Skip to main content
sharethis

‘วาด รวี’ ชี้นักวิชาการสนใจแค่วรรณกรรมยุคเก่าหรือจากตะวันตก ‘สุธิดา’ โต้นักเขียนเองก็ไม่ชอบฟังนักวิจารณ์ วงการวรรณกรรมจึงอ่อนแอ แต่ยอมรับงานวิจารณ์ไทยร่วมสมัยยังน้อย ‘ไอดา’ ระบุงานวิจารณ์ไทยร่วมสมัยมีแต่อยู่ในวงวิชาการไปไม่ถึงสาธารณะ ‘ชูศักดิ์’ ชี้อย่าคาดหวังกับแค่นักวิชาการ เพราะอาจารย์มหา’ลัยงานล้นต้องทำประกันคุณภาพการศึกษา

ในงานบรรยายหัวข้อ "ทฤษฎีวรรณกรรมศตวรรษที่ 20 จากตัวบทถึงบริบท" ที่จัดขึ้น ณ ห้อง 307 คณะศิลปศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีวิทยากรคือ ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ และ สุธิดา วิมุตติโกศล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดโดย โครงการปริญญาโทสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ มธ. ร่วมกับ สำนักพิมพ์ อ่าน เมื่อวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมา

อ่าน 'ชูศักดิ์-สุธิดา' คุยทฤษฎีวรรณกรรมศตวรรษที่ 20 จากตัวบท บริบทถึงการกระทำทางการเมือง

 

รับชมช่วงถาม-ตอบ นาทีที่ 2.49.45 เป็นต้นไป

 

‘วาด รวี’ ชี้แทบไม่มีใครหยิบวรรณกรรมช่วงวิกฤตการเมือง ศึกษาวิจารณ์อย่างเป็นระบบ

หลังการบรรยายเสร็จในช่วงถาม-ตอบ ‘วาด รวี’ นักเขียนนักกวีทางการเมืองได้จุดประเด็นวิจารณ์นักวิชาการด้านวรรณกรรม โดยกล่าวว่า นักวรรณกรรมที่เป็นนักวิชาการค่อนข้างที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นที่นักวิชาการตะวันตกศึกษา เช่น เรื่องแนวคิดเฟมินิสต์ แนวคิดหลังอาณานิคม (ที่สุธิดาบรรยาย) ก็เป็นเรื่องตะวันตก

“ผมสงสัยว่าสิ่งที่นักวรรณกรรมศึกษาของไทยควรจะทำคือการศึกษาตัวบทและบริบทที่มีชีวิตอยู่ต่อหน้าตัวเองรึเปล่า หรือเป็นการไปศึกษาวิชาการตะวันตกซึ่งอยู่ในบริบทสังคมหนึ่งและอาจจะไม่สามารถนำมาใช้กับบริบทสังคมไทยได้ ยกตัวอย่างเช่น แนวคิดเฟมินิสต์ต่อเรื่องฮิสทีเรียก็ไม่ใช่ประเด็นที่นำมาใช้ได้กับสังคมไทยอย่างตรงไปตรงมา หรือที่อาจารย์ชูศักดิ์ยกตัวอย่างการเรียกพี่-น้องในสังคมไทย ความอาวุโสมาก่อนเรื่องเพศ ขณะที่ของภาษาอังกฤษคือเรื่องเพศมาก่อน ระบบความสัมพันธ์ของตะวันตกมันแตกต่างจากสังคมไทยค่อนข้างมาก ไม่สามารถเอามูฟเม้นท์ที่เกิดขึ้นในตะวันตกมาใช้ได้ตรงไปตรงมา โดยไม่ศึกษาตัวบทและบริบทที่มีชีวิตอยู่ในสังคมไทยเลย” วาด รวี กล่าว

เขากล่าวต่อว่า อีกประเด็นที่ติดใจคือ เวลาฟังนักวิชาการพูด เหมือนกับฟังนักอ่านที่เป็นนักวิชาการวรรณกรรมศึกษาคุยอยู่ในห้องที่มีแต่นักอ่าน แล้วนักเขียนก็อยู่ช้างนอกห้อง มันอาจเป็นอิทธิพลหลังโครงสร้างนิยม แนวคิดเรื่อง ผู้ประพันธ์ตายแล้ว มีอิทธิพลกับนักวิจารณ์ไทยค่อนข้างมากโดยเฉพาะทศวรรษ 2540 ทำให้การวิจารณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น ยิ่งในทศวรรษ 2550 คือการกลับไปอ่านงานของนักเขียนที่ตายไปแล้ว คือการกลับไปอ่านย้อนหลัง เช่น ปีศาจ (เสนีย์ เสาวพงศ์) แต่ความสนใจต่อตัวบทหรือบริบทที่มีชีวิตอยู่ ณ ขณะนั้นน้อยมาก

