Skip to main content
sharethis

ขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน และเครือข่ายประชาชนจากทั่วประเทศกว่า 800 คน รวมตัวกันที่หน้าบ้านมนังคศิลาแต่เช้า ก่อนเดินไปที่ พม. และจัดกิจกรรมปราศรัยชี้ให้เห็นปัญหาของร่าง พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่มของประชาชน ก่อนที่ปิดรับความเห็น 25 มี.ค.นี้ 

บรรยากาศการเดินขบวนประชาชนไปที่ พม. เพื่อคัดค้านร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน

24 มี.ค. 65 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (24 มี.ค.) เมื่อเวลา 9.30 น. ที่บริเวณหน้าบ้านมนังคศิลา ขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน และเครือข่ายประชาชนจากทั่วประเทศกว่า 800 คน รวมตัวเดินขบวนจากบ้านมนังคศิลาไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) เพื่อแสดงจุดยืนในการต่อต้านร่างกฎหมายทำลายสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ พร้อมทั้งยื่นหนังสือ ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งยุติกระบวนการร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ ผ่านนาย จุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)
.
ก่อนการเดินขบวน นุชนารถ แท่นทอง สมาชิกเครือข่ายสลัม4ภาค และตัวแทนขบวนฯ อ่านแถลงการณ์ถึงเหตุที่ต้องมาชุมนุมที่ พม.วันนี้ 

รายละเอียดแถลงการณ์

นับตั้งแต่การรัฐประหารยึดอำนาจ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 เป็นต้นมาจนถึงรัฐบาลปัจจุบันที่นำโดยนายกรัฐมนตรีชื่อประยุทธ จันทร์โอชา สิทธิเสรีภาพของประชาชนในการรวมตัวรวมกลุ่ม ชุมนุม และการแสดงความคิดเห็น ถูกจำกัดควบคุมและข่มขู่คุกคามทั้งโดยกฎหมายและการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐรูปแบบต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ คำสั่งคสช. ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองบังคับให้ต้องไปรายงานตัวตามคำสั่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ที่ควบคุมจำกัดเสรีภาพในการชุมนุม และการบังคับใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 และ มาตรา 116 มาใช้ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน รวมถึงการประกาศบังคับใช้ข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาจำกัดสิทธิเสรีภาพและดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องเรื่องต่างๆ  มายาวนานกว่า 2 ปี โดยอ้างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ในวันนี้ รัฐบาลก็ยังมีความพยายามที่จะเสนอกฎหมายมาควบคุมสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพิ่มขึ้นอีก นั่นคือ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร มาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเพื่อควบคุมสิทธิและเสรีภาพเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การชุมนุม และเสรีภาพในการรวมกลุ่มของประชาชน อันเป็นสารตั้งต้นของการได้มาซึ่งสิทธิอื่น ๆ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานที่สำคัญในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งขาดเสียไม่ได้

ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีเนื้อหาที่กว้างและคลุมเครือ มีข้อจำกัดแทรกแซงการทำงานขององค์กรที่ทำงานประเด็นสังคมโดยไม่แสวงหารายได้ หรือการรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งยังกำหนดข้อหาความผิดที่อ้างความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี สร้างความแตกแยก หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เป็นเหตุในการสั่งให้หยุดดำเนินการหรือยุติการดำเนินงานขององค์กรได้ พร้อมทั้งกำหนดบทลงโทษในอัตราสูง เป็นต้น จึงเห็นได้ว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อเสรีภาพในการรวมกลุ่ม และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก ที่จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อบทบาทของภาคประชาชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการมีส่วนร่วมสนับสนุน ตรวจสอบ และมีส่วนร่วมในประเด็นนโยบายสาธารณะต่างๆการทำงานของภาครัฐ ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศ

แต่ถึงกระนั้น แม้ว่าจะมีการส่งเสียงโต้แย้ง คัดค้าน แสดงเหตุผล และแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยอย่างต่อเนื่อง แต่คณะรัฐมนตรีกลับมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของประชาชน ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความคิดเห็น และจะสิ้นสุดกระบวนการในวันพรุ่งนี้ (วันที่ 25 มีนาคม 2565)

เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกมารวมตัวกันในวันนี้ เพื่อยับยั้งความฉิบหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตของประชาชน เพื่อออกมาร่วมกันหยุดร่างกฎหมายที่จะนำไปสู่ความทุกข์ยากที่มากกว่าทุกวันนี้ เพราะหากเราไร้ซึ่งสิทธิในการรวมตัวกันออกมาส่งเสียงเรียกร้อง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ปัญหาในชีวิตของประชาชนก็จะไม่มีทางได้รับความสนใจ ไม่มีทางได้รับการแก้ไข 

วันนี้ เรานัดหมายรวมพล ร่วมเดินไปสู่ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหน่วยงานผู้มีบทบาทหลัก เพื่อนำเสนอความคิดเห็นคัดค้าน ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พม. จะเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าไปใช้บริการ และออกมารับฟังเสียงประชาชนที่เดือดร้อน โดยไม่มีการอ้างกฎหมายมาปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพ และหวังว่าจะไม่มีการใช้กฎหมายมากดขี่ดำเนินคดีกับประชาชนในภายหลัง และต้องขอภัยพี่น้องประชาชนผู้ใช้สถานที่ และผู้ที่สัญจรไปมาทุกท่านหากเราทำให้ได้รับความไม่สะดวกในวันนี้

ขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน ขอประกาศยืนหยัดต่อต้านกฎหมายทำลายสิทธิและเสรีภาพในการรวมกลุ่มทุกฉบับ และขอประกาศคัดค้านทุกกฎหมายที่มีเจตนาออกมาเพื่อควบคุม กำกับ และทำลายสิทธิเสรีภาพประชาชน

เราขอยืนยันว่ารัฐจะต้องคืนสิทธิในทุกด้าน การพัฒนาประเทศจะต้องเริ่มจากสิทธิและเสรีภาพของประชาชน การแก้ปัญหาการทุจริต การพัฒนาเศรษฐกิจที่ดี และการสร้างความมั่งคั่งยั่งยืน จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมีประชาธิปไตยและการเปิดกว้างให้ประชาชนทุกระดับมีส่วนร่วมตัดสินใจในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมือง

นุชนารถ แท่นทอง สมาชิกเครือข่ายสลัม4ภาค

เวลาประมาณ 9.30 น. เริ่มเคลื่อนขบวนจากหน้าบ้านมนังคศิลามุ่งหน้าไปที่ พม. นายจำนงค์ หนูพันธ์ ตัวแทนขบวนฯ ปราศรัยผ่านรถเครื่องเสียงระหว่างการเดินทางระบุว่า วันนี้เป็นการรวมตัวของประชาชนทั่วประเทศเพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม หากร่างผ่านจะเกิดอุปสรรคของการรวมกลุ่มของภาคประชาสังคม ที่ผ่านมาต่างประเทศมีการออกกฎหมายลักษณะเดียวกันมาใช้ในการปราบปรามองค์กรภาคประชาสังคม พร้อมยืนยันว่าหากไม่ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะอยู่รวมตัวกันที่หน้า พม.ไปเรื่อยๆ การเรียกร้องให้ยกเลิกไม่ใช่การเรียกร้องอย่างไร้เหตุผล นอกจากนี้ จำนงค์ ระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีกฎหมายที่สามารถตรวจสอบองค์กรภาคประชาสังคมได้อยู่แล้ว ขอให้รัฐใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการตรวจสอบ

เวลา 9.40 น. หัวขบวนเลี้ยวซ้ายที่แยกสะพานขาวเข้าถนนกรุงเกษม และสามารถเคลื่อนขบวนเข้าไปภายในกระทรวงได้ โดยไม่มีการปิดกั้น 

สำหรับบรรยากาศในการเดินขบวนในวันนี้ มีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คนจากหลากหลายเครือข่ายได้ร่วมกันถือป้ายผ้าที่มีข้อความ อาทิ ไม่เอากฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน หยุดพรบควบคุมการรวมกลุ่ม การรวมกลุ่มคือเสรีภาพรัฐห้ามควบคุม และอื่นๆ เดินไปยัง พม.  

