Skip to main content
sharethis

ชวนย้อนอ่านรายงานจากบีบีซี จากงานวิจัยที่เก็บข้อมูล 100 ปีที่ผ่านมา พบข้อมูลเชิงสถิติว่าการประท้วงแบบไม่ใช้ความรุนแรงมีโอกาสสำเร็จมากกว่าการต่อต้านด้วยอาวุธ 2 เท่า และถ้าหากขบวนการมีผู้มีส่วนร่วมอย่างน้อย 3.5% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้

การชุมนุมขับไล่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส แห่งฟิลิปปินส์ หรือ The People Power Revolution (EDSA) เมื่อปี ค.ศ. 1986 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia)

สื่อบีบีซีเล่าย้อนไปถึงการประท้วงใหญ่ของชาวฟิลิปปินส์หลายล้านคนเมื่อปี 2529 ที่ทำให้รัฐบาลเผด็จการของเฟอร์ดินาน มาร์กอส ลงจากอำนาจภายในวันที่ 4 สิ้นสุดการปกครองแบบเผด็จการยาวนาน 20 ปี และทำให้ประชาธิปไตยหวนคืนมา การประท้วงในครั้งนั้นถูกเรียกว่าเป็น "การปฏิวัติพลังประชาชน"

อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นการต่อสู้ในจอร์เจียเมื่อปี 2546 ที่มีชื่อเรียกว่า "การปฏิวัติกุหลาบ" ซึ่งเป็นการประท้วงต่อต้านการโกงการเลือกตั้ง การทุจริตคอร์รัปชันของรัฐบาล ปัญหาความยากจน และภาวะรัฐล้มเหลว จนกระทั่งทำให้สามารถโค่นล้มประธานาธิบดี เอ็ดดูอาร์ด เชวาร์ดนัดเซ ลงได้ ในการประท้วงครั้งนั้นมีผู้ประท้วงถือดอกไม้ในมือแล้วบุกเข้าไปในอาคารรัฐสภา

กรณีที่เกิดขึ้นในปีที่แล้วที่ประสบความสำเร็จคือการประท้วงในซูดานและแอลจีเรียที่ส่งผลให้ประธานาธิบดีที่ครองอำนาจมายาวนานในทั้งสองประเทศยอมลงจากตำแหน่ง

รายงานของบีบีซีโดย เดวิด ร็อบสัน ระบุว่าตัวอย่างเหล่านี้นอกจากจะเป็นตัวอย่างของขบวนการต่อต้านจากประชาชนที่สามารถสยบชนชั้นนำทางการเมืองจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ได้แล้ว ยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงการใช้สันติวิธีที่ได้ผลด้วย

เคยมีนักวิจัยด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เอริกา เชโนเวธ ระบุว่าการประท้วงอย่างสันตินอกจากจะมีเหตุผลในเชิงจริยธรรมหลายอย่างแล้วยังเป็นสิ่งที่ส่งผลดีในทางยุทธศาสตร์ด้วย เป็นสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าจะสามารถ "แปลงโฉมการเมืองโลก" ได้ในระยะยาว

เชโนเวธวิจัยจากข้อมูลเรื่องการประท้วงหลายร้อยขบวนการในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา พบว่าการประท้วงที่ไม่ใช้ความรุนแรงจะประสบความสำเร็จมากกว่าการประท้วงที่ใช้ความรุนแรง 2 เท่า และถ้าหากมีประชาชนเข้าร่วมอย่างน้อยร้อยละ 3.5 จากประชากรทั้งหมดก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้อย่างจริงจัง

งานวิจัยของเชโนเวธยังกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับขบวนการต่างๆ เช่น เอ็กซ์ติงชัน รีเบลเลียน ที่เป็นขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องปัญหาโลกร้อน ทั้งนี้เชโนเวธเองก็ได้รับแรงบันดาลใจเรื่องปรัชญาการเคลื่อนไหวเช่นนี้มาจากนักเคลื่อนไหวเรียกร้องการเลิกทาสคนผิวสีในอเมริกันและนักสิทธิสตรีที่ชื่อ โซจอร์เนอร์ ทรูธ, นักเรียกร้องให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งเท่าเทียมผู้ชาย ซูซาน บี แอนโธนี, นักสันติวิธีเรียกร้องอิสรภาพให้อินเดีย มหาตมะ คานธี, นักสิทธิพลเมืองคนดำ มาร์ติน ลูเธอร์ คิง บุคคลเหล่านี้ทำให้เธอเล็งเห็นความสำคัญของการประท้วงอย่างสันติ

