Skip to main content
sharethis
  • เสวนา 'ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง' อ.เชียงของ จ.เชียงราย ผู้แทนสถานทูตจีน แจงภัยแล้งปลายน้ำโขง ไม่ได้มาจากเขื่อนจีน เชื่อการแก้ไขต้องร่วมมือด้านข่าวสาร มอง 5 ประเทศริมโขง เป็นพันธมิตรดื่มน้ำสายเดียวกัน 
  • 'สุริชัย หวันแก้ว' มองการสร้างเขื่อนไม่เคยถามคนในพื้นที่ ชวนคิดจะทำยังไงให้การร่วมมือแก้ไขปัญหาและแบ่งปันข้อมูลเกิดขึ้นได้เร็ว และไกลกว่าระดับรัฐบาล ไม่ผลักภาระไปอนาคต สส.ก้าวไกล ร่วมถามหามาตรฐาน EIA เตรียมดึง สตง. ป.ป.ช. กดดันนายกฯ กรณีเขื่อนปากแบง

 
10 ธ.ค. 2566 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวานนี้ (9 ธ.ค.) ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีการจัดงาน "ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง" ได้มีการจัดเสวนา "ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง" โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, หลี่ จิ้นเจียง ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และเพียรพร ดีเทศน์ นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดำเนินรายการ  

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ทางผู้จัดงานชี้แจงว่าได้เชิญสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เข้าร่วมฟังเสียงสะท้อนของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงด้วย แต่ทางสถานทูตสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ไม่ได้ส่งตัวแทนมาเข้าร่วม แม้มีการรับปากว่าจะส่งตัวแทนมาแล้ว 

อ่านข่าววงเสวนา วงที่ 1 

ผู้แทนทูตจีน ปัดเป็นตัวการภัยแล้งแม่โขง เชื่อการแก้ไขต้องร่วมมือด้านข่าวสาร

หลี่ จิ้เจียง ผู้แทนสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านการเมือง กล่าวว่า ในฐานะที่เป็น ผู้แทนสถานทูตจีนเพียงคนเดียวบนเวทีเสวนานี้ อยากพูดถึงวิสัยทัศน์ในการทำงานของจีน ตั้งแต่ต้นน้ำโขงในจีนเรียกว่าแม่น้ำล้านช้าง จีนกับ 5 ประเทศลุ่มน้ำโขงร่วมดื่มน้ำสายเดียวกัน มีความเชื่อมโยงเป็นเพื่อนมิตรที่ดี  
 
"ปี 2559 ได้มีการเปิดตัวความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขง (Lancang Mekong Cooperation หรือ LMC) วานนี้ (8 ธ.ค.) รัฐมนตรี 6 ประเทศ ร่วมประชุมกันที่กรุงปักกิ่ง (ประเทศจีน) ซึ่งจะมีความร่วมมือกันมากมาย ในฐานะที่มีกลไกร่วมหารือ พัฒนาแบ่งปันกัน ได้รับความร่วมมืออย่างดี ปีที่แล้ว มูลค่าการค้ากับจีน 510.17 แสนล้านดอลาร์ (สหรัฐฯ) เพิ่มเป็น 2 เท่าจาก 7 ปีก่อน เทศกาลผลไม้ในลุ่มประเทศน้ำโขง มีการนำเข้าทุเรียน รังนก ลำไย มะพร้าวสดเข้าจีน" ผู้แทนทูตจีนประจำประเทศไทย กล่าว  

หลี่ กล่าวอีกว่า กลไกด้านเกษตร มีการนำเข้าฝึกอบรมความเชี่ยวชาญด้านการเกษตรกว่า 1 พันคน ช่วยยกระดับด้านเกษตรแก่ประชาชน โดยไทยเป็นผู้ริเริ่ม LMC และจะเข้ารับตำแหน่งประธาน LMC ในอนาคต มีการอนุมัติกว่า 70 โครงการ มูลค่า 20 ล้านดอลลาร์ (สหรัฐฯ) ผ่านโครงการต่างๆ ของไทย LMC คือการพัฒนา สำหรับจีนการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกระดับชีวิตประชาชนคือความเร่งด่วนในปัจจุบัน สุดท้ายนี้ ขออวยพรให้อนาคตลุ่มประเทศน้ำโขงมีอนาคตที่สดใส เชื่อว่าภายใต้ความร่วมมือ แม่น้ำ Mother River จะสดใส เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประชาชน 

