Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางความขัดแย้งที่อิสราเอลทำการโจมตีฉนวนกาซ่าหลังจากที่กลุ่มฮามาสก่อเหตุโจมตีอิสราเอล มีหลายประเทศเริ่มเรียกร้องอีกครั้งให้มีการใช้ "แนวทาง 2 รัฐ" ในฐานะวาระเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทของอิสราเอลและปาเลสไตน์

ในที่ประชุมของสหประชาชาติเมื่อปลายเดือน ม.ค. 2567 มีหลายประเทศแสดงออกสนับสนุนรัฐปาเลสไตน์ที่เป็นเอกราช หลังจากที่หลายวันก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลได้แสดงจุดยืนที่แข็งกร้าวในเชิงต่อต้านแนวทาง 2 รัฐ

แนวทาง 2 รัฐ ดังกล่าวนี้คือ แนวทางที่จะจัดให้มีรัฐปาเลสไตน์ที่มีเอกราชของตัวเองเคียงคู่ไปกับรัฐอิสราเอล โดยที่รัฐปาเลสไตน์อิสระจะตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน

อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวต่อคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นว่าการที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตามที่ต้องการจะปฏิเสธ ไม่ยอมรับแนวทาง 2 รัฐ พวกเขาจะต้อง "ทำการปฏิเสธอย่างหนักแน่น"

"แล้วทางเลือกอื่นคืออะไร ... แนวทางรัฐเดียวจะเป็นอย่างไรตราบใดที่มีชาวปาเลสไตน์อยู่ภายในโดยที่ไม่มีความรู้สึกว่าตัวเองมีเสรีภาพ, สิทธิ และศักดิ์ศรี อย่างแท้จริงเลย เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่แสนจะเหลือเชื่อ" กูแตร์เรสกล่าว

ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยาวนานเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว มีการประชุมหารือระดับนานาชาติในเรื่องที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติปีละ 4 ครั้ง ซึ่งมีการเปิดให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศเข้าร่วม มีมากกว่า 50 ประเทศที่วางแผนจะพูดในเรื่องนี้ และมีจำนวนมากที่ส่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของพวกเขามาเป็นตัวแทน

การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวนี้กลับกลายมาเป็นเรื่องเร่งด่วนอีกครั้ง ในช่วงที่มีสงครามระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังฮามาสในฉนวนกาซ่าที่ดำเนินมาเป็นเวลานานกว่า 15 สัปดาห์ และคร่าชีวิตผู้คนชาวปาเลสไตน์ไปมากกว่า 25,000 ราย รวมถึงคร่าชีวิตชาวอิสราเอลกับชาวต่าวชาติรวม 1,200 ราย

เนทันยาฮู มุ่งจะ "ชนะอย่างเด็ดขาดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น"

นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลกล่าวว่าเขามุ่งที่จะ "ชนะอย่างเด็ดขาดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น" ต่อฮามาส หลังจากที่มีการโจมตีแบบก่อการร้ายของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 จนเป็นชนวนให้เกิดสงครามครั้งล่าสุด ในการแถลงข่าวเมื่อกลางเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาเนทันยาฮูก็กล่าวในเชิงคัดค้านแนวคิดการจัดตั้งรัฐปาเลสไตน์ในอนาคต

เนทันยาฮูแถลงว่า "ผมขอสร้างความกระจ่างว่าไม่ว่าเป็นข้อตกลงใดๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่ว่าจะโดยข้อตกลงร่วมกันหรือไม่มีการตกลงร่วมกันก็ตาม อิสราเอลจะต้องมีอำนาจควบคุมทางความมั่นคงเหนือพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน นั่นคือเงื่อนไขที่จำเป็น ... มันขัดแย้งกับหลักการด้านอธิปไตยก็จริงอยู่ แต่ว่าคุณจะทำอย่างไรล่ะ" พื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนที่เนทันยาฮูพูดถึงคือเขตเวสต์แบงค์และฉนวนกาซ่า

ริยาด อัล-มาลิกี รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของปาเลสไตน์ แถลงต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติโต้ตอบสิ่งที่เนทันยาฮูพูดและบอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการรับรองรัฐปาเลสไตน์ที่สหประชาชาติ

