Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 5 มิ.ย. ศกนี้จะเป็นเครื่องชี้สำคัญว่า อนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีโดยไม่ยึดหลักการประชาธิปไตยและหลักการที่ถูกต้องชอบธรรม ไม่สนใจต่อสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน และ วุฒิสมาชิกเลือกนายกรัฐมนตรีเพื่อตอบแทนบุญคุณและไม่ได้เลือกอย่างเป็นอิสระ มีความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้ไม่นานนักและอาจนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจได้ และคาดว่า วิกฤตการณ์การเมืองและเศรษฐกิจทั้งหลายจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง การดันทุรังจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยโดยให้หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรีจะทำให้รัฐบาลประสบความยุ่งยากในการอนุมัติงบประมาณปี 2563 อันเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งต่อเศรษฐกิจไทย

จึงขอให้สมาชิกรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งก็ดี มาจากการแต่งตั้งโดย คสช ก็ดี โปรดใช้วิจารณาญาณในการตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีโดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศและประชาชน ต้องยึดหลักการและหลักเกณฑ์ 8 ประการในการเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้ ประการแรก การเลือกนายกรัฐมนตรีต้องยึดหลักการประชาธิปไตย ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนเสียงข้างมาก ไม่มีการบิดเบือนผลการเลือกตั้ง วุฒิสมาชิกซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดย คสช ต้องไม่ลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีที่สวนทางกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่หรือควรงดออกเสียงเนื่องจากไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ประการที่สอง ต้องเลือกผู้นำประเทศหรือนายกรัฐมนตรีที่มีศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรเลือกนายกรัฐมนตรีที่เคยมีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารทำลายระบอบประชาธิปไตยหรือฉีกรัฐธรรมนูญ ประการที่สาม ต้องเลือกผู้นำประเทศที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความรู้ความสามารถในการรับมือกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคต ประการที่สี่ ต้องเลือกผู้นำประเทศหรือนายกรัฐมนตรีที่มีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงและมีแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและระบบการเลือกตั้งที่มีปัญหาและไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ประการที่ห้า การเลือกนายกรัฐมนตรีมิใช่การตอบแทนผลประโยชน์หรือบุญคุณในทางส่วนตัว เป็นเรื่องของส่วนรวมและประเทศชาติ ฉะนั้นต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกอย่างเป็นอิสระโดยยึดถือผลประโยชน์สาธารณะ ประการที่หก ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำที่ต้องยึดหลักนิติรัฐนิติธรรม และหลักธรรมาภิบาล ประการที่เจ็ด ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีหรือผู้นำที่ยึดหลักภราดรภาพนิยมและสามารถสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้กับสังคมไทยได้ ประการที่แปด ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีที่ไม่ทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นเพียงพิธีกรรม และ ทำให้เกิดความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศได้อย่างมั่นคง

การเลือกหัวหน้าคณะรัฐประหารกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก อาจทำให้เกิดการฟ้องร้องว่า นายกรัฐมนตรีที่ถูกเลือกขาดคุณสมบัติเนื่องจากเคยทำรัฐประหารล้มล้างระบอบประชาธิปไตยและฉีกรัฐธรรมนูญมาก่อน นอกจากนี้ สมาชิกวุฒิสภาอาจถูกฟ้องร้องว่า กระทำการขัดกับรัฐธรรมนูญเนื่องจากมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์

การเลือกนายกรัฐมนตรีและการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะเป็นสิ่งที่สะท้อนว่า วุฒิสภาสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นอิสระเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมหรือไม่

สะท้อนว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนหรือมีอุดมการณ์ มีจุดยืนทางการเมืองอย่างไร

และสะท้อนด้วยว่า อำนาจที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งกับอำนาจของประชาชน อำนาจไหนกำหนดทิศทางของประเทศในอนาคต

อนาคตประเทศไทยหลังหัวหน้าคณะรัฐประหารกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี จะตอกย้ำชัดเจนถึง แผนการสืบทอดอำนาจ ความไม่พอใจต่อการบิดเบือนผลการเลือกตั้งจะเพิ่มมากขึ้น ความเสื่อมศรัทธาต่อองค์กรอิสระที่ไม่ตรงไปตรงมาและขาดความเป็นธรรมจะเพิ่มมากขึ้น ความอึดอัดคับข้องใจจากการใช้กลไกต่างๆภายใต้อำนาจรัฐในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองจะเพิ่มมากขึ้น การเสื่อมศรัทธาต่อระบบต่างๆของประเทศจะสะสมความไม่พอใจและนำมาสู่ความขัดแย้งรุนแรงได้ในอนาคต ซึ่งหัวหน้าคณะรัฐประหารสามารถปลดล็อคเงื่อนไขที่นำไปสู่วิกฤติของบ้านเมืองได้ ด้วยการเสียสละไม่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และ ปล่อยให้กลไกรัฐสภาทำหน้าที่ไปโดยไม่เข้าไปแทรกแซง หากหัวหน้าคณะรัฐประหารยังฝืนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปด้วยวิธีการต่างๆโดยที่พรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจไม่ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร เหตุผลในการยึดอำนาจเมื่อ 5 ปีที่แล้วเพื่อความสงบสุขของบ้านเมืองไม่เกิดขึ้น การตัดสินใจฝืนรับตำแหน่งท่ามกลางกระแสการคัดค้านและพรรคการเมืองที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจไม่ชนะการเลือกตั้งนั้นจะนำประเทศเข้าสู่วังวนของความขัดแย้งและวิกฤติการเมืองรอบใหม่ได้  ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เกิดการชะงักงันของการลงทุน แผนการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติก็จะไม่เกิดขึ้น

การตัดสินใจเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีความสำคัญต่อการที่ประเทศไทยจะหลีกเลี่ยงความยุ่งยากและวิกฤตการณ์ทางการเมือง ความรุนแรงนองเลือดได้ ขอร้องให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่านคิดถึงประเทศของเราและประชาชนด้วยครับ ผมขอร้องด้วยความจริงใจ

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net