Skip to main content
sharethis

กว่า 20 องค์กรสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้หญิง จี้ ผู้ว่าฯ นราฯ ดำเนินคดีกรณีชาย 41 ปี ชาวมาเลเซียแต่งงานกับเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ พร้อมเรียกร้อง กก.อิสลามและผู้เกี่ยวข้องป้องกันสมรสก่อนวัยอันควร

 

28 ก.ค.2561 จากกรณีชายอายุ 41 ปี ชาวมาเลเซียได้แต่งงานกับเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ ชาวนราธิวาส ประเทศไทย โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นไปตามหลักการศาสนาอิสลามนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา องค์กรสิทธิมนุษยชนและสิทธิผู้หญิงกว่า 20 องค์กร ร่วมออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวน 4 ข้อ ประกอบด้วย

1. ขอให้ผู้ว่าราชการ จ.นราธิวาสในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงดำเนินการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนหาหลักฐานการล่วงละเมิดทางเพศและแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กและนำไปสู่การช่วยเหลือ คุ้มครองและประสานให้เด็กเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการศึกษา รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเพื่อสร้างบรรทัดฐานในอนาคตต่อไป

2. ขอให้ทางคณะกรรมการกลางอิสลามประจำ จ.นราธิวาสดำเนินการชี้แจงอย่างเป็นทางการต่อกรณีการสมรสดังกล่าว เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดต่อการแอบอ้างลักลอบประกอบพิธีนิกะห์และปลอมแปลงเอกสารของทางการอันนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์และล่วงละเมิดสิทธิเด็ก และทำให้ชื่อเสียงของคณะกรรมการกลางอิสลามประจำ จ.นราธิวาสได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว

3. ขอให้ทางคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีมาตรการที่เข้มงวดในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี โดยต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบชัดเจนถึงความสมัครใจของฝ่ายหญิงในการเข้าสู่การแต่งงาน ปราศจากการถูกบังคับ และต้องเร่งออกมาตรการเพื่อป้องกันการแต่งงานก่อนวัยอันควรของผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ดังเช่นกรณีตัวอย่างของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีที่ได้ระบุว่าไม่อนุญาตให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ทำการแต่งงานโดยยึดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นสำคัญ รวมทั้งในกรณีผู้ชายที่ประสงค์จะแต่งงานกับภรรยามากกว่าหนึ่งคน ต้องมีการตรวจสอบพฤติกรรมและประเมินความสามารถทางเศรษฐกิจ รวมทั้งศักยภาพของฝ่ายชายว่าจะสามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้อย่างแท้จริงตามหลักการศาสนา อันหมายรวมถึงความเป็นธรรมทางสภาพจิตใจของภรรยาที่ทำการสมรสก่อนหน้านั้น

รองนายกฯ มาเลเซียประณามกรณีชาย 41 วิวาห์เด็ก 11 ชี้ ผิด กม.อิสลาม

    และ 4. ขอให้รัฐบาลประสานกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการพิจารณาคำวินิจฉัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมรสและคุ้มครองสิทธิเด็ก ให้สอดคล้องตามหลักการศาสนาอิสลาม ควบคู่กับพันธะสัญญาต่างๆ ที่รัฐบาลไทยได้มีพันธะผูกพันต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีฯ และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการยุติการแต่งงานของเด็กและการบังคับการแต่งงาน รวมทั้งการแสวงหาแนวทางความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมายของทั้งสองประเทศในการแสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและผู้หญิง

    โดยมีรายละเอียดของจดหมายเปิดผนึกดังนี้ 

    จดหมายเปิดผนึก กรณีการแต่งงานของเด็กหญิงวัย 11 ขวบ

    วันที่ 25 กรกฎาคม 2561

    การสมรสของผู้เยาว์ที่มีวัยต่ำกว่า 18 ปีถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของเด็กโดยเฉพาะในด้านการพัฒนาทางร่างกาย สติปัญญา อารมณ์และจิตใจซึ่งส่งผลกระทบเชิงลบต่อคุณภาพชีวิตของเด็กและเศรษฐกิจสังคมในระยะยาว ทั้งยังปิดกั้นโอกาสของเด็กหญิงและเด็กชายในการใช้ชีวิตในวัยเยาว์ของพวกเขา ทำลายโอกาสทางการศึกษา และเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายทางสุขภาพรวมถึงการตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและการทารุณกรรมในครอบครัว การแต่งงานเป็นรากฐานสำคัญต่อสถาบันครอบครัวซึ่งคู่สมรสจำเป็นต้องมีศักยภาพในการรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม การแต่งงานของผู้เยาว์ที่สกัดกั้นพัฒนาการของเด็กไม่สามารถทำให้สถาบันครอบครัวสมบูรณ์ได้

