Skip to main content
sharethis

อุตสาหกรรมการบินในยุคของการแข่งขันและโรคระบาด: กรณีเลิกจ้างพนักงานวิงสแปนฯ บริษัทลูกของการบินไทย

  • ชะตากรรมของอุตสาหกรรมการบินในระบบการแข่งขันและในสถานการณ์โรคระบาด
  • การขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยมีนัยถึงการเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก

ปัญหาการเลิกจ้างพนักงานเหมาช่วงของการบินไทยเพื่อลดค่าใช้จ่าย

การเลิกจ้างพนักงานบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด บริษัทลูกของบริษัท การบินไทย จำกัดมหาชน รอบสองเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 จำนวน 2,598 คน ทำให้เราเห็นบทบาทที่แท้จริงของพนักงานเหมาช่วง (outsource) ในการดำเนินธุรกิจการบินภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมและสถานการณ์โรคระบาด

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา บ.วิงสแปนฯ ได้เลิกจ้างพนักงาน 896 คน ไปแล้วรอบแรก ด้วยข้ออ้างเดิมคือ ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดประเทศของรัฐบาลเพื่อควบคุมโรคระบาด ทำให้บริษัทหยุดกิจการชั่วคราวตั้งแต่เดือนเมษายน ซึ่งพนักงานได้รับค่าชดเชยเป็นที่เรียบร้อย

อำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย

อำไพ วิวัฒนสถาปัตย์ ประธานสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์และคนทำงานสนามบินแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่าวันนี้จะมาถึงอีกครั้ง การเลิกจ้างพนักงานระลอก 2 มีผลในวันที่ 1 กันยายน 2563 เพียงวันเดียวหลังจากพนักงานได้รับไลน์จากผู้ประสานงาน (หัวหน้างาน) เพราะบริษัทขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง แต่สิ่งที่ไม่คาดคิด คือ บริษัทขอผ่อนจ่ายค่าชดเชยภายใน 1 ปี หรือเมื่อบริษัทกลับมามีสภาพคล่องซึ่งจะทำให้พนักงานและครอบครัวเดือดร้อนซ้ำซาก สหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ฯ จึงมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลว่า จะต้องเยียวยาลูกจ้างในระบบประกันสังคมในกรณีนี้โดยเร่งด่วน บริษัทต้องเร่งจ่ายค่าชดเชยหรือจ่ายเงินเป็นก้อนพอที่พนักงานจะสามารถนำไปลงทุน ตั้งตัว หรือทำอาชีพใหม่ได้ และเมื่อการบินไทยได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก็ควรพิจารณาเปิดรับพนักงานเหล่านี้เข้าทำงานทันที เพราะการทำงานของพนักงานช่วยสร้างกำไรเสมอมา ไม่เคยสร้างปัญหาการขาดทุนมหาศาลให้แก่การบินไทย กลับช่วยลดต้นทุนด้านทรัพยากรบุคคลให้ เพราะพวกเขาต้องอดทนกับการจ้างงานไม่มั่นคง ถูกเลือกปฏิบัติ ได้รับสิทธิประโยชน์น้อยกว่าพนักงานรัฐวิสาหกิจของการบินไทย แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 พวกเขาตกเป็นคนกลุ่มแรกที่ต้องเสียสละเพื่อให้กิจการการบินฟื้นฟู จึงรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมแต่ต้องจำใจยอมรับกับผลพวงเหล่านี้

ในขณะการบินไทยเป็นหนี้ บ.วิงสแปนฯ ถึง 200 กว่าล้านบาทจากการค้างจ่ายค่าจ้างกับบริษัทสะสมมาตั้งแต่ปี 2558 อำไพกล่าว ทว่าบริษัทให้เหตุผลของการเลิกจ้างครั้งนี้ว่าไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้อีกต่อไป พนักงานวิงสแปนหยุดงานมาเป็นเวลา 5 เดือนแล้ว ได้รับค่าจ้าง 75% และมีการเลิกจ้างสองครั้ง ขณะนี้มีพนักงานคงเหลือ 1,000 คนซึ่งการทำงานของคน 1,000 คนในอนาคตจะไม่สามารถทำกำไรเลี้ยงคนทำงานอีก 2,000 กว่าคน เพราะนับจากนี้ธุรกิจจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีก

ข้อเรียกร้องของแรงงานในการมีส่วนร่วมฟื้นฟูการบินไทย

จากการสัมภาษณ์สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เปิดเผยว่า การเลิกจ้างพนักงานเหมาช่วง 2,598 คน มีวัตถุประสงค์เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของการบินไทยซึ่งถือหุ้นในบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด ในความเป็นจริงนั้นเกิดจากการบริหารที่ผิดพลาดและการทุจริตคอรัปชั่นภายในรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ซึ่งได้ถูกตรวจสอบโดยคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารกิจการของการบินไทย ที่มีนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน พบว่ามีส่วนตรงกับสิ่งที่สมาพันธ์แรงงานฯ ได้แถลงไป สาเหตุหลักที่การบินไทยขาดทุน 3.5 แสนล้านบาทจนแทบล้มละลาย ต้องขอให้รัฐบาลฟื้นฟูคือ การขาดทุนสะสมมาเป็นเวลาติดต่อกันหลายปี เริ่มตั้งแต่ปี 2551 จากการซื้อเครื่องบินแอร์บัส 10 ลำ บินระยะไกลถึงสหรัฐอเมริกา แต่ไม่สามารถทำกำไรได้ การตั้งสายการบินไทยสมายล์เพื่อแข่งขันกับสายการบินโลว์คอร์สอื่น และการใช้ตัวแทนขายตั๋วเครื่องบินที่ต้องแบ่งกำไรไป ท้ายสุดไม่ประสบความสำเร็จ

สาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (ขวามือ)

 

สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจฯ จึงเสนอแผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูกิจการการบินไทยคู่ขนานกับคณะทำงานฟื้นฟูกิจการที่บริษัทตั้งขึ้น โดยมี 5 ยุทธศาสตร์ หนึ่งในนั้น คือลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ลดปัญหาการทุจริตในองค์กร และลงโทษผู้กระทำการทุจริตอย่างจริงจัง ลดเงินค่าจ้างและเงินประจำตำแหน่งของผู้บริหารระดับสูง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอต่อรัฐบาล 6 ข้อ ได้แก่ 1. การบินไทยต้องกลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ของประเทศในการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และเป็นเครื่องมือของรัฐในยามที่มีวิกฤตของประเทศ 2. รักษาสิทธิในเส้นทางการบินของการบินไทย 3. สร้างระบบธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นจริง ป้องกันอำนาจการเมืองเข้าครอบงำการบินไทย 4. สร้างการมีส่วนร่วมในการรักษาผลประโยชน์ของการบินไทย โดยให้พนักงานร่วมถือหุ้นด้วย 5. แผนการฟื้นฟูกิจการต้องไม่กระทบต่อการจ้างแรงงานในระดับปฏิบัติการของการบินไทยและลูกจ้างของ บ.วิงสแปนฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการบินไทย และ 6. พนักงานและสหภาพแรงงานต้องมีส่วนร่วมในแผนฟื้นฟูกิจการ

ในส่วนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยนั้น ขณะนี้สิ้นสภาพแล้ว เนื่องจากกระทรวงการคลังได้ถอนหุ้นออกไปจนทำให้สถานะความเป็นรัฐวิสาหกิจสิ้นสุดลง กระทรวงแรงงานจึงตีความให้เพิกถอนทะเบียนได้ แต่ สรส.เห็นว่าการถอนทะเบียนไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม มีการรวมกลุ่มของพนักงานการบินไทยถึง 4 สหภาพ สาวิทย์ มองว่า ในอนาคตจำเป็นต้องประสานงานกันเพื่อให้เกิดเอกภาพในการเคลื่อนไหวให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด

โจทย์ท้าทายที่รัฐบาลต้องแก้ไขจริงจัง

จากสถานการณ์โลกที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการบินในประเทศต่างๆ เลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมากและต้องร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านการเงินไม่ให้สายการบินล้มละลาย ปกป้องตำแหน่งงานให้มากที่สุด แต่การเลิกจ้างพนักงานโดยเฉพาะสายการบินในแถบยุโรปมีกลไกการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานก่อนที่จะเลิกจ้างและขอให้รัฐบาลช่วยเหลือจ่ายค่าจ้างให้พนักงานเพื่อประวิงเวลาไม่ให้เกิดผลกระทบมากจนเกินไป ในขณะที่ประเทศไทย พนักงานเหมาช่วงและสัญญาจ้างจะถูกพิจารณาเป็นอันดับต้นและไม่มีการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานเลย สาวิทย์กล่าว การฟื้นฟูกิจการการบินในอนาคตอาจใช้เวลา 4-5 ปี ดังนั้นแล้ว แรงงานจะต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเร่งด่วน

อำไพ ย้ำว่า บริษัท วิงสแปนเซอร์วิสเซส จำกัดก่อตั้งเมื่อปี 2553 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาแรงงานให้แก่การบินไทย แต่รูปแบบการจ้างงาน สิทธิและประโยชน์ที่ได้รับไม่เท่ากับพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นการช่วยบริษัทลดต้นทุนด้านแรงงาน กระนั้นพวกเขาต้องการความมั่นคงในการทำงานจึงเรียกร้องมาโดยตลอด แต่ท้ายสุดเมื่อประสบวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 พวกเขาหวังว่ารัฐบาลจะช่วยเหลือเยียวยาอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เพียงแค่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างที่ได้รับผลกระทบ ยังรวมถึงครอบครัวของพวกเขาอีกจำนวนเท่าตัว  สมาชิกสหภาพแรงงานวิงสแปนสัมพันธ์ฯ คนหนึ่ง กล่าวว่า หากคำนวณค่าชดเชยตามอายุงาน 6 ปีรวมค่าบอกกล่าวล่วงหน้า เธอจะได้รับราว 80,000 บาท และหากมีการผ่อนชำระภายใน 1 ปีเธอจะไม่สามารถนำเงินไปตั้งตัวในเฉพาะหน้า เพราะเธออายุมากแล้ว (50 ปี) คงไม่มีนายจ้างคนใดรับเข้าทำงานอีก จึงหวังที่จะกลับไปทำงานในการบินไทยหากเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู

"อุตสาหกรรมการบินไทยไม่เพียงแต่การบินไทยเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ยังมีบริษัทเอ๊าท์ซอร์ซ ของรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นที่แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน เลิกจ้างพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม ลูกจ้างคนหนึ่งจากบริษัท จัดหาพนักงานสนามบินให้แก่การท่าอากาศยานไทย" อำไพ กล่าว ในฐานะที่สหภาพแรงงานดูแลพนักงานสนามบินอื่นด้วยนั้น ได้พาเธอและเพื่อนพนักงานเอ๊าท์ซอร์ซนับร้อยคนเข้าร้องเรียนกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคมถึงการแจ้งลาออกของบริษัท ซึ่งแท้จริงเป็นการยกเลิกสัญญาจ้างงานต่อเนื่อง ปัญหาเหล่านี้จึงเป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลว่าจะแก้ไขปัญหาเลิกจ้างและปกป้องตำแหน่งงานของพวกเขาอย่างไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net