Skip to main content
sharethis

บรรยากาศทิวทัศน์​ที่สงบเงียบสองฝั่งแม่น้ำโขงที่​ อ.เชียงคาน​ จ.เลย​ ​อาจดูสวยงามดี​หากมองด้วยตาเปล่า​ แต่แท้จริงแล้วระบบนิเวศและวิถีชุมชน​กำลังเสียหายอย่างรุนแรง​เพราะการสร้างเขื่อนอย่างไม่หยุดหย่อน​ของประเทศต่าง​ ๆ​ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อ​ของฤดูกาลน้ำหลาก-น้ำลดของพื้นที่

แม่น้ำโขงเป็น​แม่น้ำนานาชาติที่ยาวเป็นอันดับ​ 7​ ของโลก​​ (4,880 กิโลเมตร)​ มีที่มาจากการละลายของหิมะในที่ราบสูงทิเบต​​ ไหลจากเทือกเขาหิมาลัยผ่านประเทศจีน​ พม่า​ ลาว​ ไทย​ กัมพูชา​ และเวียดนาม​ สำหรับในส่วนของประเทศไทย​ แม่น้ำโขงจะไหลผ่านบริเวณสามเหลี่ยม​ทองคำ​ อ.เชียงแสน​ จ.เชียงราย​ ก่อนไหลเข้าสู่ประเทศลาว​และไหลกลับสู่ประเทศไทยถึงอ.เชียงคาน​ จ.เลย​ แล้วผ่าน​ จ.หนองคาย​ บึงกาฬ​ นครพนม​ มุกดาหาร​ อำนาจเจริญ​ อุบลธานี​ ไปสู่ประเทศกัมพูชา

ภาพทิวทัศน์​ริมฝั่งแม่น้ำโขงที่​ อ.เชียงคาน​ จ.เลย

แม่น้ำโขงสัมพันธ์​กับรัฐ​ ชุมชน​ และระบบนิเวศ​ของไทยอย่างลึกซึ้ง​ เพราะแม่น้ำโขงไม่เพียงแต่เป็นเขตแดนระหว่าง​ราชอาณาจักร​ไทยกับสาธารณรัฐประชาธิปไตย​ประชาชน​ลาว​ แต่ยังเชื่อมโยงกับวิถีชุมชนของประชาชนและวงจรชีวิตของสัตว์​น้ำ​  สำหรับอำเภอเชียงคาน​ ปกติแล้วในหนึ่งปีวงจรของแม่น้ำโขงจะแบ่งออกเป็น​ 2 ช่วงเวลา​ ​อาจเรียกได้เช่นกันว่านี่คือ​ "ปฏิทินน้ำ" ของแม่น้ำโขง​ซึ่งผูกโยงกับวงจรชีวิตของปลาและประชาชนในพื้นที่

ช่วงแรกคือฤดูน้ำหลาก​ เริ่มตั้งแต่​เดือนมิถุนายนถึง​พฤศจิกายน​ ในช่วงนี้ปลาจะว่ายทวนกระแสน้ำเชี่ยวเข้ามาหลบในแม่น้ำสาขา​เพื่อวางไข่​ขยายพันธุ์​ สำหรับในพื้นที่ของอำเภอเชียงคาน​ ปลาจะมาวางไข่อยู่ที่ปากแม่น้ำเลย ขณะเดียวกัน​ ชาวประมงจะจับปลาในแม่น้ำโขงได้ยากเพราะระดับน้ำสูงและ​กระแสน้ำเชี่ยว​ ส่วนปลาที่เข้าไปวางไข่ในแม่น้ำเลย​ คนในพื้นที่จะจับปลาไข่ได้บ้าง​ แต่จัวได้ไม่มากเพราะปลาจับยากในฤดูน้ำหลาก​ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อประชากรปลา

ช่วงต่อมาคือฤดูน้ำลด​ เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม​ ในช่วงนี้ปลาจะอพยพว่ายไปยังปลายน้ำเพื่อหาอาหาร​หลังวางไข่​ เป็น​โอกาสที่ชาวประมงจับปลา​ได้มากขึ้น​​ ปลาส่วนใหญ่ที่ชาวประมงจับได้ในแม่น้ำโขงคือปลาอพยพ​ ซึ่งเนื้อแน่นกว่าปลาเลี้ยงทั่วไปเพราะต​้​องอพยพหากินด้วยตัวเอง​ แม้โดยผิวเผิน​แล้วจะเป็นปลาชนิดเดียวกัน แต่ถ้ามีประสบการณ์​ก็จะสามารถแยกแยะได้ไม่ยากว่าปลาตัวไหนมาจากการเพาะเลี้ยง​ และปลาตัวไหนมาจากแม่น้ำโขง