“ข้อสังเกตที่ผมจับได้คือแทบไม่มีนักวิชาการวรรณกรรมจับหรือหยิบตัวบทวรรณกรรมหลายๆ ชิ้นที่ผมรู้สึกว่ามันมีความเป็นเอกลักษณ์ ที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตการเมือง หลังทศวรรษ 2550 แต่กลับไม่มีการหยิบงานเหล่านี้ขึ้นมาศึกษา วิจารณ์อย่างเป็นระบบเลย อาจารย์ชูศักดิ์ก็กลับไปสนใจวรรณกรรมยุค 2490 ส่วนคนรุ่นใหม่ก็ไปสนใจแนวคิดเฟมินิสต์หรือแนวคิดหลังอาณานิคม

“จากที่ผมสัมผัสตัวบทของนักเขียนร่วมสมัยที่เกิดขึ้นหลัง 2550 มีนัยสำคัญอย่างหนึ่งคือแสดงให้เห็นว่าหลังจากที่เผยแพร่แนวคิดแบบโพสต์โมเดิร์นในช่วงทศวรรษ 2540 มาอย่างต่อเนื่อง พอเกิดวิกฤตการเมือง เกิดตัวบท เราไม่สามารถพูดได้ว่านักเขียนเหล่านี้เขียนโดยการตระหนักแบบเดียวกับก่อนหน้าที่จะมีการเผยแพร่ความคิดเหล่านี้ หมายความว่าระหว่างที่นักศึกษาวรรณกรรมนั่งคุยกันอยู่ในห้องเรื่องการอ่านในศตวรรษที่ 19-20 จริงๆ นักเขียนยังไม่ได้ตาย แต่ก็นั่งฟังอยู่ในห้องนี้ด้วย และก็ตระหนักว่ามีวิธีคิดหลังโครงสร้างนิยมแล้ว การตระหนักรู้ว่ามีวิธีการอ่านแบบหลังโครงสร้างนิยมแล้วมีความแตกต่างอย่างสำคัญกับก่อนที่จะตระหนักรู้ มีงานที่ชี้ให้เห็นว่านักเขียนออกแบบโครงสร้างที่มองไม่เห็นอย่างสลับซับซ้อนจนพูดได้ว่าถ้าคุณไม่ตระหนักรู้เรื่องโครงสร้างนิยมคุณไม่มีทางเขียนได้แบบนี้ แต่ไม่มีนักวิชาการสนใจศึกษาเลย

“นักศึกษาวรรณกรรมบ้านเรานอกจากไม่สนใจตัวบทวรรณกรรมร่วมสมัยที่มีชีวิตร่วมเวลากับตัวเอง ยังค่อนข้างอ่อนเรื่องการศึกษาบริบทของสังคมการเมืองด้วย ส่วนงานวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัยที่ออกมานั้นต้องบอกว่าเชยและทื่อมากๆ ในขณะที่นักเขียนนั้นผลิตงานด้วยแนวคิดที่ไปไกลกว่านั้นแล้ว” วาด รวี กล่าว

 

‘สุธิดา’ โต้นักเขียนเองก็ไม่ชอบอ่านงานวิจารณ์

สุธิดา วิมุตติโกศล ได้โต้แย้งว่า ข้อสังเกตของตนคือ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าการศึกษาของภาควิชาวรรณคดีอังกฤษส่วนหนึ่งเป็นสมบัติตกทอดของอาณานิคมเหมือนกัน ด้านหนึ่งคือเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้ถ้าเราไม่ทำงานเกี่ยวกับวรรณกรรมตะวันตกเขาก็ไม่ต่อสัญญา

