Skip to main content
sharethis

'เศรษฐา' แถลงนโยบายดิจิทัลวอลเลตมาแน่ เปิดลงทะเบียนไตรมาส 3 ปี'67 ได้ใช้ไตรมาส 4 ปีเดียวกัน ปลัดกระทรวงการคลังเผยแหล่งที่มาของเงิน 3 แหล่ง งบฯ ปี'67-68 และงบ ธกส.ปี'68 ย้ำทำตามวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ด้าน 'จุลพันธ์' เผยเงื่อนไขผู้ได้รับสิทธิและการใช้ซื้อของ

 

10 เม.ย. 2567 ยูทูบ 'Matichon TV' ถ่ายทอดสดออนไลน์วันนี้ (10 เม.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบาย โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต

เบื้องต้น เศรษฐา ทวีสิน เผยว่า นโยบายเติมเงิน 1 หมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลต เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการแล้ว สามารถทำตามสัญญาไว้กับประชาชน ย้ำเป็นไปตามตัวบทกฎหมายทุกประการ และรักษาระเบียบวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด พร้อมระบุว่าประชาชนและร้านค้าจะลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3 ปี 2567 และเงินจะส่งตรงถึงประชาชนได้ในไตรมาส 4 ปีเดียวกัน

นโยบายการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านระบบดิจิทัลวอลเลต เป็นการใส่เงินในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง และกระจายไปยังทุกพื้นที่ ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจให้ถึงฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอย ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ และจะขยายการลงทุน และการขยายกิจการให้มีการลงทุนที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงานสร้างอาชีพ และเกิดการหมุนเวียนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของภาษี อันจะเป็นการวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เป็นการเตรียมความพร้อมของประเทศให้เข้าสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจ และรัฐบาล

เศรษฐา กล่าวย้ำว่า โครงการนี้มีเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ หมุนเวียนในพื้นที่ และบรรเทาภาระค่าครองชีพ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนที่ต้องการได้รับความช่วยเหลือ อย่างเช่น กลุ่มเปราะบาง และเกษตรกร เพื่อให้ประชาชนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และสามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งจะเป็นการสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และยังก่อให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

นายกฯ ระบุว่า ในส่วนของความคุ้มค่าของการดำเนินงานโครงการ จะให้สิทธิแก่ประชาชน 50 ล้านคน วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยจะให้ใช้จ่ายตามร้านค้าที่กำหนด เพื่อจะเป็นการเติมเงินลงสู่ฐานรากจะส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทยร้อยละ 1.2-1.6 ฐานครั้งนี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดเงื่อนไขของโครงการ

“รัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นตาม รธน.ไทย 2560 โดยกระบวนการต่างๆ ต้องเป็นไปตาม กฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส และตรวจสอบได้ การดำเนินการโครงการจะต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนโดยรวม โดยปฏิบัติตามวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด” เศรษฐา กล่าว

เศรษฐา ทวีสิน (ที่มา: X: Srettha Thavisin)

แหล่งที่มาของเงินมี 3 ส่วน  

ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจง 1. แหล่งที่มาของเงิน ตามที่ได้รับมอบหมายมาให้สำนักงบประมาณไปพิจารณาแหล่งเงินทางเลือก ว่าวงเงิน 5 แสนล้านบาท จะสามารถบริหารจัดการได้อย่างไรบ้าง ซึ่งได้รับคำตอบว่าจะดำเนินงานผ่านงบประมาณได้ทั้งหมด โดยเป็นการจัดการงบประมาณในปี 2567 และ 2568 โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน 1. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท 2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ 172,300 ล้านบาท รายละเอียดคือใช้มาตรา 28 เพื่อให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ดูแลกลุ่มประชาชนที่เป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคน ผ่านงบประมาณปี 2568 และ 3. จะมาจากการบริหารจัดการงบประมาณปี 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท อันนี้เป็นงบประมาณปี 2567 เพิ่มเริ่มใช้ โดยรัฐบาลมีเวลาพิจารณาว่า รายการไหนสามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงงบประมาณกลาง อาจมีการนำมาใช้ในส่วนนี้เพิ่ม ถ้าวงเงินไม่เพียงพอ เมื่อนำวงเงิน 3 ส่วน มารวมกันจะได้วงเงิน 5 แสนล้านบาทพอดี