จังหวะน้ำหลาก-น้ำลดของแต่ละปีส่งผลต่อวิถีชุมชนอย่างมาก​ ไม่ใช่เฉพาะในแง่ของการจับปลาเท่านั้น​ แต่ส่งผลต่อการเพาะปลูกด้วย​ เนื่องจากประกอบอาชีพประมงตลอดทั้งปีไม่ได้ ประชาชนในพื้นที่จึงหันไปทำนา​ข้าวที่อื่น​ หรือไม่ก็ปลูกพืชระยะสั้นบนตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำโขง​ เช่น​ ฟักทอง​ ถั่ว​ กะหล่ำปลี​ พริก​ มะเขือเทศ​ และข้าวโพด​ ดินที่มีความชุ่มชิ้นกำลังดีบริเวณ​ริมน้ำโขงจะช่วยให้พืชเจริญ​งอกงาม​ โดยประชาชน​ในพื้นที่​จะตักน้ำจากแม่น้ำโขงที่อุดมด้วยแร่ธาตุมาขึ้นมารดพืชพันธุ์​บนริมตลิ่ง​

เขื่อนฆ่าปลา

อย่าง​ไร​ก็ตาม​ ในช่วง​ 30​ ปีที่ผ่านมา​ การก่อสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงจำนวนมากกำลังส่งกระทบต่อระบบนิเวศ​และวิถีชุมชนของเชียงคานที่พรรณาไว้ข้างต้นนี้อย่างมหาศาล​ ปลาในแม่น้ำโขงลดลงทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ​ เพราะปัจจัยหลายอย่างที่มีรากฐานอันเดียวกันมาจากการสร้างเขื่อน​

ผลกระทบ​จะเห็นได้ชัดที่สุดในช่วงกลางเดือนกรกฏา​คม​ พ.ศ.​ 2562 หลังจากเขื่อนจิงหงของจีนประกาศลดการปล่อยน้ำ​ พร้อมกับมีการกักเก็บ​น้ำเพื่อทดลองผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี​ของประเทศลาว ส่งผลให้น้ำลดลงต่ำสุดในรอบ​ 20​ ปี​ ทั้งที่เป็นฤดูน้ำหลาก

ชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม​ ผู้​​ว่า​ราชการ​จังหวัดเลย​ระบุโดยอ้างอิงจากข้อมูลของกรมชลประทาน​ว่าที่ ​อ.เชียงคาน​ ​เมื่อวันที่​ 15​ กรกฎาคม​ น้ำอยู่​ที่​ระดับ​ 3 เมตร​ นับ​ว่า​อยู่​ใน​จุด​ต่ำสุดในรอบ​ 20​ ปี​ ถึงแม้ในวันที่​ 29​ กรกฎาคม​ ​ระดับน้ำจะสูงขึ้นแล้วอยู่ที่ระดับ​ 6 เมตร​ แต่ปริมาณ​น้ำยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว​ ซึ่ง​อยู่​ที่ระดับ​ 10 เมตร

ที่​จริง​แล้วการที่ระดับน้ำลดลงให้ประโยชน์​ระยะสั้นกับผู้ประกอบอาชีพประมง​ จากการพูดคุยกับชาวประมงที่​ อ.เชียงคาน​พบว่าสามารถจับปลาได้ง่ายและเยอะขึ้นหลังจากระดับน้ำลดลง​ แต่นั่นหมายความ​ว่า​จำนวนปลาโดยรวมจะลดลงในปีหน้าเนื่องจากปลาถูกจับไปในช่วงที่เป็นฤดูน้ำหลากซึ่งเป็นช่วงเวลาวางไข่​

