Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

วาทกรรมที่อธิบายเรื่องแนวคิดและอุดมการณ์เกี่ยวกับชาติและสถาบันกษัตริย์  ที่ก่อนหน้านี้มักปรากฏในชื่ออุดมการณ์ “ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์” และในระยะหลังมักปรากฏในชื่ออุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” เป็นคำอธิบายที่ประกอบกันขึ้นมาจากความคิดของนักคิดหลายคนในหลายช่วงระยะเวลา เกิดจากการส่งอิทธิพลกันไปมา หากแต่มีเส้นเรื่องประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงอุดมการณ์ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเข้ากับช่วงเวลาต่างๆ ในประวัติศาสตร์และชี้ให้เห็นความสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์ที่ว่ามีโครงเรื่องหลวมๆ และมีรายละเอียดผิดเพี้ยนกันไปเล็กน้อยในแต่ละครั้งที่ปรากฏ และบางทีก็ขัดแย้งกันเอง โดยรวมแล้วเป็นความเข้าใจกว้างๆ เกี่ยวกับสิ่งที่เชื่อว่าเป็นอุดมการณ์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่ขับเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน แม้จะมีชื่อว่า “ราชาชาตินิยม” แต่วาทกรรมนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ความคิดของ ธงชัย วินิจจะกูล และบางทีก็ปรากฏออกมาในลักษณะที่แย้งกับข้อเสนอของธงชัยเอง แม้ว่าคำอธิบายเหล่านี้จะหยิบมาจากงานที่ผลิตขึ้นก่อนปี 2553 แต่การนำมาประกอบขึ้นเป็นเค้าโครง และใช้เป็นวาทกรรมในการกำหนดความจริงเกี่ยวกับปรากฏการณ์ปัจจุบันเป็นสิ่งที่เกิดหลังจากปี 2553 เป็นส่วนใหญ่

เค้าโครงของเรื่องราวมักมีอยู่ว่า อุดมการณ์ราชาชาตินิยมเกิดในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สะดุดไปด้วยการปฏิวัติ 2475 และรื้อฟื้นกลับมาเป็นอุดมการณ์ของชาติในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (บ้างก็ว่ากลับมาตั้งแต่ 2490) และสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน สังเกตว่าเรื่องเล่านี้ขัดแย้งแม้แต่กับข้อเสนอจากธงชัยเองที่ปักธงการเปลี่ยนแปลงสำคัญเอาไว้ที่เหตุการณ์ 14 ตุลา (ไม่ใช่สมัยสฤษดิ์) หรือที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ เรียกว่า “ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย” คือ ราชาชาตินิยมที่ผนวกเอาอุดมการณ์ประชาธิปไตยเข้าไว้ด้วย

โครงเรื่องนี้พยายามชี้ให้เห็นความสืบเนื่องแต่เมื่อพิจารณาแต่ละส่วนจะพบด้านที่ “ไม่สืบเนื่อง” อันต่อเนื่องกระทั่งอาจนำไปสู่ความไม่อาจดำรงอยู่ของโครงเรื่อง

 

สฤษดิ์-ถนอมเป็นทายาททางการเมืองของใคร?

จากการศึกษาวาทกรรมก่อน 14 ตุลา 16 ประจักษ์ ก้องกีรติ พบว่านักศึกษาในสมัยนั้นเข้าใจประวัติศาสตร์แบบ “กลับตาลปัตร” คือเห็นว่าเผด็จการถนอม-ประภาสเป็นทายาทของคณะราษฎร และเห็นว่ารัชกาลที่ 7 และกลุ่มกษัตริย์นิยม-อดีตนักโทษกบฏบวรเดชคือนักประชาธิปไตย พวกเขาจึงพากันผลิตวาทกรรมที่ประจักษ์เรียกว่า “ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย”[1]

ความเข้าใจว่ารัชกาลที่ 7 และฝ่ายกษัตริย์นิยมเป็นนักประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องที่ชัดเจนว่ากลับหัวกลับหาง มาจากการเขียนประวัติศาสตร์ของนักเขียนและนักวิชาการรอยัลลิสต์ ที่เขียนให้คณะราษฎรเป็นผู้ร้ายและฝ่ายกษัตริย์เป็นพระเอก ซึ่งก็สมดังคำกล่าวที่ว่าผู้ชนะเป็นผู้เขียนประวัติศาสตร์

แต่ความเข้าใจว่าเผด็จการทหารคือทายาทของคณะราฏรนั้นเป็นเรื่องที่กลับตาลปัตรจริงหรือ?

