Skip to main content
sharethis

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมจัดทำสารคดีเกี่ยวกับผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สามเรื่อง สามวิดีโอ ฉายภาพสะท้อนที่ทุกวัย ทุกกลุ่มตกเป็นผู้ได้รับผลกระทบท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำเนินอยู่ พร้อมชวนหาทางแก้ไข เพื่อให้ผู้หญิงในชายแดนใต้อยู่ร่วมและมีบทบาทในการพัฒนา ให้เสียงของพวกเธอได้รับการรับฟัง

ฟุตเทจจากสารคดี

10 เม.ย. 2562 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมมีการจัดทำสารคดีเกี่ยวกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สามคน ได้แก่ แบดา (Beeda Cheda) ลาวียะ (Lawiyah) และมะขาม (Makam) เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันสตรีสากล (8 มี.ค. 2562)

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการ (ผอ.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรมพูดถึงวิดีโอสารคดีว่า ผู้หญิงทุกเพศทุกวัยและทุกกลุ่มเป็นผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หนังสั้นสามเรื่องนี้เป็นตัวแทนเสียงของผู้หญิงที่เป็นแม่ เป็นลูกสาว ที่ต้องเผชิญกับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจากความพยายามแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ความขัดแย้ง

ลาวียะ หญิงชาวบ้านที่ในเวลาหนึ่งมีลูกชายถูกจับสองคนและต้องเผชิญกับสภาวะทางจิตใจของสามีที่หดหู่สิ้นหวังและเธอต้องเข้มแข็งให้ได้เพื่อให้ครอบครัวก้าวผ่านบททดสอบนี้ไปด้วยกัน

มะขาม เป็นเยาวชนไทยพุทธที่เติบโตมากับความรุนแรงเพราะลุงที่เลี้ยงดูเธอมาถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์ แม้จะได้รับการเยียวยาความยากลำบากให้ป้าได้รับราชการตำรวจแทน แต่ครอบครัวต้องมาประสบปัญหาต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงเนื่องจากการให้ยาผิด และการดูแลผู้ป่วยมักเป็นหน้าที่ของผู้หญิง สำหรับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจึงเป็นภาระที่หนักมาก แต่มะขามก็มีทัศนคติในทางบวกที่ต้องการให้เยาวชนไทยพุทธ ไทยมุสลิมมาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างให้เกิดสันติภาพและอยู่ร่วมกันได้

แบดา เป็นหญิงสาวที่เข้มแข็งทำงานดูแลครอบครัวอย่างแข็งขัน เป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน แต่ก็ต้องประสบกับสถานการณ์ที่การเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของสมาชิกในครอบครัวถูกเพ่งเล็งโดยเจ้าหน้าที่รัฐ การรับมือกับมาตรการของหน่วยงานรักษาความมั่นคงต่อสมาชิกในครอบครัวของเธอกลับยิ่งทำให้เธอเข้มแข็งขึ้นและพยายามที่จะอยู่ร่วมกับชุมชนที่เธอรักอย่างมีความสุขแม้จะมีแรงกดดันมากอย่างที่ผู้หญิงในพื้นที่อื่นจะจินตนาการได้

เราจึงขอเสนอภาพและเรื่องราวในรูปแบบหนังสั้นเพื่อให้เกิดแรงบันดาลใจและความเข้าใจสภาวะของผู้หญิงในชายแดนใต้ และให้ผู้ชมร่วมกันหาหนทางแก้ไขในบทบาทหน้าที่ของตนเพื่อให้ผู้หญิงในชายแดนใต้อยู่ร่วมและพัฒนาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งแบบมีส่วนร่วมจริง เสียงของเธอผู้เป็นหญิงในชายแดนใต้ต้องได้รับการรับฟัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net