Skip to main content
sharethis

ซาเล้งกว่า 500 หลังคาเรือนเข้ารับบริจาคเงินทุน-สิ่งของดำรงชีพ นายกสมาคมผู้ประกอบการค้าของเก่าระบุ แม้กระทรวงพาณิชย์ประกันราคาของเก่าบางอย่าง แต่โควิด-19 ก็ทำภาคส่วนรับซื้อของเก่าซบเซา 'จุรินทร์' เป็นประธานในพิธี ระบุ จะถามรัฐบาลเรื่องซาเล้งเข้าถึงเงินเยียวยา 5 พันบาท ซาเล้งเผย ราคายังตกต่ำ ไม่กล้าออกไปเก็บของช่วงเคอร์ฟิว

ผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าหลายขนาดเข้าร่วมพิธีรับมอบถุงยังชีพ

3 พ.ค. 2563 ที่สนามกีฬาในร่ม มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม มีการจัดพิธีมอบเงินทุนและชุดยังชีพ ข้าวสารอาหารแห้งแก่ผู้ประกอบอาชีพรีไซเคิล (รับซื้อของเก่า) ในชุมชนเสือใหญ่ ชุมชนที่มีผู้ประกอบอาชีพรับซื้อของเก่าเป็นจำนวนมาก รวมถึงชุมชนใกล้เคียง โดยมีผู้เดินทางมารับเงินทุนและชุดยังชีพกว่า 500 หลังคาเรือน ภายใต้ชื่อโครงการ "ต่อลมหายใจซาเล้ง"

ชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบการค้าของเก่าไทย กล่าวในพิธีว่า เมื่อปี 2562 วิกฤตการณ์การค้าทำให้ราคาของเก่าตกต่ำมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ด้วยสาเหตุทั้งในและนอกประทศ ส่งผลกระทบถึงการทำมาหากินของอาชีพซาเล้ง จนได้รับความช่วยเหลืออย่างจริงจังจากกระทรวงพาณิชย์จึงทำให้ชาวซาเล้งลืมตาอ้าปากได้ แต่ในปัจจุบัน การระบาดของโควิด-19 และ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ที่มีผลบังคับทั่วประเทศ ทำให้ซาเล้งรถเร่ สามล้อ สี่ล้อที่เก็บขยะรีไซเคิลขาย ได้รับความเดือดร้อนมาก เนื่องจากสถานประกอบการต่างๆ ปิด ประชาชนใช้จ่ายน้อยลง ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต การที่รองนายกฯ ลงมาดูแลด้วยตัวเองในวันนี้ ทำให้ชาวซาเล้งมีความปลาบปลื้มอย่างสูงยิ่ง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงพาณิชย์ ประธานในพิธี กล่าวว่า ดีใจที่ได้มีโอกาสมาพบกับชาวชุมชนเสือใหญ่และชุมชนใกล้เคียงวันนี้ ทราบว่าสมาชิกซาเล้งทั่วประเทศมีรวมกันทั้งประเทศถึง 1.5 ล้านคนกระจายกันทำอาชีพสุจริต ดีใจที่ผู้ประกอบการซาเล้งสามารถมีรายได้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตอนนี้อาจจะตกลงไปอีกเพราะวิกฤตโควิด แต่เนื่องจากเจอกันทุกคนไม่ใช่เฉพาะพวกเรา ขอให้อดทน

รมว. กระทรวงพาณิชย์กล่าวด้วยว่า ต่อกรณีตัวแทนชาวอาชีพซาเล้งอยากได้สิทธิ 5,000 บาทด้วยการขึ้นทะเบียนนั้น จะลองหารือกับรัฐบาลดูว่าเข้าข่ายอาชีพอิสระที่สามารถจะได้รับเงินเยียวยาด้วยหรือไม่ ต่อประเด็นที่ผู้สื่อข่าวถามว่าจะให้ซาเล้งสามารถออกไปเก็บของเก่าในช่วงเคอร์ฟิวได้หรือไม่ จุรินทร์ตอบว่า  เป็นแนวทางปฏิบัติที่ต้องทำร่วมกัน