เชโนเวธบอกว่าตอนแรกเธอก็มีความกังขาเหมือนกันว่าการประท้วงอย่างสันติมันจะมีพลังจริงหรือ แต่เมื่อเธอได้เข้าร่วมประชุมปฏิบัติการกับองค์กรศูนย์นานาชาติเพื่อแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ (ICNC) เธอก็พบว่ามีการประท้วงอย่างสันติจำนวนมากในโลกที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างยั่งยืนได้นั่นทำให้เธอหันมาวิจัยในเรื่องนี้เพราะอยากเปรียบเทียบว่าการเคลื่อนไหวแบบสันติประสบความสำเร็จในทางสถิติมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรงและส่งผลในการเปลี่ยนแปลงสังคมจริงแค่ไหน

นั่นทำให้เธอร่วมมือกับนักวิจัยจาก ICNC อีกคนหนึ่งคือมาเรีย สเตฟาน ในการพิจารณาข้อมูลเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมมาตั้งแต่ปี 2443 มาจนถึงปี 2549 พวกเขานิยามคำว่าประสบความสำเร็จสำหรับการเคลื่อนไหวเหล่านี้ว่าต้องทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเชิงระบอบภายใน 1 ปีหลังจากที่การเคลื่อนไหวมีผู้เข้าร่วมสูงสุดรวมถึงผลที่ตามมาจะต้องเกิดจากการเคลื่อนไหวเหล่านี้เองโดยตรงด้วย เช่น ถ้าผลที่ตามมามาจากการแทรกแซงทางกาทหารจากต่างชาติจะไม่ถือว่าเป็นผลสำเร็จ สำหรับนิยามในเรื่องการเคลื่อนไหวที่มีความรุนแรงนั้น พวกเขาระบุนิยามว่าหมายถึงการเคลื่อนไหวที่มีการกระทำรุนแรงต่อร่างกายบุคคลหรือต่อทรัพย์สินต่างๆ รวมถึงการลักพาตัว และการทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้วย

ผลที่ได้มาคือรายงานที่ชื่อ "ทำไมการต่อต้านในเชิงสันติวิธีถึงได้ผล : ตรรกะเขิงยุทธศาสตร์สำหรับความขัดแย้งโดยปราศจากความรุนแรง" ในรายงานระบุว่า การเคลื่อนไหวที่เป็นไปอย่างสันติส่งผลให้เกิดการเปลี่ยยแปลงทางการเมืองได้ร้อยละ 53 เทียบกับการประท้วงด้วยความรุนแรงที่ส่งผลร้อยละ 26

เชโนเวธกล่าวว่าสาเหตุที่การเคลื่อนไหวอย่างสันติมีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าเพราะดึงดูดให้คนเข้าร่วมได้มากกว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนเข้าร่วมการประท้วงในการเคลื่อนไหวตลอด 100 ปีที่ผ่านมาจะอยู่ที่ 200,000 ราย ขณะที่การเคลื่อนไหวแบบรุนแรงจะดึงดูดคนได้เฉลี่ยอยู่ที่ 50,000 รายเท่านั้น มีตัวอย่างการเคลื่อนไหวแบบสันติหลายๆ ที่ ที่ดึงดูดคนได้นับล้าน เช่น การปฏิวัติพลังประชาชนของฟิลิปปินส์มีคนเข้าร่วมสูงสุด 2 ล้านคน การเคลื่อนไหวลุกฮือในบราซิลมีคนเข้าร่วมประมาณ 1 ล้านคน

