Skip to main content
sharethis

เสวนาครบรอบ 1 ปียกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุมโควิด-19 แต่ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ พบว่ากว่า 663 คดี ขณะนี้คดียังอยู่ในชั้นศาลและชั้นสอบสวนรวมกันกว่า 467  คดี ซึ่งขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้สร้างภาระทางคดีให้กับผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทำให้ยังต้องวนเวียนอยู่กับสถานีตำรวจ อัยการ ศาล

1 ต.ค. 66  - ในโอกาสครบรอบหนึ่งปี ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุกต์ จันทร์โอชา ยกเลิกประกาศสถานการณ์ พ.ร.ก.ฉุนเฉินฯ iLaw จัดเสวนา “หนึ่งปีเต็มเลิกใช้ พ.ร.ก. โควิดฯ ชีวิตของคนโดนคดียังเหนื่อยไม่เลิก” ที่ อาคาร All Rise ดำเนินรายการโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์และบุศรินทร์ แปแนะ จาก iLaw โดยมีหัวข้อนำเสนอดังนี้

พิฆเนศ ประวัง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานข้อมูลสถิติของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และภาพรวมของการฟ้องร้องคดี กรณีที่ใช้เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมทางการเมือง โดย นำเสนอว่าคดีความที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดยังคงเดินหน้าพิจารณาคดีกันต่อไปตามขั้นตอนของการพิจารณาคดีทางอาญา ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมก็กลายเป็นเครื่องมือหลักที่สร้างภาระให้กับผู้ที่แสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทำให้ยังต้องวนเวียนอยู่กับสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ และกระบวนการของศาล โดยยังไม่มีทางออกอื่นนอกจากดำเนินคดีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงที่สุดครบทั้ง 663 คดี โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าในจำนวน 663 คดี มีคดีที่สิ้นสุดแล้ว 196 คดี คดีที่ยังอยู่ในชั้นศาล 188 คดี และยังอยู่ระหว่างชั้นสอบสวน ยังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอีก 279 คดี

ด้านธนพร วิจันทร์ นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงาน จากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ผู้ต้องหาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 23 คดี แชร์ประสบการณ์ ผลกระทบที่ได้รับ ต้นทุนที่ต้องจ่ายจากการต่อสู้คดีที่ศาลกรุงเทพฯ โดยที่ตัวเขาต้องเดินทางจาก จ.สระบุรี มาขึ้นศาล
ชานันท์ ยอดหงษ์ นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศ เล่าถึงประสบการณ์ที่ถูกดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังจากขึ้นเวทีพูดในประเด็นสมรสเท่าเทียม ในนามตัวแทนพรรคการเมือง เมื่อพบว่าถูกดำเนินคดี ก็รู้สึกตกใจว่าการชุมนุมในประเด็นความหลากหลายทางเพศก็ยังโดยดำเนินคดีด้วยหรือ เรื่องสมรสเท่าเทียม เป็นสิทธิที่รัฐควรยอมรับและไม่จำเป็นต้องปล่อยให้ประชาชนออกมาชุมนุมเรียกร้อง เรื่องพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็ทำให้เราตั้งคำถามถึงการใช้กฎหมายเพื่อควบคุมโรคจริงๆ หรือไม่

เมื่อชานันท์ต้องไปรายงานตัวที่ สน.ลุมพินี ก็พบว่านี้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดี 20 กว่าคน ซึ่งมีตัวแทนจากพรรคการเมืองพรรคอื่น รวมถึงผู้จัดเวทีหรือช่างไฟก็ยังถูกดำเนินคดีด้วย ก็ต้องมาที่ สน. พร้อมๆ กัน ขณะที่เครื่องพิมพ์เอกสารเครื่องเดียว ตำรวจก็นำเอกสารที่ถอดเทปถ้อยคำที่พูดในงานเวทีดังกล่าวมาให้ดูเพื่อให้ยืนยันว่าพูดตามนั้นจริงหรือไม่ มีบางส่วนของความที่ถอดมา อย่างคำว่า “Gender” ซึ่งในภาษาไทย คือ เพศสภาพ แต่ตำรวจถอดมาว่า “สภาพเพศ” พอขอให้แก้ไขให้ถูกต้อง ตำรวจก็พูดทำนองว่า ก็เหมือนๆ กัน ต้องแก้ด้วยหรือ ต้องรออีกเป็นชั่วโมงกว่าจะยอมแก้
ยุคลธรณ์ ช้อยเครือ ผู้ต้องหาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 12 คดี นำเสนอประสบการณ์ที่พบในศาลว่า เขาเจอผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ ที่มีทัศนคติว่าจำเลยต้องได้รับการสั่งสอน โดยเขายกตัวอย่างการพิจารณาคดีที่ศาลระบุว่า จำเลยขึ้นจับไมค์ปราศรัย แต่เมื่อขอแย้งว่าไม่ได้ขึ้นปราศรัยเลย ศาลกลับไม่ให้โต้แย้ง ทั้งๆ ที่ไม่ได้ขึ้นเวทีปราศรัยจริงๆ และไม่มีแม้กระทั่งรูปถ่ายว่าขึ้นเวที ผลกระทบที่ได้รับจาการถูกดำเนินคดี เนื่องจากเป็นคดีเยาวชนซึ่งต้องมีผู้ปกครอง (บิดามารดา) ตามข้อกฎหมายเท่านั้นที่สามารถเข้าได้ ในขณะที่ช่วงนั้น สถานการณ์ที่บ้านพ่อและพี่ชายป่วยเข้าโรงพยาบาล ยายเสีย น้องสาวอยู่คนเดียว แม่ก็ต้องเดินทางมาจัดการคดีในสภาพที่อิดโรย ทำให้คิดว่ารับสารภาพบางคดีให้จบๆ ไปเพราะไม่อยากให้แม่ต้องลำบาก

ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.นนทบุรี พรรคก้าวไกล ผู้ต้องหา 3 คดี เล่าว่าถูกแจ้งดำเนินคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบไล่ประยุทธ์ ถูกสกัดระหว่างเดินทางไปเข้าร่วมกิจกรรม บนรถมีคนไม่เกิน 5 คน ตามมาตรการ โควิด-19 แต่ถูกนำตัวไป สภ.รัตนาธิเบศร์ ซึ่งมีคน 20 กว่าคนอยู่ในห้องเดียวกัน และเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยด้วย ภายหลังถูกดำเนินคดีร่วมกับนักกิจกรรมคนอื่นรวม 7 คน ศาลพิพากษาปรับ 7,000 บาท ตัดสินใจไม่อุทธรณ์ เพราะจะเสียเวลาผู้ที่ถูกดำเนินคดีคนอื่นๆ ด้วย

พัชร์ นิยมศิลป อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แชร์ประสบการณ์ เป็นพยานในคดีชุมนุม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาแล้วไม่น้อยกว่า 40 คดี พบว่าปัญหาการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามหลักแล้วหากกฎหมายฉุกเฉินที่ใช้มีข้อยกเว้นกระบวนการตามหลักการปกติ ต้องมีกระบวนการตรวจสอบภายหลัง ซึ่งกรณีของ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ ก็ยกเว้นกระบวนการตามประมวลผลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาบางส่วน แต่ปราฎว่าตัว พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ กลับกำหนดกลไกตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ในภายหลังไว้อ่อนมาก และยังมีลักษณะออกประกาศซ้อนๆ กันในบางกรณีกับประกาศฉบับก่อนหน้า ซึ่งส่งผลต่อการบังคับใช้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net