    ประเทศสมาชิกขององค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation, OIC) เช่นแอลจีเรีย โอมาน บังคลาเทศ ปากีสถาน อียิปต์ เคนยา โมร็อกโกและตุรกี ได้มีการดำเนินการเพื่อเพิ่มอายุขั้นต่ำของการแต่งงานตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ล่าสุดประเทศอินโดนีเซียได้ตกลงที่จะลงนามในพระราชกฤษฎีกาห้ามการแต่งงานของเด็ก ในประเทศมาเลเซียมีการกำหนดอายุขั้นต่ำทั้งในกฎหมายแพ่งและกฎหมายอิสลามที่อนุญาตให้เด็กสามารถแต่งงานได้โดยผู้ชายมีอายุไม่น้อยกว่า 18 ปี และผู้หญิงไม่น้อยกว่า 16 ปีและไม่มีข้อยกเว้นในทุกกรณี

    ในประเทศไทยการแต่งงานของผู้เยาว์ยังคงได้รับอนุญาตภายใต้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมีข้อยกเว้นตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อนุญาตให้ชายที่ล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหญิงไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 สามารถทำการสมรสกับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศหากได้รับการอนุญาตจากศาลและเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ในขณะที่กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดก พ.ศ. 2484 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัด ปัตตานี นราธิวาส ยะลาและสตูล พ.ศ. 2489 มิได้บัญญัติเรื่องอายุขั้นต่ำในการแต่งงานแต่ให้เป็นดุลพินิจของศาลซึ่งเปิดช่องว่างให้ใช้บรรทัดฐานตามประเพณีปฏิบัติที่ยอมรับการแต่งงานของผู้เยาว์ในหลายกรณี  อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546

    จากกรณีชายอายุ 41 ปี ชาวมาเลเซียได้แต่งงานกับเด็กหญิงอายุ 11 ขวบ ชาวนราธิวาส ประเทศไทย โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นไปตามหลักการศาสนาอิสลามนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนรวมถึงองค์กรทางศาสนาทั้งในประเทศมาเลเซียและประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจและเร่งดำเนินการร่วมกันเพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กโดยได้จัดการประชุมปรึกษาหารือเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ณ จังหวัดปัตตานี และได้เข้าพบคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้รับคำชี้แจงจากคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสว่าการแต่งงานในกรณีดังกล่าวไม่ถูกต้องเนื่องจากเอกสารการสมรสได้ถูกปลอมแปลงขึ้นโดยแอบอ้างคณะกรรมการอิสลามกลางประจำจังหวัดนราธิวาสเป็นผู้รับรอง อีกทั้งอิหม่ามผู้ทำพิธีนิกะห์ได้ถูกภาคทัณฑ์ซึ่งไม่มีสิทธิ์ประกอบพิธีนิกะห์ให้แก่ผู้ใด และในขณะนี้อิหม่ามคนดังกล่าวได้ถูกลงโทษโดยคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสเป็นที่เรียบร้อย   ดังนั้น การแต่งงานที่เกิดขึ้นจึงถือเป็นโมฆะ อย่างไรก็ตาม กรณีข้างต้นยังบ่งชี้ถึงช่องว่างในการนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์และล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้เยาว์อายุต่ำกว่า 18 ปี

    การแต่งงานของผู้เยาว์ในจังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยยังคงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนแต่งงาน หรือแม้แต่การละเมิดสิทธิเด็กเช่นกรณีข่มขืน การบังคับแต่งงานถือเป็นทางออกเดียวในการหลีกเลี่ยงความอัปยศโดยเฉพาะจากการมีลูกนอกสมรสเพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายในความสัมพันธ์ การแต่งงานเพื่อหนีปัญหาความยากจนเป็นเหตุผลหลักอีกประการที่นำไปสู่การแต่งงานของผู้เยาว์

    ดังนั้น การกำจัดและป้องกันกันแต่งงานของผู้เยาว์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนจำต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคม รวมถึงความรับผิดชอบขององค์กรศาสนาและองค์กรชุมชนในการสร้างความเข้มแข็งผ่านกองทุนซะกาตในฐานะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำและความยากจนในชุมชน ควบคู่กับการปรับแก้และบังคับใช้กฎหมายโดยยึดหลักผลประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นที่ตั้งและเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child, CRC) และอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบต่อสตรี (Committee on Elimination of All Forms of Discrimination against Women, CEDAW) ที่คณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ มีข้อเสนอแนะต่อประเทศไทยให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 เพื่อให้อายุขั้นต่ำของการแต่งงานอยู่ที่ 18 ปี ทั่วประเทศ และจะต้องมีมาตรการที่ขจัดการแต่งงานในวัยเด็กและ/หรือ การบังคับแต่งงาน (ย่อหน้า 49 (a) CEDAW/C/THA/CO6-7)

    เด็กในวันนี้คืออนาคตของวันพรุ่งนี้ เด็กทุกคนมีสิทธิที่จะบรรลุความหวังและความฝันของตนและเพื่อให้บรรลุถึงศักยภาพอย่างเต็มที่พวกเขาจึงควรได้เรียนรู้และเข้าถึงการศึกษาไม่ใช่ต้องแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการคุ้มครองเด็กหญิงวัย 11 ขวบ และป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ตลอดจนการล่วงละเมิดทางเพศและสิทธิเด็กจากการแต่งงานของผู้เยาว์ในระยะยาว องค์กรและบุคคลที่ลงนามในท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้จึงขอเรียกร้องต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