“โดยส่วนตัวอาจจะเขียนงานภาษาไทยค่อนข้างน้อย แต่อยากให้ลองมอง อ.ชูศักดิ์ ซึ่งแม้จะไม่ได้อยู่ภาควิชาวรรณกรรมไทยแต่ก็ทำงานภาษาไทยจนจะไม่ได้เป็นศาสตราจารย์อยู่แล้วเพราะมีแต่งานภาษาไทย อันนี้ต้องให้ความเป็นธรรมกับแกนิดนึง แต่เราก็เห็นด้วยว่างานศึกษางานวิจารณ์เกี่ยวกับวรรณกรรมไทยค่อยข้างน้อย แม้จะเทียบจำนวนบุคคลากรแล้วอาจจะมี 10 กว่าคน แต่เราก็ไม่ได้คิดว่ามันเป็นข้ออ้าง จริงๆ เราก็ควรทำเรื่องไทยให้เยอะกว่านี้

“อีกประเด็นอาจจะเป็นการวิจารณ์นักเขียนกลับ คือนักเขียนไม่ชอบอ่านงานวิจารณ์ เท่าที่เราสังเกต นักเขียนไม่ค่อยชอบเราวิจารณ์ และไม่ค่อยอยากฟังด้วยว่าเราพูดอะไร ซึ่งอันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แวดวงมันอ่อนแอ มีประสบการณ์ส่วนตัว สมมตินักวิจารณ์พูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งหรือรวมงานชุดหนึ่ง นักเขียนไม่ฟังว่าเขาพูดอะไร” สุธิดากล่าว

วาด รวี ได้โต้กลับว่า ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่านักเขียนไม่ฟังนักวิจารณ์ นักเขียนจะไม่ฟังนักวิจารณ์ก็ได้ เราไม่ได้ต้องการให้นักเขียนต้องฟังเพื่อไปปรับปรุง แต่ตนกำลังจะบอกว่าการศึกษาวรรณกรรมที่นักวิจารณ์ได้เรียนรู้และพัฒนาแนวคิดต่างๆ ขึ้นนั้นไม่ใช่มีเพียงนักศึกษาวรรณกรรมเท่านั้นที่ตระหนักถึงเรื่องเหล่านี้ ในเวลาเดียวกันผู้สร้างงานก็ตระหนักถึงวิธีคิดวิธีอ่านเพื่อเข้าถึงความหมายในรูปแบบเหล่านี้ แต่ในตอนนี้ไม่มีนักศึกษาวรรณกรรมที่ตระหนักว่ามันมีความต่างระหว่างการอ่านแบบโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม นั่นเพราะไม่มีคนศึกษาวรรณกรรมร่วมสมัยของไทย นักวิชาการวรรณกรรมจึงตามไม่ทัน

 

บ.ก.อ่าน ระบุเพียงข้อเขียนไม่ปรากฎในพื้นที่ที่รับรู้ทั่วกัน

ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการนิตยสารอ่าน ได้แสดงความเห็นว่า โดยส่วนตัวคิดว่านักวิชาการไทยอ่านงานวรรณกรรมไทยร่วมสมัยเยอะ เพียงแต่ข้อเขียนของเขาไม่ได้ปรากฎในพื้นที่ที่รับรู้ทั่วกัน เช่น นิตยสารอ่าน แต่อาจอยู่ในวารสารวิชาการ และโดยส่วนใหญ่นักเขียนที่มาเขียนในนิตยสารอ่านก็มาจากสาขาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ซึ่งโดยพื้นฐานพูดเรื่องวรรณคดีอังกฤษ อเมริกัน แต่ก็พยายามเอาทฤษฎีเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้กับวรรณกรรมไทยบ้าง ตนเข้าใจความต้องการที่จะให้นักวิจารณ์ไปถึงหมุดหมายที่นักเขียนไทยไปถึง แต่ตนคิดว่างานอย่างของอุทิศ เหมะมูล ไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ใช่งานที่น่าตื่นตาตื่นใจ

วาด รวี แย้งว่า งานของอุทิศนั้นคนอ่านเพราะได้ซีไรต์ แต่ถ้าศึกษาตนคิดว่ามันต้องไปลึกกว่านั้น งานบางชิ้นที่ไม่ได้เข้ารอบลึกๆ ไม่ใช่งานของนักเขียนที่มีชื่อเสียง มันไม่ถูกอ่าน ไม่ถูกทำความเข้าใจ และตนคอมเมนต์โดยดูจากงานของนักวิชาการที่ออกสู่สาธารณะ เพราะพูดจริงๆ แล้วคนที่มีทักษะการพูดถึงตัวบทและบริบทที่สุดกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยคือนักวิชาการวรรณกรรม แต่นักวิชาการกลับศึกษาวิจารณ์งานพวกนี้น้อยอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งที่งานเขียนร่วมสมัยเหล่านี้มันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน แต่ไม่เคยมีใครจุดประเด็นเหล่านี้