พ.ร.บ.ทำลายเสรีภาพประชาธิปไตย 

เวลา 10.40 น. ‘จิ๋ว’ จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวปราศรัยผ่านรถเครื่องเสียง หน้า พม. ระบุว่า ที่ออกมาคัดค้านที่ พม. วันนี้ เนื่องจากถ้าร่าง พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่มประชาชน ออกมา จะทำลายความเป็นมนุษย์ และเสรีภาพการแสดงออกอย่าง ‘สุดลิ่มทิ่มประตู’  

จีรนุช แนะนำกลุ่มขบวนประชาชนวันนี้ว่า ตนเองมาในนามกลุ่มขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน แต่ว่าชื่ออาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เรามาเรียกร้องในฐานะประชาชนที่มาจากทั่วประเทศ 

จีรนุช ขอให้ประชาชนเรียก พ.ร.บ.ตัวนี้ว่า พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ไม่เรียกตามชื่อทางการของรัฐบาล เนื่องจาก พ.ร.บ.นี้พยายามจะจำกัดการรวมกลุ่มของประชาชน 

เธอกล่าวว่า ในช่วงที่รัฐบาลประยุทธ์อยู่มา 8 ปี (ผู้สื่อข่าว - รวมช่วงที่ยังเป็น คสช.) สิ่งที่ประยุทธ์พยายามทำมาตลอด คือ ทำลายเสรีภาพการแสดงความเห็น และจำกัดสร้างเงื่อนไขต่างๆ ต่อการรวมกลุ่มของประชาชนให้เป็นไปโดยยาก ผ่านทางกลไกการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่น ถ้าจะรวมกลุ่มกันต้องแจ้งก่อน ถ้าไม่รายงานจะมีกฎหมายมาลงโทษ ทำให้ชีวิตลำบาก ทั้งที่นี่คือเสรีภาพและสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย 

“ประเทศประชาธิปไตยแบบไหนที่มีการใช้กฎหมายแบบนี้ และ 8 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามทำลายประชาธิปไตยผ่านการใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม และผ่านกระบวนการยุติธรรม กฎหมายปิดปากไม่ให้พูด และไม่ให้ร่วมชุมนุม” จีรนุช กล่าว 

จีรนุช ระบุว่า พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน ถือเป็นฟางเส้นสุดท้ายของการพยายามทำลายการรวมกลุ่มและเสรีภาพประชาชน มันคือเครื่องมือของรัฐที่จะปิดกั้นเสรีภาพของประชาชนไม่ว่าคุณจะอยู่ฝ่ายการเมืองไหน หรือทำงานประเด็นสังคมอะไรก็ตาม

จีรนุช เผยว่า ปัจจุบัน ร่างกฎหมายยังอยู่ในขั้นรับฟังความเห็น และจะหมดเขตในวันพรุ่งนี้ (25 มี.ค.) และที่ผ่านมา พม. ที่เป็นหน่วยงานหลักในการรับฟังความเห็น ไม่เคยเลยที่จะลงไปรับฟังความเห็นของประชาชนตัวต่อตัว ทำกันแบบออนไลน์ วันนี้จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนอย่างเรา ทุกเพศ วัย ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ต้องมาให้ พม.เห็นตัวเป็นๆ ว่าทุกคนรับไม่ได้กับร่างกฎหมายฉบับนี้ และจำเป็นต้องมา 

“นี่เป็นการมาปักหลักประกาศจุดยืนว่าเราไม่ยอมต่อกฎหมายกินรวบประชาธิปไตย เราไม่ยอมรับสิ่งเหล่านี้ และนี่คือการปักหลักปักธงวันแรก …และเราจะไม่หยุดอยู่เท่านี้ ถ้ารัฐบาลยังไม่ฟัง ถ้าประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเอาแต่ใจ และผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ผ่าน เจอกันแน่” จีรนุช ทิ้งท้าย