อย่างไรก็ตาม​ นี่เป็นเพียง​ส่วนหนึ่งของผลกระทบที่สั่งสมมาตลอดหลายสิบปี​ ชาญณรงค์​ วงศ์ลา​ ผู้ประสานของวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขง​ ประมงพื้นบ้านเชียง​คาน​ และนักวิจัยไทยบ้าน​ของ​ สกว.​ พบว่าปลาไม่มีเกร็ด​ขนาดใหญ่​ (หรือเรียกอีกอย่างว่า​ปลาหนัง)​ ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ถึงความหลากหลาย​ทางชีวภาพของแม่น้ำโขง​ ปัจจุบัน​เหลืออยู่น้อยมาก​ ไม่สามารถพบเห็น​ได้ทั่วไปอีกแล้ว ตัวอย่างเช่น​ ปลาบึกที่ชาวประมงจับในแม่น้ำโขงได้ครั้งสุดท้ายเมื่อ ค.ศ.​ 2532​ แม้จะมีความพยายามในการเพาะพันธุ์​ปลาบึก​เพื่อการอนุรักษ์​ แต่​ลักษณะ​ของปลาบึกพันธุ์​ผสมก็ไ่ม่เหมือน​กับปลาบึกที่เคยพบเห็น​ได้ในแม่น้ำโขง

ชาวประมงเชียงคานและปลาจอบที่จับได้มีน้ำหนัก​ 7-8 กิโลกรัม

ส่วนใหญ่แล้ว​ ปัจจุบันชาวประมงจะจับได้แต่เฉพาะปลาที่มีเกร็ด​ ซึ่งเอาตัวรอดได้ดีกว่าเพราะผิวมีเกร็ดแข็งแรงและวางไข่เยอะกว่า​ ตัวอย่างเช่น ปลาจอบซึ่งปกติแล้วขายได้อยู่ที่ราคากิโลละ​ 200​ บาท​ ตัวหนึ่งมีน้ำหนักตั้งแต่​ 3-13​กิโลกรัม​ หลังจากพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อไปขายที่ตลาด​ ร้านอาหารจะนิยมนำไปเสิร์ฟเป็น​เมนูต้มยำ​ อย่าง​ไรก็ตาม​ ชาญณรงค์​ ระบุว่าปริมาณ​ปลามีเกร็ดที่จับได้ลดลงเช่นกัน​ เพราะการสร้างเขื่อนต่าง​ ๆ​ ในช่วงที่ผ่านมา

การสร้างเขื่อนต่าง​ ๆ​ ส่งผลต่อวงจรชีวิตของปลาและชุมชนในอำเภอเชียงคานอย่างมาก​ เพราะเขื่อนไปปิดเส้นทางการอพยพของปลา​ ทำให้ปลาไม่สามารถว่ายกลับมาวางไข่ตามแม่น้ำสาขาต่าง​ ๆ​ ได้​ ในกรณีของเขื่อนไซยะบุรี​ แม้บริษัท​ ช.​ การช่างจะยืนยันว่าได้ภายในเขื่อนได้มีการจัดทางเอาไว้สำหรับให้ปลาอพยพแล้ว​ แต่บริษัทยังไม่ได้ตอบกับผู้สื่อข่าวที่ไปดูงานว่ามีการศึกษาผลกระทบ​อย่างรอบคอบแล้วหรือไม่​

นอกจากนี้​ การสร้างเขื่อนไซยะบุรียังส่งกระทบต่อความผันผวนของระดับน้ำ​ ส่งผลกระทบต่อ​ "ปฏิทินน้ำ" ของแม่น้ำโขง​ รวมไปถึงวงจรชีวิตของปลาและชุมชนทั้งระบบ​ จากที่เคยแบ่งออกเป็นหรือฤดูน้ำหลาก​-น้ำลด​ ระดับการขึ้นลงของ​น้ำจะมีความผันผวนมากเพราะขึ้นอยู่กับการกักน้ำและปล่อยน้ำของเขื่อน​ ส่งผลต่ออุณหภูมิ​และปริมาณตะกอนของน้ำ​ในบริเวณที่ปลาวางไข่​ ลูกปลาฟักตัวได้น้อ​ยลง​ หลายครั้งปลาที่วางไข่ไม่สามารถปรับตัวในสภาพที่ระดับน้ำผันผวนได้และตายในที่สุด​ (กรณีแบบนี้เห็น​ได้ชัดที่สุดในแหล่ง​น้ำที่​ อ.บ้านม่วง​ จังหวัดหนองคาย​)​

