Skip to main content
sharethis

นักวิชาการชี้ภาวะโลกร้อนทำโลกและไทยเหลื่อมล้ำเพิ่ม ประชานิยมเฟื่องฟูบรรเทาปัญหาแต่ไม่ได้แก้โครงสร้าง 


ภาพโดย Gerd Altmann จาก Pixabay

7 เม.ย. 2567 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวนการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ภาวะโลกร้อนรุนแรงส่งผลกระทบต่อผลผลิตเกษตรกรรมทั่วโลกอย่างมาก เพิ่มต้นทุนภาคการผลิต ราคาอาหารโลกปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลางแจ้งโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูงจนก่ออันตรายต่อสุขภาพนอกจากนี้ จากงานวิจัยขององค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงานบ่งชี้ตรงกันว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งรุนแรงอยู่แล้วในระบบทุนนิยมโลกเพิ่มขึ้นอีก ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากขึ้นตามลำดับ  จากการข้อมูลล่าสุดของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา พบว่า กลุ่มคนร่ำรวยที่สุด 1% แรกในสหรัฐอเมริกา (ผู้ที่มีความมั่งคั่งมากกว่า 11 ล้านดอลลาร์ขึ้นไป) ถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งกว่า 44.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คนกลุ่ม 1% นี้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นในไตรมาสสี่ปีที่แล้วถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นผลจากการพุ่งขึ้นของราคาหุ้นที่กลุ่มคนเหล่านี้ถือครองอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐอเมริกา 

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของระบบทุนนิยมโลกที่มีมากอยู่แล้วถูกซ้ำเติมเพิ่มอีกจากผลกระทบของภาวะโลกร้อน การเกิดอุทกภัยจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงในแต่ละปีอาจทำให้เกิดความสูญเสียหลายสิบล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นศตวรรษ เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนเกินการรองรับของพื้นที่แผ่นดิน เป็นเหตุให้ประชากรผู้อาศัยอยู่แถบชายฝั่งต้องอพยพไปอยู่พื้นที่อื่น มีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษี ฐานะการทางคลังอันเป็นผลจากการย้ายถิ่นและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย ประชาชนต้องออกจากถิ่นที่อยู่และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมเพื่อเอาตัวรอดจากภัยธรรมชาติโดยไม่มีทางเลือกยังเป็นบ่อเกิดแห่งวิกฤตเชิงมนุษยธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่มีกำลังในการป้องกันชายฝั่งน้อย การเพิ่มระดับของน้ำทะเลยังส่งผลให้พื้นที่ชายฝั่งลดลง พื้นที่ของทะเลขยายใหญ่ขึ้น กระตุ้นให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศเกี่ยวกับการประมงและทรัพยากรทางทะเลทั่วโลกเป็นผลจากการอ้างสิทธิ์ทางทะเลเปลี่ยนแปลงจากพื้นที่ชายฝั่งใหม่ของประเทศต่างๆ

งานวิจัยของกรีนพีซ (Greenpeace) ได้มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) คาดการณ์ผลกระทบในพื้นที่ของประเทศไทยและประเทศอื่นๆอย่างละเอียดกว่าเดิม กรณีของไทย งานวิจัยคาดการณ์โดย AI พบว่ามีชาวไทยมากกว่า 10% ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะถูกน้ำท่วม (อันประกอบไปด้วยกรุงเทพและปริมณฑล บางจังหวัดในพื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ตะวันตกและบางส่วนของภาคตะวันออก) ในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ตามเทคนิคเดิมก่อนหน้านี้ที่คำนวณไว้เพียง 1% โดยจุดเสี่ยงสำคัญคือเมืองหลวงอย่างกรุงเทพและปริมณฑล เมืองหลวงของไทยอาจเป็นศูนย์กลางของวิกฤตน้ำท่วมในอนาคต แต่ผลกระทบทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จะผลักดันให้ประชาชนกลุ่มยากจนดิ้นรนออกจากพื้นที่เดิมเพื่อหางานทำใหม่ และ ครอบครัวรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบหนักที่สุด บางส่วนไม่มีความพร้อมในการย้ายถิ่น นอกจากระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นแล้ว กรุงเทพฯและปริมณฑลยังมีสภาพเป็นดินอ่อน มีการขยายตัวของความเป็นเมืองอย่างไร้ระเบียบไร้ทิศทาง มีการทรุดตัวของแผ่นดินจากสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมาก อาจเผชิญน้ำไหลบ่าจากทางเหนือ จากงานวิจัยคาดการณ์อนาคตของกรีนพีซ (Greenpeace) ประเมินว่า ในอีก 6 ปีข้างหน้า (ปี พ.ศ. 2573) มากกว่า 90% ของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่เสี่ยงน้ำท่วมหากระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ตามการวิเคราะห์โดยใช้ภาพฉายอนาคต ความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่ารวม 512,280 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ มากกว่า 18 ล้านล้านบาท มีผลกระทบต่อประชากร 10.45 ล้านคนในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้ง ประชาชนในต่างจังหวัดที่ต้องพึ่งพารายได้จากแรงงานในกรุงเทพฯ การประเมินเบื้องต้นความเสียหายทางเศรษฐกิจคิดเป็น 96% ของ GDP(PPP) รวมของกรุงเทพฯ เพิ่มความเหลื่อมล้ำในประเทศให้สูงขึ้นอีก 