จีรนุช เปรมชัยพร ขบวนประชาชนต่อต้านร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชน

พ.ร.บ. ทำลายประชาชน สืบทอดระบอบเผด็จการ

เวลา 10.46 น. จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือพีมูฟ ขึ้นปราศรัยว่า ที่ผ่านมามี พ.ร.บ. หลายตัวที่รัฐบาลร่วมกันกับภาคประชาชนเพื่อสนับสนุนภาคประชาสังคม แต่ท้ายที่สุดรัฐบาลก็ตระบัดสัตย์ ออก พ.ร.บ. มาควบคุมพี่น้องประชาชน นี่คือรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ถ้าไม่มีการรวมกลุ่มจากประชาชน การแก้ปัญหาก็ไม่เกิด ประเด็นปัญหาสังคม เช่นเรื่องที่ดินหรือที่อยู่อาศัย เขาก็ต้องรวมกลุ่มกันเพื่อต่อสู้และเรียกร้อง รัฐบาลต้องยอมรับควมจริงว่าการรวมกลุ่มคือหนทางการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดการพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา แต่ถ้าหยุดยั้งด้วย พ.ร.บ. นี้ การเริ่มแก้ปัญหาก็ทำไม่ได้ พม. โดยจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พม. จะสร้างความมั่นคงของมนุษย์ได้อย่างไรถ้าส่งเสริม พ.ร.บ. หยุดยั้งการรวมกลุ่มของพี่น้องประชาชน
.
จำนงค์ กล่าวต่อไปว่า มีหลายกฎหมายที่หยุดยั้งการรวมกลุ่มของประชาชน อย่าง พ.ร.บ. ชุมนุม พรก. ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศซ้ำแล้วซ้ำเล่า และล่าสุดก็คือ พ.ร.บ. องค์กรไม่แสวงหากำไร ถามว่าท่านคิดได้อย่างไรกับการรับฟังความคิดเห็นฝ่ายเดียว เอาพวกพ้องตัวเองมา แล้วบอกว่ามีคนเห็นด้วย 65 เปอร์เซ็นต์ ถ้า พ.ร.บ. นี้ออกมา การรวมกลุ่มต่างๆ จะโดนควบคุม ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงวัดวาอาราม ถามว่า รัฐบาลได้ให้กลุ่มอื่นตรวจสอบบ้างไหม อยู่แต่ในค่ายทหาร ใช้น้ำใชัไฟฟรี อยู่ในทำเนียบไม่ออกไปไหน แน่จริงนายกฯ ก็ออกมาเติมน้ำมันเอง จ่ายค่าน้ำค่าไฟเอง จะได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศนี้

เมื่อ 11.30 น. นายเรียง ศรีแก้ว นักกิจกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ขึ้นปราศรัยถึงนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ ขวัญใจชาวใต้ด้วยการตั้งคำถามว่า "มันพันพรือที" รมว.พม.เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 63 ระบุว่าเห็นด้วยกับกฎหมายนี้ ต้องถามว่ารัฐบาลนี้มันพันพรือที ก่อนหน้านี้ก็เห็นด้วยกับทำลายทรัพยากรธรรมชาติ แล้วก็มาเห็นด้วยกับการทำลายการรวมกลุ่มในพื้นที่ภาคใต้ ถ้าไม่มีการรวมกลุ่มของประชาชน ทรัพยากรธรรมชาติคงเสียหายมากกว่านี้แล้ว การฟื้นฟูความเสียหายจากสึนามิ การที่เขื่อนหลายตัวยังสร้างไม่ได้ ก็เพราะพี่น้องประชาชนรวมกลุ่มกันช่วยเหลือและคัดค้านไว้ ล่าสุด ชาวบ้านอำเภอจะนะ จ.สงขลา และชาวบ้านอำเภอนาบอน จ.นครศรีธรรมราช ลุกมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติจากโครงการของทุนสามานย์ทั้งหลาย แต่สิ่งที่พี่น้องได้รับคือข้อหา 