    1. ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัดซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 โดยใช้กระบวนการทางกฎหมาย แจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสอบสวนหาหลักฐานการล่วงละเมิดทางเพศและแสวงหาผลประโยชน์จากเด็กและนำไปสู่การช่วยเหลือ คุ้มครองและประสานให้เด็กเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะการศึกษา  รวมถึงการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเพื่อสร้างบรรทัดฐานในอนาคตต่อไป

    2. ขอให้ทางคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวดนราธิวาสดำเนินการชี้แจงอย่างเป็นทางการต่อกรณีการสมรสระหว่างชายชาวมาเลเซียวัย 41 ปี และเด็กหญิงชาวไทยวัย 11 ขวบ เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัดต่อการแอบอ้างลักลอบประกอบพิธีนิกะห์และปลอมแปลงเอกสารของทางการอันนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์และล่วงละเมิดสิทธิเด็ก และทำให้ชื่อเสียงของคณะกรรมการกลางอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาสได้รับความเสียหายจากการกระทำดังกล่าว

    3. ขอให้ทางคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมีมาตรการที่เข้มงวดในการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กและสตรี โดยต้องมีการตรวจสอบอย่างรอบคอบชัดเจนถึงความสมัครใจของฝ่ายหญิงในการเข้าสู่การแต่งงาน ปราศจากการถูกบังคับ และต้องเร่งออกมาตรการเพื่อป้องกันการแต่งงานก่อนวัยอันควรของผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ดังเช่นกรณีตัวอย่างของสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดปัตตานีที่ได้ระบุว่าไม่อนุญาตให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ทำการแต่งงานโดยยึดพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เป็นสำคัญ รวมทั้งในกรณีผู้ชายที่ประสงค์จะแต่งงานกับภรรยามากกว่าหนึ่งคน ต้องมีการตรวจสอบพฤติกรรมและประเมินความสามารถทางเศรษฐกิจ รวมทั้งศักยภาพของฝ่ายชายว่าจะสามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในครอบครัวได้อย่างแท้จริงตามหลักการศาสนา อันหมายรวมถึงความเป็นธรรมทางสภาพจิตใจของภรรยาที่ทำการสมรสก่อนหน้านั้น

    4. ขอให้รัฐบาลประสานกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะสำนักจุฬาราชมนตรีและคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการพิจารณาคำวินิจฉัยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมรสและคุ้มครองสิทธิเด็ก ให้สอดคล้องตามหลักการศาสนาอิสลาม ควบคู่กับพันธะสัญญาต่างๆ ที่รัฐบาลไทยได้มีพันธะผูกพันต้องปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีฯ และ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นการยุติการแต่งงานของเด็กและการบังคับการแต่งงาน รวมทั้งการแสวงหาแนวทางความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อป้องกันการใช้ช่องว่างทางกฎหมายของทั้งสองประเทศในการแสวงหาผลประโยชน์ รวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กและผู้หญิง

    องค์กรและบุคคลที่ร่วมลงนาม

    • กลุ่มด้วยใจ
    • เครือข่ายแกนนำสตรีสี่ภาค (ภาคใต้)
    • เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic Women)
    • เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จชต
    • เครือข่ายมุสลิมเอเชีย
    • เครือข่ายวิจัยและรณรงค์เพื่อสตรี
    • เครือข่ายหลักประกันสุขภาพภาคประชาชนสงขลา (องค์กรสาธารณประโยชน์)
    • ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล
    • นันทลี จารุรัตน์ ตพส.ไทย
    • ปาหนัน หีมมินะ
    • พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ
    • มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย
    • มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
    • มูลนิธิผู้หญิง
    • มูลนิธิพิทักษ์สตรีและเด็ก
    • มูลนิธิเพื่อนหญิง
    • มูลนิธิส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
    • มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม
    • มูลนิธิสันติวัฒนธรรมเอเชีย
    • รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
    • ละม้าย มานะการ
    • วณี  ธิติประเสริฐ
    • ศูนย์ความเป็นเลิศด้านผู้หญิงและความมั่นคงทางสังคม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
    • ศูนย์พิทักษ์สตรีมุสลิมตำบลแหลมโพธิ์
    • ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะผู้หญิงและครอบครัวต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตานี
    • สถาบันสันติภาพและการพัฒนาศึกษานานาชาติ
    • สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง)
    • สมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ
    • สมาคมฟ้าใสส่งเสริมสุขภาวะเด็กและเยาวชนชายแดนใต้
    • สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย
    • สุชาติ เศรษฐมาลินี  รองประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่
    • อสมา มังกรชัย
    • Rosenun Chesof, University of Malaya
    • Sitimuna Ibrahim Payordueramae

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net