Skip to main content
sharethis

ชาวปาเลสไตน์ประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิการกลับคืนถิ่นหลังถูกอิสราเอลทำให้พลัดถิ่นเป็นเวลา 70 ปี แต่ถูกตอบโต้ด้วยกระสุนจริง เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 52 บาดเจ็บกว่า 2,400 สหรัฐฯ เปิดสถานทูตที่เยรูซาเล็ม 33 ประเทศร่วมงานรวมถึงไทย

อัลจาซีรารายงานสถานการณ์ที่ฉนวนกาซา (ที่มา: Youtube/Aljazeera)

เมื่อ 14 พ.ค. 2561 สำนักข่าวอัลจาซีรา รายงานว่า ชาวปาเลสไตน์ซึ่งกระจายตัวประท้วงตามรั้วติดกับประเทศอิสราเอลที่ฉนวนกาซา ถูกทหารอิสราเอลสังหารไปแล้วอย่างน้อย 52 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,400 คน โดยทางทหารอิสราเอลได้ใช้กระสุนจริง แก๊สน้ำตา และระเบิดไฟใส่กลุ่มผู้ชุมนุม

การประท้วงเป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อเรียกร้องสิทธิในการเดินทางกลับสู่พื้นที่ที่ถูกอิสราเอลขับไล่ออกมาตั้งแต่ปี 1948 ซึ่งจะดำเนินเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ โดยในวันเดียวกันนี้เป็นวันที่สหรัฐฯ ย้ายสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศอิสราเอลที่เดิมตั้งอยู่ในเมืองเทล อาวีฟ ไปยังกรุงเยรูซาเล็ม หลังจากประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศเมื่อเดือน ธ.ค. ปี 2560 ว่ากรุงเยรูซาเล็มคือเมืองหลวงของอิสราเอล

ตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา ทหารอิสราเอลสังหารชาวปาเลสไตน์ไปแล้วอย่างน้อย 90 คน และทำให้บาดเจ็บไปแล้วกว่า 10,500 คน

การประท้วงมีขึ้นก่อนที่จะถึงวันรำลึกประจำปีที่ชาวปาเลสไตน์เรียกว่า นัคบา หรือแปลว่า “หายนะ (catastrophe)” ในวันที่ 15 พ.ค. ซึ่งเป็นวันที่อิสราเอลประกาศตัวเป็นประเทศเมื่อปี 1948 และเริ่มดำเนินการขับไล่ชาวปาเลสไตน์จากถิ่นที่อยู่เดิมอย่างรุนแรงเป็นจำนวนราว 7 แสนคน จนบัดนี้เป็นเวลา 70 ปีที่ชาวปาเลสไตน์ต้องพลัดถิ่น

ปัจจุบันชาวปาเลสไตน์จำนวน 2.6 ล้านคนอาศัยอยู่ในพื้นที่ฉนวนกาซา ทางทิศตะวันตกของอิสราเอล อีกจำนวนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตเวสต์แบงก์ทางทิศตะวันออกของอิสราเอล ทั้งสองพื้นที่ปัจจุบันเป็นดินแดนที่อิสราเอลยึดครองอยู่ จนปัจจุบัน เว็บไซต์ข่าว VOX รายงานว่ามีผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ทั้งสิ้นมากกว่า 7 ล้านคน มากกว่าประชากรชาวยิวที่มีอยู่ในประเทศอิสราเอลในปัจจุบันเสียอีก หากวันหนึ่่งอิสราเอลเปิดประเทศให้ชาวปาเลสไตน์กลับเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศ ชาวยิวจะเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศทันที

อิสราเอล-ปาเลสไตน์ 101: เปิดปูมดราม่า เหตุผลที่โลกขยับเพราะประเทศเล็กๆ

เมื่อ 14 พ.ค. ประธานาธิบดีของปาเลสไตน์ มาห์มูด อับบาส กล่าวระหว่างแถลงข่าวว่าเหตุการณ์ที่ทหารอิสราเอลใช้ความรุนแรงต่อชาวปาเลสไตน์เป็นหนึ่งในวันที่ทารุณที่สุดที่ประชาชนชาวปาเลสไตน์เคยพบเจอ รวมทั้งระบุว่า การที่สหรัฐฯ ตั้งสถานทูตในเยรูซาเล็มส่งผลให้สหรัฐฯ ไม่สามารถเป็นตัวกลางในกระบวนการสันติภาพในภูมิภาคตะวันออกกลางได้อีกต่อไป

ในวันเดียวกัน ริยาด มันซูร์ ทูตปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติประณามอิสราเอลที่โจมตีชาวปาเลสไตน์ที่ไร้อาวุธ รวมทั้งให้ความเห็นในประเด็นสถานทูตสหรัฐฯ ในอิสราเอลว่าเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก

“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่พวกเขา (สหรัฐฯ) เฉลิมฉลองการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่อิสเราเอลกำลังเข่นฆ่าและทารุณชาวปาเลสไตน์จำนวนนับพัน”

“เป็นวันที่เศร้าโศกของชาวปาเลสไตน์ และเป็นที่น่าละอายใจสำหรับผู้ที่เมินเฉยต่อความเจ็บปวดของชาวปาเลสไตน์” ริยาดกลาว

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขของปาเลสไตน์ได้เรียกร้องผ่านทวิตเตอร์ ให้ประชาชนในฉนวนกาซาไปยังศูนย์บริจาคเพื่อบริจาคเลือด

ในวันเดียวกันนี้ สหรัฐฯ และอิสราเอลได้มีพิธีเปิดสถานทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอลในกรุงเยรูซาเล็ม ท่ามกลางกระแสการประณามในภูมิภาค รวมถึงปาเลสไตน์ที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศส่งตัวแทนไปร่วมพิธีเปิดสถานทูตใหม่รวมถึงไทย ทางกระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลระบุว่า ได้เชิญตัวแทนจาก 86 ประเทศที่มีทูตประจำอยู่ในอิสราเอล และประเทศที่ตอบรับว่าจะเข้าร่วมมีจำนวน 33 ประเทศ ได้แก่ อัลเบเนีย แองโกลา ออสเตรีย แคเมอรูน สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ไอวอรี โคสท์ สาธารณรัฐเช็ค สาธารณรัฐโดมินิกัน เอลซัลวาดอร์ เอธิโอเปีย กัวเตมาลา จอร์เจีย ฮอนดูรัส ฮังการี เคนยา เมียนมาร์ ไนจีเรีย ปานามา เปรู ฟิลิปปินส์ โรมาเนีย รวันดา เซอร์เบีย ซูดานใต้ ไทย มาซิโดเนีย ยูเครน เวียดนาม ปารากวัย แทนซาเนีย และแซมเบีย

เยรูซาเลมคืออะไร

เยรูซาเลมเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตรงชายแดนระหว่างอิสราเอลกับเขตเวสต์แบงก์ เป็นเมืองที่มีศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนายูดายและอิสลาม จึงเป็นเมืองที่ทั้งอิสราเอลและปาเลสไตน์ต่างก็หมายปองจะใช้เป็นเมืองหลวง

แนวคิดเรื่องการแบ่งเมืองเยรูซาเลมอย่างยุติธรรมที่สุดยังคงเป็นปัญหาที่คุยกันไม่จบ ในช่วง 20 ปีแรกหลังอิสราเอลก่อตั้งประเทศ จอร์แดนเป็นเจ้าของพื้นที่เยรูซาเลมตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของเทมเปิลเมาท์ หน้าผาที่เป็นที่ตั้งของกำแพงเวสเทิร์นวอลล์อันเป็นกำแพงโบราณจากวัดยิวที่ยังเหลืออยู่ ถือเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดแห่งหนึ่งของศาสนายูดาย และยังเป็นที่ตั้งของมัสยิดอัล-อัคซา และโดมทองแห่งเยรูซาเลม (Dome of the Rock) ที่เป็นทั้งศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสองศาสนาที่กล่าวมา แต่หลังสงครามกับชาติอาหรับที่มีขึ้นอีกครั้งในปี 1967 อิสราเอลก็ได้เยรูซาเลมตะวันออกมาเป็นของตัวเอง

ทุกวันนี้อิสราเอลใช้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงแต่เพียงผู้เดียว แต่ก็แทบไม่มีประเทศไหนให้การยอมรับ สะท้อนจากการตั้งสถานทูตของหลายประเทศในเมืองเทล อาวีฟ แทนที่จะเป็นเยรูซาเลม ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ประกาศยอมรับสถานภาพเยรูซาเลมในฐานะเมืองหลวงของอิสราเอล เนื่องจากท่าทีเช่นว่าอาจส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นตัวกลางสานสันติภาพ และอาจทำให้เกิดความรุนแรงตามมา กระนั้นก็ตาม แม้ท่าทีของทรัมป์ในปัจจุบันจะค้านสายตานานาประเทศอย่างไร แต่ก็ยังคงเหลือพื้นที่ให้เจรจาแบ่งกรุงเยรูซาเลมกันได้อยู่ เพราะทรัมป์เองก็ไม่ได้พูดชัดๆ ว่าเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงที่แบ่งให้ปาเลสไตน์ไม่ได้

แปลและเรียบเรียงจาก

US opens embassy in Jerusalem: Which countries attended?, Aljazeera, May 15, 2018

Gaza protests: All the latest updates, Aljazeera, May 14, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net