มาลิดีกล่าวว่า "พวกเราไม่ได้รับสิทธิในการโหวตยับยั้งการที่อิสราเอลขอเข้าร่วมสหประชาชาติเมื่อ 75 ปีที่แล้ว ... อิสราเอลก็ไม่ได้รับสิทธิในการโหวตยับยั้งการรับรองรัฐปาเลสไตน์ในอีก 75 ปีต่อมา"

มีกลุ่มประเทศอาหรับและประเทศมุสลิมหลายชาติที่แสดงการสนับสนุนการที่องค์ประชุมนานาชาติยกประเด็นนี้ขึ้นมา เช่น รัฐมนตรีต่างประเทศของรัสเซีย เซอร์กี ลาฟรอฟ

ลาฟรอฟกล่าวว่า "วัตถุประสงค์ของการประชุมเช่นนี้จะต้องเป็นการประกาศเอกราชรัฐปาเลสไตน์ ตามมาด้วยมาตรการที่จะให้ความมั่นคงที่พึ่งพาได้แก่อิสราเอล และการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศอาหรับ และกับกลุ่มประเทศมุสลิมโดยทั้งหมดด้วย"

ตัวแทนสหรัฐฯ ระบุในที่ประชุมของยูเอ็นว่าพวกเขาสนับสนุนแนวทาง 2 รัฐว่าเป็นหนทางที่ยั่งยืนหนทางเดียวที่จะนำไปสู่สันติภาพระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

"เพื่อทำให้อนาคตเช่นนี้เป็นไปได้ ประชาชนอิสราเอลและปาเลสไตน์ รวมถึงกลุ่มผู้นำของพวกเขาจะต้องเลือกทางที่ยาก" อุซรา เซยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายพลเรือน, ความมั่นคง, ประชาธิปไตย และ สิทธิมนุษยชน กล่าว

"พวกเราไม่ได้มีความตั้งใจที่จะตัดสินใจเรื่องเหล่านี้แทนพวกเขา แต่พวกเราเชื่ออย่างหนักแน่นว่าถ้าหากพวกเรามีความมุ่งมั่นที่จะไล่ตามเป้าหมายเหล่านี้ มันจะช่วยนำไปสู่ยุคสมัยใหม่ที่ชาวปาเลสไตน์และอิสราเอลจะสามารถอยู่เคียงข้างกันได้อย่างสันติ" เซยากล่าว

หลังจากที่เนทันยาฮูกล่าวในทำนองต้องการให้อิสราเอลมีอำนาจเหนือกาซ่าและเวสต์แบงค์ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็แถลงว่า "มีแนวทาง 2 รัฐ อยู่หลายรูปแบบ" โดยยกตัวอย่างว่ามีกรณีประเทศที่เป็นสมาชิกของยูเอ็นแต่ไม่มีกองทัพของตัวเองอยู่ด้วย

ข้อเรียกร้องหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรม

สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงของยูเอ็นแทบทุกประเทศเรียกร้องให้มีการหยุดยิงด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมในกาซ่าโดยทันที เพื่อให้สามารถส่งความช่วยเหลือเข้าไปได้ และเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอลที่เหลืออยู่

กิลัต เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติวิพากษ์วิจารณ์ข้อเรียกร้องนี้ บอกว่ามันจะแค่เอื้อประโยชน์ให้กับฮามาสเท่านั้น

เออร์ดาน กล่าวว่า "คุณคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าหากมีการหยุดยิง ... ผมจะบอกคุณให้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฮามาสจะยังคงมีอำนาจอยู่ พวกนั้นจะกลับมารวมพลได้อีกครั้ง แล้วก็กลับมาติดอาวุธได้ แล้วไม่นานหลังจากนั้น อิสราเอลก็จะเผชิญกับความพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อีกรอบหนึ่ง"

ทั้งสหรัฐฯ, อังกฤษ และสหภาพยุโรปต่างก็จัดให้กลุ่มฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้าย


เรียบเรียงจาก
Nations Reaffirm Urgency of Two-State Solution for Israel and Palestine, Voice of America, 23-01-2024

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/Two-state_solution

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net