“ตอนนี้ขอยืนยันว่า การดำเนินงานเรื่องแหล่งเงินเป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ียวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายงบประมาณ หรือกฎหมาย พ.ร.บ.เงินตรา ที่ทางแบงก์ชาติให้ข้อกังวล โดย ณ วันที่เริ่มโครงการในช่วงปลายปี 5 แสนล้านบาท ไม่ได้มีการใช้เงินสกุลอื่นๆ หรือว่าเป็นการใช้มาตรการอื่นแทนเงิน มีเงิน 5 แสนล้านบาท ในวันเริ่มต้นโครงการ ขอยืนยันเรื่องของแหล่งเงิน และอยากให้มั่นใจว่าเรื่องของการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน” ลวรณ กล่าว

ด้านจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ได้มีการให้ความเห็นชอบในหลายประเด็น 1. สาเหตุและความจำเป็นในการดำเนินโครงการ ซึ่งคณะกรรมการได้ให้ความเห็นชอบ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าศักยภาพ และมีแนวโน้มเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญจากความท้าทายทั้งในและต่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำจากช่วงโควิด-19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ซึ่งบั่นทอนด้านกำลังซื้อจากประชาชน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกทำให้ฟื้นตัวช้า รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ เพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่นและชุมชน โดยมีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ควบคู่กับการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงทางด้านการคลัง รวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนโดยรวม ตลอดจนการรักษาวินัยทางการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด

เงื่อนไขอายุ 16 ปีขึ้นไป มีเงินฝากรวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท

คกก.ได้วางแนวทาง และการดำเนินโครงการเงื่อนไขต่างๆ ไว้ดังนี้ 1. กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยมีอายุเกิน 16 ปี ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี และมีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ รวมกันไม่เกิน 5 แสนบาท อันนี้เป็นเกณฑ์เดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง

2. แผนการใช้จ่ายแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม 1. ประชาชนกับร้านค้า โดยเป็นการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าเล็กๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น ตรงนี้เปลี่ยนแปลงจากเดิมจะกระตุ้นการใช้จ่ายเศรษฐกิจไปให้ถึงระดับฐานราก จะกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้าที่มีขนาดเล็ก เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดในเวลาต่อไป

2. การใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า จะไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่ และขนาดร้านค้าต่อร้านค้า แต่จะมีการกำหนดให้การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงคือรอบที่ 1 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระหว่างประชาชน กับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น

3. สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายผ่านโครงการได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดขึ้น

ที่มา: X: Srettha Thavisin

ใช้ระบบ ‘Super App’ พัฒนาเองโดยรัฐ

4. การใช้จ่ายภายใต้โครงการจะใช้ระบบที่พัฒนาขึ้นเองของภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานพัฒนาดิจิทัล ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีเป้าหมายเพื่อให้เป็น ‘super app’ ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะสามารถให้ใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ open loop เพื่อให้มีความสำคัญอย่างยิ่งในลักษณะของภาครัฐบาล รัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปอย่างรอบคอบและโปร่งใส และตรวจสอบได้ตามกฎหมาย

5. คุณสมบัติของร้านค้าที่สามารถถอนเงินจากโครงการ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ใน 3 ประเภท ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคลล และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร หรือประชาชนที่ประกอบอาชีพค้าขายเท่านั้น

ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่จะถอนเงินสดต่อเมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่รอบที่ 2 เป็นต้นไป ต้องใช้จ่ายก่อนอีก 1 รอบ ทั้งนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของการทุจริตในเรื่องของโครงการ และผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

6. ประชาชนสามารถเข้าร่วมโครงการได้ภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 และจะเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567

เห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันทุจริตโครงการ

จุลพันธ์ กล่าวต่อว่า 7. เพื่อป้องกันการทุจริตภายใต้โครงการ คณะกรรมการได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักการและเงื่อนไขของโครงการ โดยมีรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นกรรมการ และที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินโครงการเติมเงิน 1 หมื่นบาท ผ่านโครงการดิจิทัลวอลเลต โดยมี จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดเงื่อนไขรายละเอียดโครงการและระบบให้สอดคล้องตามเงื่อนไขและเป็นไปตามระเบียบกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการประสานงานและการประชาสัมพันธ์โครงการในประเด็นต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมการได้มีมติเห็นชอบในรายละเอียดที่ได้นำเรืยน และมอบหมายให้กระทรวงการคลัง ทั้งเลขานุการ และคณะกรรมการ นำมติที่ได้รับความเห็นชอบ ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไปภายในเดือน เม.ย. นี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net