นอกจากนี้ ภาวะอุณหภูมิสูงมาก เกิดสภาพอากาศร้อนรุนแรง ทำให้เกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตขึ้นได้ ความแตกต่างของอัตราการเสียชีวิตในพื้นที่ต่างๆจากภาวะโลกร้อนรุนแรง เกี่ยวพันกับหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงการเข้าถึงบริการสุขภาพ สถาปัตยกรรม ความหนาแน่นของเมือง ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและรูปแบบการใช้ชีวิต การวิจัยชี้ให้เห็นถึงการแตกต่างระหว่างภูมิภาคที่ร่ำรวยและยากจน นักวิจัยพบว่า อเมริกาเหนือและเอเชียตะวันออกมีแนวโน้มที่จะผู้เสียชีวิตจากสภาพภูมิอากาศในสัดส่วนที่ต่ำกว่า บางประเทศในอเมริกากลางและใต้มีสัดส่วนการเสียชีวิตจากความร้อนมากกว่า 70% อันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราอยู่แล้ว โดยพื้นฐานแล้ว การเสียชีวิตจากความร้อนทั้งหมดสามารถป้องกันได้ แต่ครอบครัวยากจนทั่วโลกรวมทั้งไทยอาจประสบความยากลำบากในเข้าถึงการป้องกันผลกระทบจากฐานะทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงต้องมีบทบาทเข้ามาช่วยเหลือรวมทั้งบรรเทาผลกระทบที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจขยายวงเพิ่มขึ้น ผู้คนทั่วโลกใช้เครื่องปรับอากาศมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้อัตราการเสียชีวิตลดลง ขณะเดียวกันก็มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยความร้อนให้กับโลกมากขึ้นในขณะเดียวกัน 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวต่อว่า แนวคิดและนโยบายแบบประชานิยมเฟื่องฟูขึ้นท่ามกลางความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ “ประชานิยม” บรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้แก้โครงสร้าง และ ยังทำให้ “ประชาชนส่วนใหญ่” “นักการเมือง” และ “ข้ารัฐการ” ไม่ตระหนักและละเลยปัญหาในเชิงโครงสร้างอีกด้วย ขณะเดียวกัน รูปแบบวิธีการทางการเมืองแบบประชานิยมที่เกิดขึ้นในยุโรป สหรัฐอเมริกา ละตินอเมริกา และเอเชียบางประเทศ จะก่อความขัดแย้งและทำให้ระบอบเสรีประชาธิปไตยอ่อนแอลง แปรสภาพเป็น ระบอบอำนาจนิยมจากการเลือกตั้งมากขึ้นตามลำดับ วิธีการทางการเมืองแบบประชานิยมมุ่งสร้างคู่ตรงข้ามในเชิงศีลธรรมระหว่าง “ประชาชน” และ “ชนชั้นนำผู้ฉ้อฉล” เพื่อระดมการสนับสนุนจากมวลชนให้ชนะเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาในหลายประเทศที่มีนโยบายประชานิยม พบว่า ต้องอาศัยผู้นำที่มีบารมี (Charismatic Leadership) อาศัยระบบอุปถัมภ์ (Clientelism) มีปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรง และในหลายกรณีประชานิยมอาจไม่ได้นำมาสู่การบรรเทาปัญหาความเหลื่อมล้ำ นโยบายกระจายการจัดสรรทรัพยากร การกระจายรายได้กระจายความมั่งคั่ง ความสำเร็จของการลดความเหลื่อมล้ำเป็นผลจากการปฏิรูปทางเศรษฐกิจและการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมมากกว่า

