Skip to main content
sharethis

เทียบ 'เบี้ยผู้สูงอายุ' จากสวัสดิการถ้วนหน้า สู่สงเคราะห์ที่ต้องพิสูจน์ความจน  ด้าน มท.1 ให้รอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ พม. เคาะ โฆษก รบ. ย้ำ เบี้ยผู้สูงอายุคนเดิมยังได้อยู่ ขอคนรวยเข้าใจปรับเกณฑ์เพื่อใช้งบกับคนที่ลำบาก ขณะที่ วิโรจน์ อัด รบ.ลักไก่เปลี่ยนจากถ้วนหน้า เป็นบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน

เกณฑ์ใหม่จากเดิม ที่ต้องมีสัญชาติไทย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดย "ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ" มาเป็น "ผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด"

เกณฑ์ที่ใช้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552

จากกรณี เมื่อวันที่ 11 ส.ค.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงิน เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 ลงนามโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยประเด็นสำคัญที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์คือ การแก้ไขคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ จากเดิม ที่ต้องมีสัญชาติไทย มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดย "ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ" มาเป็น "ผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด" ส่งผลให้จากระบบให้แบบถ้วนหน้าไปเป็นสังคมสงเคราะห์เฉพาะคนนั้น

มท.1 ให้รอคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ พม. เคาะ

ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการมหาดไทย ชี้แจงถึงกรณีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุ ว่า เรื่องเงินดูแลผู้สูงอายุ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่เป็นเจ้าของเรื่อง โดยมีคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ เป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้ ตามหลักเกณฑ์ แต่งบประมาณส่วนนี้ นำมาให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นผู้จ่ายจึงเกี่ยวข้องกับกระทรวงมหาดไทย เป็นที่มาว่าโดยกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจ่ายได้นั้น กระทรวงมหาดไทยจะต้องออกระเบียบ เพื่อที่ให้เขาดำเนินการได้ แต่เคยมีปัญหาเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็จ่ายเงินตามปกติ ให้กับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่ลงทะเบียนแล้ว แต่เกิดประเด็นว่ากรมบัญชีกลางท้วง คนที่มีรายได้ ส่วนอื่นจากของรัฐจะรับอีกไม่ได้ ในช่วงนั้นก็มีการแก้ไขปัญหากัน สรุปว่าที่จ่ายไปแล้วก็ไม่เรียกคืน ที่เรียกคืนไปแล้วเราก็ไปจ่ายเงินคืนให้เหมือนเดิม

มาถึงตอนนี้จะจ่ายอย่างไรนั้น จึงอยู่ที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเป็นคนกำหนด หลังจากนั้นมหาดไทยก็จะไปออกให้สอดคล้องกับที่กำหนดมา ขณะนี้ก็จะต้องบอกไปเพราะไม่ฉะนั้นเขาจะทำตัวไม่ถูก บอกว่าให้จ่าย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องรอ เกณฑ์ต่างๆจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ

ส่วนที่บางคนไปเข้าใจผิดว่าตัดหรือไม่ตัดเบี้ย นั่นไม่ใช่ แต่เราบอกไปเพื่อที่จะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จ่ายได้ ส่วนจะจ่ายได้อย่างไรนั้นต้องรอดูจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเงื่อนไขเวลา เกี่ยวที่ว่าคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะกำหนดออกมาเมื่อไหร่อย่างไร

โฆษก รบ. ย้ำ เบี้ยผู้สูงอายุคนเดิมยังได้อยู่ ขอคนรวยเข้าใจปรับเกณฑ์เพื่อใช้งบกับคนที่ลำบาก

สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้และได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 11 ส.ค 2566 ซึ่งมีสาระหลักเพิ่มเติม คือ เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฏหมายว่าด้วยผู้สูงอายุ ดังนั้น จะต้องมีการออกระเบียบกำหนดรายละเอียดจากนี้อีกโดยคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพอยู่ก่อนวันที่ระเบียบใช้บังคับ จะยังมีสิทธิ์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป
 
ส่วนที่มีการกล่าวว่า การปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เป็นเพราะรัฐบาลไม่มีความสามารถในการหาเงิน รัชดา ชี้แจงว่า ทึ่ผ่านมา เศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้น มีการจดทะเบียนการค้าบริษัทต่างชาติ การขอการสนับสนุนการลงทุนต่างชาติเพิ่มต่อเนื่อง มีตัวชี้วัดความสามารถจัดหารายได้ ดูจากตัวเลขการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 (ต.ค.65-เม.ย.66) เก็บรายได้สูงกว่าปีก่อน 6.5% สูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 107,101 ล้านบาท หรือ 11.10% ขณะที่ภาพรวมการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 7 เดือนของปีงบประมาณ 2566 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.4% และสูงกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 8.9% นี่คือความสามารถของรัฐบาลในการหารายได้
 
