Skip to main content
sharethis

บ้านสมเด็จโพลล์ เผยร้อยละ 44 ชี้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณใหม่เพื่อนำมาจัดรัฐสวัสดิการ ร้อยละ 87 ต้องการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญพื้นฐาน และปรับเพิ่มเป็น 3,000 ไม่เกิน 5,000 คนกรุงเกินครึ่ง อยากเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายรักษาพยาบาลฟรี ‘นิมิตร์’ ชี้โพลล์สะท้อนคนต้องการให้จัดสรรทรัพยากรใหม่อย่างเป็นธรรมเพื่อให้เกิดรัฐสวัสดิการแก้ปัญหาจนเรื้อรัง

 


จากซ้ายไปขวา แสงศิริ ตรีมรรคา, สิงห์ สิงห์ขจร, นิมิตร์ เทียนอุดม

 

8 พ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา แถลงข่าว “ประชาชนเชื่อรัฐสวัสดิการเกิดได้ ชี้รัฐต้องจัดสรรงบใหม่ให้เป็นธรรม” ที่สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย โดยมี สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ร่วมแถลงและวิเคราะห์ผลโพลล์ ดำเนินรายการโดยแสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ


โพลล์ชี้ร้อยละ 44 เห็นว่ารัฐต้องจัดสรรงบประมาณใหม่เพื่อนำมาจัดรัฐสวัสดิการ

 

สิงห์ สิงห์ขจร  ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจประชาชนในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 1,211 คน ในวันที่ 25-30 ต.ค. 2561 พบว่าประชาชนเพียงร้อยละ 40 ทราบว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบในปี 62 และทราบว่ารัฐธรรมนูญปี 60 นั้นระบุให้รัฐต้องจัดสวัสดิการให้กับประชาชนเพียงร้อยละ 42.1 ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย

นอกจากนี้ประชาชนร้อยละ 56.5 พึงพอใจกับการจัดสวัสดิการของรัฐในระดับปานกลาง โดยพึงพอใจนโยบายรักษาพยาบาลไม่เสียค่าใช้จ่ายมากที่สุด คือร้อยละ 30.2 รองลงมาคือเบี้ยยังชีพรายเดือน ร้อยละ 23.5 และยังเห็นว่าประชาชนทุกคนควรได้รับสวัสดิการของรัฐถึงร้อยละ 60

สิงห์กล่าวต่อว่า ประชาชนร้อยละ 48.9 เห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณด้านสวัสดิการพื้นฐาน เช่น การศึกษา บำนาญถ้วนหน้า สาธารณสุข เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต รองลงมาร้อยละ 21 คือด้านความมั่นคง ซึ่งไม่ได้หมายถึงด้านการทหาร แต่หมายถึงความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เช่น การติดกล้องซีซีทีวีทั่วประเทศ

สิงห์ชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างมองว่าแหล่งรายได้ที่รัฐจะนำมาใช้จัดสวัสดิการให้ประชาชนนั้นมาจากการจัดสรรงบประมาณใหม่ โดยแบ่งสัดส่วนอย่างเป็นธรรม ร้อยละ 44.3 ซึ่งสิงห์มองว่าจากคำตอบนี้ได้สะท้อนว่ามุมมองของประชาชนเปลี่ยนไป คือมองว่ารัฐลงทุนแล้วประชาชนไม่ได้รับประโยชน์เป็นตัวเลขค่อนข้างสูง  ข้อเสนอรองลงมาคือให้ยกเลิกการลดหย่อนภาษีถึงร้อยละ 33.3 พร้อมกับต้องการเห็นพรรคการเมืองมีนโยบายในเรื่องบริการด้านสาธารณสุขฟรีมากที่สุด ตามด้วยเรื่องเงินดำรงชีพรายเดือนสำหรับผู้สูงอายุ และการประกันรายได้เมื่อตกงานหรือไม่มีงานทำ

สิงห์กล่าวว่า อีกประเด็นที่น่าสนใจคือคำถามเรื่องการเตรียมตัวหลังอายุ 60 ร้อยละ 41.1 ตอบว่ามีการออมเงินไว้ใช้หลังอายุ 60 ปี ร้อยละ 30.1 ตอบว่ามีการทำประกันแบบออมทรัพย์ไว้ใช้หลังอายุ 60 ปี ร้อยละ 19.1 บอกว่ามีการลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ ไว้ใช้หลังอายุ 60 ปี มีเพียงร้อยละ 9.7 ที่บอกว่าไม่ได้เตรียม