หรือว่าแท้จริงแล้วมันมีด้านที่ “สืบเนื่อง” อยู่ระหว่างคณะราษฎร กองทัพ และระบอบเผด็จการทหารที่เริ่มต้นจากสฤษดิ์มาถึงถนอม-ประภาส

การรัฐประหาร 2490 คือจุดพลิกผันที่ทำให้เกิดความจริงหลายแง่ที่กล่าวได้ว่าพูดให้ถูกได้หลายแบบ จะพูดว่าเป็นความแตกแยกของคณะราษฎรก็ได้ จะพูดว่ากองทัพบกร่วมมือกับฝ่ายกษัตริย์โค่นล้มรัฐบาลคณะราษฎรก็ได้ หรือจะพูดว่าฝ่าย จอมพล ป. ร่วมมือกับฝ่ายกษัตริย์นิยมโค่นล้มฝ่ายปรีดี ก็ได้อีก หรือจะพูดว่าฝ่ายกษัตริย์นิยมหักหลังฝ่ายปรีดีโดยร่วมมือกับฝ่ายทหารบกก็ได้เช่นกัน

ภูมิหลังของเหตุการณ์ครั้งนี้คือความขัดแย้งระหว่างกองทัพบกและเสรีไทยซึ่งเป็นผลพวงของสถานะอันสับสนของไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ในขณะที่แนวคิดที่กำกับกองทัพในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองเน้นว่าทหารเป็นของพระเจ้าอยู่หัวและไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองคณะราษฎรได้สร้างแนวคิดใหม่ขึ้นว่า ทหารเป็นของชาติ มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญและจะต้องมีบทบาททางการเมือง “เราเป็นทหารของชาติ เราทำงานเพื่อชาติ ถ้ารัฐบาลเหลวไหล เราผู้เป็นทหารของชาติก็ต้องกำจัดรัฐบาล... ถ้ารัฐบาลของเรายังดีอยู่ เราก็ต้องช่วยเหลือรัฐบาล”[2] การยึดอำนาจรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ในปี 2476 คือตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม

จอมพล ป. คือนายทหารที่โดดเด่นขึ้นมาในฐานะผู้พิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งขึ้นสู่ความเป็นผู้นำ สมัยของจอมพล ป.ช่วงแรก ซึ่งเป็นสมัย “ทหารนิยม” นั้นกินเวลาส่วนใหญ่ของยุคคณะราษฎร ปรีดี พนมยงค์ อธิบายการปกครองโดยจอมพล ป. ว่าคือ “ลัทธินายทหารชั้นผู้ใหญ่มีอำนาจในการปกครองประเทศ”[3]         สงครามโลกคือจุดหักเห ในขณะที่ฝ่ายทหารบกได้รับอิทธิพลจากชาตินิยมแบบฟาสซิสต์ ฝ่ายพลเรือนของคณะราษฎรก็หันกลับไปร่วมมือกับฝ่ายกษัตริย์นิยมต่อต้านญี่ปุ่นด้วยขบวนการเสรีไทย เมื่อญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้สงคราม ความพยายามที่จะป้องกันไม่ให้ไทยตกเป็นประเทศแพ้สงครามไปด้วยทำให้เสรีไทยได้รับการสนับสนุนให้มีสถานภาพโดดเด่นขึ้นมา ในขณะเดียวกัน สถานะของจอมพล ป.และกองทัพบกก็ตกต่ำลงในฐานะที่ร่วมมือกับญี่ปุ่นประกาศสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตร

ตั้งแต่ปี 2488 ความรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งเกิดขึ้นทั่วไปในหมู่ทหาร หลังจากที่ผู้นำอย่างจอมพล ป.ต้องตกเป็นอาชญากรสงคราม ความไม่พอใจฝ่ายเสรีไทย และรัฐบาลพลเรือนคุกรุ่นอยู่ในกองทัพบก ในขณะเดียวกันรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยคณะราษฎรในปีกซ้ายก็เริ่มมีแนวทางที่จะลดขนาดและจำกัดบทบาททางการเมืองของกองทัพ

เมื่อเกิดกรณีสวรรคตขึ้นและฝ่ายกษัตริย์นิยมหันมาโจมตีรัฐบาลปรีดี กองทัพบกก็ร่วมมือกับฝ่ายกษัตริย์นิยมยึดอำนาจรัฐบาลของฝ่ายปรีดี

จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมา จะพิจารณาสถานะของจอมพลสฤษดิ์และกองทัพบกอย่างไร? ในด้านหนึ่ง จอมพลสฤษดิ์เป็นส่วนหนึ่งของกองทัพบกที่ยึดอำนาจรัฐบาลคณะราษฎรในปี 2490 และร่วมมือกับฝ่ายกษัตริย์ยึดอำนาจจอมพล ป. ในปี 2500 จอมพลสฤษดิ์จึงเป็นฝ่ายกษัตริย์นิยมมากกว่าที่จะเป็นฝ่ายคณะราษฎร ในอีกด้านหนึ่ง จอมพลสฤษดิ์คือส่วนหนึ่งของกองทัพบกของฝ่ายคณะราษฎร เป็นนายทหารในการทำสงครามปราบกบฏบวรเดช และเติบโตในกองทัพบกที่อยู่ภายใต้แนวคิดใหม่ว่าทหารต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพื่อปกป้องประชาธิปไตย สฤษดิ์โดดเด่นและมีอำนาจขึ้นมาจากคณะทหารที่ยึดอำนาจในปี 2490

ดังนั้นการกล่าวว่าจอมพลสฤษดิ์คือผลผลิตทางการเมืองของจอมพล ป.และคณะราษฎรฝ่ายทหาร หรือเป็นด้านที่สืบเนื่องในปีกขวาของคณะราษฎร จึงจริงพอๆ กันหรือแม้แต่อาจจะจริงกว่าการกล่าวว่าจอมพลสฤษดิ์คือความสืบเนื่องทางการเมืองของฝ่ายกษัตริย์นิยม

 

ชาตินิยมของสฤษดิ์

เป็นเรื่องน่าสนใจว่าตอนที่จอมพลสฤษดิ์กล่าวคำพูดที่จะกลายเป็นคำพูดฮิตติดปากคนไทย ว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” นั้นเขาคิดถึงอะไร

แม้ว่า 6 เดือนต่อมาเขาจะพูดซ้ำอีกครั้งเมื่อยึดอำนาจจอมพล ป. ว่า “ได้ยินเสียงเรียกร้องของชาติ”[4] และแม้ว่าตัวกษัตริย์อาจจะต้องการให้สฤษดิ์ออกมา “พบกันใหม่” จริงๆ แต่ชาติในประโยคดังกล่าวไม่ชวนให้นึกไปถึงพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะการพูดครั้งแรกนั้นเกิดขึ้นในการเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้งสกปรก สฤษดิ์ไม่น่าจะคิดถึงกษัตริย์เมื่อเอ่ยคำนี้แม้ว่าเขาจะได้ชื่อว่าเป็นขุนศึกผู้จงรักภักดี ในทางตรงข้าม มีคำพูดหลังการรัฐประหารของเขาที่เป็นเหมือนกับคำเฉลยว่า “ชาติ” ที่กล่าวมาข้างต้นของเขาคืออะไร “ความจำเป็นและความต้องการของประชาชนบังคับให้ข้าพเจ้าต้องทำเช่นนี้... ประชาชนเรียกร้องมา ประชาชนและหนังสือพิมพ์มักจะเตือนให้ข้าพเจ้าระลึกอยู่เสมอว่า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมแพ้ และข้าพเจ้าควรจะทำให้การเรียกร้อง (ของประชาชน) ได้สัมฤทธิ์ผลมาบัดนี้ก็สำเร็จแล้ว”[5]

ความคิดว่าสฤษดิ์เป็นผู้รื้อฟื้นอุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ หรืออุดมการณ์ชาติในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ให้กลับคืนมาเป็นความคิดที่แพร่หลายและนักวิชาการมักกล่าวอ้างกันทั่วไป[6] แต่สิ่งที่สฤษดิ์ทำเป็นสิ่งเดียวกับการรื้อฟื้นอุดมการณ์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์จริงๆ หรือ?

