Skip to main content
sharethis

เมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน. 6 นาย มาเจรจาขอให้ผู้จัดเทศกาล ‘กรุงเทพกลางแปลง’ ที่คลองเตย ยกเลิกฉายสารคดีสั้นเกี่ยวกับการซ้อมทรมานชาวบ้านใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ อ้างว่า ‘นายไม่ชอบ’ ก่อนที่ทางผู้จัดยืนยันฉายต่อ และจบลงโดยไม่มีเหตุการณ์วุ่นวายอะไร

 

24 ก.ค. 2565 สืบเนื่องจากเมื่อ 14 ก.ค. 2565 ที่ศูนย์เยาวชนคลองเคย จ.กรุงเทพฯ มีการจัดภาพยนตร์สารคดีสั้น ‘เสียงจากชายแดนใต้’ ตอน ‘จุดเริ่มต้น’ และ ‘คำสารภาพ’ ของมูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Culture Foundation - CrCF) ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวข้องการต่อต้านการซ้อมทรมานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์จากประเทศอินเดีย ‘RRR’

บรรยากาศชมภาพยนตร์กลางแปลง ณ ศูนย์เยาวชนคลองเตย เมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา (ที่มา เพจเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์)

อย่างไรก็ตาม หลังงานเทศกาลเพียง 2 วัน ‘ไมค์’ ภาณุพงษ์ จาดนอก นักกิจกรรมการเมืองกลุ่ม ‘ราษฎร’ โพสต์ข้อความบนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กของตนเอง ระบุว่า วันฉายสารคดีสั้นของผสานวัฒนธรรม มีเจ้าหน้าที่ “กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร) เรียกพบและสั่งห้ามไม่ให้ฉายเพราะบอกว่านายไม่ชอบ แต่ทางผู้จัดก็ยืนยันที่จะฉายจนจบ”

โพสต์ของ ภาณุพงษ์ จาดนอก เมื่อ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวโทรศัพท์สัมภาษณ์กับ ‘ไมค์’ เมื่อวันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสอบถามรายละเอียดและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นภายในงานวันนั้น โดยไมค์ เล่าให้ฟังว่า มี กอ.รมน. เข้ามาในพื้นที่ศูนย์เยาวชนคลองเตย จำนวน 6 คน ซึ่งไมค์ ยืนยันว่าเป็นเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.จริง และเข้ามาบอกว่าจะไม่ให้ฉายสารคดีจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม 2 เรื่องนี้ เพราะว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่ทางผู้จัดฉายภาพยนตร์ยืนยันว่าจะฉายภาพยนตร์จนจบ 

“ทราบแต่ว่ามันมีคำพูดหนึ่งของ กอ.รมน. ก็คือเขามาทำตามหน้าที่ นายเขาไม่ชอบเรื่องการฉายหนังเรื่องการทรมาน และผู้จัดยืนยันว่าจะฉายจนจบไม่มีอะไรเกิดขึ้น และมีการมาเจรจากันว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง และนายไม่ชอบ” ไมค์ กล่าว พร้อมระบุว่า ทาง กอ.รมน. ก็อยู่ด้วยกันจนจบงานโดยการฉายภาพยนตร์เป็นไปอย่างราบรื่น

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ จากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการฉายภาพยนตร์สารคดีสั้นว่าเกิดจากการประสานของมูลนิธิฯ ซึ่งต้องการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิธีการต่อต้านการซ้อมทรมานใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งสารคดีสั้นทำเสร็จเมื่อเดือนที่แล้ว (มิ.ย.) และได้ฉายเพียงแต่ในออนไลน์ เธอจึงมองว่านี่เป็นโอกาสดีที่จะได้ฉายผู้ชมกลุ่มอื่นๆ เข้าถึง เธอจึงประสานงานผู้จัด 'กรุงเทพกลางแปลง' มาฉายก่อนเริ่มหนังอินเดีย เรื่อง RRR เพราะทั้งสารคดี และหนังจากแดนภารตะ มีจุดร่วมสำคัญคือการใช้ความรุนแรงอย่างไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ตำรวจพอดี
  
พรเพ็ญ เล่าให้ฟังต่อว่า สำหรับสารคดีทั้ง 2 เรื่องที่ได้นำมาฉายก่อนเปิดเรื่อง RRR นั้น จริงๆ เป็นสารคดีสั้น 3 เรื่อง ชุด ‘เสียงจากชายแดนใต้’ ได้แก่ ‘จุดเริ่มต้น’ ‘สารภาพ’ และ ‘เสรีภาพ’ 

‘จุดเริ่มต้น’ และ ‘คำสารภาพ’ สารคดีสั้นบอกเล่าปากคำของชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ผู้ได้รับผลกระทบจากการคุกคามและการซ้อมทรมานโดยกองกำลังฝ่ายความมั่นคงไทย เพื่อรีดเค้นข้อมูล และบังคับให้รับสารภาพ ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ยังคงเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน

สารคดีสั้น เรื่อง 'จุดเริ่มต้น'

สารคดีสั้น เรื่อง 'สารภาพ'

พรเพ็ญ ระบุว่า วันที่ฉายสารคดี มีเจ้าหน้าที่มาที่ที่จัดฉายจริง แต่ไม่ทราบว่าจากหน่วยไหน เพราะว่าพรเพ็ญ ไม่ได้พบเจ้าหน้าที่โดยตรง และหลังจากหนัง RRR จบ ก็มีโทรศัพท์โทรมาหาด้วยว่า ใครเอาหนังมาฉาย และเอาหนังเรื่องอะไรมาฉาย 

ไมค์ นักกิจกรรมรุ่นใหม่ ระบุต่อว่า สำหรับเขาเหมือนรู้สึกถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ รู้สึกเหมือนรัฐพยายามปกปิดความจริงที่ไม่ควรปิดบัง และรัฐกำลังมองว่ากิจกรรมฉายภาพยนตร์เป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเป็นกิจกรรมสันทนาการแก่ประชาชน 

นักกิจกรรมรุ่นใหม่ระบุต่อว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีเจ้าหน้าที่รัฐมาที่สถานที่จัดเทศกาล ‘กรุงเทพกลางแปลง’ แต่มาทุกครั้งตั้งแต่ครั้งแรก

ด้านพรเพ็ญ ระบุว่าหลังจากวันที่ 14 ก.ค. 2565 เธอยังคงอยากจะฉายสารคดีนี้ต่อ  เธอสำทับว่า เนื้อหาในสารคดีไม่มีการหมิ่นประมาทใคร ไม่มีการพูดเท็จ หรือใส่ความใคร และนี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ชาวบ้านถูกคุกคามมาโดยตลอด  

“ที่จริงหนังมันเป็นศิลปะ หรือรูปแบบของการสื่อสารจากเรื่องจริง เรื่องเล่าที่เป็นเรื่องจริง อยากให้ดู และทบทวน ไม่ใช่มาไล่หยุดสิ่งที่มันเป็นความจริงทางศิลปะ …ปิดไม่มิดหรอก แต่เขาก็ปิดสำเร็จระดับหนึ่ง แต่ว่าอยากให้พื้นที่ศิลปะการทำหนังสั้นสะท้อนความจริงยังคงมีอยู่ในสังคมไทย อย่าให้เป็นรัฐเผด็จการไปมากกว่านี้” พรเพ็ญ กล่าว พร้อมขอบคุณผู้จัดฉายภาพยนตร์ที่ให้โอกาสมาเปิดฉายในพื้นที่ที่ไม่เคยมีใครได้ดู
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net