ไอดา กล่าวต่อว่า ในทศวรรษที่มีความขัดแย้งทางการเมืองสูงแบบนี้ ตนเห็นงานของนักเขียนจำนวนไม่น้อยเลยที่พยายามเอาความขัดแย้งทางการเมืองเข้าไปใส่ในงานของเขา ตนคิดว่าในสังคมการอ่านน่าจะรู้อยู่ว่ามันมีความเคลื่อนไหวนี้ แต่การจะถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ตนคิดว่ามันต้องไปพร้อมกับข้อจำกัดของการถกเถียงในสังคมไทย สมมติมีนิยายของนักเขียนคนหนึ่งไปแตะประเด็น 112 ตัวนักเขียนเองก็อาจจะยังไม่อยากพูดชัดๆ ต้องเขียนอ้อมไปอ้อมมา แล้วสังคมก็อาจจะไม่กล้าจะถกเถียงกันอย่างสาธารณะ แต่อันหนึ่งที่รู้สึกคือมันมีการจัดระยะระหว่างนักวิจารณ์กับนักเขียน มันมีความคาดหวังเดิมๆ ของวงการวรรณกรรมไทยที่ผ่านว่า เมื่อนักเขียนคนหนึ่งเขียนงานน่าสนใจแล้วนักวิจารณ์ก็ต้องเอามาวิจารณ์หรือพูดถึง ซึ่งแค่ลำพังการพูดถึงก็ทำให้นักเขียนอยู่ในสายตาแล้ว ซึ่งส่วนหนึ่งมันมาจากระบบอุปถัมภ์ดั้งเดิม กระทั่งนิตยสารอ่านเองก็ลำบากใจกับการจัดวางความสัมพันธ์แบบนี้ จึงคิดว่ามันมีปัญหาทางวัฒนธรรมที่ทับซ้อนกันอยู่ ที่ดูอาจจะไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่โตมากนัก แต่ก็เป็นปัญหา

 

‘ชูศักดิ์’ มองระบบทำนักวิชาการมุ่งเวทีวิชาการ ค่อนข้างตัดขาดโลกสาธารณะ

ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ ทิ้งท้ายว่า ข้อเสนอของ วาด รวี ก็คงต้องฝากอาจารย์ที่สอนทั้งวรรณกรรมไทยและต่างชาติในสังคมนี้ให้พัฒนา พร้อมชี้ว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น หากพูดจากสาขาตน หลังจากมี มคอ. (กรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ) ซึ่งต้องทำงานเพื่อการประกันคุณภาพการศึกษาทั้งหลาย โดยมีเงื่อนไขที่ต้องผลิตผลงานวิชาการ จึงกดดันให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยจำนวนมากเปลี่ยนเวทีจากเวทีสาธารณะไปสู่เวทีวิชาการ ซึ่งค่อนข้างตัดขาดจากโลกสาธารณะ และตนคิดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้งานที่ผลิตออกมาไม่เผยแพร่ไปสู่สาธารณะ ไม่มีการพูดถึงอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

“มาถึงตอนนี้อาจจะคาดหวังกับนักวิชาการได้น้อย นักวิชาการไม่ได้มีบารมีขนาดนั้นแล้ว นักเขียนนักอ่านก็ขึ้นมาทำกันเองได้ ผมก็ไม่รู้ว่าพูดแบบนี้เหมือนการยอมแพ้โดยตัวมันเองรึเปล่า แต่ถ้าเราไปฝากความหวังไว้กับนักวิชาการมันยิ่งทำให้เราไม่มีแรงทำอะไรด้วยตัวเอง ผมคิดว่ามันควรจะเรียกร้อง แต่อย่าคาดหวังว่าจะต้องมีนักวิชาการมารับไม้ ผมคิดว่ามีคนอื่นมากมายที่พร้อมจะรับข้อเสนอนี้ไปทำ ประเด็นที่เสนอมาก็น่าสนใจและคิดว่าควรจะมีคนทำ” ชูศักดิ์ กล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net