สฤษดิ์รื้อฟื้นจารีตประเพณีบางอย่างในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์และยกย่องกษัตริย์ขึ้นมาเป็น “สัญลักษณ์” ของชาติ แต่อุดมการณ์สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้เห็นกษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์หากแต่เป็น “ศูนย์อำนาจ”

สฤษดิ์ไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยเหมือนในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ “โฆษณา” ว่าจะจัดให้มีการปกครองระบอบ “ประชาธิปไตยแบบไทย” อันที่จริงเหตุผลในการโค่นล้มรัฐบาลจอมพล ป.ของสฤษดิ์ก็คือ “การเลือกตั้งสกปรก” ซึ่งหมายถึงความไม่เป็นประชาธิปไตยนั่นเอง ระบอบการปกครองของสฤษดิ์จึงเป็นระบอบที่ตั้งอยู่บน “คำสัญญา” ว่าจะได้ประชาธิปไตยที่ดีกว่า รัฐธรรมนูญ 2511 ที่ใช้เวลาร่างถึง 9 ปี ก็คือส่วนหนึ่งของคำสัญญานี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เริ่มร่างในปี 2502 ในสมัยของสฤษดิ์และกว่าจะเสร็จก็ล่วงเข้าสู่สมัยถนอม

อุดมการณ์ที่ประกาศโดยสฤษดิ์จึงไม่ใช่อุดมการณ์ของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ยังคงเป็นอุดมการประชาธิปไตย เพียงแต่สฤษดิ์ปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตะวันตก แต่สฤษดิ์ก็ไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดว่าชาติคือประชาชน และไม่ได้ปฏิเสธแนวคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน สฤษดิ์ไม่ได้นำเสนอแนวคิดถวายคืนพระราชอำนาจให้กลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชแบบเดิม ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ 2502 เพียงแต่อ้างว่าคณะปฏิวัติปรารถนาจะให้มีรัฐธรรมนูญที่ “เหมาะสม” เท่านั้น

การปกครองของสฤษดิ์จึงเป็นการปกครองตามแบบลัทธิทหารเป็นผู้นำหรือเผด็จการทหารแบบไทยซึ่งเป็นแบบธรรมเนียมที่อธิบายตัวเองว่าเมื่อประชาธิปไตยมีปัญหาทหารก็จะปฏิวัติเพื่อสร้างประชาธิปไตยที่ดีกว่า

ชาติของสฤษดิ์ไม่ใช่ชาตินิยมของรัชกาลที่ 6 ในขณะเดียวกัน สฤษดิ์ก็ไม่ได้สืบทอดชาตินิยมตามแบบจอมพล ป. แม้ว่ามือทำงานคนสำคัญของเขาจะคือ หลวงวิจิตรวาทการ

ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ชี้ว่าสฤษดิ์ไม่น่าจะ “อิน” กับชาตินิยมที่เน้น “เชื้อชาติไทย” แบบจอมพล ป. ก็คือสฤษดิ์มีเชื้อสายลาว ญาติคนหนึ่งของเขาคือพลเอกภูมี หน่อสวรรค์ ผู้นำคนหนึ่งของลาวฝ่ายขวา

 

2 ด้านของชาตินิยมในสงครามเย็น

ด้านที่แย้งกับความเป็นชาตินิยมในช่วงสงครามเย็นก็คือ ระบอบเผด็จการทหารไทยในยุคสงครามเย็นนั้นเป็นความร่วมมือระหว่าง กองทัพ สถาบันกษัตริย์ และสหรัฐอเมริกา[7] การปกครองของสฤษดิ์จึงไม่ได้มุ่งเน้นชาตินิยม หากแต่เน้นย้ำอยู่ที่ “การพัฒนา” ตามแนวทางของโลกเสรี คือส่งเสริมภาคธุรกิจเอกชนและระบบตลาด ลดบทบาทของรัฐ ซึ่งสวนทางกับแนวทางชาตินิยมของจอมพล ป.