ชาญณรงค์ระบุว่า เชื่อนเหล่านี้มีจุดประสงค์​เพื่อผลิตไฟฟ้า​ โดยไม่ได้คำนึงถึง​ "ปฏิทินน้ำ" ที่เชื่อมโยงกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม​ ในประเด็น​นี้ บริษัท​ ช.​ การช่าง​ ยืนยันมาตลอดว่าเขื่อนไซยะบุรีไม่สามารถเก็บน้ำได้​ ทำได้แค่​ "ยกระดับน้ำ" เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น​ ไม่แน่ใจว่าการใช้คำเช่นนี้ต่างจากการเรียก​ "น้ำท่วม" ว่า​ "น้ำรอระบาย" หรือไม่​ เนื่องจาก​อยู่ใกล้​ภาคอีสาน​มากที่สุด​ เขื่อน​ไซยะ​บุรี​จึงส่งผลกระทบ​ต่อระดับน้ำในพื้นที่​อย่าง​ฉับพลัน​ อย่างไรก็ตาม​ ​เขื่อนไซยะบุรีเป็น​เพียง​หนึ่งในเขื่อน​ทั้งหมด​ 39​ แห่งของแม่น้ำโขง​สายหลักและสายสาขา​​ ​

เขื่อนฆ่าชุมชน

เมื่อ​วงจรชีวิตปลาได้รับผลกระทบ​ จากเขื่อน​ ผู้​ประกอบ​อาชีพประมงจึงได้รับผลกระทบ​ไปด้วย​ โรเบิร์ต มาเธอร์​ ผู้​เชี่ยวชาญ​ด้านความหลากหลายทางชีวภาพในแม่น้ำโขง​ ระบุว่าอุตสาหกรรม​ประมงจะค่อย​ ๆ​ หายไป​พร้อมกับปลาในแม่น้ำโขง​ ภูมิปัญญา​​ประมงท้องถิ่นที่มีความเป็​นมายาวนานก็จะพลอยหายไปด้วย​ โดยสิ่งที่จะเข้ามาแทนที่คืออุตสาหกรรม​การท่องเที่ยว​ เนื่องจาก​ผลกระทบต่อระบบนิเวศ​ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อทิวทัศน์ของ​ริมแม่น้ำโขง​

โรเบิร์ต ระบุเพิ่มเติมว่า​ อ.เชียงคาน​ ยังโชคดีที่เป็นจุดยอดนิยมของนักท่องเที่ยว​ ประชาชนจึงยังพอปรับตัวได้​ แต่จากมุมมองของประชาชนในพื้นที่​ การปรับตัวที่ว่านี้ถือเป็น​เรื่องน่าเศร้า​ ชาวประมง​ อ.เชียงคานระบุว่า​ ​จากเดิมที่เคยประกอบอาชีพหาปลาและปลูกพืชระยะสั้นที่บริเวณริมตลิ่ง​ ปัจจุบัน​ปลาหาจับได้ยากขึ้น​ ส่วนการปลูกพืชระยะสั้นที่บริเวณ​ริมตลิ่งก็ไม่สามารถทำได้อีกต่อไป​ เพราะระดับน้ำผันผวน​ ทำให้ไม่สามารถประเมินได้ว่าแปลงผักริมตลิ่งควร​มีความสูงเหนือน้ำเท่าใด​ เวลาปลูกถ้าไม่โดนท่วม​ในเวลาต่อมา ก็จะแห้งกรังขาดความชื้นไปเลย​ เพราะความผันผวนของระดับน้ำ

เมื่อผู้สื่อข่าว​ถามว่าทุกวันนี้ประกอบอาชีพอย่างไร​ ชาวประมงตอบว่าต้องหันไปทำนาและเป็​นแรงงานรับเหมาก่อสร้างแทน​ แต่ต่อให้ไปทำนา​บางพื้นที่ก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน​ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลยระบุว่าในช่วงเดือนกรกฏา​คม​ที่มีการทดลองไฟฟ้า​ที่เขื่อนไซยะบุรี​ หนึ่งในประเด็น​ที่น่ากังวลคือประชาชนต้องจ่ายค่าไฟสูงขึ้นเพื่อสูบน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ในการเกษตร​ เนื่องจากน้ำน้อยจึงทำให้สูบน้ำยากและต้องจ่ายค่าไฟแพงขึ้น

