Skip to main content
sharethis

'กัณวีร์' ตั้งคำถามบทบาท 'ทักษิณ-ฮุนเซน' พยายามเป็นตัวกลางสันติภาพพม่า ทำไมถูกปฏิเสธ ชี้ต้อง ‘น่าเชื่อถือ’ และ ‘เข้าใจสถานการณ์’ เสนอควรเริ่มระหว่างคนต่อคนในพื้นที่ก่อนขยายต่อไป  

 

10 พ.ค. 2567 ทีมสื่อพรรคเป็นธรรม รายงานวันนี้ (10 พ.ค.) กัณวีร์ สืบแสง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม กล่าวถึงกรณีที่มีรายงานว่า ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เรียกผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมาไปพูดคุยเสนอตัวเป็นคนกลางเพื่อสร้างสันติภาพในพม่า โดยตั้งคำถามถึงบทบาทของทักษิณ ว่ามีความมั่นใจได้มากน้อยขนาดไหนว่าผลการพูดคุยหรือความพยายามนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

"การพูดคุยกันครั้งนี้คุณทักษิณ มั่นใจถึงความรู้สึกของกองกำลังชาติพันธุ์ฝั่งเมียนมาว่าจะดีขึ้นหรือไม่ หลังจากพูดคุยแล้วไทยจะมีความรู้เรื่องสถานการณ์ได้มากขึ้นเหรอ โครงสร้างการบริหารของรัฐบาลไทยจะมั่นคงได้อย่างไรหากคุณทักษิณทำหน้าที่เป็นผู้นำรัฐบาลชุดนี้มากกว่าคนที่ชื่อว่าเศรษฐาเสียเอง ซึ่งทางกลุ่มชาติพันธ์ุปฏิเสธลงนามให้ฉันทามติให้นายทักษิณเป็นตัวกลางไปเจรจากับทหารเมียนมา" กัณวีร์ กล่าว

เช่นเดียวกับ กรณีที่ สมเด็จอัครมหาเสนาบดี เดโช ฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ปัจจุบันเป็นประธานวุฒิสภากัมพูชา ประสานไปยังกองทัพพม่า เพื่อขอคุยกับ อองซาน ซูจี กัณวีร์ ตั้งคำถามว่ามีหน้าที่อะไรไปขอคุยกับ อองซาน ซูจี ที่สุดท้ายโฆษกทหารพม่า ปฏิเสธไม่อนุมัติการขอพบอองซาน ซูจี ของอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา

นายกัณวีร์ กล่าวว่า ความพยายามของอดีตผู้นำทั้งของไทยและกัมพูชาที่จะเป็นตัวกลางในปัญหาเมียนมานั้นเป็นสิ่งที่อาจถูกเรียกว่าการแทรกแซงอย่างสร้างสรรค์ (Constructive Interventions) เสมือนเหตุการณ์ที่ไทยสมัย พล.อ.ชาติชาย ใช้นโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ในกัมพูชาตอนเขมร 4 ฝ่ายได้ ซึ่งความพยายามมีส่วนคล้าย แต่สารัตถะและช่วงเวลาอาจไม่ได้ จึงไม่แปลกใจที่จะถูกปฏิเสธจากกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์และทหารพม่า

กัณวีร์ ยอมรับว่า ทุกคนคงอยากเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขสถานการณ์ด้านการเมือง สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม การพัฒนาและสันติภาพในพม่า เหมือนอดีตผู้นำทั้งสองคนนี้อยากทำตัวเป็นตัวกลาง (broker)

“ความตั้งใจดี แต่กระบวนการที่จะเป็น mediator หรือ broker ของทั้งสองท่านมันไม่ถูก ผลลัพธ์เลยโดนปฏิเสธทั้งคู่ เราคงต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นนะครับว่า “สันติภาพ” เริ่มต้นด้วย “ความไว้วางใจ” และ “ความจริงใจ”” กัณวีร์ กล่าว

กัณวีร์ เปิดเผยว่า ตนเองเดินทางตามแนวชายแดนไทยเมียนมา กว่า 1,000 กม. ระหว่างแคมเปญ 2,416 กม. เพื่อสันติภาพเมียนมา ได้พบตัวแทนกองกำลังเกือบทุกกลุ่ม รวมถึงไปถึงมาเลเซีย ก็ได้พบผู้ลี้ภัย ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของกองกำลังชาติพันธุ์ในเมียนมา

"ผมได้ยินคำพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า การจะแก้ไขปัญหาด้านนี้ขอเถอะว่าต้องเริ่มจาก People to People Participation & Engagement (การมีส่วนร่วมและข้อตกลงระหว่างคนต่อคน) คือต้องรู้สภาพปัญหาในพื้นที่ทั้งหมดให้ได้ การจะไปเน้นแค่สถานการณ์ชายแดนฝั่งใดฝั่งหนึ่งอย่างเมียนมาอย่างเดียวคงไม่พอ อย่าลืมคนที่อยู่ฝั่งไทย มีปัญหาอะไรบ้างเคยเอามาพิจารณาหรือไม่" เลขาธิการพรรคเป็นธรรม กล่าว

กัณวีร์ ย้ำว่า Peace Broker (ตัวกลางด้านสันติภาพ) ต้องมีในสถานการณ์นี้ แต่ต้องมองให้ออกว่าต้องใช้กลไกที่มีอยู่และพัฒนาให้เหมาะสมมากกว่าการเลือกบุคคล หรือบุคคลเลือกตัวเองให้เป็น

"บารมีของปัจเจกชนไม่ว่าจะมีมากขนาดไหนคงทำไม่ได้ นี่อย่าลืมว่ายังมีปัจจัยภายนอกที่การมีบารมีแค่ไหนก็คงทำไม่ได้เพราะมันมีอิทธิพลของจีน สหรัฐฯ และแถมตอนนี้มีรัสเซียแล้ว ยุ่งยากมากขึ้นกับสถานการณ์ในเมียนมาที่มากระทบต่อไทย" กัณวีรฺ์ กล่าว

กัณวีร์ เห็นด้วยข้อเสนอ 'ทรอยก้า' ที่มีสามฝ่ายมาพูดคุย แต่ต้องใช้ให้เป็นและปรับให้ถูกต้องเหมาะสม แต่เมื่อมองว่าที่รัฐบาลไทยคงงงๆ กับตัวเองเช่นกันว่า ใครในรัฐบาลนายเศรษฐาฯ ที่ดูแลงานด้านนี้ที่มีมิติทั้งงานการต่างประเทศ งานความมั่นคง งานเศรษฐกิจ งานการพัฒนาเชิงพื้นที่ และงานด้านสันติภาพ

"เอาไงหล่ะที่นี้ ผมนี่ช็อตฟีลเลยครับหลังจาก 8 วัน 7 คืน ที่ออกเดินทางกลับมาเจอเรื่องใหม่ๆ ที่มันดูแล้วแปลกใจ ทั้งๆ ที่เราพยายามจะบอกว่ามันต้องมีการแก้ไขทั้งระยะเฉพาะหน้า ระยะกลาง ในเรื่องพื้นที่ปลอดภัยและการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และการสร้างระเบียงสันติภาพรอบประเทศเมียนมา และการแก้ไขระยะยาวเรื่องการสร้างการเมืองที่เหมาะสมในเมียนมาด้วยชาวเมียนมาเอง" กัณวีร์ กล่าวย้ำ
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net