ความขัดแย้งระหว่างรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในทางกลับ จึงมีด้านที่เป็นชาตินิยมอยู่ในทั้งสองฝ่าย หรือกล่าวว่ามีด้านที่แย้งกับชาตินิยมอยู่ในตัวเองทั้งสองฝ่าย กล่าวคือ ในขณะที่ฝ่ายรัฐใช้ความเป็นชาตินิยมในการต่อต้านคอมมิวนิสต์ก็ต้องเผชิญกับชาตินิยมที่ต่อต้านการแทรกแซงของอเมริกา เช่นเดียวกับ พคท. ซึ่งมีด้านที่เป็นชาตินิยมอยู่ในนโยบายขับไล่จักรวรรดินิยมอเมริกาขณะเดียวกันขบวนการคอมมิวนิสต์ก็เป็นสิ่งที่แย้งกับความเป็นชาตินิยมในตัวเอง

ดังนั้น จึงไม่มีอุดมการณ์ราชาชาตินิยมที่แท้จริงในยุคสงครามเย็น อาจจะมีกระแสชาตินิยมในช่วงสั้น ซึ่งก็ปรากฏจากทั้ง 2 ด้าน เช่นการต่อต้านฐานทัพอเมริกาซึ่งเป็นด้านที่มาจากขบวนการนักศึกษา และด้านที่มาจากสถาบันกษัตริย์เช่นในเหตุการณ์ 6 ตุลา กระแสเหล่านี้แม้จะมีช่วงที่ขึ้นสูง แต่ก็สลายลงในเวลาไม่นาน เช่นรัฐบาลธานินทร์ซึ่งสร้างบรรยากาศขวาจัดสืบเนื่องจาก 6 ตุลา ในที่สุดก็ถูกสกัดกั้นจากกองทัพที่เข้ายึดอำนาจและหันเหนโยบายไปสู่ความเป็นกลางในทันที กระแสชาตินิยมเหล่านี้จึงไม่ใช่พลังทางอุดมการณ์ที่สามารถขึ้นเป็นอำนาจนำและสร้างความสืบเนื่องมาจนถึงยุคหลังสงครามเย็น

ขณะเดียวกัน ยุคโลกาภิวัตน์ที่มักเข้าใจกันว่าเป็นสิ่งที่เกิดหลังจากสงครามเย็น ก็พูดได้ว่าเกิดขึ้นก่อนแล้วในช่วงสงครามเย็น เพียงแต่เป็นโลกาภิวัตน์ที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ขั้ว อาจกล่าวได้ว่าสงครามเย็นคือการแข่งกันระหว่างโลกาภิวัตน์ของค่ายเสรีนิยมและค่ายคอมมิวนิสต์ และจบลงด้วยชัยชนะของค่ายเสรีนิยม ยุคโลกาภิวัตน์ที่เกิดขึ้นหลังสงครามเย็นจึงเป็นยุคของระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ซึ่งก่อสภาพแวดล้อมใหม่ให้กับความเป็นชาติ และชาติไทยก็เป็นหนึ่งในสมาชิกของโลกเสรีที่กำลังขยายตัว

 

เหรียญทองของสมรักษ์ คำสิงห์

ปี 2539 สมรักษ์ คำสิงห์ ชกชนะได้เหรียญทองในการแข่งขันโอลิมปิกที่แอตแลนตา สหรัฐอเมริกา เหรียญนี้เป็นเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของประเทศไทย นอกจากชกชนะได้เหรียญทองเหรียญแรกแล้ว อีกการกระทำหนึ่งของสมรักษ์ที่กลายเป็นประวัติศาสตร์ก็คือการชูรูปในหลวงบนเวทีชกมวย เป็นครั้งแรกที่นักกีฬาชูรูปในหลวงในการแข่งขัน และหลังจากนั้นนักกีฬาไทยก็ปฏิบัติตามกันจนกลายเป็นธรรมเนียม