สุดท้าย นับสำคัญของกฎหมายนี้ หากไม่พิจารณารายมาตรา เจตนารมย์ของกฎหมายนี้คือการยึดอำนาจประชาชนครั้งยิ่งใหญ่ นี่คือการทำลายความเข้มแข็งของกลุ่มประชาชน นี่คือการสืบทอดอำนาจเผด็จการให้ยิ่งยาวนานไป ไม่มีที่ให้ประชาชนถอยอีกแล้ว ไม่มีทางให้ประชาชนเดินอีกแล้ว นอกจากเอามือ เอาตีน เอาใจมารวมกันในวันนี้ ให้จับตาการนำร่างนี้เข้าทำเนียบรัฐบาล นี่คือจุดแตกหักที่เราจะกลับมารวมกันอีกครั้ง

เวลา 11.40 น. นายสมบูรณ์ คำแหง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ หรือ กป.อพช. กล่าวว่า หลังร่างฯ ผ่านมติ ครม. เมื่อ ม.ค.ที่ผ่านมา ก็มีการจัดรับฟังความเห็น ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นสามารถทำได้หลายแบบ แต่วันนี้ พม.ทำงานกับพวกเราที่เป็นชาวบ้านด้วย อพช. ก็อยู่ภายใต้ พม. การมอบหมายให้ พม.ไปจัดรับฟังความเห็นที่กระทบกับประชาชนทั้งประเทศ กระทบทุกกลุ่มทุกองค์กร กระทรวงไปจัดรับฟังความเห็นกับคนที่ทำงานกับกระทรวงเท่านั้นก็ไม่เพียงพอ 

กฎหมายนี้มีเรื่องเลวร้ายอยู่อย่างน้อย 3 เรื่อง 1. กฎหมายนี้กำลังจะให้สิทธิคณะบุคคลในกระทรวง พม. เกินอำนาจศาล เพราะสามารถตรวจค้นองค์กรได้ทั่วประเทศโดยไม่ต้องขออำนาจศาล เรากำลังปล่อยให้อำนาจการเมืองและกลุ่มบุคคลเข้าไปคุกคามประชาชนมากขึ้น 2. การรับเงินของเอ็นจีโอที่ถูกป้ายสีว่ารับเงินจากต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ แล้วรัฐบาลก็รับ ซึ่ง NGO มีกระบวนการตรวจสอบด้วยการจดจัดตั้งกับหน่วยงานรัฐอยู่แล้ว ทำไมรัฐบาลยังต้องออก กฎหมายฉบับนี้ และกรรมการชุดที่กฎหมายตั้ง ยังสามารถยุบบองค์กรและการรวมกลุ่มได้ 3. ถ้าไม่ทำตามกฎหมายฉบับนี้สามารถลงโทษทางอาญาและสามารถสั่งปรับได้ เป็นการลงโทษที่สูงเกินกว่าเหตุ ปรับไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท ชาวบ้านที่ถูกตรวจสอบและไม่ยอมแก้ไขปรับปรุงจะถูกปรับวันละ 1,000 บาทจนกว่าจะปรับปรุง ถ้าไม่ทำตามจะถูกยกเลิกการเป็นกลุ่มต่างๆ มีข้อยกเว้นแค่การรวมกลุ่มเฉพาะกาล ซึ่งต้องไปศึกษากันอีกว่าแปลว่าอะไร ตีความไปถึงไหน กฎหมายนี้ต้องการควบคุมเบ็ดเสร็จในองค์กรต่างๆ ในทุกภูมิภาค วันนี้ถ้าพวกตนที่ทำกลุ่มทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ถ้าเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับนโยบายของจังหวัด ก็เป็นไปได้สูงที่ข้าราชการจะเอากฎหมายนี้มาเล่นงานพวกเรา นี่เป็นการเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญ 

