Skip to main content
sharethis

84 สหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทย รวมตัวกับเจ้าหนี้สถาบันการเงิน เตรียมยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลาย ขอรับชำระหนี้กว่า 60,000 ล้านบาท ก่อนศาลนัดไต่สวนเจ้าหนี้รอบแรก 17 ส.ค. นี้ อดีตประธานสหภาพฯ ระบุแผนฟื้นฟูในศาลอาจล่มหากบอร์ดขยายเวลาลดเงินเดือน เตรียมฟ้องศาล


ที่มาภาพประกอบ: Daisuke Matsumura (CC BY-NC-ND 2.0)

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2563 นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กำลังรวบรวมเอกสารคำร้องของ สหกรณ์เจ้าหนี้การบินไทย 84 แห่ง และสถาบันการเงิน ที่ลงทุนหุ้นกู้ของการบินไทย รวม 60,000 ล้านบาท เพื่อยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้ วันที่ 14 ส.ค.นี้ ก่อนศาลจะนัดไต่สวน และการบินไทยจะเข้าสู่แผนฟื้นฟู วันที่ 17 ส.ค.นี้

นอกจากนี้วันที่ 2 มิ.ย.นี้ คณะทำงานของ 84 สหกรณ์ ร่วมกับสันนิบาตสหกรณ์ฯ ชุมนุมสหกรณ์แห่งประเทศไทย สหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ ที่ลงทุนหุ้นกู้การบินไทย เกินกว่า 1,000 ล้านบาท และ สถาบันการเงิน จะรวมตัวกันเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ซึ่งจะทำให้การต่อรอง มีน้ำหนักมากขึ้น

ทั้งนี้ การวิพากษ์วิจารณ์ที่เร็วไป ส่งผลให้สถานการณ์ไม่นิ่ง และกระทบราคาหุ้น แต่ขณะนี้สมาชิกสหกรณ์ฯ เริ่มเข้าใจและไม่ถอนเงิน ทำให้สหกรณ์บริหารได้ตามปกติ / ส่วนผลประกอบการไม่ได้รับกระทบ มีการปันผลไปแล้ว ร้อยละ 5 แต่หลังเข้าสู่แผนฟื้นฟู จะมีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน ยังไม่มีคำตอบ

“ยอมรับว่าสหกรณ์มีความกังวล ไม่ต้องการให้นักการเมืองเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารของการบินไทย และควรเปิดทางให้ผู้มีความสามารถเข้ามาทำงาน”

บอร์ดการบินไทยประกาศไม่รับค่าตอบแทน 

นอกจากนี้ ฝ่ายภาพลักษณ์และสื่อสารองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการ บริษัทฯ ครั้งพิเศษ โดยมี พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานกรรมการบริษัท การบินไทยฯ เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งใหม่ ทั้ง 3 คน คือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นายบุญทักษ์ หวังเจริญ และนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์

ในการประชุมดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ร่วมใจช่วยเหลือองค์กร โดยไม่รับค่าตอบแทนรายเดือน ตั้งแต่เดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริษัทฯ ได้ร่วมใจลดค่าตอบแทนรายเดือนลงร้อยละ 50 ตั้งแต่เดือนมี.ค.ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัทฯ และครอบครัว ไม่ได้รับสิทธิบัตรโดยสารฟรี และสิทธิประโยชน์ใดๆ ตั้งแต่ พ.ศ.2557 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริษัทฯ และผลการประชุมจากคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจในปี 2557 ให้ยกเลิกสิทธิประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการของรัฐวิสาหกิจและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ

อดีตประธานสหภาพฯ ระบุแผนฟื้นฟูในศาลอาจล่มหากบอร์ดขยายเวลาลดเงินเดือน เตรียมฟ้องศาล

31 พ.ค. 2563 นายนเรศ ผึ้งแย้ม อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทย เปิดเผยถึงกระแสข่าวว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติการขยายเวลา การลดเงินเดือนต่อไปอีก 1 เดือน ว่า ขณะนี้พนักงานยังไม่ได้รับแจ้งและยังไม่มีการออกเอกสารทางการแจ้งมายังพนักงานว่าจะมีการขยายเวลาการปรับลดเงินเดือน มีแต่เพียงการแจ้งผ่านไลน์พนักงานอย่างไม่เป็นทางการของ นายโอม พลาณิชย์ ผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล

นายนเรศ กล่าวต่อว่า โดยนายโอมได้ขอให้พนักงานช่วยกันแจ้งต่อว่า ในเดือน มิ.ย.นี้ บริษัทจะยังให้พนักงานทุกคนทำงานเหมือนเดิม โดยผู้บังคับบัญชาเป็นผู้มอบหมายให้ปฏิบัติงานได้ทั้งที่สำนักงานและการทำงานที่บ้าน ซึ่งบริษัทจะเปิดตึกแบบเดิมในวันพุธกับพฤหัสบดี พร้อมสำนักงานแพทย์และ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล โดยไม่มีการแจ้งเรื่องการขยายเวลาปรับลดเงินเดือน

นายนเรศ กล่าวอีกว่า ขณะนี้พนักงานไม่รู้เลยว่าจะถูกลดเงินเดือนต่อหรือไม่ เพราะไม่มีการแจ้งใด ๆ เลย แต่หากบอร์ดใหม่มีมติขยายเวลาลดเงินเดือน จะมีปัญหาข้อกฎหมายตามมาแน่นอน เพราะเมื่อบริษัทเป็นเอกชน บอร์ดไม่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 13(2) ตามพ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 มาลดเงินเดือนพนักงานได้

นายนเรศ กล่าวว่า เพราะอำนาจหมดไปด้วย ใครจะกล้าลงนามเพราะผิดกฎหมาย จึงอาจทำให้ไม่มีการออกจดหมายแจ้งมติบอร์ดเป็นทางการ รวมทั้งรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี คนปัจจุบันนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ยังมีหลายสถานะมาก อาจมีปัญตามมาถ้าพนักงานฟ้องศาล สถานะของดีดี ซึ่งเป็นผู้ลงนามออกประกาศ มีความทับซ้อนในการปฏิบัติหน้าที่อยู่หลายตำแหน่ง คือ

1.รักษาการดีดี ถือเป็นตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดตามโครงสร้างการบริหารงานตามระเบียบบริษัท 2.รักษาการดีดี เป็นบอร์ดบริหารงานในคณะกรรมการบริหารของบริษัทซึ่งเป็นผู้ชงเสนอเรื่องการปรับลดเงินเดือนพนักงาน ให้บอร์ดบริหารมีมติอนุมัติการขยายเวลาการลดเงินเดือนเมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา

3.สถานะภาพของรักษาการดีดี ที่เป็นหนึ่งในบริหารที่ร่วมกับคณะกรรมการบริษัท พิจารณาอนุมัติในการขยายเวลาปรับลดเงินเดือนพนักงาน 4.สถานะดีดีถูกเสนอชื่อไปยังศาลล้มละลายกลาง ให้เป็นหนึ่งในผู้บริหารแผนฟื้นฟู และ 5.สถานะรักษาการดีดี ในฐานะรองปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทการบินไทย

นายนเรศ กล่าวด้วยว่า ประเด็นข้อกฎหมายที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจจะส่งผลให้แผนฟื้นฟูถึงกับล่ม ถ้ารักษาการดีดีใช้อำนาจหน้าที่ไปแบบผิดกฎหมาย ในการลงนามประกาศการขยายเวลาปรับลดเงินเดือนพนักงาน เพราะใน พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 หรือ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 นายจ้างประกาศลดเงินเดือนหรือลดสิทธิสภาพการจ้างพนักงานโดยฝ่ายเดียวมิได้ ต้องได้รับความยินยอมจากฝ่ายตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก่อน แต่ตอนนี้การบินไทยไม่มีสหภาพแล้ว ไม่มีฝ่ายลูกจ้าง และฝ่ายลูกจ้างก็ยังไม่ได้ยินยอม

“ดังนั้น ก่อนที่รักษาการดีดีจะลงนามในประกาศลดงินเดือนต้องพิจารณา ประเด็นข้อขัดแย้งในตำแหน่งหน้าที่ และประเด็นความถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมายด้วย เพราะหากมีจดหมายแจ้งทางการเรื่องขยายเวลาลดเงินเดือนเมื่อไหร่ ผมจะใช้อำนาจส่วนบุคคลตามกฎหมายฟ้องศาลแน่นอน ในข้อหาละเมิดสิทธิ์สภาพการจ้างงาน หากพนักงานคนไหนอยากฟ้องสามารถมอบอำนาจให้ผมเป็นคนฟ้องได้ และผลของการฟ้องร้องศาลจะคุ้มครองไปถึงพนักงานทุกคน” นายนเรศ กล่าว

ที่มาเรียบเรียงจาก: Thai PBS | ประชาชาติธุรกิจ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net