Skip to main content
sharethis

'Rights of the River' คำประกาศแม่น้ำโขงชี้เขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด-ส่งผลกระทบต่อชีวิตประชาชน-สิ่งแวดล้อมรุนแรง แนะรัฐฟังเสียงประชาชนทันที 'วิโรจน์' ก้าวไกล เตรียมส่ง สตง.-ป.ป.ช.จี้นายกฯ ตรวจสอบ-รับผิดชอบ

 

10 ธ.ค. 2566 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (10 ธ.ค.) ที่โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีการจัดงาน "ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง" ขึ้นเป็นวันที่ 2 กิจกรรมวันนี้มีการจัดขบวนเรือ ทั้งเรือคายัก เรือหางยาว และเรือโดยสาร เพื่อรณรงค์ปกป้องแม่น้ำโขง โดยเริ่มต้นตั้งแต่ห้วยเม็ง จนถึงโฮงเฮียน แม่น้ำโขง ซึ่งมีเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมขบวนและร่วมสังเกตการณ์เป็นจำนวนมาก

ต่อมา นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้อ่านคำประกาศแม่น้ำโขง ระบุว่า วันนี้พวกเราลูกหลานแม่น้ำโขง พร้อมด้วยมวลมิตรจากหลากหลายลุ่มน้ำ เช่น สาละวิน แม่น้ำยม อิรวดี เจ้าพระยา ฯลฯ ได้มารวมกันเพื่อหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล สถานการณ์ และมิตรไมตรี

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว (ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)

เกือบ 3 ทศวรรษแล้วที่แม่น้ำโขงของเราเผชิญกับความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่เขื่อนแห่งแรกสร้างขวางกั้นสายน้ำที่ตอนบน จวบจนปัจจุบันมีเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงในจีนเรียงรายกันถึง 13 เขื่อน รวมถึง 3 ปีก่อน เขื่อนไซยะบุรีก็ถูกสร้างกั้นสายน้ำโขง และต่อมาคือ เขื่อนดอนสะโฮง 

แม่น้ำโขงมิใช่รางน้ำ ท่อส่งน้ำ แต่คือกระแสธาราที่หล่อเลี้ยงชีวิต หล่อเลี้ยงลูกหลานนานาสายพันธุ์ตลอดลำน้ำ นับตั้งแต่หิมะละลายบนที่ราบสูงทิเบต ไหลผ่านโตรกเขา ภูเขาน้อยใหญ่ มีลำน้ำสาขาน้อยใหญ่เป็นดั่งแขนง พื้นที่ชุ่มน้ำ ป่า ทุ่งนา แปลงเกษตร ทะเลสาบเขมร แม่น้ำโขงไหลผ่านที่ราบลงสู่ทะเล ผ่านพื้นที่ซึ่งปัจจุบันคือ 6 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม 2566  ได้มีการจัดงาน "ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง" โดยมีหลายส่วนเข้าร่วมทั้งชุมชน ผู้แทนสถานทูต สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ เยาวชน กลุ่มสตรี ผู้เฒ่าผู้แก่ และอื่นๆ โดยได้รับฟังเสียงสะท้อนโดยเฉพาะชุมชนริมแม่น้ำโขงที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหากมีการสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงในลาวห่างจากชายแดนไทยเพียงกว่า 90 กิโลเมตร เสียงสะท้อนอันเจ็บปวดและน้อยใจของชาวบ้านที่ไม่ได้รับการเหลียวแลใดๆ ทั้งในเรื่องการเปิดเผยข้อมูลและกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน ทำให้มีข้อเสนอในการจัดการทรัพยากรแม่น้ำโขง และต้องให้มีการหาทางออกร่วมกัน ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรรับฟังประชาชนในทันที

เมื่อแม่น้ำโขงถูกควบคุมโดยเขื่อนไฟฟ้า กระแสธาราก็เปลี่ยนแปลง ระดับน้ำโขงที่เคยขึ้นลงตามฤดูกาลน้ำหลากน้ำแล้งก็แปรเปลี่ยนอย่างสาหัส เกิดน้ำหลากในหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝนกลับเกิดน้ำแห้ง สิ่งเหล่านี้รบกวนระบบนิเวศแม่น้ำโขงอย่างรุนแรง พันธุ์ปลาที่อพยพตามฤดูกาลได้รับผลกระทบ ประมงแม่น้ำโขงเสียหาย สรรพชีวิตต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงที่ตนเองไม่ได้เลือก