การมาของเราวันนี้อาจไม่สามารถหยุดกฎหมายนี้ ถ้ารัฐบาลเดินหน้าต่อ เราก็จะสู้ต่อ วันนี้มาซ้อมใหญ่ เราจะกลับมาใหญ่กว่าเดิมถ้าเขายังไม่หยุด

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานกลุ่ม พีมูฟ (P-move)

เมื่อเวลา 11.46 น. ธนพร วิจันทร์ จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ปราศรัยบนเวทีว่า แรงงานมีกฎหมายที่อนุญาตการรวมกลุ่ม ก็คือ พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ เมื่อก่อน แรงงานทั้งภาคเอกชน ถาครัฐวิสาหกิจ สามารถรวมกลุ่มกันได้ แต่อำนาจเผด็จการมาแยกพวกเราออกจากกัน มีกระบวนการแยกย่อยมาแยกการรวมกลุ่มของคนทำงานหลายระดับ ประชาชนคนทำงานเป็นคนสำคัญ เราสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ ถ้ากลุ่มทุนหรือปรสิตหนึ่งเปอร์เซ็นต์ไม่มีเรา เขาลำบากแน่นอน กฎหมายการรวมกลุ่มของประชาชนที่ พม. เป็นเจ้าภาพไปเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ไม่เห็นกระทรวงแรงงานเอาไปรับฟังความเห็นจากสหภาพแรงงานเลย เพราะ รมว. แรงงานมัวแต่ไปกินข้าว ไปดีลการเมืองกันอยู่ พรรคไหนที่ยกมือเห็นด้วยกับกฎหมายนี้ในรัฐสภา เราต้องไม่เลือกเข้ามาบริหารประเทศอีก เราเจ็บมาเยอะแล้ว ผิดหวังมาเยอะแล้ว เผด็จการไม่ช่วยอะไรเราเลย การรวมกลุ่มของประชาชนจะต้องมี ต้องมีเสรีภาพในการรวมกลุ่มและเจรจาต่อรอง วันนี้พี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ มีปัญหาที่เกิดจากโครงการของรัฐที่มาเหยียบย่ำพวกเรา  ราคาปุ๋ยก็แพง พ่อแม่อยู่ต่างจังหวัด ใช้หนี้ ธกส. ไม่ไหวแล้ว เลห่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ไม่เคยฟังพวกเรา

ธนพร กล่าวด้วยว่า เพราะรัฐกลัวเรารวมกลุ่มกัน ถ้าคนรวมกลุ่มแล้วเลือกพรรคฝ่ายประชาธิปไตยเข้ามา รัฐบาลนี้ก็ไม่มีหน้าไปมีอำนาจที่ไหน วันนี้ประเทศไทยไม่มีใครด่ารัฐบาลบ้าง ไม่ใช่แค่ตน อยากเรียกร้องไปยังพี่น้องประชาชนว่า รัฐบาลส้นตีนแบบนี้เราจะยังไปเชียร์อีกเหรอ ออกกฎหมายยึดที่ต่างๆ ไปเสือกอะไรกับเขา เราจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นได้ ก็ไปออก พรบ อีอีซีแล้วไปยึดที่ชาวบ้านเขา ใช้มาตรา 44 เป็นยาครอบจักรวาล ใช้กระทั่งมาควบคุมบอร์ดประกันสังคม

พม. มีหน้าที่อะไร เราเรียกร้องให้มีการจัดรัฐสวัสดิการ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต แต่กลับมาทำ พ.ร.บ.ควบคุมประชาชน เงินอุดหนุนเด็กถ้วนหน้าที่เราบอกว่าน้อย ก็ยังไม่ให้ เงินผู้สูงอายุที่เราเรียกร้องเดือนละ 3,000 บาท ประยุทธ์เซ็นนิดเดียวก็ปัดตกแล้ว พม. ต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เราอยากจะสื่อสารว่า ถ้ารัฐบาลหรือพรรคการเมืองไหนยังไม่ยุติกฎหมายฉบับนี้ ก็ต้องเจอกับประชาชน

