึง 2,251 คน/ปีหรือเฉลี่ยวันละ 6 คน   การมีสวัสดิการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน ทั้ง 9 สายพันธุ์ ในช่วง 9-45 ปี (อายุ 9-14 ปี ฉีด 2 เข็ม / อายุ 15-45 ปี ฉีด 3 เข็ม) การป้องกันโรคย่อมมีราคาถูกกว่าการรักษาโรคที่อาจจะเกิดขึ้น และสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้

สวัสดิการสุขภาพคนข้ามเพศ เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการบริการในการข้ามเพศอย่างปลอดภัย เข้าถึงได้ง่าย เพื่อให้ผู้ที่ต้องการข้ามเพศมีสุขภาพที่ดีขึ้น เข้าถึงกระบวนการที่ถูกตามองค์ความรู้วิทยาการทางการแพทย์ เนื่องจากด้วยสภาวะเงื่อนไขทางสังคม และเศรษฐกิจ ทำให้คนข้ามเพศต้องเรียนรู้และทดลองกระบวนการในการข้ามเพศกันเอง ภายในชุมชน จากเพื่อนฝูง ปากต่อปาก นำไปสู่การวิถีปฏิบัติในการใช้ยาหรือฮอร์โมนที่ไม่เหมาะสม ไม่ปลอดภัย ไม่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ เสียสุขภาวะที่ดีในระยะยาว เช่น เสี่ยงต่อโรคตับ ไต หัวใจ หลอดเลือด นิ่ว

ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย กล่าวอีกว่า การเลือกเพศให้ตรงกับความต้องการทางจิตใจ เป็นสิทธิและเสรีภาพอย่างหนึ่งของมนุษย์ มนุษย์ต้องไม่เจ็บป่วยหรือล้มละลายจากเสรีภาพที่พึงมี  ทั้งนี้มีจำนวนหญิงข้ามเพศในประเทศไทยทั้งหมดประมาณ 313,747 คน สำหรับจำนวนของชายข้ามเพศ ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดและงานวิจัยที่เกี่ยวกับชายข้ามเพศยังมีจำกัดเช่นกัน

2. แก้ไขกฎหมายเพื่อความเสมอภาคของประชาชนทุกเพศ ผลักดันสมรสเท่าเทียมเท่านั้น แก้ตัวต้นเรื่องการเลือกปฏิบัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อให้คนทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้ตามกฎหมาย ไม่ใช่ ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิตที่ถูกผู้อื่นยัดเยียด แก้ไข พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เพื่อให้คนทำงานมีสวัสดิภาพที่ดีขึ้นและสามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ เช่น

- ขยายสิทธิวันลาคลอดเป็น 180 วัน เพราะเป็นช่วงที่แม่ต้องให้นมลูกด้วยน้ำนมแม่ และสิทธิแรงงานคู่สมรสลาเลี้ยงลูกเพื่อไม่ผลักภาระให้ผู้หญิงเลี้ยงลูกฝ่ายเดียว รวมทั้งสิทธิให้  LGBTQ+ ที่รับอุปการะเลี้ยงดูบุตรลาเพื่อเลี้ยงบุตรได้

- ให้สิทธิวันลาเพื่อข้ามเพศ (Gender Affirmation Leave) เพราะการข้ามเพศต้องอาศัยกระบวนการ ผู้ที่ข้ามเพศต้องรีบกลับมาทำงานหลังการผ่าตัดนำไปสู่การเสียสุขภาพ การยืนยันเพศสภาพยังจำเป็นต้องการรายได้ที่มั่นคง เพราะการยืนยันทางเพศสภาพมีค่าใช้จ่ายเช่น เสื้อผ้า การผ่าตัด การรักษาพยาบาล การผ่าตัด และรับฮอร์โมน

- ให้สิทธิวันลาปวดประจำเดือน 2 วันแรกของการมีประจำเดือน เพราะประจำเดือนไม่ใช่โรคภัยไข้เจ็บ แต่เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในวัยเจริญพันธุ์ ไม่จำเป็นต้องลาป่วย รวมทั้งแก้กฎกระทรวงบางมาตราที่ยังเลือกปฏิบัติทางเพศบนฐานที่เชื่อว่าแรงงานหญิงมีศักยภาพน้อยกว่าแรงงานชาย วันลาเหล่านี้ต้องได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน

“เราต้องตระหนักให้ได้ว่า “แรงงานสร้างชาติ” ทว่าโครงสร้างสิทธิและสวัสดิการแรงงานในชาติ ยังไม่เพียงพอต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานทั้งหลาย เพราะที่ผ่านมา กฎหมายแรงงานสำคัญ เช่น กฎหมายเงินทดแทน กฎหมายประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ยังคงกำหนดสวัสดิการและสิทธิไม่มากไปกว่าระดับขั้นต่ำเท่านั้น ทำให้การคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการมีอย่างจำกัด ไม่รอบด้าน และไม่มีเจตนารมย์ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานอย่างจริงจัง เพียงแค่ประกันไม่ให้ตกต่ำไปกว่าที่เป็นอยู่ หากมุ่งให้ประโยชน์แก่ลูกจ้างและนายจ้างไปพร้อม ๆ กัน โดยไม่สนใจความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกันแต่แรกระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ไม่ได้คำนึงว่า แรงงานและลูกจ้างไม่ได้มีสถานะเทียบเท่านายจ้าง เป็นกลุ่มที่มีอำนาจการต่อรองน้อยกว่า” ชานนท์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net