ปลายปี 2559 หลังจากในหลวงภูมิพลสวรรคต สมรักษ์ได้เล่าถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้น เรื่องเล่าของสมรักษ์เป็นความทรงจำที่โดดเด่นในช่วงเวลาไว้อาลัย สมรักษ์เล่าเรื่องเดียวกันนี้หลายครั้งผ่านรายการทีวีหลายรายการ[8]

สมรักษ์เล่าว่าตั้งแต่เด็กก่อนที่เขาจะชกมวยหรือต้องการกำลังใจจากการทำอะไรเขาจะกราบรูปในหลวงและขอพร โดยตอนที่เป็นเด็กเขาเรียกในหลวงว่า “พระเจ้าแผ่นดิน” สำหรับเขาในตอนนั้นในหลวงเป็นเหมือนกับ “เทวดา” ในวันแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เพื่อระงับความตื่นเต้นเขาหยิบรูปในหลวงจากหิ้งพระติดตัวมาจากที่พักนักกีฬา สมรักษ์เล่าว่าเขานำรูปในหลวงขึ้นไปบนเวทีด้วยและตั้งไว้ที่มุม แต่จากเทปบันทึกการแข่งขันในวันนั้น ในช่วงก่อนที่จะเริ่มชก ตอนที่สมรักษ์ยกมือไหว้ผู้ชมรอบเวทีจะเห็นรูปในหลวงวางอยู่ที่หน้าเวทีด้านล่าง หลังจากชกเสร็จ เหตุการณ์บนเวทีที่เห็นจากเทปคือสมรักษ์เข้าไปที่มุม ถอดนวม และพี่เลี้ยงก็ยื่นรูปในหลวงให้ทันที จะเห็นได้ชัดว่ารูปอยู่ในกรอบแบบที่มีขาตั้ง สมรักษ์ชูรูปในหลวงไว้ด้วยมือขวาระหว่างที่รอกรรมการประกาศผลการชก และเมื่อกรรมการยกมือซ้ายของสมรักษ์ขึ้นชูและหันไปรอบๆ เวที จนเสร็จสิ้นกระบวนการนี้ สมรักษ์เดินไปที่มุมฝ่ายตรงข้ามแต่ชะงักและหันกลับไปที่มุมตัวเองเพื่อคืนรูปให้กับพี่เลี้ยง จากนั้นจึงเดินไปไหว้และจับมือกับพี่เลี้ยงฝ่ายตรงข้ามและกรรมการ

สมรักษ์ยังเล่าว่าหลังลงจากเวทีเขาต้องอยู่ในห้องตรวจสารกระตุ้น เมื่อออกมามีคนบอกว่าในหลวงโทรศัพท์มาหาเขาและฝากเบอร์ให้โทรกลับแต่เขาไม่กล้าโทร หลังจากกลับประเทศไทยสมรักษ์ได้เข้าเฝ้าและถวายเหรียญที่ได้มาให้ในหลวงเป็นของขวัญในวาระการครองราชย์ครบรอบ 50 ปี ในระหว่างเข้าเฝ้าในหลวงเล่าให้สมรักษ์ฟังว่าทรงดูทีวีอยู่ที่วังไกลกังวลและเห็นสมรักษ์ชูรูปของพระองค์ ทรงตรัสว่า “เรานึกว่าเราชกเอง” ยังทรงเล่าว่าตื่นเต้นกับชัยชนะของสมรักษ์จนกระทั่งลุกขึ้นกระโดดโลดเต้นดีใจ จนข้าราชการผู้ใหญ่ที่เฝ้าอยู่ด้วยหัวเราะจึงรู้สึกอายและนั่งลง สมรักษ์กล่าวว่าเขารู้สึกอบอุ่น “เหมือนพ่อคุยกับลูก” และเขายังถามในหลวงว่าเขาควรชกต่อหรือไม่

จากเรื่องเล่าของสมรักษ์จะเห็นพัฒนาการของสถานภาพของในหลวง จาก “พระเจ้าแผ่นดิน” ที่เปรียบเสมือนเป็น “เทวดา” ที่เขากราบไหว้ขอพร มาสู่ความเป็นมนุษย์ที่สัมผัสจับต้องได้ (โทรมาหาและฝากเบอร์ให้โทรกลับ) จนกระทั่งมาสู่ความผูกพันและไว้วางใจเหมือน “พ่อกับลูก”  