ก่อนนี้มีพรรคเพื่อไทยออกมาพูดว่า เราไม่ทิ้งประชาชนคนรากหญ้า เรารับไม่ได้เพราะเราไม่ใช่รากหญ้า แต่เป็นคนสำคัญ เวลาหาเสียงอย่าเหยียดเลย อย่าสื่อสารในทางที่เหยียดชนชั้น เครือข่ายแรงงานให้ความสำคัญกับการรวมกลุ่ม เพราะเป็นพื้นที่ของการเรียกร้องและต่อรอง ไม่ควรมองว่าเป็นภัยคุกคาม 

ธนพร ทิ้งท้ายว่า วันนี้เรามารวมกันเพื่อคัดค้านกฎหมายนี้  ขอให้ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย เพื่อไม่ให้กฎหมายฉบับนี้เกิดขึ้น

หน้าที่ของรัฐคือฟังเสียงประชาชน ไม่ใช่ออก พ.ร.บ.ขัดขวางสิทธิ

เวลา 12.40 น. 'เยล’ สุริยา แสงแก้วฝั้น ประชาชนผู้พิการจากเชียงใหม่ แดนล้านนา ระบุว่าวันนี้เขาขอมาร่วมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน 

เยล มองว่า กฎหมายฉบับนี้ถ้าผ่านไปได้ จะทำให้มีปัญหาโดยเฉพาะการรวมตัวกันของภาคประชาชน เพราะเขาเชื่อว่า สังคมขับเคลื่อนไปได้เพราะภาคประชาชน แต่หน่วยงานของรัฐพยายามควบคุมไม่ให้ภาคประชาสังคมเข้มแข็ง โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการทหาร

เยล มองว่า รัฐบาลต้องฟังเสียงของประชาชน ไม่ใช่มาออก พ.ร.บ.ซึ่งขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และวันนี้ประชาชนมารวมตัวกันคัดค้าน ก็อยากให้หน่วยงานรัฐฟังเสียง และความเห็นของประชาชน 

“คุณต้องฟังเสียงประชาชน ถ้าคุณอ้างว่า คุณมาจากการเลือกตั้ง คุณต้องฟังเสียงประชาชน เพราะประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริง ถ้ากฎหมายใดขัดกับเจตนารมย์ของประชาชน กฎหมายนั้นก็ไม่ชอบธรรม” 

“เพราะฉะนั้น กฎหมายต่างๆ ที่จะออกมาบังคับใช้กับประชาชน ต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนก่อน กฎหมายใดๆ ก็ตามที่ไม่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชน กฎหมายเหล่านั้นก็ไม่ใช่กฎหมาย แต่มันเป็น ‘กฎหมา’” เยล กล่าว 

เยล มองว่า ประชาชนไม่อยากออกมาหรอก ร้อนก็ร้อน เหนื่อยก็เหนื่อย เดินทางไกล แต่มันเป็นเรื่องจำเป็น และปล่อยไปไม่ได้ เพราะถ้ากฎหมายผ่าน ประชาชนไม่รู้จะอยู่ยังไง พร้อมขอให้ภาครัฐมาร่วมฟังความเห็นประชาชนที่มารวมตัวหน้า พม.วันนี้

“อันนี้ขอฝากไปยังผู้มีอำนาจทั้งหลายว่า คุณควรจะฟังเสียงประชาชนได้ไหม เสียงประชาชนคือเสียงสวรรค์… ผู้มีอำนาจทั้งหลายอย่าลืมว่าคุณกินภาษีจากพวกเราอยู่ เพราะฉะนั้น คุณไม่ควรนิ่งนอนดูดาย” เยล กล่าว

'เยล’ สุริยา แสงแก้วฝั้น ประชาชนจากเชียงใหม่

เมื่อเวลาประมาณ 12.40 น. 'แอมป์' ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา นักกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กล่าวว่า พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่มประชาชน ในมุมมองของเขา คือเครื่องมือที่เอาไว้สกัดขัดขาการออกมาแสดงสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน นี่คือ พ.ร.บ. ขัดกับสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเกื้อหนุนให้รัฐกลายเป็นเผด็จการ 

