Skip to main content
sharethis

สำนักข่าวชายขอบสัมภาษณ์ กมธ.การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ระบุเตรียมเชิญ ป.ป.ช.-สตง.ร่วมสอบโครงการเขื่อนปากแบง ห่วงสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.-เอกชน ชาวบ้านริมโขงเดือดร้อนอีก น้ำโขงพุ่งสูงหน้าแล้งทำ “ไก” จมหายชาวบ้านขาดรายได้ประจำปี

สำนักข่าวชายขอบ รายงานเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566 ว่านายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีราชชื่อพรรคก้าวไกล และกรรมาธิการ(กมธ.)การพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ทำหนังสือถึงประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ ภายหลังจากรับเรื่องร้องเรียนและลงพื้นที่กรณีที่ชาวบ้านริมแม่น้ำโขง จ.เชียงราย กำลังจะได้รับความเดือดร้อนจากการโครงการสร้างเขื่อนปากแบง ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงในประเทศลาว ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ราว 90 กิโลเมตร ซึ่งทราบว่าขณะนี้กำลังบรรจุเรื่องนี้ เพื่อเชิญฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้ข้อมูลและพิจารณา

นายศุภโชติกล่าวว่าจะมีการเชิญผู้แทนของคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้แทนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มาร่วมรับฟังข้อมูล และเชิญตัวแทนภาคประชาชนมาให้ข้อมูล ซึ่งหลังจากมีการรับฟังข้อมูลรอบด้านแล้ว จะขอความเห็นของหน่วยงานเหล่านี้เกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และภาคเอกชนด้วย เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กฟผ. รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายกรัฐมนตรี

วันเดียวกัน ที่บริเวณหัวดอนยาบ หาดหินแม่น้ำโขง บ้านหาดไคร้ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายจีระศักดิ์ อินทะยศ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของ เปิดเผยว่าเช้าวันเดียวกันนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมเศรษฐกิจที่สำคัญในฤดูแล้งของชาวบ้าน คือการจกไก หรือเก็บสาหร่ายแม่น้ำโขง โดยมีชาวบ้านมาจกไก บริเวณท่าน้ำบ้านหาดไคร้ เพียง 2-3 คน จากเมื่อวานนี้พบว่ามีชาวบ้านมาจกไกกว่า 15 คน ระดับน้ำโขงสูงที่ขึ้นทำให้น้ำลึกเกินไปชาวบ้านไม่สามารถจกไกได้ส่วนหนึ่งจำเป็นต้องหยุดจกไกในระหว่างนี้ แต่มีบางคนไปหาท่าน้ำที่เป็นหาดอื่นที่ไม่ลึกมากพอลงจกไกได้

ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงของกล่าวว่า ช่วง 2-3 วันนี้ ระดับน้ำสูงโขงขึ้นประมาณ 32 เซนติเมตร จากระดับ 1.48 เมตร ขยับขึ้นอยู่ที่ 1.80 เมตร เนื่องจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีนมีการปล่อยน้ำ และจากการวัดค่าความขุ่นของน้ำอยู่ที่ระดับ 31 เซนติเมตร ชัดเจนว่าน้ำใสขึ้น สำหรับการเก็บไกในปีนี้พบว่าชาวบ้านเริ่มลงเก็บไกตั้งแต่วันที่ 5 ธันวาคม จุดแรกที่ชาวบ้านไปจกจะอยู่บริเวณหาดดอนแวงกลางแม่น้ำโขง ที่มีทั้งคนลาวและคนไทยไปเก็บกันตั้งแต่เช้าประมาณ 6 โมงเช้าเพราะในช่วงปีนี้อากาศไม่หนาวเย็นมาก อุณหภูมิประมาณ 20 องศาเซลเซียส ในเวลาเช้ามืด ในปีก่อน ๆ อุณหภูมิเช้ามืดที่ชาวบ้านลงไปเก็บจะอยู่ที่ประมาณ 10 องศาเซลเซียส