เขื่อนศรีสองรักษ์: ​ทางแพร่งความมั่นคง

​ผลของการสร้างเขื่อนต่าง​ ๆ​ ที่กระทบต่อชุมชนริมน้ำโขงของ​ อ.เชียงคาน​เป็น​เพียง​ส่วนหนึ่ง​ของภาพปัญหา​ทั้งหมดเท่านั้น​ หากมองมุมกว้างในระดับระหว่าง​ประเทศ​ จะพบว่าในแง่หนึ่งแล้วปริมาณ​เขื่อนที่เพิ่มขึ้นเรื่อย​ ๆ​ สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์​ระหว่าง​ประเทศ​ต่าง​ ๆ​ ที่อยู่ติดแม่น้ำโขงซึ่งยังเป็​นไปในลักษณะ​ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน​

เมื่อประเทศใดประเทศหนึ่งเริ่มสร้างเขื่อนเพื่อกักตุนน้ำ​ไว้ใช้​ (ตัวอย่าง​เช่น​ โครงการ​สร้างเขื่อน​เพื่อ​เป็น​ Battery of Asia ของรัฐบาล​ลาว)​ ประเทศอื่น​ ๆ​ ก็จะเกิดความกลัวว่าจะไม่มีน้ำไว้ใช้​ จนนำไปสู่การสร้างเขื่อนเพื่อกักตุนน้ำไว้ใช้บ้าง​ ​ในแง่หนึ่งแล้ว​การขยายตัวขึ้นของเขื่อนจึงเป็น​ภาพสะท้อนของทางแพร่งของความมั่นคง​ หรือภาษาอังกฤษ​เรียกว่า​security​ dilemma

เขื่อนศรีสองรักษ์ของไทยที่กำลังเริ่มสร้างแล้ว สะท้อนให้เห็​นสภาวะปัญหาที่ว่านี้ได้เป็น​อย่างดี​

ผู้​ว่า​ราช​การจังหวัด​เลยให้ข้อมูลว่าแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสมทบกับแม่น้ำโขงสายหลัก​ เมื่อแม่น้ำโขงระดับน้ำลดลงและมีความผันผวนสูงขึ้น​เพราะการสร้างเขื่อนในที่อื่น​ ๆ​ ประเทศไทยจึงต้องสร้างเขื่อนเพื่อเก็บ​น้ำของแม่น้ำเลยไว้ใช้ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง​

ชุมชนบ้านกลางคัดค้านการสร้างเขื่อนศรีสองรัก

ในระยะยาว​ เขื่อนศรีสองรักษ์จะเป็น​ส่วนหนึ่งของโครงการ​โขง-เลย-ชี-มูล​ กล่าวคือตามธรรมชาติแล้วน้ำของแม่น้ำเลยจะไหลลงสู่แม่น้ำโขง​ แต่เขื่อนศรีสองรักษ์จะเปลี่ย​นทิศทางการไหลของน้ำ​ โดยผันน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาสู่แม่น้ำเลย​ จากนั้นลำเลียงน้ำผ่านอุโมงค์​ไปสู่เขื่อนต่าง​ ๆ​ ในแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลเพื่อเพิ่ม​พื้นที่​เกษตร​กรรมในภาคอีสาน​ ​ปัจจุบันเริ่ม​มีชุมชนในพื้นที่ต่าง​ ๆ​ ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนต่าง​ ๆ​ ตามแผนโครงการออกมาคัดค้านแล้ว

แต่​การสร้างเขื่อนศรีสองรักษ์ก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ​และชุมชนเช่นกัน​ ชาวประมง​ อ.เชียงคานระบุ​ว่าการสร้างเขื่อน​ศรีสองรักษ์จะส่งผลให้ปลาไม่สามารถเข้าไปวางไข่ในแม่น้ำเลยซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาได้​ นอกจากนี้​ เมื่อวันที่​ 29​ กรกฎาคม​ 2562​ ประชาชน​ในชุมชนบ้านกลาง​ อ.เชียงคาน​ ยังได้ถือป้ายเดินขบวนมายื่นหนังสือแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด​เลย​ โดยขอให้มีพิจารณา​ทบทวน​แผนการสร้างเขื่อน​อีกครั้ง​ด้วย