ผู้แทนจากจีน ระบุต่อว่า ส่วนประเด็นเกี่ยวกับเขื่อนบนแม่น้ำโขง และเรื่องภัยแล้ง มีข่าวที่โทษจีนว่า เขื่อนบนแม่น้ำลานชางทำให้เกิดภัยแล้ง รัฐบาลจีนให้ความสำคัญเกี่ยวกับความคิดเห็นของเพื่อนมิตรประเทศลุ่มน้ำโขง ทางจีนส่งผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมาร่วมกันศึกษาด้วยกับคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) เพื่อหาหลักฐานว่า ใครเป็นผู้ก่อภัยแล้งให้ปลายน้ำ ไม่ใช่จีน ปริมาณน้ำโขงในส่วนล้านช้าง มี 13.5 เปอร์เซ็นต์ ที่แชร์กับแม่น้ำโขงตอนล่าง พื้นที่บริเวณของแม่น้ำล้านช้าง คือ 20เปอร์เซ็นต์ ปีที่เกิดภัยแล้ง ที่จีนในยูนนานที่น้ำโขงไหลผ่านก็เกิดภัยแล้งเหมือนกัน อาจจะเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ มีการติดตั้งสถานีวัดน้ำที่ท้ายน้ำในแม่น้ำโขง เราแบ่งปันข้อมูลน้ำกับประเทศตอนล่าง รวมทั้งความพยามรักษาสิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศต่าง ตอนนี้เขื่อนของเรามีการปล่อยน้ำในฤดูแล้ง เก็บน้ำในฤดูฝน ฟังทุกท่านแล้วคิดว่าต้องแก้ไขปัญหาด้วยการแบ่งปันข้อมูลกัน เราต่างดื่มกินแม่น้ำสายเดียวกัน

'สุริชัย' มองการสร้างเขื่อนไม่เคยถามคนในพื้นที่ ชวนคิดจะทำยังไงให้การร่วมมือแก้ไขปัญหาและแบ่งปันข้อมูลเกิดขึ้นได้เร็ว และไกลกว่าระดับรัฐบาล

สุริชัย หวันแก้ว ศาสตราจารย์กิตติคุณ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แม่น้ำโขงมีความหมายสำหรับคนพื้นที่ แม้ว่าจะห่างจากคนกรุงเทพฯ มาก ดังนั้น มองว่าความรู้สึกกับแม่น้ำโขง ต้องถามคนที่ผูกพันกับแม่น้ำให้มากขึ้น แต่ที่ผ่านมาไม่มีการถามไถ่คนในพื้นที่เลย เวลาทำสัญญา ก็เป็นสัญญาที่คนในพื้นที่ไม่ได้รู้ และไม่ได้อ่านก่อน ซึ่งเป็นการสะท้อนเรื่องการตัดสินใจการสร้างเขื่อนว่าคนที่ได้รับผลกระทบไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเลย กว่าจะส่งเสียงถึงผู้มีอำนาจต้องใช้หลายช่องทางทั้งทางตรงทางอ้อม เราศึกษากันยังไง ถ้ากระทบใครจะดูแลกระบวนการ ผลกระทบบ้าง คนรับผิดรับชอบไม่มี มีแต่การสร้าง ทำสัญญา และอ้างแต่ข้อมูลว่า ประเทศเราต้องการไฟฟ้า ปัจจุบันการสร้างเขื่อนประเทศไหนสร้างก็เป็นอธิปไตยประเทศนั้น กลายเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศแบ่งเป็นเสี้ยวๆ แต่ผลกระทบมันกว้างไกลเกินกว่าประเทศนั้นจะดูแล 

สุริชัย หวันแก้ว (ที่มา: สกว.)
 

อาจารย์จากจุฬาฯ กล่าวอีกว่า เกิดคำถามที่ผู้แทนทูตจีนพูดว่า ใครจะตรวจสอบการตัดสินใจพัฒนาเหล่านี้ว่ามีความยุติธรรมไหม มันไม่มีความชัดเจน และไม่ยุติธรรม วันนี้เราได้ยินกับหูว่าความโปร่งใสเรื่องสร้างเขื่อนปากแบง มันไม่มีจริง และการซื้อพลังงานทั้งที่เรามีพลังงานสำรองถึง 69 เปอร์เซ็นต์ 
 
"เมื่อรับผิดชอบไม่ได้ก็ผลักภาระไปสู่อนาคต กลายเป็นว่าเราจะสร้างระบบที่ตรวจสอบร่วมกันไม่ได้ ภาคประชาสังคมผู้ได้รับผลกระทบ ถ้าเรารู้สึกว่าแม่น้ำเป็นของเราทุกคน มันไกลกว่าอธิปไตยของใครของมัน ในความรับผิดชอบของความเป็นมนุษย์ มันต้องกว้างกว่านั้น กว้างกว่าระดับรัฐบาล พี่น้องข้ามพรมแดนได้แลกเปลี่ยนกัน ผ่านสังคมออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง" สุริชัย กล่าว 
 
สุริชัย กล่าวว่า มีการประชุม MRC ครั้งที่ 1 ที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รัฐมนตรีจากจีนมาประชุมด้วย จนมีการตอบสนองข้อมูลจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน เป็นครั้งแรกที่จีนได้แสดงท่าทีที่เป็นประโยชน์ในการแชร์ข้อมูล ให้คนแม่น้ำโขงตอนล่าง หลักอธิปไตยเป็นเรื่องหนึ่ง  

