Skip to main content
sharethis

ชิโอริ อิโต นักข่าวหญิงผู้จุดกระแส #MeToo ในญี่ปุ่น ชนะคดีเรียกค่าเสียหายกรณีเผชิญการล่วงละเมิดทางเพศอีกครั้งหนึ่ง หลังศาลสูงยืนตามคำพิพากษาเดิมจากศาลชั้นต้นที่ให้โนริยูกิ ยามางุจิ นักข่าวอาวุโส ผู้ที่ข่มขืนเธอ ต้องจ่ายค่าเสียหาย 3.3 ล้านเยน หรือราว 9.5 แสนบาท

ชิโอริ อิโต นักข่าวหญิง ผู้จุดกระแส #MeToo ในดินแดนอาทิตย์อุทัย (ภาพจาก ทวิตเตอร์ 'Motoko Rich')

ศาลสูงกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ตัดสินเมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ ‘โนริยูกิ ยามางุจิ’ ผู้สื่อข่าวอาวุโส และอดีตหัวหน้าสำนักงานสาขาวอชิงตันของสื่อสถานีโทรทัศน์ระบบแพร่สัญญาณโตเกียว หรือ "ทีบีเอส" ต้องชดเชยค่าเสียหายให้กับ ชิโอริ อิโต ผู้สื่อข่าวฟรีแลนซ์หญิง เป็นจำนวนเงิน 3.3 ล้านเยน (ราว 950,000 บาท) จากกรณีที่เขาข่มขืนอิโต ในขณะที่เธอไม่ได้สติ

ศาลสูงกรุงโตเกียวยืนตามคำตัดสินเดิมของศาลชั้นต้นเมื่อปี 2562 ในคดีที่โด่งดังจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการ #MeToo ในญี่ปุ่น โดยที่ผู้ฟ้องร้องคือ ‘อิโต’ เรียกร้องค่าเสียหายจากยามางุจิ เป็นเงิน 11 ล้านเยน (ราว 3.1 ล้านบาท) โดยเธอระบุว่า ยามางุจิข่มขืนเธอในขณะที่เธอไม่ได้สติหลังจากทานอาหารค่ำในโตเกียวร่วมกัน ซึ่งในตอนนั้นยามางุจิให้สัญญาว่าจะช่วยให้อิโตได้งาน ขณะที่ยามางุจิปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยระบุว่า พวกเขามีเพศสัมพันธ์กันโดยที่ยินยอมทั้งสองฝ่าย

ผู้พิพากษาศาลสูงที่ตัดสินในครั้งนี้ ทาคาโอะ นากายามะ กล่าวว่า ยามางุจิ กับอิโต รู้จักกันผ่านทางหน้าที่การงานเท่านั้น และ "ไม่มีการปฏิสัมพันธ์ในเชิงใกล้ชิดระหว่างทั้งสองคนในแบบที่จะสามารถนำไปสู่การมีเพศสัมพันธ์ได้"

"ดังนั้นแล้ว ศาลถึงต้องสรุปว่า (ยามางุจิ) เริ่มมีเพศสัมพันธ์ในขณะที่อิโต ไม่ได้สติ" นากายามะกล่าว

ยามางุจิ ฟ้องกลับอิโต เรียกค่าเสียหาย 130 ล้านเยน (ราว 37 ล้านบาท) โดยระบุว่า อิโตไม่ได้พูดความจริง รวมถึงเรื่องที่เธอกล่าวหาว่า เขาแอบวางยาให้เธอหมดสติด้วย อย่างไรก็ตามศาลสูงได้ตัดสินเข้าข้างยามางุจิ ที่ว่าการวางยาไม่ได้เกิดขึ้น และให้อิโตต้องจ่ายค่าเสียหายยามางุจิเป็นเงิน 550,000 เยน (ราว 160,000 บาท)

ในการดำเนินคดี ยามางุจิ กล่าวว่า เขา "ถูกสังคมฆาตกรรม" และ "ต้องประสบกับความยากลำบากอย่างที่ไม่อาจซ่อมแซมให้กลับมาได้" สาเหตุเนื่องมาจากข้อกล่าวหาเรื่องการประทุษร้ายทางเพศที่ยามางุจิ อ้างว่า "ไม่ได้เกิดขึ้นจริง" ขณะที่อิโต กล่าวว่า เธอ "เผชิญกับความเจ็บปวดครั้งใหม่" จากการที่เธอถูกเรียกว่าเป็น "ผู้กล่าวหาเท็จ และเหยื่ออาชญากรรมทางเพศ" โดยยามางุจิ

อิโต กล่าวในการแถลงข่าวต่อสื่อเกี่ยวกับคดีนี้ว่า คำตัดสินของศาลที่มีการยอมรับเรื่องที่ว่าเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นโดยที่ไม่ผ่านการยินยอมจากเธอนั้น "มีความหมายมาก"

ขณะที่ยามางุจิที่แถลงข่าวอีกที่หนึ่งกล่าวว่า เขาไม่พอใจกับคำตัดสินเว้นแต่เรื่องที่เขาได้รับชดเชยค่าเสียหายและจะยื่นอุทธรณ์ต่อในชั้นศาลสูงสุด

ในคดีนี้มีการตัดสินที่แตกต่างกันอย่างมาก ระหว่างตอนที่ยังเป็นคดีอาญา กับตอนที่ฟ้องเป็นคดีแพ่ง ในช่วงที่เป็นคดีอาญานั้นพนักงานอัยการตัดสินใจไม่ฟ้องร้องยามางุจิโดยอ้างว่า หลักฐานไม่เพียงพอหลังจากที่อิโตฟ้องตำรวจ ซึ่งอิโตเชื่อว่า สาเหตุที่แท้จริงที่อัยการไม่สั่งฟ้อง เพราะยามางุจิมีความใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรีในยุคสมัยนั้นคือ ชินโซ อาเบะ จากการที่ยามางุจิ เป็นคนที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับชีวประวัติของอาเบะ

หลังจากที่อิโต เปิดเผยชื่อตัวเองในคดีนี้ และเผยแพร่หนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอในปี 2560 เธอก็กลายเป็นตัวแทนขบวนการ #MeToo ของญี่ปุ่น ที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวต่อสู้กับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ สำหรับในประเทศญี่ปุ่นที่มีเหยื่อน้อยคนกล้าจะออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ เธอก็ได้รับทั้งความเห็นใจและคำวิพากษ์วิจารณ์ ถึงแม้จะมีคนสนับสนุนอิโตเป็นจำนวนมาก แต่ในอินเทอร์เน็ตก็มีการข่มเหงรังแกและใช้คำเหยียดหยามสร้างความเสื่อมเสียต่อเธอ มีบางคนโพสต์ว่า เธอพยายาม "ใช้เต้าไต่" ซึ่งอิโตได้ปฏิเสธในเรื่องนี้ และยื่นฟ้องร้องต่อคนที่แสดงความคิดเห็นกล่าวหาเธอในเรื่องนี้แล้ว


เรียบเรียงจาก

Symbol of Japan's #MeToo movement again awarded damages in rape case, The Japan Times, 25-01-2022
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net