Skip to main content
sharethis

เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมเปรียบเทียบคำแถลงนโยบายด้านสวัสดิการจาก 3 คณะรัฐมนตรี 'ยิ่งลักษณ์ ประยุทธ์ และเศรษฐา'

11 ก.ย.2566 เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรมหรือ We Fair โพสต์บทวิเคราะห์เปรียบเทียบคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เทียบกับ รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากเอกสารคำแถลงนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ความยาว 52 หน้า สำหรับการแถลงนโยบายรัฐบาล เศรษฐา ต่อรัฐสภาในวันที่ 11 ก.ย. 2566 ได้ปรากฏนโยบายด้านสวัสดิการนโยบายหลัก ได้แก่ เงินดิจิทัลวอลเล็ท 10,000 บาท, การแก้ปัญหาหนี้สิน, การสร้างรายได้ให้กับประชาชน, รวมไปถึงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค

We Fair ระบุว่า เมื่อเปรียบเทียบ คำแถลงนโยบายด้านสวัสดิการของ 3 คณะรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ประยุทธ์ และเศรษฐา ข้อแตกต่างสำคัญ คือ คำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาและประยุทธ์ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต่างจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ซึ่งทำให้ลักษณะของคำแถลงนโยบาย แตกต่างกันอย่างมีลักษณะเฉพาะ

โดยการเปรียบเทียบคำแถลงนโยบายด้านสวัสดิการ ได้มีประเด็นด้านสวัสดิการในหลายเรื่อง ได้แก่ การศึกษา ค่าแรง สวัสดิการแรงงาน หลักประกันสุขภาพ สวัสดิการผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีประเด็น ประกันสังคม สวัสดิการเด็ก สวัสดิการผู้พิการ ขนส่งสาธารณะ ความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ ที่อยู่อาศัย ที่ดิน ภาษีและงบประมาณ จากการเปรียบเทียบคำแถลงนโยบายด้านสวัสดิการของ 3 คณะรัฐมนตรี มีข้อสังเกตต่อไปนี้

1) ประเด็นนโยบายสวัสดิการที่ไม่ถูกกล่าวถึง : เมื่อกล่าวถึงสวัสดิการเด็ก จากคำแถลงนโยบายของ 3 คณะรัฐมนตรี พบว่า มีเพียงคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีเศรษฐา ที่ไม่ได้กล่าวถึงสวัสดิการเด็ก แม้ครม.ยิ่งลักษณ์และประยุทธ์กล่าวถึงสวัสดิการเด็ก อย่างไรก็ตามทั้งสอง ไม่ได้กล่าวถึงเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด แม้ว่าจะพึ่งเกิดขึ้นในช่วงรัฐบาลประยุทธ์ก็ตาม สำหรับสวัสดิการประเด็นประกันสังคม มีเพียงรัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้นที่กล่าวถึง ขณะที่รัฐบาลประยุทธ์และรัฐบาลเศรษฐา ไม่ได้กล่าวถึงประกันสังคมแต่ใช้คำกว้างๆ ว่า “สวัสดิการ” โดยที่รัฐบาลประยุทธ์ใช้คำว่า “สวัสดิการและสิทธิประโยชน์” นอกจากนี้รัฐบาลประยุทธ์ เป็นเพียงรัฐบาลเดียวที่ไม่ได้กล่าวถึง ความเท่าเทียมและความหลากหลายทางเพศ และรัฐบาลเศรษฐา เป็นเพียงรัฐบาลเดียวที่ไม่ได้กล่าวถึง สวัสดิการที่อยู่อาศัย