ผลกระทบจากเขื่อนเป็นที่ประจักษ์ ชัดเจน กว้างขวาง แต่ประเทศไทยกลับลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากบริษัทเขื่อนอีก 3 แห่ง ได้แก่ ปากลาย หลวงพระบาง และปากแบง ซึ่งเป็นการร่วมทุนของเอกชนจีน-ไทย ซึ่งขณะนี้เขื่อนถูกเรียกว่าไฟฟ้าสะอาด และราคาถูก ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง แต่ราคาทั้งหมดนี้ถูกจ่ายด้วยระบบนิเวศที่เสียหาย จ่ายด้วยชุมชนตลอดลุ่มน้ำที่สูญเสียวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ จ่ายด้วยค่าไฟฟ้าที่ประชาชนไทยทุกคนแบกรับภาระในใบเรียกเก็บเงินทุกๆ เดือน 

"เราอยากเห็นแม่น้ำโขงที่สามารถหล่อเลี้ยงนานาชีวิตดังที่เคยเป็นมานับล้านๆ ปี อยากเห็นการวางแผนการพัฒนาไฟฟ้าที่รับผิดชอบ คำนึงถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนเท่าเทียมกันกับนักลงทุนเอกชนรายใหญ่ อยากเห็นความรับผิดชอบข้ามพรมแดน มีความโปร่งใสและเป็นธรรม เขื่อนไม่ใช่พลังงานสะอาด เพื่อสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน และสิทธิของแม่น้ำ” นิวัฒน์ กล่าว

'วิโรจน์' เตรียมดึง สตง.-ป.ป.ช. เบรกโครงการซื้อไฟจากเขื่อนแม่โขง ทั้งที่ไฟสำรองล้น

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมากลไกการต่อสู้ภาคประชาชนจะใช้การชุมนุมเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ให้แก่สังคม แต่ฝ่ายบริหารกลับไม่รู้สึกกังวลแล้วนำข้อเรียกร้องเหล่านั้นเอามาพิจารณา แต่กลับปล่อยให้ประชาชนต่อสู้จนหมดแรงจนต้องถอยกลับไปเอง

"เพื่อให้นายกรัฐมนตรีมีความรับผิดชอบโดยตรงต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ควรปล่อยให้เป็นกลไกการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานป้องกันคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยพรรคก้าวไกลจะทำหนังสือร้องเรียนถึงประธานกมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ ให้รวบรวมและประสานงานกับประชาชนชาวเชียงของ และเวียงแก่น ในการรวบรวมข้อเท็จจริง ก่อนทำหนังสือถึง สตง. และ ปปช. เพื่อให้ใช้อำนาจตามมาตรา 85 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ของ สตง. กล่าวคือเมื่อพบว่า นโยบายหรือมาตการใดๆ ที่สร้างความเสียหายแก่ราชการหรือผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณ ก็สามารถทำความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี มาตรา 32 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หากพบว่านโยบายหรือการดำเนินการใดๆ ที่ไม่ชอบมาพากล เสี่ยงต่อการคอร์รัปชัน ก็สามารถส่งไปยังนายกฯ ได้ 

"กรณีการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบง ทำก่อนที่แผนพลังงานแห่งชาติฉบับต่อไปที่คาดว่าประกาศใช้ในปี พ.ศ. 2567 ขอตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรถึงจะให้สอดคล้องกับแผนพลังงานแห่งชาติ และทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้ายังคงสูงกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าในระดับที่เกินพอสมควร ประเด็นนี้ใครจะรับผิดชอบ พรรคก้าวไกล จะเร่งดำเนินการ หาก สตง. และ ป.ป.ช.ทำความเห็นถึงนายกฯ ย่อมถือว่านายกฯ รับทราบอย่างเป็นทางการ ผมหวังว่านายกฯ จะดำเนินการใดๆ อย่างรอบคอบและโปร่งใส หากเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น นายกฯ จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้" วิโรจน์ กล่าว

ขบวนเรือรณรงค์ปกป้องแม่น้ำโขง (ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)

ทั้งนี้ งาน 'ฮอมปอย ศรัทธาแม่โขง' จัดระหว่าง 9-10 ธันวาคม 2566 ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ภายในงานมีทำบุญอุทิศส่วนกุศล และการแสดงศิลปะและดนตรีโดยศิลปินแขนงต่างๆ เพื่อรำลึกถึงผู้ปกป้องแม่น้ำโขงผู้ล่วงลับ การขายสินค้าผลิตภัณฑ์จากประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการเสวนา 2 วง ซึ่งมีทั้งเสียงสะท้อนจากชุมชน นักวิชาการ สส.พรรคก้าวไกล รวมถึงตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตจีน ร่วมสะท้อนวิสัยทัศน์เรื่องแม่น้ำโขง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net