แม้ว่าการแข่งขันโอลิมปิกจะเป็นเวทีของความเป็นชาติ แต่การโฆษณาอุดมการณ์ทางการเมืองก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้รับการสนับสนุน และภายใต้สภาพแวดล้อมของระบบตลาดเสรี กีฬาก็เป็นสิ่งที่มักจะถูกนำเสนอว่าเป็นเรื่องที่ “ปลอดการเมือง”

ในเรื่องเล่าของสมรักษ์สะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกี่ยวกับสถานภาพของสถาบันกษัตริย์จากมุมมองของเขาก็คือการละทิ้งจาก “ความศักดิ์สิทธิ์” มาสู่ “การปรากฏเป็นจริง” แน่นอนว่าในหลวงไม่สามารถปรากฏตัวในชีวิตจริงของคนทุกคน แต่ภาวะที่เสมือนว่าปรากฏเป็นจริงก็สามารถเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากได้โดยอาศัยสื่อสารมวลชนและการตลาดสมัยใหม่[9]

คนรุ่นสมรักษ์เป็นรุ่นที่ทันเห็นการเปลี่ยนแปลงของสถาบันกษัตริย์ในแง่นี้ คือยังทันเห็นสถาบันกษัตริย์แบบที่มีความศักดิ์สิทธิ์ผ่านการจัดตั้งโดยรัฐในตอนเป็นเด็ก ก่อนที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในทศวรรษ 2530 การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นการพลิกโฉมหน้าของสถาบันกษัตริย์ในยุคสงครามเย็นที่เป็นสัญลักษณ์ของอุดมการณ์ และ “มีฝักฝ่าย” ทางการเมือง และอาจเข้าแทรกแซงการเมืองในกรณีต่างๆ (เช่นที่เกิดขึ้นในยุคเปรม) มาสู่ความเป็นสถาบันที่มีอำนาจนำทางการเมืองแต่ก็มี “ความเป็นกลาง” ทางการเมืองด้วย สถานภาพที่ทั้งมีอำนาจและมีความเป็นกลางนี้เองที่นำไปสู่สภาวะ “เหนือการเมือง” หรือกล่าวได้ว่าเป็นสถานภาพที่ทำให้รู้สึกว่าเป็นสถาบันที่ไม่มีความเป็นการเมือง และการเชื่อมต่อกับมวลชนผ่านระบบตลาดก็ทำให้รู้สึกถึงความปราศจากอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดแบบหนึ่ง แตกต่างจากการจัดตั้งโดยรัฐ

ในสภาพแวดล้อมใหม่ของตลาดเสรี สาเหตุสำคัญที่ทำให้การชูรูปในหลวงในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเป็นสิ่งที่กระทำได้ก็เพราะในขณะนั้นการกระทำนี้มาจากความรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ “ปลอดการเมือง” นั่นเอง การชูรูปในหลวงไม่ทำให้รู้สึกว่าเป็นการแสดงออกทางอุดมการณ์อีกต่อไป

การชูรูปในหลวงบนเวทีมวยของสมรักษ์จึงมีนัยที่แตกต่างจากการชูรูปในหลวงของนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือการแสดงสัญลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ในเหตุการณ์ 6 ตุลา อย่างตรงกันข้าม

สถานภาพใหม่ของสถาบันกษัตริย์ในยุคหลังสงครามเย็นไม่ใช่ความสืบเนื่องของอุดมการณ์จากสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่ได้เกิดจากพลังของจารีต แต่เป็นสิ่งที่สร้างใหม่ เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่ชาติและอุดมการณ์ลดความสำคัญลงมาและระบบตลาดเป็นอิทธิพลหลักในการกำหนดสังคม