2) ความไม่ชัดเจนและคำสำคัญเปลี่ยนไป ของคำแถลงนโยบายสวัสดิการ : จากคำแถลงนโยบายด้านสวัสดิการของ 3 คณะรัฐมนตรี พบว่า คำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐามีคำแถลงที่ค่อนข้างกว้าง ไม่ชัดเจน เมื่อเทียบกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ตัวอย่างเช่น ประเด็นด้านแรงงาน อธิบายว่า “ทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงระบบสวัสดิการที่เหมาะสม” ซึ่งไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไร อีกทั้งนโยบายค่าแรง แม้ตอนประกาศนโยบายการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 2570 ของพรรคเพื่อไทย 1 ใน 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศ ที่มีการเปิดตัวเป็นนโยบายชุดแรก ๆ ในเดือน ธ.ค. 2565 พบว่า ไม่ปรากฏในเอกสารคำแถลงนโยบาย แต่พบคำว่า “มีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สอดคล้องและเพียงพอต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิต” ต่างจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ให้แรงงานมีรายได้เป็นวันละไมน้อยกว่า 300 บาท และผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีมีรายได้เดือนละไม่น้อยกว่า 15,000 บาท อย่างไรก็ตาม ยังพบคำว่า “ถ้วนหน้า” ในประเด็นหลักประกันสุขภาพในคำแถลงนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และคำดังกล่าวได้หายไปในสองรัฐบาลถัดมา นอกจากนี้ คำว่า “เบี้ยยังชีพ” และ “หลักประกันสุขภาพ” ที่มีมาก่อนหน้านี้ ไม่พบในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา

3) คำแถลงนโยบายสะท้อนรูปแบบของการจัดสวัสดิการ :

[รัฐบาลยิ่งลักษณ์] แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะมีนโยบายที่โดดเด่นในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ทั้งการปรับขึ้นค่าแรง การปรับขึ้นเงินเบี้ยยังชีพ รวมทั้งนโยบายด้านสวัสดิการการศึกษาต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่ได้มีการยกระดับสวัสดิการโดยรัฐเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ข้อสังเกตที่เห็นได้ชัด คือนโยบายมาตรการทางภาษี ไม่ว่าจะเป็นการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล มาตรการภาษีเพื่อลดภาระการลงทุนสําหรับสิ่งจําเป็นในชีวิตของประชาชนทั่วไป มาตรการภาษีส่งเสริมการลงทุน ที่ปรากฎในคำแถลงนโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และมีประเด็นสำคัญคือ การส่งเสริมใหภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการลงทุนภาครัฐ ลักษณะดังกล่าวจึงสะท้อนรูปแบบสวัสดิการที่เป็นแบบเสรีนิยม

[รัฐบาลประยุทธ์] เป็นรัฐบาลที่ใช้คำแถลงนโยบายที่มีคำสำคัญอย่าง “ลดความเหลื่อมล้ำ” “ความเสมอภาค” และ “การปฏิรูประบบภาษี” แต่นโยบายด้านสวัสดิการกลับเป็นการมุ่งเน้นการช่วยเหลือแบบสงเคราะห์พุ่งเป้า พิสูจน์ความยากจน โดยจะมีคำว่า “ผู้ยากไร้, ผู้ด้อยโอกาส, ผู้มีรายได้น้อย, กลุ่มคนยากจน” ที่พบได้ในการขยายคำแถลงนโยบายด้านสวัสดิการของรัฐบาลประยุทธ์ในหลายประเด็น ตัวอย่างเช่น ประเด็นสวัสดิการการศึกษา อธิบายว่า “สนับสนุนเด็กที่มีความสามารถแต่ไม่มีทุนทรัพย์เป็นกรณีพิเศษ” และประเด็นสวัสดิการอื่นๆ อธิบายว่า “มีการลงทุนทางสังคมแบบมุ่งเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนยากจนและกลุ่มผู้ด้อยโอกาสโดยตรง” ซึ่งได้สะท้อนรูปแบบสวัสดิการอนุรักษนิยมได้อย่างชัดเจน

[รัฐบาลเศรษฐา] ได้มีการใช้คำว่า “สวัสดิการโดยรัฐ” ในคำแถลงนโยบาย ซึ่งนโยบายส่วนใหญ่จะเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มีการสร้างรายได้ผ่านนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการกล่าวถึงประเด็นแรงงาน ที่กล่าวว่า “มีเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม" สอดคล้องและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต พร้อม ๆ กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และสามารถทำให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงระบบสวัสดิการที่เหมาะสม” จากคำแถลงนโยบายดังกล่าว ซึ่งอาจส่งผลกับการปรับลดสวัสดิการจากภาครัฐของประชาชนที่มีอยู่เดิมหรือไม่ อาจจะต้องจับตาดูการจัดสรรงบประมาณและนโยบายที่จะเกิดขึ้นต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net