บรรยากาศการคัดกรองผู้เข้ารับถุงยังชีพ

รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า   ก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน จุรินทร์และกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการรับซื้อเศษกระดาษแล้วทั่วประเทศในราคาไม่ต่ำกว่า 2 บาท โดยจุรินทร์เป็นประธานการหารือแนวทางแก้ปัญหาการนำเข้าเศษกระดาษที่ทำให้กระดาษในประเทศราคาตกต่ำสุดถึงกิโลกรัมละ 50 สตางค์ โดยได้มีการร่วมหารือ 4 ฝ่าย ได้แก่ ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่า โรงอัดกระดาษ และโรงผลิตกระดาษ จากปัญหาราคากระดาษในประเทศตกต่ำเฉลี่ย ซื้อ-ขายกิโลกรัมละ 50 สตางค์ถึง 1 บาท ทำให้เกิดไม่เป็นธรรมต่อชาวรากหญ้าที่มีอาชีพต้นทางของอุตสาหกรรมกระดาษ และได้มอบหมายให้ทุกฝ่ายร่วมหาแนวทางร่วมกัน ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันโดยขอให้มีการรับซื้อเศษกระดาษเป็นไปตามกลไกราคาตลาด เพื่อปรับให้ราคาสูงขึ้นตลอดห่วงโซ่ เป้าหมายช่วยให้ซาเล้งมีรายได้ที่ดีขึ้น และเมื่อมีสถานการณ์โรคระบาดจึงได้มีการประสานงานนำกระทรวงพาณิชย์เข้ามาช่วยบุคคลซึ่งมีอาชีพฐานรากของสังคมซึ่งได้รับความเดือดร้อน

จดหมายข่าวระบุว่า ปริมาณการเก็บรวบรวมขยะรีไซเคิลในเขตกรุงเทพฯ ต่อวันมีปริมาณเฉลี่ยวันละ 3,600 ตัน หรือคิดเป็น 1.3 ล้านตันต่อปี ที่ผ่านมากลุ่มซาเล้งและผู้มีอาชีพรีไซเคิลประสบปัญหาราคาของเก่าตกต่ำเพราะรัฐบาลปล่อยให้นำเข้าเศษกระดาษ พลาสติก ต่อมากระทรวงพาณิชย์แก้ปัญหาให้กระดาษและพลาสติกเป็นสินค้าควบคุม มีประกันราคาขั้นต่ำ

รถซาเล้งที่จอดในพื้นที่งาน และของเก่าที่รับซื้อ

แหลมทอง ดีเที่ยง อาชีพซาเล้งรับซื้อของเก่า อายุ 73 ปี กล่าวว่า ช่วงนี้ของเก่าราคาตกทุกอย่าง ทำให้รายได้ตกต่ำลง ทุกวันนี้เก็บของขาย ได้กำไรอยู่ที่วันละ 100-400 บาท เธอและลูกชายรวม 3 คน ได้เงินช่วยเหลือ 5,000 ตามโครงการเราไม่ทิ้งกันแล้ว

ปัญญา พุดตาล อายุย่าง 50 ปี เป็นซาเล้งรับซื้อของเก่าแบบพาร์ทไทม์ สลับกับงานรับจ้างส่งเอกสาร เล่าว่าช่วงนี้มีรายได้ไม่พอจ่าย อาศัยวิ่งเอกสารยังพอมีรายได้วันละ 200-300 บาท เงินช่วยเหลือจากรัฐบาล 5,000 บาทนั้นเขานำไปจ่ายค่าเช่าที่อยู่อาศัยและสินค้าผ่อนแล้ว การทำงานในช่วงโควิด-19 ระบาดนั้นมีความเสี่ยง เพราะการเก็บของเก่าอาจเจอของบริโภค เช่น ขวดน้ำ ทำให้เขาพกน้ำยาแอลกอฮอล์เช็ดมือไว้ตลอด อนึ่ง หลังจากมีเคอร์ฟิว 22.00 น. - 04.00 น. เขาก็ไม่ได้ออกไปเก็บของเก่ามาขายเพราะกลัวว่าจะฝ่าฝืนเคอร์ฟิว เขาบอกว่าอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน

ทองดี ยศทัพ อายุ 56 ปี เป็นซาเล้งมา 20 กว่าปี เธอเล่าว่าแม้จะมีมาตรการประกันราคา กระดาษทุกวันนี้ก็รับซื้อกันราคาถูกมากอยู่ที่ 2 บาทกว่าๆ (แต่เดิมเคยมีราคา 4-7 บาท) เธออาศัยอยู่กับครอบครัวรวม 5 คน โดยสามีเป็นผู้ป่วยติดเตียง เธอฝากคำถามถึงรัฐบาลว่าจะมีมาตรการใดที่ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงในช่วงโรคระบาดบ้างหรือไม่ เพราะแม้จะใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่การดำเนินการบางอย่างก็ต้องใช้เงินของตัวเอง เช่น ว่าจ้างรถพยาบาลหรือเปลี่ยนสายท่อจากช่องท้อง

โครงการต่อลมหายใจซาเล้ง ริเริ่มโดยสมาคมการค้าผู้ประกอบการค้าของเก่าไทย ที่มีวัตถุประสงค์จะช่วยเหลือสมาชิกสมทบของสมาคมและซาเล้งที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 โดย  ได้รับการสนับสนุนสมาคมการค้าผู้ประกอบการรีไซเคิลไทย สมาคมอุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม และกระทรวงพาณิชย์ โดยในพิธีมีตัวแทนจากผู้สนับสนุนมาร่วมงานด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net