ในปี 2555 มีการถกเถียงกันว่าการชูรูปในหลวงของ พิมศิริ ศิริแก้ว นักกีฬายกน้ำหนักหญิงไทย ที่ได้เหรียญเงินในการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอนดอน เป็นการโฆษณาทางการเมืองหรือไม่[10] นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากเกิดวิกฤตการเมืองและสถาบันกษัตริย์ได้สูญเสียสถานะดังที่กล่าวมาไปแล้ว แต่ในปี 2539 สถานะนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปี ประเด็นสำคัญของการเกิดธรรมเนียมการชูรูปในหลวงของนักกีฬาเป็นเรื่องเดียวกับการเกิดขึ้นและแผ่ขยายอำนาจนำของในหลวงภูมิพล

 

อ้างอิง

[1] ดู ประจักษ์ ก้องกีรติ. 2558. “40 ปีราชาชาตินิยมประชาธิปไตย” ใน การเมืองวัฒนธรรมไทย: ว่าด้วยความทรงจำ / วาทกรรม / อำนาจ. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน. พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ย้ำยุค รุกสมัย ปี 2556

[2] ดู หลวงรณสิทธิพิชัย. 2476. “ทหารกับการเมือง” หนังสือพิมพ์ทหารบก. 2 (2476). หน้า 59-60 อ้างจาก สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. 2553. แผนชิงชาติไทย (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ 6 ตุลารำลึก. หน้า 76

[3] ดู ปรีดี พนมยงค์. 2526. ปรีดี พนมยงค์ กับ สังคมไทย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. หน้า 451 อ้างจาก สุธาชัย หน้า 78

[4] ดู ทักษ์ เฉลิมเตียรณ. 2552. “เพื่อคำบรรยายของชาติที่ครอบคลุมและกว้างขวางกว่า: ประวัติศาสตร์ไทยกับชาวจีน; อีสานกับรัฐชาติ” ใน การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์. หน้า 447. พิมพ์ครั้งแรกในชื่อ “Towards a More Inclusive National Narrative: Thai History and the Chinese; Isan and the Nation State” ในหนังสือ ลืมโคตรเหง้าก็เผาแผ่นดิน สำนักพิมพ์มติชน ปี 2544

[5] ดู สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล. 2544. “จุดเปลี่ยน 2500: เผ่า, สฤษดิ์ และพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง. กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก. หน้า 40. พิมพ์ครั้งแรก กรุงเทพธุรกิจ 31 พฤษภาคม 2539

[6] เช่น นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. 2549. “แนวความคิดชาติบ้านเมือง: กำเนิด พัฒนาการ และอำนาจการเมือง”, วารธรรมศาสตร์ ปีที่ 27 ฉบับที่ 2 (มิถุนายน 2549). อ้างจาก เมื่อใดจึงเป็นชาติไทย. กรุงเทพฯ: อิลลูมิเนชันส์ เอดิชันส์, 2564. หน้า 135

[7] ดู กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. 2550. รายงานการวิจัยเรื่อง การเมืองไทยในยุคสฤษดิ์-ถนอม ภายใต้โครงสร้างอำนาจโลก. กรุงเทพฯ: กองทุนปรีดี พนมยงค์, มูลนิธิ 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย.

[8] เนื้อความส่วนใหญ่ที่อ้างในบทความนี้นำมาจากการให้สัมภาษณ์ช่อง Super บันเทิง วันที่ 18 ตุลาคม 2559 และรายการ ธ สถิตในดวงใจ ช่อง 3 วันที่ 2 พฤศจิกายน 2559

[9] ดู สเตตัสของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วันที่ 29 มีนาคม 2555 เรื่อง “ในหลวงในฐานะ ‘นักเขียน’ (writer) และ ‘นักคิด-ผู้นำทางความคิด’ (thinker): ว่าด้วยการโปรโมท ‘พระอัจริยภาพ’ อย่างหลังสุด” และ “การโปรโมทสถาบันกษัตริย์โดยผ่านกลไกตลาดมวลชนและสินค้ามวลชน (Mass Monarchy – Mass Market – Mass Products)”

[10] ดู บทความและคอมเมนต์ใต้บทความของ Pavin Chachavalpongpun, “Thailand’s silver snatched?”, เว็บไซต์ New Mandala 10 August 2012

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net