แอมป์ ขอให้ รัฐบาล และหน่วยงานรัฐต่างๆ ทราบว่า การที่ประชาชนออกมาทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลไม่ใช่ ‘กบฎ’ และอย่าตีความไปในทางที่จะทำให้พวกเราเสื่อมเสีย
.
นอกจากนี้ แอมป์มองว่า พ.ร.บ.การรวมกลุ่มประชาชน มีช่องโหว่อาจตกเครื่องมือของรัฐบาล เล่นงานแค่เฉพาะคนบางกลุ่มที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม มากกว่าจะบังคับใช้อย่างเท่าเทียม และสุดท้ายไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.หรือกฎหมายฉบับใดก็ตาม มันถูกออกมาเพื่อบังคับใช้กับประชาชน ฉะนั้น รัฐต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม และต้องลงมาฟังเสียงประชาชนวันนี้ที่หน้า พม.  

เฉพาะกิจเธียเตอร์ แสดงละครย้ำจุดยืนไม่เอา 'พ.ร.บ.คุมประชาชน'

เวลา 12.02 น. นอกจากกิจกรรมการปราศรัยให้เห็นถึงปัญหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวแล้ว กลุ่มละครเฉพาะกิจเธียเตอร์ ทำการแสดงละครเชิงสัญลักษณ์ไม่เอา พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่มประชาชน 

สื่อโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก กลุ่มสาธารณะ ‘No NPO Bills’ บรรยายการแสดงของเฉพาะกิจเธียเตอร์ ระบุว่า เนื้อหาการแสดงดังกล่าวเล่าผ่านกลุ่มชายชุดดำที่แขวนป้าย “รัฐบาล” และ “เผด็จการ” และนำโซ่ตรวนมาพันรอบข้อมือของกลุ่มคนที่ตะโกน ก่อนจะกระชากพวกเขามากักขังในสุ่มไก่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กฎหมายนี้กักเสรีภาพ ปิดปากประชาชน และสดทอนความเป็นมนุษย์อย่างไรบ้าง 

อย่างไรก็ตาม กลุ่มคนที่ถูกขังในสุ่มไก่ได้ทลายออกมา พร้อมกับช่วยกันจับชายชุดดำพันโซ่ตรวน และทำลายสุ่มไก่ที่ติดป้าย ‘พ.ร.บ. ควบคุมการรวมกลุ่ม’ และนำผ้าขาวรูปกากบาทมาวางทับ ก่อนปิดท้ายด้วยการแสดงจุดยืนไม่ยอมรับกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และตะโกนว่า “ไม่เอากฏหมายควบคุมประชาชน” จำนวน 3 ครั้ง 

ทั้งนี้ กิจกรรมมีตั้งแต่เวลา 9.00-18.00 น. โดยรูปแบบกิจกรรมประกอบด้วย การปราศรัยถึงเหตุผลที่ต้องออกมาคัดค้านร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็นของแระชาชนที่มีต่อร่าง พ.ร.บ. ‘การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร และเชิญรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ลงมาร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็น และรับหนังสือของเครือข่ายเพื่อขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งยุติกระบวนการร่างกฎหมายทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนทุกฉบับ นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการแสดงละครเชิงสัญลักษณ์ และกิจกรรมปล่อยผ้าโปรยกระดาษ ก่อนปิดท้ายด้วยการอ่านแถลงการณ์ของเครือข่าย

ภาพการแสดงละครจากกลุ่มเฉพาะกิจเธียเตอร์ ที่หน้า พม. (ที่มา เฟซบุ๊ก No NPO Bill)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกิจกรรมช่วงบ่ายจรดเย็น : กลุ่ม ปชช.จัดเวทีฟังความเห็น-ยื่นหนังสือถึง พม.-เผาร่าง พ.ร.บ.จำลอง ย้ำไม่เอาร่างกฎหมายคุมการรวมกลุ่ม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net