“คนอายุเกิน 60 ปีกังวลมากที่สุดคือรายได้ ตามมาด้วยสุขภาพกายและใจ คนกลุ่มนี้มองว่ารายได้ตัวเองอาจไม่พอรักษาพยาบาล นั้นอาจสะท้อนให้เห็นว่ารายได้จากการทำงานนั้นไม่เอื้อให้เกิดความรู้สึกมั่นคง และมองว่าเบี้ยยังชีพ 600-1,000 นั้นไม่เพียงพอ จึงเห็นด้วยกับการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญรายเดือนถึงร้อยละ 87.6 และคนกลุ่มนี้ยังต้องการจำนวนเงินบำนาญรายเดือนที่มากกว่า 3,000 ไม่เกิน 5,000 มากถึงร้อยละ 54.5 และสะท้อนให้ฟังว่าจำนวนเงิน ‘ตามเส้นความยากจน’ นั้นไม่สามารถเห็นภาพได้ เขาต้องการจำนวนเงินที่ชัดเจนในการวางแผนการเงิน” สิงห์กล่าว

 


ภาพบรรยากาศงานและเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

 

เปลี่ยนเบี้ยยังชีพเป็นบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้าแก้ปัญหาความจนเรื้อรัง

 

นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่า เครือข่ายฯ มองว่าต้องเตรียมตัวรับสังคมผู้สูงอายุ เรื่องสำคัญคือเรามองเรื่องหลักประกันชีวิต สามเรื่องใหญ่ หนึ่งคือหลักประกันสุขภาพ เมื่อเจ็บป่วยมีระบบรักษาพยาบารองรับ สองคือหลักประกันด้านรายได้ ทำอย่างไรให้คนรุ้สึกมั่นใจว่ามีรายได้บางส่วนในการดำรงชีวิตในสังคมผู้สูงอายุ และในปัจจุบันที่คนก็อายุยืนขึ้นเรื่อยๆ สามคือหลักประกันด้านการศึกษา

“สำหรับเรื่องสุขภาพนั้นกลุ่มเราเคลื่อนกันมากว่า 15 ปีแล้ว เรื่องอื่นๆ ต้องมาดูว่าจะขยับอย่างไร โดยจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่เราพบว่าความจนเรื้อรังของประชาชนก็ยังอยู่ และถ่ายทอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องรายได้ที่ไม่พอเพียง ทางที่แก้ได้คือรัฐสวัสดิการ คือการมีหลักประกันด้านรายได้ ฝันสูงสุดเป็นหลักประกันรายได้ทุกช่วงอายุ แต่ ณ ตอนนี้อยากเน้นช่วงอายุหลัง 60 ปีก่อน จากที่เราได้พูดคุยกับเครือข่ายฯ และประชาชน ข้อมูลที่ได้ก็ไม่หนีจากโพลล์ของบ้านสมเด็จอันนี้ ซึ่งขอชื่นชมการทำโพลล์ที่มีการทำความเข้าใจคำถาม ลงไปพุดคุยกับชุมชน มีการพูดคุยโต้ตอบกัน ไม่ใช่แค่โทรไปถาม” นิมิตร์กล่าว

นิมิตร์ระบุว่า จากโพลล์ กลุ่มคนที่ไปสำรวจมองเห็นความสำคัญเรื่องรัฐสวัสดิการและหลักประกันด้านรายได้ ซึ่ง 1,000 กว่ารายที่สำรวจก็ถือเป็นตัวแทนได้พอสมควร ดังนั้นจึงเห็นว่าคนส่วนใหญ่ต้องการเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญรายเดือน และนี่คือสิ่งที่เครือข่ายฯ ผลักดันมาตลอด สิ่งที่เครือข่ายจะขับเคลื่อนไม่ใช่สิ่งเพ้อฝัน แต่คือปัญหาที่ต้องแก้ไข

นิมิตร์ชี้ว่า ผลโพลล์ที่น่าสนใจคือ ในข้อที่ถามว่ารัฐจะหาแหล่งรายได้ใดเพื่อนำมาจัดสวัสดิการให้แก่ประชาชน สูงถึงร้อยละ 44.3 เห็นว่าการจัดสรรงบประมาณรัฐมีความเหลื่อมล้ำ การจัดสรรภาษีการใช้งบประมาณประเทศไม่เป็นธรรม นั้นหมายความว่าคนคิดว่าประเทศนี้ควรมีการเขย่าและจัดการทรัพยากรใหม่อย่างเป็นธรรม ส่วนร้อยละ 21.3 บอกว่าเก็บภาษีเพิ่ม เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหุ้น ภาษีที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าไปคุยเรื่องรัฐสวัสดิการกับใครก็ตาม จะถูกถามว่ารัฐจะเอาเงินมาจากไหน ซึ่งคำตอบในที่นี้คือคนยอมเสียภาษีเพิ่ม ถ้าภาษีที่เสียเพิ่มชัดเจนว่านำไปจัดสรรเป็นธรรม ใช้สร้างรัฐสวัสดิการ