"จำนวนมีส่วนอย่างจริงจังในการสร้างพลังเพื่อที่จะแสดงออกถึงการท้าทายหรือข่มขวัญอำนาจหรือกลุ่มยึดครองที่ฝังตัวอยู่" เชโนเวธกล่าว เธอบอกอีกว่าการประท้วงอย่างสันติจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการดึงการสนับสนุนในวงกว้างได้ และจากผลการวิจัยจำนวนคนที่มากร้อยละ 3.5 ของประชากรทั้งหมดในประเทศจะทำให้การประท้วงประสบผลสำเร็จเชโนเวธกล่าวว่าไม่เคยมีการเรียกร้องครั้งไหนเลยที่ล้มเหลวถ้ามีผู้เช้าร่วมร้อยละ 3.5 ของประชากรทั้งหมดในช่วงจุดสูงสุดของการชุมนุม เช่นในการปฏิวัติกุหลาบในจอร์เจีย เป็นต้น

เชโนเวธกล่าวว่าในตอนแรกเธอแปลกใจกับผลการวิจัยเช่นกัน แต่ก็เข้าใจได้ว่าการประท้วงอย่างสันตินั้นได้รับการสนับสนุนมากเพราะการประท้วงด้วยความรุนแรงมักจะกีดกันคนที่ไม่ชอบหรือกลัวการนองเลือดออกไปจากขบวนการ ขณะที่การประท้วงแบบสันติจะช่วงชิงตำแหน่งความเหนือชั้นทางคุณธรรมได้มากกว่า นอกจากนี้ยังมีทางเลือกจำนวนมากที่ทำให้ผู้คนปลอดภัยได้แม้จะเป็นการชุมนุมแบบไม่ใช้ความรุนแรง นอกจากนี้ขบวนการแบบไม่ใช้ความรุนแรงยังมีลักษณะที่โปร่งใสกว่าทำให้คนสามารถเข้าถึงได้ง่ายว่าจะมีปฏิบัติการร่วมอย่างไรที่จะทำให้เกิดการขัดขวางอำนาจให้ได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตามเชโนเวธย้ำกว่าการใช้สันติวิธีอาจจะไม่ได้ประสบผลสำเร็จเสมอไป เช่น ในกรณีนี้จัตุรัสเทียนอันเหมินปี 2532 เป็นต้น ซึ่งเชโนเวธมองว่าการที่ไม่ประสบความสำเร็จเป็นเพราะไม่ได้รับแรงสนับสนุนมากพอหรือไม่มีแรงส่งมากพอที่จะทำให้ฐานอำนาจเสื่อมถอยและไม่สามารถคงไว้ซึ่งการยืนหยัดต้านทานภายใต้การถูกปราบปรามได้

กระนั้นงานวิจัยนี้ก็ยังเน้นให้เห็นว่าการต่อสู้แบบสันติวิธีจะมีโอกาสชนะมากกว่า รวมถึงเป็นงานวิจัยที่ได้รับความชื่นชมจากผู้ศึกษาเรื่องความขัดแย้งทั่วโลก เช่น อิสซาเบล บรามเซน ผู้ศึกษาเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยโคเปนฮาเกนกล่าวว่าผลการวิจัยของเชโนเวธและสเตฟานนั้นทรงอิทธิพล ทั้งเรื่องที่เสนอให้เห็นว่าวิธีการแบบสันติได้ผลมากกว่า และเรื่องที่พวกเขาเรียกว่า "กฎร้อยละ 3.5" ที่หมายถึงความสำเร็จจากการที่ประชากรร้อยละ 3.5 ร่วมการเคลื่อนไหว ถึงแม้จะฟังดูเหมือนกับเป็นคนกลุ่มน้อยของสังคมทั้งหมดแต่ก็แสดงให้เห็นเป็นนัยว่ามีผู้คนเห็นด้วยกับประเด็นการต่อสู้ของการเคลื่อนไหวนั้นๆ จำนวนมาก


เรียบเรียงจาก

The '3.5% rule': How a small minority can change the world, BBC, 14-05-2019

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Rose_Revolution
https://en.wikipedia.org/wiki/People_Power_Revolution

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net