หนูเอื้อ​ บุนเทียน​ 57 ปี​ ให้ข้อมูลว่าที่ชุมชนบ้านกลางเคยน้ำท่วมใหญ่สองครั้งใน​ พ.ศ.​ 2521 และ​ พ.ศ.​ 2540 เพราะเป็น​พื้นที่​แอ่งกระทะซึ่งตั้งอยู่​ริมแม่น้ำเลย​​ หากมีการสร้างเขื่อนจะส่งผลทำให้​ระดับน้ำของแม่น้ำเลยสูงขึ้น​จนชุมชนได้รับผลกระทบ​

ปกติแล้วประชาชน​เรียกว่าแม่น้ำเลยเป็น​ "ตู้กับข้าว" ของชุมชน​ ในช่วงฤดูน้ำลด​ บริเวณ​ริมน้ำของบ้านกลางจะมีพืชริมน้ำและสัตว์น้ำตื้นอยู่ตามธรรมชาติ​ ประชาชนพื้นที่จะนำผัก​ปลาและกุ้งหอยจากแม่น้ำเลยมาประกอบอาหาร​ อยู่ได้อย่างพอมีพอกินตามหลักเศรษฐกิจ​พอเพียง​ แต่ถ้าระดับน้ำสูงขึ้น​ ประชาชนก็หวัง​พึ่ง​ "ตู้กับข้าว" ของชุมชนไม่ได้อีกต่อไป

เขื่อนศรีสองรักษ์เป็น​เพียง​หนึ่งในเขื่อนจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นเพราะความไม่ไว้วางใจกันในภูมิภาค​ หากยังไม่มีกติการะหว่าง​ประเทศ​ที่​มีประสิทธิภาพ​ และยังไม่มีการประเมินผลในภาพรวม​ ผลกระทบ​ต่อชุมชนและระบบนิเวศตลอดทั้งภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง​คงเป็น​เรื่อง​หลีกเลี่ยง​ได้ยาก​ 

ผักเผาะแผะ​ พืชน้ำตื้นในแม่น้ำเลยที่ประชาชนในพื้นที่นำมาประกอบอาหาร

โรเบิร์ต มาเธอร์​ระบุว่าแม้การสร้างเขื่อน​ในปัจจุ​บันจะมีการปรับปรุงให้เป็น​ไปตามเกณฑ์​ของ​การประเมิน​ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ​ EIA​ แต่​การประเมิน​ลักษณะ​นี้พิจารณา​เป็น​กรณี​ ๆ​ ไป​ ทำให้ไม่เห็น​ผลกระทบ​ที่​เกิดขึ้น​ทั้งหมดในภาพใหญ่​ ต่อให้มีการปรับแผนการสร้างเขื่อนแห่งหนึ่ง​เพื่อลดผลกระทบ​ทางสิ่งแวดล้อม​ แต่ผลกระทบ​ที่ลดลงของหลาย​ ๆ​ เขื่อนก็ยังสามารถ​ทบทวีจนกลายเป็น​ปัญหา​ใหญ่​ได้

ทางออกในตอนนี้คือการหยุดสร้างเขื่อนเพิ่ม​ และหากอาเซียน​จริงใจเกี่ยวกับ​การส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน​เหมือนอย่างที่โฆษณา รัฐบาลต่าง​ ๆ​ ต้องหันหน้าคุยกันและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด​ ทั้งยัง​พิจารณา​ถึงระบบนิเวศ​ในแม่น้ำโขงโดยอาศัย​ความ​รู้​ภูมิปัญญา​ของชุมชนมากขึ้น​ แต่ละเขื่อนควรมีการจัดตารางเวลาร่วมกันเพื่อผลัดเวียนกันกักเก็บน้ำและปล่อยน้ำ​อย่างเป็นระบบ เพื่อไม่ให้ระดับน้ำผันผวนจนเกินไปจนสัตว์​น้ำและวิถีชุมชนต้องสูญพันธุ์​ 


การลงเก็บข้อมูลภาคสนามได้รับการสนับสนุนจากชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net