ที่มาภาพ: สำนักข่าวชายขอบ

“ไกช่วงนี้ยังเป็นไกต้นฤดู สียังไม่สวย กลิ่นยังไม่หอม ส่วนใหญ่เป็นไกปอน มีสีเขียวแต่ไม่เข้ม แต่เมื่ออากาศเริ่มเย็นอาจจะทำให้ไกค่าว หรือเหนียว ไกค่าวนี้ซึ่งจะออกบริเวณที่น้ำไหลเชี่ยว ชาวบ้านคาดว่าในช่วงปลายเดือนธันวาคมน่าจะเริ่มเกิดไกชนิดนี้ขึ้นเมื่ออากาศอุณหภูมิเหมาะกับไกชนิดนี้จะเกิดขึ้น เป็นไกชนิดที่ชาวบ้านนิยมเพราะกลิ่นหอม เส้นเหนียวนุ่ม ไม่มีกลิ่นคาว เมื่อเอามาผึ่งแดดกลิ่นจะหอมน่ารับประทาน” นายจีระศักดิ์ กล่าว

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่าเร็วๆ นี้ได้ล่องเรือคายัค สำรวจพื้นที่จกไกของชาวบ้านสองฝั่งโขง พบว่ามีทั้งคนไทยและคนลาวจกไกตามจุดต่าง ๆ ทั้งเกาะ ดอน และริมท่าน้ำ 2 ฝั่งแม่น้ำโขง ได้สอบถามมีทั้งชาวบ้านที่จกไกเพื่อเป็นรายได้เสริม และทำเป็นอาชีพพบว่าเฉลี่ยจะมีรายได้ต่อฤดูกาลตั้งแต่ 1-2 หมื่นบาท จนถึงประมาณ 1 แสนบาท สำหรับคนที่ทำเป็นอาชีพนั้นมีที่ทั้งลงจกไกเองที่แม่น้ำโขง รับซื้อไกดิบมาทำแห้ง หรือแปรรูปเป็น ไกน้ำข่า ทำไกป่น หรือไกยี บรรจุห่อแช่ตู้เย็นไว้ขายได้ทั้งปี

ครูตี๋กล่าวว่า ฤดูนี้เป็นช่วงของการเก็บไก คือทรัพย์ในน้ำโขง ที่ไม่ต้องปลูกหรือคอยให้ปุ๋ยดูแล แต่ถึงเวลาก็สามารถเก็บมาทำเป็นอาหารรับประทาน ที่เป็นอาหารวิถีชุมชนคนลุ่มน้ำโขง และสร้างรายได้ในทุกปี ขึ้นอยู่กับกำลังที่จะลงไปเก็บไก โดยกลุ่มรักษ์เชียงของสำรวจพบว่าเริ่มมีฝูงนกแอ่นทุ่ง อยู่ตามเกาะแก่งหาดหิน บินกันเป็นฝูง ซึ่งนกเหล่านี้เป็นนกอพยพ โดยธรรมชาตินกแอ่นทุ่งจะวางไข่บนหาดหินในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งที่มีแก่งหินและเกาะดอนโผล่กลางลำน้ำโขง

“ขณะนี้โครงการเขื่อนปากแบง ที่กฟผ.ได้ลงนามในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากบริษัทร่วมทุนไทยจีนแล้ว ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนปากแบง พื้นที่แม่น้ำโขงบริเวณนี้จะได้รับผลกระทบสภาพจะเปลี่ยนไปเมื่อมีการกักน้ำ จะเกิดน้ำเท้อทำให้พื้นที่หาดหินพวกนี้จะหายไป เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่จกไกมาตลอดชีวิตอาจไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม ต้องสูญเสียรายได้ และหาดหินซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของนกอพยพก็จะจมหายไปเช่นกัน” นายนิวัฒน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net