ส่วนประเด็นที่มีการดราม่าว่า เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ของพลเมืองไทยหรือไม่นั้น รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่ม มุ่งแก้ปัญหาประชาชนอย่างมุ่งเป้า ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณ วันนี้เราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะเพิ่มต่อเนื่อง งบประมาณจากเคยตั้งไว้ ห้าหมื่นล้านต่อปี เพิ่มเป็นแปดหมื่นล้าน และแตะเก้าหมื่นล้านแล้ว ในปีงบประมาณ 2567 ดังนั้น หากลดการจ่ายเบี้ยฯแก่ผู้สูงอายุเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้สูงหรือผู้สูงอายุที่ร่ำรวย เพราะงบประมาณที่จ่ายให้ไปอาจจะไม่มีความจำเป็น ถือเป็นการใช้นโยบายการคลังที่พุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือไปยังกลุ่มคนที่มีความจำเป็นและเดือดร้อนกว่า อีกทั้ง คือการสร้างความยั่งยืนทางการคลังระยะยาว ขอฝ่ายการเมืองอย่ามองเป็นการลักไก่ เพราะไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะทำเช่นนั้น

วิโรจน์ อัด รบ.ลักไก่เปลี่ยนจากถ้วนหน้า เป็นบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน

ด้าน วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ว่าเป็นการลักไก่ทำช่วงรัฐบาลรักษาการ โดยโพสต์ว่านี่เป็นการ เปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจากถ้วนหน้า เป็นแบบบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจน

นี่ไม่ใช่ความพยายามในการตัดเบี้ยผู้สูงอายุเป็นครั้งแรก ของฝ่ายอำนาจศักดินาอนุรักษ์นิยมนะครับ เพราะถ้าย้อนไปเมื่อปี 2564 กับกรณียายทวดแสง อายุ 99 ปี และยายบวน อายุ 89 ปี ที่ถูกเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยอ้างว่าเป็นการรับเงินซ้ำซ้อน จากเงินบำนาญจากกรณีที่บุตร และสามีที่รับราชการแล้วเสียชีวิต (ทั้งๆ ที่ หลักเกณฑ์ ปี 2552 ข้อที่ 17 ในบทเฉพาะกาล ก็กำกับไว้ว่าไม่กระทบกับผู้สูงอายุที่ลงทะเบียนไว้ก่อน ก็ยังจะมาฟ้องร้องประชาชนอีก)

การเรียกเงินคืนในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณยายแค่ 2 ท่านเท่านั้น แต่มีผู้สูงอายุได้รับผลกระทบเป็นหมื่นราย ซึ่งการเรียกคืนดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขัดกับ มาตรา 12 ของ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า "เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้จาก พ.ร.บ.ผู้สูงอายุ จะไม่เป็นการตัดสิทธิ และสวัสดิการที่ผู้สูงอายุได้รับจากกฎหมายอื่น" จนประชาชนต้องมาฟ้องร้องต่อศาลปกครอง พอรัฐบาลรู้ว่าแพ้คดีแน่ๆ ในที่สุด ครม. จึงยอมมีมติให้ถอนฟ้องประชาชน และคืนเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้สูงอายุจำนวน 28,345 ราย วงเงิน 245 ล้านบาท ถ้าประชาชนไม่รวมตัวกันสู้ มีหรือที่มันจะยอม

ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ตั้งคำถามด้วยว่า ทำไมไม่ไปตัดงบซื้อเรือดำน้ำ ซื้อเครื่องบินรบ F-35 รวมทั้ง อาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ที่อธิบายไม่ได้ว่ามันทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้นได้อย่างไร ทุกปีมีแต่จะสอดไส้ ขอซื้ออาวุธเอาเงินทอนไม่รู้จักหยุดจักหย่อน แต่กลับสวัสดิการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เป็นความจำเป็นในการดูแลชีวิตประชาชนที่เขาทำงานเสียภาษีมาทั้งชีวิต กลับจ้องที่จะตัดอยู่นั่น

"ก่อนจะตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ผมว่าไปบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์ ออกจากบ้านพักหลวง ก่อนไม่ดีกว่าหรือครับ" วิโรจน์ ระบุ พร้อมย้ำว่า ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนได้ชัดว่า ฝ่ายศักดินาอนุรักษ์นิยม จ้องแต่จะกดประชาชนให้จน และพยายามที่จะตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุมาโดยตลอก คนจำพวกนี้ไม่ต้องการเห็นประชาชนมีชีวิตมั่นคง เพราะเขารู้ว่าถ้าประชาชนมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มขึ้น ประชาชนจะมีความตื่นรู้ทางการเมือง และจะไม่ยอมให้ทุนผูกขาด อำนาจศักดินา และเครือข่ายอุปถัมภ์กดขี่อีกต่อไป

สิ่งที่ฝ่ายศักดินาอำนาจนิยมต้องการเห็นก็คือ ระบบสงเคราะห์ ที่คนจนคนยากต้องมากราบกรานขอความเมตตา เพื่อขอให้พวกเขาโยนเศษเงินบริจาคมาให้ แล้วคนพวกนี้ก็จะเอาการบริจาคมาใช้ยกตัวเองให้เป็นคนดีย์ และยืนค้ำหัวทวงบุญคุณประชาชนได้จนชั่วลูกชั่วหลาน อย่างที่กลอนบทหนึ่งเคยว่าเอาไว้

"ผม และพรรคก้าวไกล ในฐานะลูกหลาน จะไม่มีวันยอมให้พวกมันมาแตะต้องผลประโยชน์อันพึงได้ของคุณตาคุณยายแน่ๆ พวกเราจะพยายามปกป้องเบี้ยผู้สูงอายุของประชาชน อย่างสุดความสามารถครับ" ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net