Skip to main content
sharethis

ชุมชนริมโขง 8 จังหวัดจี้รัฐระงับซื้อไฟฟ้าเขื่อนลาว ชี้ไม่ใช่พลังงานสะอาด-ทำลายระบบนิเวศวิถีชีวิตชาวบ้านแถมประชาชนต้องจ่ายแพง

ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ศูนย์ประชุมพักพิงอิงโขง อ.เมือง จ.นครพนม มีการจัดประชุมของเครือข่ายประชาชนไทยเพื่อแม่น้ำโขง โดยมีตัวแทนชาวบ้านชุมชนริมโขง 8 จังหวัด นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคม ประมาณ 60 คนเข้าร่วม ทั้งนี้ในที่ประชุม ตัวแทนจากพื้นที่ต่างๆได้เล่าถึงสถานการณ์แม่น้ำโขงในปัจจุบัน และสภาพปัญหารวมทั้งทางออก

ปิยนันท์ จิตต์แจ้ง กลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่าความกังวลที่สุดในเวลานี้ คือโครงการเขื่อนปากแบง ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชน (สปป.) ลาว ห่างจากชายแดนไทยเพียง 97 กม. ซึ่งมีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับไทยแล้ว แต่ไม่รู้ว่าผลกระทบเป็นอย่างไร หากเขื่อนกั้นและมีน้ำเท้อ พื้นที่ของ จ.เชียงรายจะสูญเสียพื้นที่นับพันไร่ ทั้งริมโขงและลำน้ำสาขา รวมถึงหาด เกาะ ดอน ร่องน้ำลึก จะเกิดปัญหาความขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความมั่นคง ยาเสพติด

พรพิมล จันหอม กลุ่มสตรีบ้านคกเว้า อ.ปากชม จ.เลย กล่าวว่าตั้งแต่มีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ทำให้ระดับน้ำขึ้นลงไม่ปกติ ก่อนหน้านี้เรามีสวนผักริมโขงคนละอย่างน้อย 5 ไร่ 80 ครัวเรือน แต่ตอนนี้พื้นที่ริมโขงหาดหายไป เป็นอาชีพไม่ได้ ตะกอนแร่ธาตุในน้ำโขง ชาวบ้านพากันคิดว่ามันหายไปไหน เขื่อนกักน้ำ น้ำโขง ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

สุริชัย หวันแก้ว นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าได้มาฟังมารับรู้เรื่องราวของชาวริมโขง เป็นปัญหาที่สำคัญแต่กลับถูกเพิกเฉย เราจะสร้างพิพิธภัณฑ์ จะสร้างอนุสรณ์สถาน เราก็เห็นแล้วว่าสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง มีชีวิตที่พึ่งพาทรัพยากรแม่น้ำ ความเสียหายเกิดขึ้นแล้วกับนิเวศและประชาชนแต่ใครเป็นผู้รับผิดชอบ การตัดสินใจเรื่องพลังงานเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์

สดใส สร่างโศก กลุ่มจับตาน้ำท่วมอุบล กล่าวว่า ชาวอุบลเรารู้เรื่องโครงการเขื่อนภูงอย ซึ่งจะกั้นแม่น้ำโขงท้ายเมืองปากเซ มีการทำรายงาน EIA และลาวเสนอเรื่องมาแล้วที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง นี่คือหายนะที่สุดของเขื่อนแม่น้ำโขง ปัญหาของคนอุบล เขื่อนปากมูลเดือดร้อนมากแล้วและจะกระทบไปถึงเมืองอุบล ที่น้ำท่วมมาก ชาวอุบลและปากมูลได้หารือกันว่าจะล่ารายชื่อ เพราะเขื่อนภูงอยระดับกักเก็บ 98 ม.รทก. น้ำเท้อมาถึงปากมูล

ทั้งนี้เมื่อเสร็จสิ้นการประชุม ผู้ร่วมประชุมได้ร่วมกันอ่านคำประกาศ ซึ่งมีเนื้อหาระบุว่า เกือบ 3 ทศวรรษแล้ว ที่แม่น้ำโขงเผชิญความเปลี่ยนแปลง นับตั้งแต่เขื่อนแห่งแรกสร้างกั้นสายน้ำที่ตอนบน จวบจนปัจจุบันมีเขื่อนไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงในจีนและลาวเรียงรายกันมากถึง 15 เขื่อนแล้ว  ผลกระทบเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ ปลา  วิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นที่ประจักษ์ ชัดเจนและสาหัสมากขึ้นทุกปี โดยที่ไม่มีแนวทางชัดเจนถึงความรับผิดชอบดังกล่าว แต่ประเทศไทยกลับลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากบริษัทเขื่อนอีก 3 แห่ง ได้แก่ ปากลาย หลวงพระบาง และปากแบง

“ขณะนี้เขื่อนถูกเรียกว่าไฟฟ้าสะอาด และราคาถูก ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง แต่ราคาทั้งหมดนี้ถูกจ่ายด้วยระบบนิเวศที่เสียหาย จ่ายด้วยวิถีชุมชนตลอดลุ่มน้ำที่สูญเสียวิถีชีวิตและแหล่งรายได้ จ่ายด้วยค่าไฟฟ้าที่ประชาชนไทยทุกคนแบกรับภาระในใบเรียกเก็บเงินทุกๆ เดือน แต่พวกเราในฐานะชาวบ้านที่มีชีวิตที่พึ่งพาและปกปักรักษาแม่น้ำโขง กลับไม่ถูกนับรวมอยู่ในการพัฒนาดังกล่าว”คำประกาศระบุ

คำประกาศระบุว่า อยากเห็นแม่น้ำโขงที่สามารถหล่อเลี้ยงนานาชีวิตดังที่เคยเป็นมานับล้านๆ ปี  ขอเรียกร้องรัฐบาลหยุดการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงทุกแห่ง และทบทวนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของเขื่อนหลวงพระบาง ปากแบง ปากลาย และขอให้ชะลอการก่อสร้างออกไปจนกว่าผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะมีแนวทางและแสดงความรับผิดชอบต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตที่ชัดเจนต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขง และคนไทยทุกคนต้องจ่ายค่าแพง พลังงานจากเขื่อนแม่น้ำโขงไม่มีความจำเป็นต่อประเทศไทย อยากเห็นการวางแผนการพัฒนาไฟฟ้าที่รับผิดชอบ คำนึงถึงประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าทุกคนเท่าเทียมกันกับนักลงทุนเอกชนรายใหญ่ อยากเห็นความรับผิดชอบข้ามพรมแดน มีความโปร่งใสและเป็นธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net