“จากผลโพลล์มีอีกประการที่น่าสนใจคือคนเริ่มจัดการตัวเองด้วยการออม นี่คือสิ่งที่บอกกับเราว่าประชาชนรู้ว่ารัฐไม่พร้อมที่จะดูแลและเป็นปัญหาแน่ถ้าไม่เตรียมตัวเมื่ออายุ 60 ไม่อย่างนั้นจะเป็นภาระลูกหลานหรืออาจพึ่งใครไม่ได้ ดังนั้นประชาชนไม่ได้นั่งงอมืองอเท้ารอความช่วยเหลือจากรัฐ ต่อแต่นี้ไม่สามารถพูดได้ว่าประชาชนเอาแต่ร้องขอ

“แต่ปัญหาคือมีคนที่รายได้น้อยจนทำให้ออมได้ไม่มากพอ เมื่อเป็นแบบนี้ รัฐจะมีนโบายสนับสนุนหลักประกันด้านรายได้เมื่อเขาพร้อมจะออมอย่างเดียวไม่พอ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สร้างการออมให้ประชาชน ่แต่ชวนกันมาหลายปี มีคนหลักแสนเท่านั้นที่เข้าร่วม มันสะท้อนว่าเรามีความสามารถในการออมต่ำมาก ถ้าจะพูดว่ารัฐจะสนับสนุนต่อเมื่อคุณออมกับรัฐ ก็มีคนจำนวนนิดเดียวเท่านั้นที่เห็นด้วย คนอีกจำนวนมากไม่เห็นด้วย

นิมิตร์กล่าวว่า อยากย้ำทิศทางของเครือข่ายฯ เบี้ยยังชีพทุกวันนี้ยังไม่เป็นหลักประกันด้านรายได้ที่คนสามารถใช้ชีวิตได้ ต้องเปลี่ยนให้เป็นบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า และที่สำคัญคือต้องเพียงพอ และในแบบสำรวจนี้ก็สะท้อนว่า คำว่า ‘เส้นความยากจน’ นั้นคนฟังไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจ คนต้องการมีตัวเลขชัดเจน เพื่อวางแผนชีวิตได้ ในอนาคตเครือข่ายเราอาจต้องปักธงที่ตัวเลขใดตัวเลขหนึ่ง ที่แน่ๆคือต้อง 3,000 บาทขึ้น เราต้องชัดเจนเรื่องตัวเลข เครือข่ายจะเดินหน้าเรื่องนี้

“เรื่องสำคัญสุดท้าย เรื่องนี้กำลังส่งเสียงถึงผู้บริหารประเทศชุดใหม่ที่จะมาจากการเลือกตั้ง จะทำยังไงถึงจะทะลุข้อจำกัดเรื่องนี้ รัฐธรรมนูญอาจเขียนว่าคุณทำอย่างอื่นไม่ได้ถ้าไม่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ ่จะถูกตีความว่าเป็นเรืองประชานิยมไม่ได้ แต่เราต้องมาคิดด้วยกันว่าทำยังไงจะให้เกิดรัฐสวัสดิการ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประชานิยม เรื่องนี้คือเรื่องสำคัญที่เราจะแก้ปัญหาความยากจนเรื้อรังทั้งประเทศ” นิมิตร์กล่าวทิ้งท้าย

แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการกล่าวว่าหลังจากนี้จะมีแผนต่อเนื่อง โดยจะมีเวทีระดับภูมิภาคอีก 4 ครั้ง ที่ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยใน 4 ครั้งนี้จะมีการนำเอาคำถามจากโพลล์นี้ไปถามชาวบ้านในเวที เพื่อฟังว่าชาวบ้านมีความเห็นแบบไหน และในวันที่ 8-9 ม.ค. 2562 จะจัดเวทีสำหรับนักการเมือง โดยเชิญนักการเมืองแต่ละพรรคมาดีเบตกันในประเด็นเรื่องรัฐสวัสดิการ เพื่อจะได้ฟังว่าคนกำหนดนโยบายคิดเรื่องนี้แบบไหน



 

ข้อมูลด้านประชากรศาสตร์ของโพลล์

1. เพศ                 ชาย            ร้อยละ 45.1          หญิง            ร้อยละ 54.9

2. อายุ                 ต่ำกว่า 20 ปี  ร้อยละ 7.8           20-25 ปี       ร้อยละ 14.1

                         26-30 ปี      ร้อยละ 9.2           31-35 ปี       ร้อยละ 18.2

                         36-40 ปี      ร้อยละ 21.0         41-45 ปี       ร้อยละ 10.2

                         46-50 ปี      ร้อยละ 12.9         มากกว่า 50 ปี  ร้อยละ 6.6

3. อาชีพ              นักเรียน/นิสิต/นักศึกษา                                 ร้อยละ 17.0

                         ข้าราชการ/พนักงานของรัฐ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ     ร้อยละ 14.7

                         พนักงานบริษัทเอกชน                                  ร้อยละ 25.8

                         นักธุรกิจ/เจ้าของกิจการส่วนตัว                        ร้อยละ 9.4

                         แม่บ้าน/พ่อบ้าน                                         ร้อยละ 11.7

                         รับจ้างทั่วไป                                             ร้อยละ 20.0

                         อื่นๆ                                                      ร้อยละ 1.4

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net