กรณีของไทย มาตรการประชานิยมพักหนี้ แจกเงิน อาจไม่ได้แก้ปัญหาวิกฤติหนี้สินได้อย่างแท้จริงเพียงช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ประเมินหนี้ครัวเรือนไทยเทียบกับจีดีพีปลายปี 2567 อาจแตะ 92% หนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ของ GDP เป็นระดับที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินและอาจลุกลามไปเป็นปัญหาสังคม ซึ่งจะยิ่งแก้ไขได้ยากขึ้น แม้นหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีขยายตัวเพิ่ม เพราะต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นและเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ยอดหนี้คงค้างยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทำให้หนี้ครัวเรือนคงค้างอยู่ที่ 16.95-17 ล้านล้านบาทเทียบกับไตรมาสแรกปีที่แล้วที่มีอยู่ยอดหนี้ครัวเรือนคงค้างอยู่ที่ 15.19 ล้านล้านบาท เมื่อนำมาคำนวณ พบว่า หนี้เฉลี่ยรายบุคคลสูงกว่า 240,000 บาทต่อคน หนี้ครัวเรือนของชาวไทยเฉลี่ยอาจทะลุ 550,000 แสนบาทต่อครัวเรือน ชาวไทยในวัยทำงานอายุไม่เกิน 35 ปี มีรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 25,000-27,000 บาท ขณะที่รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ยแต่ละเดือนเกือบเท่ากับรายได้จึงไม่มีเงินออม เมื่อมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ค่าใช้จ่ายฉุกเฉินมากกว่ารายจ่ายปรกติ จึงจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้เพียงพอ ประเทศไทยจึงมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับสองในเอเชีย รองจากเกาหลีใต้ และ อยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก ขณะเดียวกัน คนไทยมีหนี้สาธารณะที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบเฉลี่ยท่านละ 168,430 บาท (คำนวณจากตัวเลขปลายปีที่แล้ว) รัฐบาลทำขาดดุลงบประมาณเพิ่มเติมอีกในปีงบประมาณ 67 และ 68 จะทำให้ หนี้สาธารณะที่ประชาชนแต่ละท่านที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบเฉลี่ย อาจสูงกว่า 170,000 บาทต่อคน เท่ากับว่า ชาวไทยแต่ละท่านมีภาระหนี้สินส่วนครัวเรือนรวมหนี้สาธารณะอยู่ที่ท่านละ 410,000 บาท ฉะนั้นการตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เต็มศักยภาพที่ 5-6% เป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจมีรายได้สูงขึ้น และ ต้องสร้างกลไกให้เกิดการกระจายรายได้มายังคนส่วนใหญ่อย่างทั่วถึง คือ ต้องปฏิรูปโครงสร้างการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง การพักหนี้ เจรจาประนอมหนี้ หรือ ลดดอกเบี้ยเป็นเพียงแค่บรรเทาแต่ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจต้องแก้ด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจ มาตรการประชานิยมช่วยได้แค่บรรเทาปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น  การดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนและเป็นระบบ ต้องมีการยกระดับมาตรฐานกระบวนการให้สินเชื่อและการปฏิบัติกับลูกหนี้อย่างเป็นธรรม (Responsible Lending) ครอบคลุมตลอดวงจรหนี้ของลูกหนี้ Responsible Lending เกิดขึ้นได้เมื่อมีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพพร้อมการแข่งขันเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน นอกจากนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามความเสี่ยง (Risk-based Pricing) รวมทั้ง ยกเลิกกำหนดเพดานดอกเบี้ยจะช่วยให้เกิดการปรับพฤติกรรมวินัยทางการเงินของครัวเรือนให้ดีขึ้น แนวทางเหล่านี้ต้องทำควบคู่กับมาตรการระยะสั้น (พักหนี้ ประนอมหนี้ ลดดอกเบี้ย) ที่จะช่วยบรรเทาวิกฤติหนี้สินครัวเรือนได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว  

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวในช่วงท้ายว่า ชุดของนโยบายประชานิยมมักเชื่อมโยงกับการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำเสมอ และ มีองค์ประกอบสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง มองเจตจำนงประชาชนเหนือกว่าหลักการด้านอื่นๆ สอง เจตจำนงของประชาชนควรสะท้อนผ่านความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างประชาชนกับผู้นำทางการเมือง   

การพักหนี้ การแจกเงิน การขึ้นค่าแรงโดยยึดกรอบการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ดี ระมัดระวังในเรื่องวินัยการเงินการคลัง ย่อมไม่นำไปสู่ความไร้เสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค วิกฤติหนี้สาธารณะ อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง เหมือนประชานิยมในละตินอเมริกาในยุคฮวน เปรองแห่งอาร์เจนตินา ค.ศ. 1946-1955 หรือ อัลแบร์โต ฟูจิโมริแห่งเปรู ค.ศ. 1990-2000 บรรเทาปัญหาหนี้สินและลดความเหลื่อมล้ำได้บ้าง วิกฤติหนี้สิน และ ความเหลื่อมล้ำรุนแรง จะกลายเป็น “ระเบิดเวลา” ที่จะนำไปสู่ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมในอนาคตของไทยได้ การบรรเทาปัญหาด้วยมาตรการระยะสั้นย่อมมีความจำเป็นไม่ต่างจากการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างด้วยมาตรการระยะยาว ความเหลื่อมล้ำไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำในโอกาส (Inequality of Opportunity) หรือ ความเหลื่อมล้ำของผลลัพธ์ (Inequality of Outcome) ก็ตาม จะกดดันให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงในระยะปานกลางและระยะยาว ศักยภาพและประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจถดถอยลง เป็นผลลบต่อเสถียรภาพของระบอบประชาธิปไตยและความมั่นคงทางการเมืองและสังคม 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net