"เพราะให้แต่รัฐบาลตัดสินใจ ชาวบ้านไม่มีส่วนตัดสินใจเลย การแชร์ข้อมูลจึงไม่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบันมีออนไลน์ เราสื่อสารได้หลากหลายมาก เราจะแก้ปัญหาข้อมูลที่ล่าช้ายังไง ชาวบ้านจะยังรอคอยแบบน้ำตาไหลน้อยอกน้อยใจอีกไหม การสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบการตัดสินใจของประเทศลุ่มโขงสำคัญมากกว่าอธิปไตยของแต่ละประเทศ ระบบ MRC-LMC ต้องช่วยรองรับกลไกนี้ ภูมิรัฐศาสตร์ปัจจุบันมีจุดอ่อนสำคัญ ไม่ให้ความสนใจต่อความเสื่อมสลายของระบบนิเวศน์ และให้อำนาจกับเมืองหลวงในการตัดสินใจ ผลประโยชน์ของประเทศ กับผลประโยชน์ของประชาชน น่าจะรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน" สุริชัย กล่าว  

สส.ก้าวไกล ถามหามาตรฐาน EIA เตรียมดึง สตง.-ป.ป.ช. ส่งหนังสือถึงนายกฯ 

ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ได้ฟังความคิดเห็นของชาวบ้านแล้วมีความเห็นในทางเดียวกันว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนมีมากขึ้นอย่างไร แล้วจะทำอย่างไรต่อ ถ้า EIA ชี้ให้เห็นว่าไม่ผ่าน เขื่อนจะไม่ถูกสร้างหรือไม่ 

ศุภโชติ ไชยสัจ (ที่มา: ทีมสื่อพรรคก้าวไกล)

คำถามคือกระบวนการทำ EIA มาตรฐานในการจัดทำคืออะไร ถ้ากำหนดนโยบายระยะยาว มันสอดคล้องกับมาตรฐานระดับนานาชาติแค่ไหน ดังนั้น ถ้าเราทำประเมินผลกระทบอย่างครอบคลุมทั้งแม่น้ำสายหลัก สายรอง ไปจนถึงอัตราค่าไฟต้นทุนพลังงาน สัญญาแบบ Take or Pay ไทยเรามีรูปแบบสัญญาซื้อไฟฟ้าที่แปลก คือไม่ว่าต้นทุนจะต่ำลงเพียงใด ไฟฟ้าที่ซื้อมาใช้หรือไม่ใช้ รัฐจ่ายเงินทุกกรณี เราจะต้องจ่ายในอัตราที่สัญญากำหนด จึงเป็นเรื่องที่ต้องทบทวน ดังนั้นการศึกษาผลกระทบอย่างครอบคลุมเพียงพอจึงสำคัญต่อการสร้างเขื่อน  

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวอีกว่า พรรคก้าวไกลมีกรรมาธิการ พัฒนาเศรษฐกิจ การศึกษาผลกระทบครอบคลุม เราจะเชิญสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ป.ป.ช. เราจะรอดูว่า นายกรัฐมนตรีจะมีแอ็กชันอย่างไรต่อ ถ้านิ่งเฉย ก็จะถือว่าจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 187 

ขณะที่ศาสตราจารย์ ฟิลิปส์ เฮิร์ช จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า ถ้ามองกลับไปยาวๆ การเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงหลายร้อยปีเราคาดการณ์ได้ แค่ปัจจุบันเราไม่รู้แล้วว่าระดับน้ำขึ้นลงเป็นอย่างไร  

"เราได้ยินผลกระทบจากเขื่อนมาตลอด การเปลี่ยนแปลงเกิดตลอดทั้งลุ่มน้ำ ไม่ได้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เราได้ยินปัญหาเรื่องประเมินผลกระทบ จากการมีส่วนร่วมใช้ข้อมูลน้อยมาก ดังนั้น ทำอย่างไรให้กระบวนการศึกษาผลกระทบรอบด้านจริงๆ โดยเฉพาะประเด็นความจำเป็นด้านพลังงานของไทย" ฟิลลิปส์ กล่าว

ทั้งนี้ เสวนา 'ภูมิรัฐศาสตร์แม่น้ำโขง' เป็นส่วนหนึ่งของงาน 'ฮอมปอย ศรัทธาแม่โขง' จัดระหว่าง 9-10 ธันวาคม 2566 ที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ภายในงานมีทำบุญอุทิศส่วนกุศล และการแสดงศิลปะและดนตรีโดยศิลปินแขนงต่างๆ เพื่อรำลึกถึงผู้ปกป้องแม่น้ำโขงผู้ล่วงลับ การขายสินค้าผลิตภัณฑ์จากประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนการเสวนา 2 วง ซึ่งมีทั้งเสียงสะท้อนจากชุมชน นักวิชาการ สส.พรรคก้าวไกล รวมถึงตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตจีน ร่วมสะท้อนวิสัยทัศน์เรื่องแม่น้ำโขง

บรรยากาศ ฮอมปอย ศรัทธาแม่น้ำโขง งาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย (ที่มา: สำนักข่าวชายขอบ)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net