Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผย กมธ.วิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พิจารณารายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว เตรียมแปรญัตติ ก่อนส่งเข้าสภาใหญ่ 21-22 ธ.ค. 2564 นี้


 
19 ธ.ค. 2564 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม แจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 ณ สัปปายะสภาสถาน ห้อง CA308 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … รายมาตราเสร็จสิ้นแล้ว ภายหลังประชุมไปแล้วทั้งสิ้น 27 ครั้ง

สำหรับสำคัญในร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มีทั้งหมด 15 ประเด็น ประกอบด้วย 1) การบัญญัติให้การกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี และการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นความผิดในทางอาญา ตามข้อตกลงในอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (CED) ที่แม้จะกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรก็ให้มีผลให้ราชอาณาจักรด้วย 2) ไม่ให้สถานการณ์พิเศษใดๆ ไม่ว่าจะภาวะสงคราม ภาวะความไม่มั่นทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นใดมาเป็นเหตุแห่งการอนุญาตให้มีการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ได้ 3) การบัญญัติให้ผู้เสียหายครอบคลุมถึง สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ 4) ยังให้ความผิดฐานการกระทำนี้ไม่มีอายุความ 5) ให้พนักงานอัยการ และพนักงานปกครองมีอำนาจในการสอบสวนได้

6) พนักงานอัยการ พนักงาน DSI และพนักงานปกครองมีหน้าที่แจ้งสิทธิให้แก่ผู้เสียหายในการเรียกค่าสินไหมทดแทนเบื้องต้นจากการถูกกระทำตามพ.ร.บ.นี้ 7) การกระทำให้บุคคลสูญหายจะต้องมีการสืบสวนจนกระทั่งมีหลักฐานเชื่อได้ว่าบุคคลดังกล่าวถึงแก่ความตาม รวมไปถึงสืบสวนจนทราบรายละเอียดการกระทำความผิดและตัวผู้กระทำผิด 8) การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้จะต้องขึ้นศาลยุติธรรมเท่านั้น แม้ระหว่างเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ผู้กระทำความผิดจะอยู่ในขอบเขตอำนาจศาลทหาร 9) การห้ามผลักดันหรือส่งกลับบุคคล หากมีเหตุให้เชื่อว่าจะถูกกระทำทรมาน กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือกระทำให้บุคคลสูญหายเมื่อถูกส่งกลับ 10) การให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมาจากหน่วยงานรัฐ 7 คน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่ผ่านการสรรหา 7 คน เพื่อติดตามตรวจข้อเท็จจริงการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ สามารถเข้าตรวจสถานที่ควบคุมตัว พิจารณารายงานสถานการณ์การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งเสนอความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อปรับปรับกฎหมาย กฎ ระเบียบ นโยบายให้การป้องกัน และปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ รวมทั้งนโยบายและหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าว

11) เมื่อมีการควบคุมตัวจะต้องมีการบันทึกภาพและเสียงขณะจับกุม และต้องแจ้งให้พนักงานอัยการและพนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่นั้นๆ ทราบโดยทันที 12) เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการควบคุมตัวบุคคลจะต้องลงบันทึกการจับกุมซึ่งเป็นข้อมูลอัตลักษณ์ตัวตนบุคคล วัน เวลา สถานที่จับและปล่อยตัว รวมทั้งข้อมูลเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งจับกุม 13) สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ ผู้แทนหรือทนายความ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตาม พ.ร.บ.นี้ มีสิทธิเข้าถึงข้อมูลและขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัวได้ และหากเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยข้อมูล ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลหรือไม่ได้ 14) สามีภริยา บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยา ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะ พนักงานอัยการ พนักงานฝ่ายปกครองในท้องที่ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานสอบสวนพิเศษ สามารถร้องศาลกรณีรับทราบข้อมูลการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อให้ศาลมีคำสั่งยุติการกระทำดังกล่าว เปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว หรือถ้าไม่มีเหตุจำเป็นให้ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว รวมทั้งให้ได้พบญาติ ผู้ไว้วางใจ และทนายความ และต้องได้รับการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจ และต้องมีการบันทึกทางการแพทย์ นิติวิทยาศาสตร์ และนิติจิตเวชศาสตร์ด้วย และ 15) หากพยานหลักฐานในคดีอื่นใดได้มาจากการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.นี้ ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานเหล่านั้น เว้นแต่รับฟังเพื่อนำมาใช้ดำเนินคดีตามความผิด พ.ร.บ.นี้

โดยสาระสำคัญทั้งหมด 15 ประเด็นได้รับความร่วมมือจากกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมบัญญัติไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ในฐานะผู้ที่อาจตกเป็นเหยื่อจากการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือกระทำการนอกเหนือกฎหมายของเจ้าหน้าที่ เพื่อป้องกันและปราบปรามความผิดฐานกระทำการทรมาน กระทำการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ จะมีการแปรญัตติในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญในวันที่ 21-22 ธ.ค. 2564 นี้ จึงขอเรียนเชิญสื่อมวลชนและบุคคลที่สนใจร่วมกันติดตามผลการแปรญัตติและการแถลงข่าวภายหลังเสร็จสิ้นการแปรญัตติได้ทางเพจ Cross Cultural Foundation (CrCF)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net